‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับด่านทดสอบวิกฤติฝุ่น PM2.5

‘รัฐบาลเศรษฐา’ กับด่านทดสอบวิกฤติฝุ่น PM2.5

“รัฐบาลเศรษฐา” มุ่งมั่นแก้ปัญหา “วิกฤติมลพิษอากาศ PM2.5” อย่างจริงจัง ทั้งปรับการบริหารจัดการใหม่ เพิ่มนโยบายใหม่ (ลดไฟป่าลงให้ได้ 50%) เดิมพันนี้ยิ่งใหญ่นัก หากทำผลงานออกมาดี ก็อาจฟื้นความนิยมให้พรรคเพื่อไทยคืนกลับมาได้

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนในหลายวาระต่อปัญหาวิกฤติมลพิษอากาศ PM2.5 ในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งมีความคืบหน้าในเรื่องสำคัญหลายประการ ตั้งแต่ผ่านร่างกฎหมาย “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ของรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภา คู่กับร่างฉบับพรรคเพื่อไทย และปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ ให้มีคณะกรรมการระดับชาติและอนุกรรมการอำนวยการที่เป็นหัวเรือรับผิดชอบใหญ่ให้ชัดเจนขึ้น 

ยังมีนโยบายใหม่ที่แตกต่างจากรัฐบาลเดิมก็คือ เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์แบบก้าวหน้าพิเศษ ให้ลดการไหม้ในเขตป่าเป้าหมาย “ไฟแปลงใหญ่” 21 ป่าลงให้ได้ 50% จากการไหม้เมื่อปี 2566 โดยแบ่งเป็น ป่าอนุรักษ์ 11 ป่า และป่าสงวนแห่งชาติอีก 10 ปี เป้าหมายที่ตั้งไว้กระชากลงมาให้ได้ครึ่งหนึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะปกติมักจะตั้งไว้พอประมาณ คือให้ลดลงจากเดิม 20-25% เท่านั้น

แม้ว่ารองนายกรัฐมนตรี พัชรวาท วงศ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐจะมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ จัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน และคุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งกำเนิดใหญ่และผู้แก้ปัญหาเบอร์หลัก แต่ในทางการเมืองแล้ว พรรคเพื่อไทยก็ได้แสดงบทบาทนำแสดงตนเป็นแกนหลักของการบัญชาการ ชนิดที่นายกรัฐมนตรีลงมาแสดงเอง 

นับตั้งแต่รับตำแหน่งนายเศรษฐา เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ 3 ครั้ง ล่าสุด.. สดๆ ร้อนๆ เมื่อ 11 มกราคม 2567 มีกำหนดการเดินทางเยือนเชียงใหม่อย่างชัดเจนอีกครั้ง เพื่อติดตามงานแก้ปัญหามลพิษฝุ่น โดยควงคู่รองนายกฯ พัชรวาท ไปด้วยเช่นเดียวกับเมื่อ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ให้ข้ามหน้าข้ามตาทางการใช้อำนาจบริหาร แต่ในทางการเมืองแล้ว นี่คือการลงมาเล่นเองแทนแม่ทัพใหญ่จากพลังประชารัฐ

นั่นเพราะเดิมพันของปัญหานี้ยิ่งใหญ่นัก ! 

พื้นที่ภาคเหนือเคยเป็นของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ยกเว้นการเลือกตั้งล่าสุดที่ผ่านมาที่พลาดท่าให้กับน้องใหม่พรรคก้าวไกล ขนาดเชียงใหม่เมืองหลวงคนเสื้อแดงก็ยังถูกแย่งพื้นที่ไปเกือบหมด ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องเรียกศรัทธาจากฐานคะแนนคนภาคเหนือให้ได้ และวิกฤติมลพิษฝุ่นควันซึ่งเป็นจุดเจ็บปวดของคนเหนือนี่เอง ที่เป็นด่านสำคัญ หากทำได้ผลออกมาดี โมเมนตั้มความนิยมสามารถพลิกกลับฟื้นมาได้ง่ายๆ 

