เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

เวทีที่รวบรวมการแสดงความคิดเห็นจาก 'ศิลปิน' หลากหลายอาชีพ ที่มารวมตัวกัน เพื่อส่งต่อข้อเสนอแนะให้กับนโยบาย 'ซอฟต์เพาเวอร์' ต่อรัฐบาล

คณะกรรมการธิการ การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา จัดเสวนา แนวทางการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด ภูมิพลังวัฒนธรรม สัมพันธ์นานาชาติ

โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โครงสร้าง และระบบกลไกการขับเคลื่อน ภูมิพลังวัฒนธรรม (Soft Power) ไทยสู่สากล

รวมทั้งกลยุทธ์ขับเคลื่อนรายสาขา ภายใต้บริบทอัตลักษณ์ที่หลากหลาย โดยคำนึงถึงความสมดุลหลากมิติ มีกำหนดจัดงาน 2 ช่วง ช่วงแรก วันที่ 11-13 มกราคม 2567 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ช่วงที่สอง วันที่ 15-31 มกราคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา

วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2567 มีเสวนาหัวข้อ เสียงสะท้อนผู้สร้างสรรค์ผลงานต่อแนวคิดภูมิพลังวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ ด้านภาพยนตร์ ทีวี ละครเวที นาฎศิลป์ ดนตรี วรรณกรรม และอื่น ๆ 

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

มีผู้เข้าร่วมเสวนา ดังนี้

  • ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้แทนสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ
  • สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
  • เจน สงสมพันธุ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
  • กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์
  • วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้อง-เพลงไทยสากล)
  • สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ (สมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง)

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

  • ศิลปินพื้นบ้าน ต้องก้าวให้ทันเขา

ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ สมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง กล่าวว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ต้องให้คนรุ่นลูกช่วยสานต่อ

"เราทำงานเป็นศิลปินพื้นบ้าน เป็นชาวบ้านต่างจังหวัด ตอนวัยรุ่น มีคนแก่คนเฒ่าอยากดู มีแฟนเพลงเยอะ แต่มายุคนี้ต้องใช้ภาษาต่าง ๆ สติปัญญาเราแค่ป.4 ลูกสาวก็แต่งเพลงให้ แล้วร้องเอง เพราะแม่ร้องทีละคำ สำเนียงไม่ออก

ในยุคนี้ศิลปินพื้นบ้านที่จะอยู่ได้จะต้องก้าวให้ทันเขา ด้านการแสดง ภาษา ศิลปะต่าง ๆ ที่เขามีขึ้นใหม่ อย่างคำว่า ซอฟต์เพาเวอร์ ฟังแล้วก็เข้าใจได้ 

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

เมื่อก่อนไม่มีอะไร มีแต่ฉิ่งกับตบมือ เดี๋ยวนี้มีหลายเรื่องหลายราว เราต้องไปรบไปแรปกับเขาด้วย แต่ไปไม่ค่อยไหวแล้ว ต้องให้ลูกสาวเขาทำกัน

เราดูแลเด็กที่ฝึกไว้ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี 2553 ชื่อว่า เพาะกล้าคนเก่ง เพลงพื้นบ้าน ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 7 แล้ว ก็ไม่เอาแนวเดิมเท่าไร เพราะคนฟังแบบเดิม ๆ ไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้ต้องแรป แล้วก็ใช้ปากเราทำไปด้วย

คำว่า ซอฟต์เพาเวอร์ ต้องฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ ลูกศิษย์เรามีอยู่ทั่วหลายที่ พัฒนามาเรื่อย ๆ ถ้ายึดแนวอนุรักษ์นิยมจ๋ามันไปไม่ได้ ต้องเอาสิ่งใหม่ ๆ มาผสม ใส่แรป ใส่ลูกทุ่ง ใส่ทุกสิ่งที่คนบนโลกนี้เขาชอบ

