'ไต้หวัน'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก

'ไต้หวัน'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก

เคยไปปั่นจักรยานใน'ไต้หวัน'หรือยัง...สวรรค์น้อยๆ สำหรับชาวจักรยาน โรงแรมที่พักบางแห่งนำจักรยานไว้ในห้องนอนได้ด้วย และการปั่นจักรยานรอบเกาะสุดยอดเลย...

หลังวิกฤตโควิด ไต้หวันได้ประกาศให้ปี 2021 เป็นปีของการปั่นจักรยานท่องเที่ยว 2021 “Year of Cycling Tourism”  จากนั้นต่อเนื่องมายังคงมีกิจกรรมและออกแบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับเป้าหมายดึงดูดนักจักรยานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

กล่าวได้ว่า หากจัดลำดับประเทศที่นักปั่นจักรยานนึกถึงลำดับต้นๆ ไต้หวันจะต้องอยู่แถวหน้าของทวีปเอเซียอย่างแน่นอน นั่นเพราะรัฐบาลไปจนถึงเมืองต่างๆ มีการวางแผนนโยบาย เพื่อเป้าหมายความเป็นสวรรค์ของนักปั่นมาโดยลำดับนานกว่าสองทศวรรษแล้ว

ไต้หวันเป็นเมืองจักรยาน ... คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินเลยเพราะฐานอุตสาหกรรมของไต้หวันรับจ้างผลิตจักรยานระดับสูงให้กับแบรนด์ระดับโลกของทั้งยุโรปอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนสามารถตั้งตัวเป็นเจ้าของแบรนด์ส่งออกได้เอง

\'ไต้หวัน\'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก

เช่น GIANT และ MERRIDA อันเป็นยี่ห้อที่นักปั่นชาวไทยรู้จักมักคุ้นดี รวมถึงอะไหล่อุปกรณ์เช่น  โซ่ KMC และ TOPKEY ผู้ผลิตเฟรมจักรยานคาร์บอน ฯลฯ  

แต่ลำพังการผลิตเพื่อส่งออกยังไม่ใช่ตัวชี้วัดของความเป็นเมืองจักรยาน พฤติกรรมการใช้จักรยานของผู้คน สิ่งอำนวยความสะดวกรวมถึงไบค์เลนดึงดูดผู้คนชาวไต้หวันเองให้ใช้จักรยานต่างหากที่เป็นสิ่งบ่งบอกสำคัญ

เส้นทางจักรยานในไต้หวัน

ไต้หวันได้เริ่มใช้ทางจักรยานรอบเกาะ เรียกว่า Taiwan Cycle Route No.1 (環島1號線) ความยาว 968 km รอบเกาะ เส้นทางจักรยานที่ว่าไม่ใช่แค่ทางไบค์เลน

หากยังมีระบบอำนวยความสะดวกอื่นรองรับ เช่น เครือข่ายโรงแรมที่พักซึ่งประกาศตัวเป็นมิตรกับจักรยาน บางแห่งสามารถนำจักรยานไปไว้ในห้อง

บางแห่งมีโถง เพื่อให้ซ่อมแซมจักรยาน มีจุดแวะพัก ห้องน้ำ เครื่องดื่มรายทางให้สมกับเส้นทาง เพื่อจักรยานโดยเฉพาะ

ตลอดทศวรรษจากนั้นมาได้มีการสร้างไบค์เลนระดับต่างๆ ไม่ใช่แค่ทางรอบเกาะ เมืองใหญ่ๆ ทั้งไทเป เกาสง ได้สร้างทางจักรยานย่อยของตนรองรับนักปั่นเส้นทางสั้นๆ มีทางจักรยานเพื่อนันทนาการ

และยังมีระบบรองรับการสัญจรโดยจักรยานในตัวเมืองใหญ่ เช่น ในไทเป มีรถจักรยานสาธารณะ YOUBIKE   ตามจุดต่างๆ ในเมืองสะดวกแค่รูดบัตรใช้บริการใช้เสร็จ มีแอพพลิเคชั่นบอกจุดจอดส่งคืนที่ใกล้ที่สุด

เพื่อให้ผู้คนสัญจรในเมือง มันสะดวกขนาดที่ว่า แอพพลิเคชั่นสามารถบอกได้ว่า จุดจอดจักรยานใกล้สุดอยู่ตรงไหนและมีรถว่างให้ใช้ได้กี่คันในเวลานั้น

\'ไต้หวัน\'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก

การเดินทางสะดวกในไทเป

การเดินทางในเมืองไทเปยุคใหม่ง่ายสะดวก คนที่นั่นสรุปด้วยอักษร 3 ตัว BMW Bicycle-Metro-Walk   รถไฟฟ้า Taipei Metro อนุญาตให้นำจักรยานขึ้นไปได้ ไม่ใช่แค่จักรยานพับเท่านั้น เจ้าคันใหญ่ๆ ก็ขึ้นได้ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วน มีห้ามเฉพาะบางสถานีสำคัญเท่านั้น

ไต้หวันจึงมีครบทั้งความเป็นผู้ผลิตเอง ผู้คนที่ใช้จักรยานในชีวิตจริงเอง และสุดท้ายคือกิจกรรมส่งเสริมให้เป็นภาพลักษณ์ศูนย์กลางของจักรยาน Think Bicycle, Think Taiwan

ด้วยการมีกิจกรรมใหญ่ระดับโลกเรียกว่า TAIPEI CYCLE EXPO ที่จัดต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปีแล้ว อีเวนท์ระดับโลกที่ว่ามีบริษัทต่างๆ ทั่วโลกมาร่วมมากกว่า 1000 กิจการ มีบูทจัดแสดงมากกว่า 3000 บูททุกปี ชาวจักรยานทั่วโลกนับหมื่นๆ จะไปรวมกันที่นั่นเป็นประจำทุกเดือนมีนาคม

