ยุทธวิธีสู้'ฝุ่นควัน'ของรัฐบาล : ปฏิบัติการไฟแปลงใหญ่ เหนือเขื่อนภูมิพล

วิกฤติมลพิษ 'ฝุ่นควันpm2.5' ในปี 2567 รัฐบาลจะลดขนาดการเผาไหม้ในป่า โดยการกำหนดขอบเขตให้ชัดขึ้นซึ่งต่างจากที่ผ่านมา ใช้ขอบเขตพื้นที่จังหวัดในการลดการเผา
ชุดมาตรการและแนวนโยบายแก้ปัญหามลพิษฝุ่นควัน pm2.5 ของรัฐบาลเพื่อไทย แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ในเชิงโครงสร้างได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติชื่อว่า คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นประธาน
และมีกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยเป็นรองประธาน และยังมีคณะอนุกรรมการต่างๆ รับผิดชอบงานอำนวยการงานไฟป่า และพื้นที่จังหวัดเป็นการเฉพาะ
รัฐบาลเพิ่งจะเห็นชอบร่างกฎหมายอากาศสะอาดฉบับของรัฐบาลเสนอต่อรัฐสภา พร้อมๆ กับการเสนอร่างกฎหมายลักษณะเดียวกันของพรรคการเมืองหลายพรรค
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเป็นฉบับของพรรคการเมืองแยกออกจากฉบับรัฐบาล เพราะต้องแสดงออกถึงความกระตือรือร้นให้ฐานเสียงภาคเหนือที่เผชิญวิกฤตยาวนานได้เห็นเป็นประจักษ์
คาดว่า กฎหมายอากาศสะอาด คงจะผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้เวลาอีกราว 1 ปี กว่าจะผ่านกระบวนการ
มาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา
สำหรับช่วงวิกฤตฝุ่นควันที่จะเกิดในต้นปี 2567 รัฐบาลได้ประกาศแนวทางมาตรการเร่งด่วน 11 มาตรการ ที่น่าสนใจเพราะเป็นมาตรการใหม่ไม่เคยมีมาก่อน คือมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา 11 ป่าอนุรักษ์+10ป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า “ไฟแปลงใหญ่” เพราะเป็นป่า “ท็อปเท็น” ที่มีสถิติรอยไหม้มากที่สุดของปี 2566
นี่เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดขอบเขตเป้าหมายการลดขนาดการเผาไหม้ในป่าของรัฐ โดยใช้ขอบเขตป่า เพราะที่ผ่านมาทุกปี การกำหนดเป้าหมายจะใช้ขอบเขตพื้นที่จังหวัด และใช้การลดจุดความร้อนหรือ hotspot เป็นตัวชี้วัด ควบคู่กับประกาศห้ามเผาในช่วงเวลา ซึ่งมักจะไม่ประสบความสำเร็จ
ไฟแปลงใหญ่ป่าเป้าหมาย เป็น ปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ ที่เรียกกันภาษาปากว่า “ปลาตัวใหญ่” เพราะเป็นเป้าหมายใหญ่ หากทำได้จะลดขนาดแหล่งกำเนิดใหญ่ ที่มีผลกระทบรุนแรงลงได้เป็นกอบเป็นกำ
และที่ผ่านมา สถิติการเกิดไฟของประเทศไทยอยู่ในป่ามากถึง 65% เกิดในเขตเกษตรกรรมเพียงประมาณ 32-34% เท่านั้น เชื่อว่า หากลดไฟในป่าลงได้ จะบรรเทาปัญหาได้อย่างมีนัยสำคัญ
ไฟแปลงใหญ่เหนือเขื่อนภูมิพล
ในบรรดาป่าอนุรักษ์ 11 ป่าที่เป็นเป้าหมายของปี 2567 ป่าใหญ่ 3 ป่า คือ ป่าอุทยานแห่งชาติแม่ปิง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ที่ต่อเนื่องเชื่อมกันเป็นผืนใหญ่ขนาดกว่า 2 ล้านไร่เหนือเขื่อนภูมิพล
คือพิกัดที่เกิดมีไฟป่ามากที่สุดของประเทศไทย ปีที่ผ่านมารวมกันกว่า 8.4 แสนไร่ ใหญ่เกือบเท่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งก็แปลว่า ขนาดของฝุ่นควันไฟมหาศาลจากเขตดังกล่าวก็เป็นแหล่งมลพิษขนาดใหญ่ลำดับต้นในประเทศด้วย
จากนั้นได้ประชุมเพื่อเตรียมการบริหารจัดการไฟแปลงใหญ่เหนือเขื่อนพร้อมกันทั้ง 3 ผืนป่า
การนั่งเรือดูสภาพพื้นที่พร้อมกันหลายฝ่ายทำให้แต่ละหน่วยที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นสภาพพื้นที่ปัญหาได้ชัดเจนขึ้น เพราะป่าเหนือเขื่อนเป็นพื้นที่ปิด ยากลำบากในการเดินทางเข้าไป ภายใต้ความสวยงามของผืนน้ำและเทือกภูเขาหินล้อมรอบมีความยากลำบากทุรกันดารและอุปสรรคในแทบทุกพิกัด
เนื่องจากพื้นที่สามป่าเป็นรอยต่อของจังหวัดห่างไกลจากตัวจังหวัดชนิดเดินทางวันเดียวไม่ถึง เพราะไม่มีถนนสัญจร มีประชาชนอยู่น้อย เบาบาง แต่ยากจน และถูกทอดทิ้งขาดการพัฒนามายาวนาน