เพื่อหลอกล่อให้เขามาฟัง เพลงพื้นบ้าน มีคุณค่าต้องรักษา ก็น่าจะมีกองทุน ที่เข้าถึงง่าย ๆ ไม่ต้องเอกสารเยอะ หรือเด็กที่ได้รับการอบรมแล้วก็ต้องมีพื้นที่ให้เขาได้แสดงออก"

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

  • ภาครัฐ ต้องสนับสนุนงบประมาณ

กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า คนเราต้องมีเป้าหมาย

"ผมเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ คุณตาเป็นช่างสิบหมู่ ทำให้คุ้นเคยกับศิลปวัฒนธรรมไทย ไปเรียนต่อเพาะช่าง ศึกษาศิลปะร่วมสมัย ได้ทุนไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

การไปอยู่ที่นั่นต้องไปต่อสู้กับคนทั่วโลก ความเป็นไทยเป็นรากแก้ว เอา Shape & Form มาใส่เรื่องราวปัจจุบันเข้าไป ทำงานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก เป็นศิลปินสองซีกโลก

คนเราต้องมีเป้าหมาย ไม่มีอบายมุข ไม่มีหนี้ เพราะถ้าเราเป็นหนี้งานจะตกไป 50 เปอร์เซนต์ การทำงานต้องเต็มที่ ประเทศไทยมีหอศิลป์ แต่ไม่มีงบประมาณ ภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณ"

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

  • ต้องสร้างคนเก่ง มาช่วยกันทำงาน

ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้แทน สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ  สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า เราต่อสู้มาเยอะ แต่ต้องส่งเสริมให้ถูกจุด

"การควบคุมเรทติ้ง หรือการเซ็นเซอร์ ไม่ใช่ว่าเราปลดล็อคเรทติ้งแล้ว มันจะดี เราต้องส่งเสริมให้ถูกจุด มองปัญหาให้ถูกต้อง

ในส่วนของภาคเอกชน เราต้องมองประสิทธิภาพของแต่ละเรื่องด้วย ไม่ใช่ว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยแล้วมันก็จบ

มันต้องเป็นหนังไทยที่มีศักยภาพ ได้ผลในการรับรู้ ดูแล้วมีคนชื่นชอบ ถ้ามีคนชื่นชอบแล้ว สาระที่เราต้องการสื่อก็จะไปถึงเขา เหมือนการปรับทัศนคติเขา ให้เขายอมจำนนกับการปรับทัศนคติ

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

หนังที่จะไปสู่ตลาดโลก การลงทุนมีผล ภาพยนตร์ไทยมีเพดานการลงทุนที่ต่ำกว่ามาตรฐานในตลาดโลก มันก็ส่งผลไปถึงคุณภาพด้วย เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเติบโต

ทำให้คนไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน ส่วนมากอยู่กันด้วยความรัก อย่างงานของ นนทรีย์ นิมิบุตร มีคุณภาพระดับโลก ลงทุนไม่ถึงสิบล้าน

ถ้าคนไทยทำได้ดีเท่าต่างชาติ ก็มีคนดูหนังไทยแน่ เช่นเรื่อง สัปเหร่อ, พี่มาก ถ้าผมมีเงินพร้อม ผมจะทำหนังไทยไปสู่ตลาดโลก

การไปนอกประเทศมีกระบวนการยุ่งยากมาก ผู้กำกับต้องไปหาทุน แต่ถ้ามีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศก็จะมีคนยินดีลงทุน

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

คนไทยทำหนังระดับโลกไม่ได้เพราะไม่มีทุน ถ้ามีนโยบายระดับชาติอย่างนี้ ก็เอาเลย เอาคนเก่งมา แล้วทำเลย

ปัญหาคือ การเขียนบท เป็นหัวใจของหนังทุกเรื่อง คนไทยสร้างสรรค์ได้แต่ไม่ส่งเสริมเรื่องการเขียนบท เราไม่สามารถหานักเขียนบทของไทยได้ อย่างที่ญี่ปุ่นเขาทำถูกจุด เขามองหาคนเขียนบทได้

ผมเพิ่งไปเทศกาลหนังเมืองแคนที่ขอนแก่นมา ถ้าประเทศไทยมีเทศกาลหนัง สร้างให้มีบรรยากาศของคนรักหนังได้ก็ควรจะมี แต่ถ้าคุณไม่ลงทุนเลย ของดีก็มีไม่พอ"

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ทำของดีแล้ว มันหายไปไหน ?

