รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ

รู้จัก 'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์' กับอุทยานแห่งชาติ

รู้จัก "การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" กับอุทยานแห่งชาติ อีกหนึ่งการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ เที่ยวสุขใจ ไร้คาร์บอน

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่การท่องเที่ยวที่เน้นแต่ปริมาณ อาจไม่ได้แปลว่าจะทำให้ ธุรกิจการท่องเที่ยว ยั่งยืน ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวมุ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม วัฒนธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กำลังเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในอนาคตของประเทศ อีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังเกิดขึ้นมี "Carbon Footprint" การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

รู้จักการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

"อุทยานแห่งชาติ" เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของใครหลายคน แต่ปัจจุบันบ่อยครั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเสพธรรมชาติ กลับได้สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมทั้งโดยรู้ตัวและโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เมื่อปัจจุบันการท่องเที่ยวแนวคุณภาพ เป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกกำลังได้รับความสำคัญ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) และมหาวิทยาลัยพะเยา (มพ.) ผนึกกำลังร่วมผลักดัน "ท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน" ด้วยเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ให้มุ่งสู่ การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ สร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสร้างจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว 

รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ

ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวปีละ 20-30 ล้านคน กล่าวได้ว่า ประชากรแฝงที่เข้ามาใช้ทรัพยากรไทย รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย ล้วนเป็นภาคส่วนสำคัญในการใช้ทรัพยากรจำนวนไม่น้อย ขณะที่กิจกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การปลูกต้นไม้ การนำขยะหรือของเสียมาเป็นขยะปุ๋ยหมักไม่ได้ปล่อยเน่าเสีย การใช้รถพลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนหลอดไฟ LED หรืออีกส่วนถ้าต้องการชดเชยให้เป็นศูนย์ จำเป็นต้องหาซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย

ท่องเที่ยวอุทยานฯ คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานยกระดับบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพอุทยานแห่งชาติสีเขียวสู่ระดับสากล ณ อุทยานแห่งชาติแม่วาง และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบที่มี 3 แห่ง นอกเหนือจากอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า รวมทั้งพื้นที่เครือข่ายอุทยานแห่งชาติสีเขียว 9 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ

ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า บทเรียนในการพัฒนาการท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของจังหวัดเชียงใหม่ จะเป็นต้นแบบที่ดีในการนำไปพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาล 

รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า สสส. เป็นภาคีสำคัญสร้างให้เกิด การท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวและความร่วมมือ เป็นการมองเห็นจุดแข็งและศักยภาพ สสส.ในการจะสร้างกระบวนการรับรู้ให้กับพี่น้องชุมชม หรือส่วนผู้ประกอบการเอง

รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สสส. เผยว่า สสส. มาจับงาน Green Tourism เนื่องจากพบว่าในหลายพื้นที่ ชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปัญหาเรื่องการเผา การเกษตร ที่ทำให้เกิดวิกฤติ PM 2.5 และโรคต่างๆ ทางสุขภาพ จึงมองเห็นการเชื่อมโยงขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว การสร้าง Mindset และข้อมูลวิชาการ สามารถจัดการปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยมีส่วนร่วมหลายชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ แต่การถูกมองเป็นพื้นที่สร้างปัญหาก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชน นักท่องเที่ยว และภาคสังคมโดยรวมเข้าใจซึ่งกันและกัน รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างมีทิศทาง มีความรู้ข้อมูลวิชาการที่รองรับว่าพื้นที่เขาปลอดภัยจากปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะจากการท่องเที่ยว

จากอุทยานฯ ขยายสู่รอบรั้วเครือข่ายท่องเที่ยว 

ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา เสริมว่า ในส่วนของผู้ประกอบการร้านค้าและร้านอาหารในบริเวณอุทยาน ได้มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมประกอบอาหาร และการจัดทำเมนูอาหารคาร์บอนต่ำของแต่ละร้านค้า ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการที่พักในบริเวณอุทยาน ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นห้องพักสีเขียว มีกิจกรรมสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีผู้ประกอบการที่พักที่เข้าร่วมกิจกรรมนี้ โดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานหรือพลังงานสะอาดและการจัดการขยะอินทรีย์และอื่นๆ ซึ่งทำให้ภาพรวมของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 214.5 tCO2eq

สมศักดิ์ เสกสรรวรกุล ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกษตรเกษตรที่พักดอยอินทนนท์ เล่าว่าพวกเขาได้รับการเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่การคัดแยกขยะ การบริหารจัดการนักท่องเที่ยว และการคำนวณคาร์บอนเครดิต หลังทำท่องเที่ยวมาประมาณสิบกว่าปี เขาเผยถึงแรงจูงใจที่ทำให้เบนเข็มทิศมาสู่การเป็นผู้ประกอบการท่องเที่ยวสีเขียว เข้าร่วมกับโครงการว่าการทำการท่องเที่ยวยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะในพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนในชุมชนต้องคิดหนัก เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังกระทบกับเศรษฐกิจในกระเป๋าตัวเอง เพราะเมื่ออากาศเสีย สิ่งแวดล้อมไม่ดี นักท่องเที่ยวก็ไม่มา ถามว่าทำไมถึงเปลี่ยนมาเป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงธรรมชาติ เพราะทำแบบเดิมมันก็ดีอยู่แล้ว ได้เงินเหมือนกัน เพราะเราอยากให้มันยั่งยืน อยากให้เราก้าวกระโดดไปอีกขั้น ก็เลยมีการต่อยอดเน้นความเป็นพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

