เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023

เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023

ทำความรู้จัก 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง ผู้ปั้นนวัตกรรมใจฟู เพื่อผู้พิการ - ผู้สูงวัย ที่คว้ารางวัล "PM Health Promotion Inno Award 2023" ในงาน Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023

ปัจจุบันแนวโน้มการดูแลรักษาสุขภาพยุคใหม่มีความเชื่อว่า สุขภาพที่ดีไม่ได้มีเพียงมิติการพึ่งยาหรือพึ่งหมออีกต่อไป หากการมี "สุขภาพดีทุกช่วงวัย" ต้องเริ่มจากการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อสร้างสุขภาพแข็งแรงยั่งยืน และในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้ "นวัตกรรม" 

แนวคิดดังกล่าวทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. หวังส่งเสริมเครือข่ายกลุ่มคนทำงานด้านนวัตกรรมเพาะเมล็ดพันธุ์นวัตกรรุ่นใหม่ จึงได้จัดโครงการประกวด "Prime Minister's Award for Health Promotion Innovation" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีทีมส่งผลงานเข้าประกวดจากทั่วประเทศ จำนวน 1,484 ทีม มีนวัตกรรุ่นใหม่เกือบ 6,000 คน บ่มเพาะแนวคิด พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพกว่า 170 ผลงาน    

ผศ.ดร.นายแพทย์ สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า การก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของสสส. เป็นหมุดหมายที่เหมาะสม ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงานให้ตอบโจทย์กับปัญหาสุขภาพยุคปัจจุบันยิ่งขึ้น ในรูปแบบการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ปัญหาที่ต้องเผชิญ สานพลังภาคีหานวัตกรรมใหม่ และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าให้สังคมไทยในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมด้านสุขภาพเชิงบวกมากขึ้น เราจึงต้องการนวัตกรรมมหาศาลต้อนรับศักราชใหม่ปี 2567 นี้ จึงชวนอ่านสัมผัสเรื่องราวดีๆ ของ 2 นวัตกร บอกเล่าเส้นทางความสำเร็จการพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพ เพื่อ ผู้พิการ - ผู้สูงวัย ของ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023 ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แล้วจะเข้าใจว่าทำไม "นวัตกรรม" ลดเหลื่อมล้ำได้จริง

  •  Concavoo เบาะรองฟื้นฟู ใจไม่กดทับ

จากแนวคิดตั้งต้นและประสบการณ์ในการให้บริการผู้ป่วยไขสันหลังมานาน ทำให้ "กัญญาลักษณ์ อุตรชน" นักกิจกรรมบำบัด และ "ณรงค์รัตน์ สวัสดิกานนท์" นักกายภาพบำบัด ภาคเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้พัฒนาผลงานเบาะแบบปรับเข้ากับโครงร่างพร้อมระบบเตือนเพื่อลดแรงกด ผู้ชนะเลิศกลุ่มต้นแบบนวัตกรรมจากประเภทประชาชนทั่วไป / Startup พบว่า ผู้ป่วย และ ผู้พิการ มักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เจอบ่อยคือ แผลกดทับ จากการนั่งนอนนาน ซึ่งโดยปัจจุบันการพัฒนาเตียงที่เหมาะกับผู้พิการหรือผู้ป่วยที่นอนนาน มีหลายนวัตกรรมได้เกิดขึ้นมาแล้ว หากแต่สำหรับ "เบาะรองนั่ง" ที่จะช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายทำให้ผู้พิการนั่งได้นานขึ้นและสามารถทำกิจกรรมต่างๆ อยู่บนรถเข็นได้ ที่มีขายในท้องตลาดราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้พิการและผู้ป่วยที่มีฐานะยากไร้ไม่สามารถเข้าถึงเพราะ สิทธิผู้พิการ สามารถเบิกจ่ายซื้อเบาะรองนั่งนั้นจำกัดงบเพียง 800 บาทต่อปี และนี่คือที่มาของ CONCAVOO Cushion เบาะนั่งฝีมือนวัตกรไทย สำหรับผู้ใช้วีลแชร์ ช่วยลดแรงกดและช่วยทรงตัวได้ดีขึ้น ที่สำคัญยังอยู่ในราคาเหมาะสมสำหรับผู้พิการใช้สิทธิเบิกจ่ายผู้พิการได้โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม

เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023

"อย่างที่ทราบว่า ผู้ป่วย หรือ ผู้พิการ การจะลด แผลกดทับ ต้องประกอบด้วย 2 ส่วนคือ มีเบาะรองนั่งที่กระจายแรงได้ดี พฤติกรรมการเปลี่ยนอิริยาบถ การถ่ายเทน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปนั่งนานๆ จะรู้สึกเมื่อย ความจริงผู้พิการควรเปลี่ยนอิริยาบถทุก 15 นาที แต่เขาไม่มีความรู้สึกหรือช่วยตัวเองไม่ได้ ทำให้บางรายต้องนั่งนานถึงวันละ 7 - 8 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากพัฒนาตัวเบาะลงตัวแล้วในด้านราคาและคุณภาพที่ตอบโจทย์ สิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อคือระบบเตือน เราจึงจะมีระบบเสียงช่วยเตือนทุก 15 นาที เพื่อลดความเสี่ยงแผลกดทับ"

กัญญาลักษณ์ เผยอีกว่า ไอเดียผลงานเบาะรองนั่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 หากแต่กว่านวัตกรรมที่เกิดจากความตั้งใจดีจะประสบความสำเร็จในวันนี้ กลับต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย ซึ่งถ้าถามว่าติดตรงไหน ที่ติดคือเรื่องเงิน เงินคือ Pain Point ของเราจริงๆ เราอยู่กับมันมา 14 - 15 ปี คิดอะไรได้มา ทำแล้วล้มเหลวก็หยุดไม่เดินหน้าไปไหนต่อ ดังนั้น การได้โอกาสจากการคัดเลือกเข้าโครงการนี้ ทำให้มีงบประมาณมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาทางมูลนิธิสงเคราะห์คนพิการเชียงใหม่ให้การช่วยเหลือ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาดัดแปลงเบาะให้คนไข้ แต่ด้วยข้อจำกัดเบาะยังไม่ช่วยเรื่องการกระจายแรงกดเท่าไหร่ จึงพยายามคิดค้นวิธีจนพบว่า เบาะรองนั่งที่เหมาะสมกับคนไข้คือเบาะที่สามารถเข้ากับรูปก้นของแต่ละบุคคล ในเชียงใหม่แต่ละปี เราแจกเบาะให้ผู้พิการเฉลี่ยปีละประมาณ 300 ราย แต่จริงๆ มองว่าน่าจะเยอะกว่านี้ เพราะจากการพูดคุยกับคนทำงานด้านนี้พบว่า ที่อื่นแทบไม่มีการแจกเบาะเพื่อผู้พิการ แจกแต่ วีลแชร์ เท่านั้น

"เดิมซึ่งวิธีการทำ เราจะปรับให้ทีละคนซึ่งต้องใช้เวลานาน 2 - 3 ชั่วโมง ต่อชิ้น เริ่มจากเราทำมือ เอาดินมาปั๊มก้นคนไข้ วาดแบบ พยายามปรับเปลี่ยนตลอด แต่เราไม่มีงบประมาณ ไม่มีช่องทางวิธีการที่จะคิดหาวิธีการพัฒนา สิ่งที่เราใช้เดิมแค่ PU โฟมทั่วไปตามท้องตลาด เพราะมีกำลังเท่านี้ แต่เผอิญปีนี้เราโชคดีได้ทุน สสส. ตอนนี้สามารถเลือกวัสดุคุณภาพที่เราต้องการได้เลย ทั้งนี้โจทย์หลักเราคือ เน้นที่ศักยภาพของผู้พิการที่เขารับไหวมาก่อน นั่นคือภายใต้ราคา 800 บาท มันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้แต่ไม่ได้ วันนี้เราทำให้ผู้พิการสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงมี บัตรผู้พิการประเภท 3"

