20 ปี 'งดเหล้าเข้าพรรษา' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย

20 ปี 'งดเหล้าเข้าพรรษา' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย

ก้าวสู่ทศวรรษที่สาม "งดเหล้าเข้าพรรษา" ดูเหมือนกำลังเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของการขับเคลื่อนงานด้านการรณรงค์ ที่จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ที่ท้าทายขึ้น

หากจะกล่าวว่า "งดเหล้าเข้าพรรษา" ถือเป็นแคมเปญรณรงค์ที่ปักหมุดให้คนไทยหันมาลดละเลิกดื่มก็ไม่ผิดนัก ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่อัตราการดื่มของคนไทยอยู่ในระดับที่หนักงดเหล้าเข้าพรรษา ได้ถูกหยิบมาพูดและเป็นกระแสในสังคมไทย ในเวลานั้นเปอร์เซ็นต์การบริโภคแอลกอฮอล์ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นไปที่ระดับดับเบิ้ลภายในช่วงสามปี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าถึงการขับเคลื่อน"แคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา" ในงานแถลงข่าว "งดเหล้าเข้าพรรษา เปิดประตูสู่ฤดูกาลสุขปลอดเหล้า ปี 2566" ที่ สสส. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น สสส. จึงลองหาจุดเริ่ม เพื่อขับเคลื่อนขบวนทั้งหมด และงดเหล้าเข้าพรรษาถูกเลือกให้เป็นธงนำแรกที่ปล่อยออกมาเพียง 12 วัน ก่อนวันเข้าพรรษา ซึ่งในการตัดสินใจครั้งแรกมีความไม่มั่นใจอยู่บ้าง เนื่องจากเกรงว่างดเหล้าเข้าพรรษาอาจเป็นค่านิยมในอดีตไปแล้วที่คนยุคใหม่ไม่สนใจ แต่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ยืนยันว่าที่มหาชัย ทุกช่วงเข้าพรรษาชาวประมงที่ดื่มหนักขนาดไหน ช่วงนั้นจะงดดื่ม โดยเชื่อว่ายังมีเชื้อมีรากที่พอจะโหมเชื้ออยู่บ้าง เราสมาทานความเชื่อด้วยกันเพราะตอนนั้นยังหาแนวทางอื่นไม่ชัดเจน

20 ปี \'งดเหล้าเข้าพรรษา\' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย

ดร.สุปรีดา วิเคราะห์ความสำเร็จของ งดเหล้าเข้าพรรษาว่าเป็นการใช้ทุนดั้งเดิมของสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่ ประกอบกับความเหมาะสมเชิงเวลา ทำให้สามารถเป็นแบรนด์แคมเปญที่ประสบความสำเร็จจนวันนี้ เหตุผลในการเลือกที่จะทำงานสื่อสารในเชิงสังคมก่อนแทนที่จะนำเรื่องสุขภาพมาขับเคลื่อน ซึ่งการจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนในสังคมคิดเลิกเหล้า ไม่ใช่เพียงการต่อสู้กับเหล้าเท่านั้น หากยังต้องต่อสู้กับค่านิยมในสังคมที่ฝังรากลึกมานาน เพราะเหล้ามีบทบาทในมิติเชิงสังคมสูง มีทั้งค่านิยม มันถูกใช้ไปกับงานบุญ งานประเพณี อย่างงานศพ งานบุญ เจ้าภาพไม่จัดเหล้าก็โดนด่า เมื่อก่อนเทศกาลไหนไม่มีเหล้าก็ไม่สนุก หรือในการเข้าสังคม เหล้าเป็นกลไกในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือเข้าหาผู้ใหญ่ เราจึงต้องสร้างแนวรบด้านวัฒนธรรม แต่การเปลี่ยนค่านิยมที่กดทับผู้คนอยู่ เราจะบอกว่าเหล้าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างตอนที่บอกจะทำสงกรานต์ปลอดเหล้าก็ถูกหัวเราะใส่หน้า แต่ถึงวันนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าเป็นไปได้

ทศวรรษที่สองต้องปรับทันตามยุค

เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งยังส่งผลต่อพฤติกรรม และสภาพแวดล้อม แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การทำงานรณรงค์เพื่อสุขภาวะต้องปรับกระบวนการทำงานวิ่งตามให้ทันโลกและผู้คนที่เปลี่ยน

20 ปี \'งดเหล้าเข้าพรรษา\' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย

ดร.สุปรีดา เผย Landscape ใหม่ในอนาคตของการทำงานรณรงค์ลดเหล้าของ สสส. ในทศวรรษต่อไปว่า นักดื่มในวันข้างหน้าก็จะมีหน้าตาเปลี่ยนไป นอกจากคนที่ดื่มหนัก 30% ยังมีอีก 70% เป็นกลุ่มดื่มเข้าสังคมที่จะเพิ่มมากขึ้น ตามเทรนด์ของโลกที่รับอิทธิพลการดื่มแบบตะวันตกมากขึ้น ขณะเดียวกันพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป เช่น ไม่มีศาสนามากขึ้น ดังนั้นมองว่าไม่ควรยึดติดกับความสำเร็จเดิม 

"เราคงต้องทบทวนการทำงาน ตัดการควบคุมที่ไม่จำเป็นทิ้ง การควบคุมผ่านสื่อยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะไม่สามารถคุมได้" ดร.สุปรีดา กล่าว

เดินหน้า "สังคมสุขปลอดเหล้า"

