'สื่อสารเชิงบวก' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ 'ไม่ไหว'

'สื่อสารเชิงบวก' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ 'ไม่ไหว'

สานพลังชวนคนไทย สร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้ซึมเศร้า ด้วย "การสื่อสารเชิงบวก" พร้อมแนะวิธีสู้พลังลบ สร้างวัคซีนคุ้มใจในวันที่โลกไม่ได้ใจดีกับทุกคน

ในยุคที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า แต่กลับไม่ทำให้คนเรามีความสุขได้มากขึ้น จากสถิติพบว่า วันนี้สังคมไทยกำลังมีคน "ป่วยใจ" เพิ่มขึ้น นั่นเพราะเรามีโลกโซเชียลฯ ที่กำลังเป็นอีกอาวุธสร้างบาดแผลให้คนอื่นได้ 

ข้อมูลสถิติล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ ปัญหาสุขภาพจิต ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวช เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็น โรคซึมเศร้า ถึง 1.5 ล้านคน

\'สื่อสารเชิงบวก\' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ \'ไม่ไหว\'

ทำไมฉันถึงไม่มีความสุข?

ปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของงานเสวนา Nonviolent Communication การสื่อสารเชิงบวก "Better Mind Better Bangkok" จัดโดยสถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์เนื่องใน วันสุขภาพจิตโลก เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ฉายภาพปัญหาที่ส่งผลให้คนไม่มีความสุขว่า เกิดจากการขาด Mindfulness หรือการมีสติ และ Compassion หรือความเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ สสส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน โดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต โดยทำงานบนพื้นฐานของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) 

"เรามุ่งเน้นการสร้างเสริมให้ทุกคนใช้ชีวิตโดยไม่ทำร้ายคนอื่น ด้วยการแสดงออกอย่างเป็นมิตร ใส่ใจ มีความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ถามว่ายากไหม ไม่ยากเลย เพราะก่อนที่เราจะแสดงออกสิ่งใดออกไป เราสามารถกลับมาสื่อสารทบทวนตัวเองก่อนว่า สิ่งที่เราจะกระทำนั้นได้ทำร้ายใครบ้าง"

\'สื่อสารเชิงบวก\' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ \'ไม่ไหว\'

ทุกคน "แตกต่าง" ได้นะ

ภัทรดนัย เสตสุวรรณ หรือ เขื่อน อดีตบอยแบนด์ K-OTIC ให้คำแนะนำในฐานะที่เคยเผชิญกระแสด้านลบ ก่อนที่จะลุกมาค้นพบความสุขด้วยการยอมรับตัวเองในวันนี้ 

"เขื่อนชอบคำว่า Hurt people, hurt people คนที่ถูกทำร้ายก็มาทำร้ายคนอื่นต่อ เราสร้างวงจรไม่จบสิ้น แต่ในความเป็นจริง people also heal people too ได้เช่นกัน สิ่งที่คนๆ หนึ่งส่งออกไป มักส่งผลต่อคนอื่นเสมอ แน่นอน หากเราไม่อยากเป็นคนถูกทำร้าย เราต้องไม่ทำก่อน"

เขื่อน ยังอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมเรามีความเข้าใจและยอมรับเรื่องความแตกต่างกันน้อยเกินไป ทำให้หลายคนไม่กล้าที่จะแสดงความรู้สึกหรือความเป็นตัวตนที่แท้จริงออกมา แต่ต้องทำตัวเพื่อให้เข้ากับคนอื่น หรือให้คนอื่นชอบ

"สังคมปัจจุบันเราต้องทำให้ทุกคนกดไลก์เรา ทุกคนต้องทำตัวให้คนชมเรา สำหรับเขื่อนเราเผชิญการถูกต่อต้านมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ตั้งแต่เริ่มมีคำว่าทัวร์ลง Cyberbullying ทุกคนโจมตีว่าเราผิดเพศ ไม่ดีพอ เรารู้สึกว่าทำไมทุกคนไม่ชอบเรา เราทำอะไรผิด แต่เราก็พยายามแกะปมมาเรื่อยๆ เราห้ามปากใครไม่ได้ เราไม่สามารถบังคับความรู้สึกคนอื่น หรือแม้แต่ความรู้สึกตัวเองเราก็ห้ามไม่ได้ แต่เราควบคุมการกระทำได้ที่จะไม่ส่งต่อบาดแผลให้ใคร เคยมีพี่บอกว่าไม่ชอบเขื่อนเลย เราเลยถามว่าที่พี่ไม่ชอบหนู แล้วพี่รู้จักหนูดีแล้วหรือยัง"

\'สื่อสารเชิงบวก\' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ \'ไม่ไหว\'

ทางสู้พลังลบ ต้องสร้างวัคซีนใจให้แกร่ง

ดร.ชาติวุฒิ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่เขื่อนเป็นคือตัวอย่างของการมี Mindfulness หรือมีสติ ซึ่งทำให้คนเราสามารถสร้าง ภูมิคุ้มกันทางใจ เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราพร้อมรับมือกับความไม่ค่อยดี ไม่ว่าจะมารูปแบบไหน เพราะบางครั้ง Cyberbullying เป็นการกระทำที่คนอาจไม่รู้ตัว แต่บนสถานการณ์ที่เราคิดว่าแย่ๆ ก็อาจมีเรื่องที่ดีซ่อนอยู่ เพราะอย่างน้อยเราสามารถเรียนรู้ที่จะฝึกพัฒนาตัวเองให้เป็นหินผา ที่ต่อให้ใครมาตีกระทบเราก็แข็งแกร่งอยู่ได้ 

"ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นอีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนเรามีความทุกข์ โศกเศร้ามากขึ้น แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้คนเรามีภูมิต้านทานรับมือความทุกข์ได้มากขึ้น สำหรับเคล็ดลับที่จะทำให้ใจเราแข็งแกร่ง ประกอบด้วยกลไก 2 องค์ประกอบ เรื่องแรกคือ การปรับภายในใจเราเอง ฝึกให้จิตใจเราเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกันพอที่จะรับมือกับปัจจัยภายนอกได้ อีกกลไก คือการพัฒนาระบบนิเวศการใช้ชีวิตของคนเราให้เอื้อต่อการดูแลใจ อาทิ เราอาจมีเพื่อนหรือใครที่เราไว้ใจ สามารถร้องไห้ระบายได้ เพื่อช่วยให้ภูเขาที่หนักๆ ถูกยกออกจากอกไปบ้าง แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด แต่ก็บรรเทาความเจ็บปวดในจิตใจได้"

ดร.ชาติวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า แม้ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาจะมีคนไทยจำนวนมากขึ้นที่ไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเป็นตัวช่วยในการแก้ ปัญหาสุขภาพจิต แต่ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย บุคลากรด้านนี้ยังคงจำกัด ในแง่กลไกทางสังคม "คน" เป็นตัวช่วยสำคัญ คือเราควรมีคนที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจ เชื่อใจ ไม่ตัดสิน มีทักษะการฟังอย่างตั้งใจ หรือ deep listening

"การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ส่งเสริมความรุนแรง การพัฒนาเป็นสังคมที่มีความเข้าอกเข้าใจกัน ยังเป็นอีกกลไกที่ช่วยยกระดับสังคมคุณภาพ เพราะหลายครั้งด้วยความที่คนเราเลือกส่งต่อความรุนแรงทางกระทำ และคำพูดต่อกันโดยไม่ทันยั้งคิด หรืออาจเป็นผลจากการเสพสื่อที่สร้างความคุ้นชิน มองว่าความรุนแรงคือสิ่งปกติ หากสื่อสารมวลชนสามารถส่งเสริมให้เห็นความสำคัญในเรื่องใจเย็น ใจดี มีสติ สร้างบรรยากาศให้คนในสังคมรู้สึกว่าการมี empathy การดูแลใส่ใจกันเป็นมาตรฐานปกติในสังคม การส่งสารทางบวกมากๆ จะทำให้คนในสังคมดูแลกันเองได้ และมีวัคซีนภูมิคุ้มกัน"

\'สื่อสารเชิงบวก\' วัคซีนคุ้มใจ ในวันที่ \'ไม่ไหว\'

จัดการอย่างไรในวัน "ไม่ไหว"

ดร.ชาติวุฒิ ให้คำแนะนำว่า ในวันที่เราอ่อนล้า มีวิธีการเยียวยามากมายที่ทำได้ ขอเพียงแค่เราหา "หนทาง" ที่เหมาะกับตัวเอง เช่น การหาพื้นที่สื่อสารรับฟัง หรือในวันที่เราโหยหาการกอดคนอื่น อยากให้เราเริ่มกอดตัวเองก่อน หรือแม้แต่วิธีง่ายๆ คือ การนอน

"องค์การอนามัยโลก เคยให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบรรเทาเรื่องสุขภาพจิตไว้หลายข้อมาก หนึ่งในนั้นคือ การนอน เมื่อใจไม่ฟู ให้นอนให้ได้แปดชั่วโมง หรือการออกกำลังกาย เป็นต้น"

เขื่อน กล่าวเสริมว่า ทุกคนมีวิธีการจัดการความรู้สึกตัวเองคนละแบบกัน ตอนนี้ใครหลายคนต้องการให้คนอื่นมาบอกวิธีที่ทำให้หายเครียด ทำให้มีความสุข แต่ถ้ากระบวนการเดียว วิธีเดียวใช้ได้กับทุกคน ก็คงมีความสุขกันไปหมดแล้ว เราต้องหาวิธีของตัวเองให้เจอ

ชนิดา คล้ายพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ TikTok ประเทศไทย มาร่วมบอกเล่าถึงบทบาทการเป็นพื้นที่แบ่งภาระทางใจให้คนยุคปัจจุบันว่า TikTok คือ Entertainment Platform ที่คนเข้ามาเสพเพื่อความเพลิดเพลิน ทาง TikTok ประเทศไทย จึงมองหาพันธมิตรในการดูแลด้านนี้ และพยายามเสริมมาตรการในการดูแลผู้ใช้กลุ่มนี้มากขึ้น เช่น หากมีการค้นหาคำว่า ฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ทุกคนจะไม่พบหรือไม่มีเนื้อหาประเภทนี้ใน TikTok 

"สิ่งที่ TikTok มุ่งมั่นคือ มี พื้นที่ปลอดภัย ในการแสดงออก มีหลักเกณฑ์ชุมชนว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ เช่น การบุลลี การมี hate speech ทางแพลตฟอร์มมีมาตรการจัดการเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่ลดการมองเห็นไปถึงการจัดการ โดยมาตรการเด็ดขาดในกระบวนการกลั่นกรอง เรามีการใช้ machine learning มีหลายระดับในการตัดสิน"