นอกจากช่วยคุณภาพชีวิตผู้พิการยังมีการคาดว่า ผลพวงจากนวัตกรรมนี้ยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายสาธารณสุข จากปัญหาผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนได้ถึงประมาณ 6,000 - 7,000 คนทั่วประเทศ หรือ 300 ล้านกว่าบาท และปัจจุบันก็มีเอกชนที่สนใจ ซึ่งอาจมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตลาดที่สามารถพร้อมจ่ายต่อไป

  •  AiHelp เพียงกะพริบตาก็ "บอกรัก" ได้

รุ่งโรจน์ กรุงเกษม ทีม AiHUB ผู้ชนะเลิศกลุ่มไอเดียนวัตกรรม เจ้าของผลงาน AiHelp แพลตฟอร์มกะพริบตาของคนติดเตียง เพื่อสื่อสารกับผู้ดูแล เล่าถึงแรงบันดาลใจผลงานชิ้นนี้ว่าเกิดขึ้นจากที่บ้านมี ผู้ป่วยติดเตียงแล้วไม่สามารถพูดคุยสื่อสารได้สะดวก โดยที่บ้านผมดูแลผู้ป่วยติดเตียง เขาไม่สามารถขยับร่างกายได้ ทำได้แค่หลับตากับลืมตาเท่านั้น ที่ผ่านมาผมคือคนดูแลจริงจึงทราบดีกว่าการเป็นผู้ป่วยติดเตียงมันทรมานมาก พูดไม่ได้ สื่อสารไม่เข้าใจ ส่วนการเป็นคนดูแลก็อึดอัดมาก ยอมรับว่าหงุดหงิด โมโหกัน ทำไรไม่ถูกใจ

รุ่งโรจน์ เผยอีกว่า ไอเดียดังกล่าวผุดขึ้นในใจเขามานานแล้ว แต่เวลานั้นยังหาวิธีการแปลงไอเดียไปสู่ผลงานจริงไม่ได้ เนื่องจากเทคโนโลยี AI ยังไม่เป็นที่นิยมเช่นทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นวิศวกรเกี่ยวกับ AI ด้านภาพมากว่าสามปี จึงได้เก็บประสบการณ์ที่มีมาต่อยอด โดยใช้เทคโนโลยี Deep Learning ตรวจจับด้วยภาพ โดยการนำภาพคนหลับตา ลืมตาประมาณสองแสนกว่าภาพให้ AI เรียนรู้การหลับตาและลืมตาของมนุษย์ ก่อนจะพัฒนาแพลตฟอร์ม AiHelp นี้ขึ้น การทำงานของแพลตฟอร์มคือ การติดตั้งกล้องให้มีระยะห่างจากผู้ป่วย 3 - 5 เมตร ตั้งฉากกับดวงตา พร้อมต่อกล้องเข้ากับกล่องประมวลผล AiHelp เปิดปุ่มทำงาน โดยเมื่อผู้ป่วยต้องการสื่อสารให้มองที่จอ กะพริบตาหลับประมาณ 3 วินาที เพื่อเลือกคำบนหน้าจอ และกะพริบอีกครั้งเมื่อเลือกคำที่ต้องการ แต่อีกเรื่องที่หลายคนไม่ทราบคือ ในตอนแรกที่สมัครเข้าร่วมโครงการ เขาเลือกส่งผลงานอื่นไป แต่สุดท้ายก็ขอเปลี่ยนมาเป็นนวัตกรรมนี้แทน 