ในทางการเตรียมความพร้อม รัฐบาลเพื่อไทยอนุมัติงบกลางหลายรายการเพื่อยกระดับการบริหารจัดการ เช่น พื้นที่ป่าอนุรักษ์ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานฯ ในปีนี้ได้ตัดงบประมาณโครงการทำแนวกันไฟถึง 10,000 กิโลเมตร เปลี่ยนมาเป็นการจ้างชาวบ้านเป็นจุดตรวจที่มีชีวิตเฝ้าในเขตป่า ซึ่งน่าจะดีกว่าแนวกันไฟที่หากทิ้งไว้ไม่นานใบไม้ร่วงทับถมก็จะสูญสภาพได้ง่าย และมีข้อสั่งการพิเศษจากอธิบดีให้เน้นการป้องกันและเข้าดับไฟให้เร็วที่สุด มาตรการใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในป่าอนุรักษ์ปีนี้มีความแตกต่างจากเดิมชัดเจน 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ความคึกคักก้าวหน้าของหน่วยงานยังไม่ทั่วถึงเท่ากัน หากเปรียบเทียบกับการจัดทัพทำสงคราม มีเพียงบางหน่วยที่พร้อม บางหน่วยยังไม่เห็นคืบหน้ามากนัก 

เครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ อันมาจากการรวมตัวของประชาชนในพื้นที่ ได้มีแถลงการณ์รอรับการเดินทางติดตามงานของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เพื่อชี้ประเด็นจุดอ่อนที่ยังน่ากังวล 4 ประการ ดังนี้

1. การเตรียมแก้ปัญหาไฟป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ลดลง 50% ยังไม่คืบหน้า

ยังไม่เห็นความคืบหน้าในการเตรียมแก้ปัญหาไฟในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้การดูแลของกรมป่าไม้ และรัฐบาลมีนโยบายให้ลดพื้นที่ไฟไหม้ใน 10 ป่าสงวนแห่งชาติลง 50%  กรณีนี้มีความซับซ้อนจากการถ่ายโอนภารกิจดูแลดับไฟป่าให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่น และงบประมาณอุดหนุนที่ไม่เพียงพอ ไม่ตรงความจำเป็นต้องใช้ 

นั่นเท่ากับว่า พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดไฟที่โล่งขนาด 1 ใน 3 ของไฟในประเทศไทยยังไม่มีเจ้าภาพที่เข้มแข็งและชัดเจน ที่จะจัดการดูแลพื้นที่ปัญหา ทั้งนี้สถิติไฟไหม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่งแรก ของปี พ.ศ.2566 รวมกันมีขนาดถึงกว่า 1 ล้านไร่ ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์บรรเทาปัญหาไฟแปลงใหญ่ ก็ยังไม่เคยปรากฏข่าวสารความคืบหน้าในการเตรียมการใดๆ ออกมา

2. การบูรณาการแก้ปัญหาไฟแปลงใหญ่ ยังไม่มีรูปแบบชัดเจน

ยังมีข้อกังขาไม่ชัดเจนในการบูรณาการแก้ปัญหาไฟแปลงใหญ่ตามนโยบายรัฐบาล ว่า ได้มีการประสานงานระหว่างกรมอุทยานฯ กับ จังหวัดเจ้าของพื้นที่ ซึ่งก็มีแผนมาตรการของจังหวัดอยู่เดิมแบบไหน? อย่างไร? เพราะไม่มีการแถลงสื่อสารออกมาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอนครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา

ไม่ปรากฏว่า มีข่าวสารนำเสนอถึงการแก้ปัญหาไฟแปลงใหญ่ในเขตจังหวัด ซึ่งมีป่าอนุรักษ์ 3 ป่า (อช.สาละวิน/ขสป.สาละวิน/ขสป.ลุ่มน้ำปาย และ ป่าสงวนแห่งชาติ 2 ป่า (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย/ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย) ที่จังหวัดควรจะบูรณาการแผนปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ/กรมป่าไม้ที่กำกับดูแลแบบไหน อย่างไร  การแถลงและสื่อสารถึงยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลเรื่องนี้ยังไม่คืบหน้านักในภาพรวม