รัฐบาลไต้หวัน มีนโยบายส่งเสริมความเป็นสวรรค์ของชาวจักรยานที่จับต้องได้จริง ขนาดโถงผู้โดยสารในสนามบินแห่งชาติเถาหยวนอินเตอร์เนชั่นแนล ยังตกแต่งและประดับด้วยจักรยาน มีมุมแสดงจักรยานโชว์ระหว่างรอขึ้นเครื่องบินเลยทีเดียว

\'ไต้หวัน\'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก

ปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำตามสุ่ย

เมื่อปลายเดือนกันยายน ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้เวลาสั้นๆ ปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำตามสุ่ยจาก Dadaocheng ใจกลางเมืองไทเปขึ้นไปถึงละแวก Shezi Bridge ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปเส้นทางเลียบแม่น้ำจีหลุงต่อได้

เมื่อได้สัมผัสจริงยิ่งเข้าใจในวิถีเมืองจักรยานของไต้หวันมากขึ้น ได้พบผู้คนจำนวนมากปั่นจักรยาน เพื่อออกกำลังกายและนันทนาการร่วมเส้นทางนี้ต่อเนื่องตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่วันหยุด มีทั้งจักรยานราคาแพง ไปจนถึงจักรยานแม่บ้าน

และ YOUBIKE สาธารณะที่ร่วมเส้นทางนี้ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของผู้คนนักปั่นไต้หวัน และคิดว่าหากเป็นวันหยุดคงจะมากกว่าที่เห็น

รัฐบาลท้องถิ่นไทเปได้สร้างทางจักรยานเลียบแม่น้ำที่ล้วนแต่น่าดึงดูดมากถึง 5 เส้นทาง แต่ละเส้นทางมีแผนที่ท่องเที่ยว จุดแวะที่น่าสนใจ มีห้องน้ำและตู้น้ำดื่มเป็นระยะตลอดสาย

น่าสนใจกว่านั้นคือ ไบค์เลนทั้งหมดสร้างขึ้นตามแนวแม่น้ำสำคัญสองสาย คือ ตามสุ่ย (Tamsui) และ จีหลุง (Keelung) เป็นริมน้ำที่กว้างขวาง และเป็นธรรมชาติ

เพราะทางการไทเปได้กั้นพื้นที่สองฝั่งน้ำ เพื่อสร้างแนวกั้นน้ำท่วม แยกเขตแม่น้ำออกจากเขตจอแจของตัวเมือง กลายเป็นโลกอีกโลกหนึ่ง มีเขตชุ่มน้ำมีนกจำนวนมากอาศัย กลายเป็นสถานีดูนกแถมไปด้วย

ระหว่างที่ปั่นเห็นนักส่องนกหลายคนแบกกล้องประจำตามจุดดูนกที่เขาสร้างเอาไว้ให้ เจ้าเสือภูเขาที่เช่าไปเขาคิดเป็นเรตก้าวหน้า ชั่วโมงแรก 60 ดอลล์ไต้หวัน ใช้ไป 4 ชั่วโมงเอามาคืนคิด 170 ดอลล์ เทียบเป็นเงินไทยไม่แพง

การส่งเสริมจักรยานของท้องถิ่นไทเปได้จัดให้มีจุดเช่ารถจักรยาน ผู้เขียนก็ได้ใช้บริการจากจุดเช่าที่ว่าแทนที่จะเป็นร้านเช่าจักรยานเอกชนที่มีอยู่หลายแห่งแต่ไกลออกไป เสียอย่างเดียวคุณภาพของรถเหมาะกับขี่เล่นใกล้ๆ ไม่ใช่รถของมืออาชีพ

\'ไต้หวัน\'กับการแบรนดิ้ง เมืองสวรรค์ชาวจักรยาน การเติบโตที่นักปั่นหลงรัก และไซส์รถมีขนาดเดียวเล็กไปหน่อย กรณีนักปั่นทางไกลที่วางแผนปั่นจักรยานข้ามเมืองวันละเป็น 100 กิโลเมตร เขาจะเช่าจากร้านเอกชนที่มีจักรยานคุณภาพให้เลือก ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็แพงขึ้นไปตามตัว

จักรยานนั้นไปได้แทบทุกที่ในไต้หวัน สถานที่ต่างๆ มีจุดจอดไว้ให้ สามารถขึ้นฟุตบาทและข้ามทางม้าลายพร้อมคนเดินเท้า

เท่าที่เห็นตลอดหลายวันที่สาธารณะห้ามจักรยานเข้ามีเพียงจุดเดียวเท่านั้นคือชายทะเลตามสุ่ยที่หมู่บ้านชาวประมง-สะพานแห่งความรัก ที่เขากันไว้ให้คนเดินเล่น ส่วนที่อื่นๆ ผู้คนก็จูงจักรยานเข้าไปได้แทบทุกที่ สมกับที่เขาโปรโมตว่าเป็นเมืองจักรยาน

พยายามค้นตัวเลขสถิติว่า แต่ละปีมีคนมาท่องเที่ยวเชิงจักรยานมากน้อยเพียงใด แต่ยังไม่พบ ได้เพียงแค่ตัวเลขส่งออกจักรยาน เมื่อปีกลาย 2022 ไต้หวันส่งออกจักรยานราว 2 ล้านคัน ตลาดหลักคืออเมริกา เนเธอร์แลนด์ และ สหราชอาณาจักรซึ่งก็เป็นเมืองจักรยานใหญ่ฝั่งตะวันตก – ไม่น้อยเลย.