"เป็นผลจากการที่เราได้เข้าอบรมหลักสูตรที่ชื่อว่า การบริหารลูกค้าที่ทางโครงการนี้จัด เราได้สัมภาษณ์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ใช้งานจริง ทำให้พบว่าสิ่งที่เสนอไปไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการ เรื่องนี้ต้องขอบคุณโครงการที่บ่มเพาะความรู้เรื่องทางธุรกิจ มันทำให้เราเปิดโลกทัศน์มากขึ้น เรารู้แล้วว่าเราควรพัฒนาสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการจริง" รุ่งโรจน์ กล่าว

เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023

หลังจากใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 3 เดือน ด้วยจุดเด่นของนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้แท้จริง ทำให้เขาคือผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทไอเดียนวัตกรรมมาครอง หากแต่ความภูมิใจสูงสุดที่ "รุ่งโรจน์" ได้รับจากผลงานชิ้นนี้ ไม่ใช่แค่การได้รับรางวัลเท่านั้น กลับเป็นคำพูดวลีแรกที่ญาติผู้ป่วยพยายามบอกกับเขาว่า มันคือคำว่ารัก 

เมื่อเล่ามาถึงจุดนี้ เขาชี้ไปที่หน้าจอ ซึ่งจะได้เห็นกลุ่มคำซึ่งเขาคัดเลือกมา เน้นคำที่มีความหมายสำหรับผู้ป่วย อาทิ คำใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน คำแจ้งเหตุฉุกเฉิน และการแสดงความรู้สึกต่างๆ เขาบอกย้ำถึงความสำเร็จสำคัญของนวัตกรรมนี้ว่าคือ ความรักความผูกพันในครอบครัวที่จะมีมากขึ้น เพราะเมื่อลดช่องวางการสื่อสารลง ทำให้สามารถพูดคุยให้กำลังใจกันและกัน ลดการกระทบกระทั่งในครอบครัวระหว่างผู้ดูแลกับผู้ป่วย  

"ผมได้พบว่า สิ่งแรกที่ผู้ป่วยต้องการกลับเป็นการแสดงความรู้สึก เขาเอ่ย ส่วนอีกสิ่งที่คนดูแลอย่างผมได้กลับมาคือเวลา ปกติการดูแลผู้ป่วยติดเตียงแทบจะต้องดูแล 24 ชั่วโมง ไหนต้องมาเผชิญปัญหาเรื่องว่าเราทำให้ตรงกับสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า เชื่อไหมผมประหยัดเวลาได้ถึง 5 ชั่วโมง อีกอย่างคือทำให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นง่ายๆ เช่น แค่เปิดปิดไฟ มีอุปกรณ์นี้เขาสามารถเปิดปิดไฟได้เอง หรือเวลาหิวข้าวการมีนวัตกรรมนี้ ผู้ป่วยสามารถบอกเราผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้เราทำระบบเสียง และยังส่งให้เข้ามาที่ไลน์ผู้ดูแล ซึ่งยังทำกลุ่มไลน์ผู้ดูแลหลายคนได้อีกด้วย"

สำหรับเป้าหมายต่อไปคือ การพัฒนาให้ข้อมูลขึ้นเป็นระบบ Cloud แทนการส่งข้อมูลผ่านกล่องรับสัญญาณ AiHelp ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อผู้ใช้ ทั้งสามารถสั่งงานและรับสัญญาณผ่านมือถือหรืออุปกรณ์สมาร์ตโฟนได้

"นอกจากนี้ การลืมตาหลับตายังสามารถนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมอื่นได้อีกมากมาย เช่น ใช้ในการตรวจจับและเตือนป้องกันภาวะหลับในเวลาขับรถ เป็นต้น"

ส่วนเป้าหมายในอนาคตระยะยาว "รุ่งโรจน์" ยังหมายมั่นว่า หลังจากได้รวบรวมข้อมูลและพฤติกรรมผู้ป่วยมากขึ้น เขาจะสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันแปลภาษาของ ผู้ป่วยติดเตียง โดยเฉพาะอีกด้วย 

เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023 เปิดใจ 2 นวัตกรหัวใจแกร่ง คว้ารางวัล PM Health Promotion Inno Award 2023