3. ขอให้สื่อสารสถานการณ์และการดำเนินงานให้สาธารณะรับรู้

ขอให้รัฐบาลกำชับเรื่องการสื่อสารสถานการณ์ที่เป็นจุดอ่อนมายาวนาน เช่น การเปิดเผยแผนปฏิบัติการบริหารเชื้อเพลิง (ชิงเผา) ของรัฐ ที่ก่อนหน้านี้ หน่วยปฏิบัติมักจะปกปิด ไม่บอกกล่าวต่อสาธารณะ ทำให้สังคมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มีไฟในป่าแต่ไม่มีข่าวสารออกมา อีกทั้งปรากฏว่า การชิงเผาบางแปลงในอดีตไม่ควบคุมดูแลให้ดี เกิดไฟไหม้ลาม ไม่ต่างจากการลอบเผาป่า ขอให้กำชับสั่งการให้หน่วยปฏิบัติและหน่วยสื่อสาร เปิดเผยข้อมูล พิกัด เวลา และผู้รับผิดชอบล่วงหน้าให้สาธารณะรับรู้ 

4. ขอให้ย้ำ “แผนบรรเทาผลกระทบ” ในภาพรวมของทุกพื้นที่

เครือข่ายประชาชนยังกังวลถึงแผนรับมือผลกระทบจากฝุ่นควันข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนที่รุนแรงมากระดับวิกฤติ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว จังหวัดเชียงรายไม่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติบรรเทาผลกระทบตามข้อเรียกร้องประชาชนอำเภอแม่สายได้ เพราะไม่มีระเบียบรองรับ มาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐดำเนินการในอดีตยังไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ขอรัฐบาลกรุณาเน้นย้ำเรื่องแผนบรรเทาผลกระทบในภาพรวมของทุกพื้นที่ เพราะข่าวสารด้านนี้ยังไม่ปรากฏมามากนัก

เมื่อคนในพื้นที่ชี้จุดอ่อนออกมา สะท้อนว่า การเตรียมความพร้อมของรัฐบาลก่อนเข้าสู่ช่วงเผชิญเหตุยังต้องเร่งปรับปรุงขันน็อตกันต่อ แถมมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก

วิกฤติมลพิษฝุ่นที่เรื้อรังมายาวนานเป็นปัญหายากและใหญ่โตมาก ทั้งเป็นด่านท้าทายสำคัญของรัฐบาลเพื่อไทยที่จะเรียกศรัทธาจากฐานคะแนนเสียงเดิม เดิมพันทางการเมืองของศึกนี้จึงสูงมาก มีความเป็นไปได้ที่การแก้ปัญหาอาจจะไม่สำเร็จครบตามหวัง อย่างที่ได้แสดงข้อปัญหาความไม่สม่ำเสมอทั่วแผ่น เช่น มีความไม่พร้อมเท่าเทียมกันระหว่างป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ และ ป่าสงวนแห่งชาติภายใต้กำกับกรมป่าไม้ ที่มีสาเหตุปัจจัยปัญหาสะสมมาจนยากจะเร่งแก้ให้เสร็จรับหน้าศึก

ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้เล่นก็คือ ต้องแสดงออกถึงความเอาจริงเอาจังอย่างถึงที่สุด เปรียบได้กับการลงแข่งฟุตบอลของทีมเล็กที่เสียเปรียบทุกประตู หากวิ่งสู้ฟัดพยายามอย่างถึงที่สุด แฟนฟุตบอลก็ยังจะให้ใจและตามเชียร์ต่อ หรือให้ดีกว่านั้น แม้จะแพ้สงครามใหญ่ หากสามารถเอาชนะข้าศึกในสมรภูมิสำคัญได้บ้าง เพื่อให้เห็นแนวโน้มความเป็นไปได้ของการเอาชนะสงครามใหญ่ในอนาคต ก็ยังพอเป็นทางที่รัฐบาลเพื่อไทยจะหยิบฉวยมาใช้ในทางการเมืองได้

รัฐบาลเพื่อไทยเหลือเวลาปรับปรุงระบบการจัดการต่างๆ ก่อนเข้าสู่ช่วงเผชิญเหตุกลางกุมภาพันธ์ไม่มากแล้ว

 

........................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