"เรื่องหนึ่งที่เจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือเรื่อง PM 2.5 ช่วงนั้นเราทำ ธุรกิจท่องเที่ยว แต่ชุมชนข้างบ้านเขามีการเผาป่า นักท่องเที่ยวที่มาพักเขาเก็บกระเป๋ากลับบ้านเลย ทำให้ชุมชนได้คิดว่า ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวมาเราก็ไม่ได้เงินสิ ซึ่งตอนนี้ทางชุมชนเองก็มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด คอยจับตาคนไม่ดีที่มาเผาป่า หน่วยลาดตระเวนของชุมชนก็ช่วยเจ้าหน้าที่ หรืออย่างเรื่องบริหารจัดการ เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ ไม่มีการจัดการอะไรทั้งขยะไม่คัดแยก ไฟฟ้าไม่รู้บริหารจัดการ พื้นที่ก็ขยายจัดการให้มันเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็เลยอยากให้เราเห็นว่าถ้าเราทำอีกแนวหนึ่งจะเป็นอย่างไรบ้าง" สมศักดิ์ กล่าว

"ฟิน อินดอย" ฟินได้ไม่ต้องทำร้ายสิ่งแวดล้อม

พิจิตร แซ่วะ เจ้าของ "ฟิน อินดอย" ที่พักเชิงธรรมชาติบนดอยอินทนนท์ที่มีจุดยืนลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย เปลี่ยนมาเป็นใช้อย่างคุ้มค่าและเท่าที่จำเป็น เขาเน้นรับเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการมาเที่ยวแบบธรรมชาติ รักความสงบ ไม่เน้นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายเกินกว่าเหตุเป็นหลัก

เขาเล่าว่าสาเหตุที่ต้องมีกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ เพราะมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มชอบปาร์ตี้และรักสงบ ซึ่งกลุ่มเน้นปาร์ตี้มักสร้างปัญหาทั้งส่งเสียงดัง ดื่มสังสรรค์เมามายแล้วทะเลาะกัน แถมพอ Check out กลับไปก็ยังทิ้งขยะไว้มหาศาลให้ต้องจัดการ บางรายต้องเก็บทิ้งมากถึง 1-2 ถุงดำขนาดใหญ่ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่ชอบเที่ยวธรรมชาติ มักมีขยะไม่เยอะบางทีที่พัก 4-5 หลังเก็บได้แค่ 1 ถุง เท่านั้น

เมื่อพบว่าธุรกิจที่เกิดจากการท่องเที่ยวแบบเดิมนั้นสร้างปัญหามากกว่า ทำให้เริ่มสนใจเปลี่ยนแนวทางมาเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่ชอบความสงบและต้องการสัมผัสธรรมชาติแท้จริงมากขึ้น อาทิ การใช้ไฟ เปลี่ยนเป็นโซลาเซลล์ ส่วนผลิตภัณฑ์ในห้องถ้าลูกค้าต้องการจะใช้ให้ขอได้ แต่เลือกไม่วางไว้ในห้อง เพราะพบว่า ลูกค้าบางรายไม่ใช้แต่แกะเล่นทำให้เสียของก็เยอะ ภาชนะโฟมพลาสติกที่เคยใช้ก็เปลี่ยนเป็นถ้วยกระดาษแทน ลูกค้ารายใดนอนพักหลายคืนและขอไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนเราจะลดให้เขา 10%

เปิดโพยเมนู Signature กินอย่างไรไม่ผลิตคาร์บอนสูง

ส่วนที่ "แม่วินเกสต์เฮาส์ แอนด์ รีสอร์ท" และ "แม่วินคาเฟ่" ยังได้ปรุงเมนู "ผัดไทสูตรคาร์บอนต่ำ" อีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่เสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยวที่มาพำนัก 

ผศ.ดร.กอบสุข กล่าวเสริมว่า คำจำกัดความของเมนู Zero Carbon นั้นไม่ยุ่งยาก แท้จริงประกอบด้วยวัตถุเรียบง่าย มีอะไรก็ใส่แบบนั้น สรุปสั้นๆ คือการกินอาหารตามฤดูกาลและท้องถิ่น ขอเพียงเป็นวัตถุดิบหาง่าย ไม่ต้องหรูหรา ไม่ต้องขนส่งมาจากแดนไกลให้เปลืองทรัพยากรและพลังงาน เพิ่มคาร์บอนโดยใช่เหตุ ใครมีอะไรก็หยิบจับมาปั้นเป็นสูตรอาหารสไตล์คาร์บอนต่ำ อีกทั้งยังเป็นเมนูที่ใครก็ทำได้

รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ รู้จัก \'การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์\' กับอุทยานแห่งชาติ