การสื่อสารก็ไม่มีทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต จึงมีพื้นที่สุญญกาศ เจ้าหน้าที่ไปไม่ถึง หมู่บ้านชุมชนไม่มี เป็นป่าล้วนๆ แต่กระนั้นก็ไม่เกินรัศมีของพรานไพรที่กินนอนในป่า สามารถเดินทางเข้าไปลึกๆ ได้ พรานไพรก็เป็นหนึ่งในแหล่งเกิดไฟไหม้ในพื้นที่นี้
ปัญหาไฟป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่
ไฟป่าขนาดใหญ่นับแสนไร่ที่เกิดเป็นประจำทุกปีในพื้นที่นี้มาจากหลายสาเหตุ แต่ละพิกัดมีสาเหตุแตกต่างกัน ในช่วงต้นทาง ด้านซ้ายคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น
ป่าผืนนี้เชื่อมไปถึงอำเภอแม่ระมาดและท่าสองยางซึ่งเป็นชายแดนตะวันตก มีหมู่บ้านและชนเผ่าหลายบ้านติดเขตป่า บางครั้งมีการไหม้ลามจากพื้นที่เกษตร แต่ส่วนใหญ่มาจากการหาของป่าและล่าสัตว์
สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ แตกต่างจากที่เคยทำมาคือ การจะเพิ่มจุดเฝ้าระวัง/จุดสกัด โดยจ้างจากประชาชนในพื้นที่ จุดละ 3 คน แทนการทำแนวกันไฟที่ไม่มีชีวิตและหมดสภาพในไม่กี่สัปดาห์
เพราะใบไม้ทับถม รวมถึงจะมีการพยายามดึงส่วนสนับสนุนต่างๆ จากทั้งกรมป่าไม้ ทหารเข้ามาช่วยหนุนเสริมในบางพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งมีการวางแผนบริหารเชื้อเพลิงร่วมกับชุมชนด้วย
ภารกิจที่ว่าไม่ง่าย เพราะสภาพความใหญ่ของพื้นที่ เดินทางยากลำบาก ระยะทางสัญจรทางน้ำของผืนป่าทั้งสามมีความยาวถึง 227 กิโลเมตร แต่มีเจ้าหน้าที่รวมกันไม่เกิน 400 นาย
หากมีไฟเกิดขึ้นแล้วยากที่จะดับได้มันจึงเกิดการไหม้ลามกินพื้นที่มากๆ ตลอดทุกปี เพราะเกิดไหม้ขึ้นแล้ว ยากที่จะเข้าไปดับ จึงต้องเน้นไปที่การป้องกัน การทำความเข้าใจ การตั้งด่านสกัดกลุ่มเสี่ยงเข้าไปในพื้นที่ป่าตอนในเป็นสำคัญ
ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะมีผู้ลักลอบเข้าไปแม้จะมีประกาศห้าม เคยเกิดมีปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับพรานป่ามาแล้ว
ยุทธวิธีแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควัน
เมื่อเร็วๆ นี้อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้ประกาศเป้าหมายการลดพื้นที่เผาในแต่ละเขตป่าอนุรักษ์ลงมาให้ได้ 50% เป้าที่ว่าเป็นเป้าที่สูงและท้าทาย แต่ก็จำเป็นต้องพยายามไปให้ถึง
เพราะป่าของรัฐ รวมทั้งป่าอนุรักษ์เป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ เฉพาะป่าอนุรักษ์แปลงใหญ่ 11 แปลงมีพื้นที่ไหม้รวมกันกว่า 3.3 ล้านไร่ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา หากลดให้ได้ถึง 50% จริง จะลดแหล่งกำเนิดใหญ่มากถึง 1.6 ล้านไร่ จะลดปริมาณฝุ่นควันไฟ pm2.5 ออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก
ซึ่งอย่างไรก็จำเป็นต้องแก้ปัญหาเรื้อรังที่ว่าไฟแปลงใหญ่เหนือเขื่อนภูมิพล เป็นพื้นที่สำคัญกว่าป่าอนุรักษ์ไฟแปลงใหญ่อื่น เพราะส่งผลกระทบสูงต่อประชาชนในแอ่งเชียงใหม่และแอ่งลำปางนับสิบล้านชีวิต
เนื่องจากป่าแถบนี้มักจะเกิดไฟประมาณกลางเดือนมกราคมสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ก่อนป่าอื่นๆ ที่โซนเหนือขึ้นไป ประกอบกับมีลมที่พัดจากภาคกลาง /ภาคเหนือตอนล่าง ขึ้นมาเป็นลมจากทิศใต้ หอบฝุ่นควันมลพิษจากไฟป่าแปลงใหญ่แห่งนี้ขึ้นไป
มีสถิติที่ยืนยันว่า เมื่อเกิดมีไฟในโซนนี้จะส่งผลต่อคุณภาพอากาศของแอ่งเชียงใหม่ตามมาสืบเนื่องกัน
ปีนี้ เป็นปีแรกที่มีการประกาศจัดการไฟแปลงใหญ่ ปลาตัวใหญ่ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ท็อปเท็นเป็นพิเศษชนิดเจาะจงรายชื่อป่าเป้าหมาย จึงเป็นสิ่งที่ควรบันทึกไว้และติดตามดูผลประกอบการต่อไปว่า จะสามารถเป็นจุดเปลี่ยนในเชิงยุทธวิธีแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษฝุ่นควันที่เรื้อรังมานานได้หรือไม่.