เจน สงสมพันธุ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หนังสือเป็นศิลปะที่ส่งออกได้ แต่นักเขียนไส้แห้งที่สุด

"เราต้องส่งเสริมการเขียน การอ่าน ในประเทศอื่น เขามีวรรณกรรมให้นักเรียนนักศึกษาอ่านแต่ละช่วงวัย จนถึงระดับมหาวิทยาลัย

พอการอ่านไม่แข็งแรง ทุกอย่างก็หมดไป เราจะไปหาคนเขียนบทดี ๆ แม่แพลงดี ๆ ก็ไม่มี

อีกทั้งการส่งเสริมการอ่านของประเทศเราก็ไม่ต่อเนื่อง แล้วแต่รัฐบาล พอหมดโครงการก็หายไป หรือทำได้ครั้งเดียว ไม่ได้ทำแล้ว เพราะหมดอีเวนท์

เราเคยรวมตัวกัน 3 สมาคม สมาคมนักเขียนฯ สมาคมภาษาฯ สมาคมนักแปลฯไปกดดันให้กระทรวงวัฒนธรรมทำหนังสือดี ๆ ออกมา 9 เล่ม

พอทำแล้ว ใช้เงินหลวงแล้วห้ามเผยแพร่ห้ามขาย ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน รัฐบาลต้องส่งเสริมการอ่าน ทำให้เป็นระบบ ทำให้เกิดความหลากหลาย"

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

  • ช่วยกันส่งเสริมเยาวชน

วินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ขับร้อง-เพลงไทยสากล) สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เรื่องของดนตรี ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

"ผมไปเชียงใหม่ ไปใต้ แต่ละที่มีศิลปะที่จะชูได้ ถือว่าเป็น ซอฟต์เพาเวอร์ ประเทศเกาหลีเขาสนับสนุน K-POP ทั้งการเต้น และดนตรี

พอรัฐบาลเสนอว่าจะทำเรื่องซอฟต์เพาเวอร์จริงจัง เรื่องศิลปะดนตรีนักร้องสามารถเผยแพร่ได้เร็ว

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

นักร้องศิลปินที่ประสบความสำเร็จควรย่อตัวลงมาเป็นจิตอาสา ทำให้เยาวชนอยากเอาเยี่ยงอย่างไอดอลที่เขาชอบใจ ถ้ามาใกล้ชิดเขาหน่อยก็เป็นทางหนึ่ง

ในด้านการเขียนเพลง คนเขียนเพลงต้องมีจินตนาการ มีความรู้สึกทางอารมณ์ emotional สร้างอะไรก็ได้ คนรุ่นก่อนมีสมาธิ มีความคิด แต่คนรุ่นใหม่เอาเร็ว มันก็จะหายไป

เหล่า ‘ศิลปิน’ รวมตัว เสนอไอเดีย ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ Cr. แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ภาษาเพลงคนรุ่นก่อนมีจินตนาการและมีอารมณ์ การเขียนเพลงตอนนี้ค่อย ๆ ร่อยหรอลงเรื่อย สร้างสรรค์เพลงเท่าที่ทำได้ ศิลปะต้องการความสุนทรีย การฟังเพลงต้องมีอรรถรส

รัฐบาลมีเงินจัดอีเวนท์ เวลามีงานราชการเราไม่เคยปฏิเสธ เราร่วมใจไปกันทุกครั้ง

เรามองเห็นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก เด็กที่มีพรสวรรค์มีเยอะแยะมากมาย ถ้ามีการส่งเสริมจะเป็นการใส่ปุ๋ย รัฐบาลมาช่วยก็ดี"