ในปีนี้ สสส. ยังเดินหน้าต่อในเรื่องการรณรงค์ช่วงสามเดือนของ เทศกาลเข้าพรรษา มองว่าเป็นเวลาที่พอเหมาะที่จะชวนให้คนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง โดยปีนี้ยังใช้ว่า "สังคมสุขปลอดเหล้า"

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภาคีหลักที่มีบทบาทการทำงานร่วมกับ สสส. รณรงค์สร้างสังคมสุขปลอดเหล้า และโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาแล้ว 20 ปี กล่าวว่า การทำงานรณรงค์เรื่องเหล้าไม่ได้ทำเฉพาะเทศกาล งดเหล้าเข้าพรรษา เท่านั้น แต่เป็นการทำงานตลอดทั้งปีและยังต้องทำต่อเนื่องในหลายมิติ สำหรับในปีนี้ ยังเน้นเรื่องการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมการดื่มมากเพิ่มขึ้นเป็นกลุ่มผู้หญิงและเยาวชน เป็นที่มาว่าทำไมการสื่อสารในช่วงงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ ถึงมีการพูดถึงเรื่องมะเร็งเต้านมด้วย 

ภก.สงกรานต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจพบว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่มีสถิตินักดื่มเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แม้ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะดื่ม แต่ควรที่จะรู้ว่าตนเองก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพตามมาเช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้ดื่มหนัก เนื่องจากมีการวิจัยว่าแอลกอฮอล์มีผลต่อโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม โดยการดื่มแอลกอฮอล์เพียงวันละแก้วเดียว เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านมเกือบ 10% ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลนี้

ทศวรรษการพัฒนาศักยภาพใหม่

พิมพ์มณี เมฆพายัพ หัวหน้าโครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา เผยว่า การขับเคลื่อนการรณรงค์ปีนี้เน้นให้เข้าถึงทุกกลุ่มวัย เน้นการสื่อสารทางเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขโดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เรียกว่า "สังคมสุขปลอดเหล้า เราเลือกได้" หรือ Healthy Sobriety ซึ่งมีกรอบการทำงาน 8 มิติ โดยการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายฯ ในพื้นที่ชวน ช่วย ชมเชียร์เพื่อนผู้ดื่มในชุมชนสุขปลอดเหล้าทั่วประเทศ ได้แก่ ระดับชุมชนคนสู้เหล้า 400 แห่ง อำเภอรณรงค์ 100 แห่ง ประชาคมงดเหล้าทุกจังหวัด โครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้าในโรงเรียนกว่า 1,500 แห่ง โครงการปลูกพลังบวกในกลุ่มสถานศึกษาปฐมวัยกว่า 700 แห่ง และมีข้อแนะนำการสร้างเสริมพลังตับ พลังชีวิต การใช้บัญชีครัวเรือนแก้ปัญหาหนี้สินและค่าเหล้า เพราะปัจจัยแวดล้อมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไป สิบปีต่อจากนี้จึงเป็นก้าวสำคัญของการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ในฐานะคนทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าในสังคมไทยมาตั้งแต่แรกเริ่ม

พิมพ์มณี เล่าถึงการทำงานว่า มีช่วงสำคัญสามช่วงคือช่วงสิบปีแรก และสิบปีต่อมาในปี 2556 ที่กลายเป็นความอิ่มตัวครั้งที่สอง การเข้าทศวรรษที่สามเป็นปีที่ท้าทายมาก เพราะมีสามเปลี่ยน เปลี่ยนแรก คือกลุ่มผู้ชายวัยทำงานไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดียวแล้ว มีกลุ่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เปลี่ยนที่สอง ช่องทางการรับข่าวสารต่างๆ มากมาย ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้ เปลี่ยนที่สาม คือความรู้ ทุกคนสามารถที่จะเลือกรับปรับใช้เองได้ ดังนั้น ค่านิยมวิถีชีวิตของเขาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตจะเปลี่ยนผ่านเราต้องทำงานไปด้วยกัน

"ปีนี้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยน ถามว่าทำไมต้องเปลี่ยน ในขณะที่ทำมาตรการชุมชนเพื่อรณรงค์เรื่องสุขปลอดเหล้า เรากำลังถอดบทเรียนความสำเร็จ ก็ได้ยินเสียงของเพื่อนในชุมชนนั่นแหละบอกว่าออกมาเหอะ มาตรการยังไงก็ดื่มอยู่ดี ในแง่การสื่อสารก็มีเสียงสะท้อนมาว่าเราอาจไม่เคารพสิทธิ์คนดื่ม จึงคิดว่าควรเริ่มปรับ" พิมพ์มณี กล่าว

เธอบอกว่า 10 ปีนี้เป็นช่วงการทำงานที่มิติมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ต้องยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อปรับใช้ เข้าใจ สองปีที่แล้วจึงเริ่มพัฒนากรอบแนวคิดตัวหนึ่ง ที่ชื่อ "ติดวิทยา"

"ติดวิทยา คือการพยายามออกแบบกิจกรรมเพื่อเข้าถึงการตระหนักรู้ เป็นการตั้งคำถามให้เกิดการกระตุ้น หรือตั้งคำถามให้เข้าใจตัวเองว่าคุณติดเพราะอะไร โดยเริ่มมาจากแนวคิดที่ว่า การที่จะสื่อสารเพื่อให้เขาเลิกอะไรบางอย่าง เราก็ต้องมีสิ่งอื่นที่มาทดแทนหรือใส่อะไรเข้าไป ดังนั้นเหล้าขวดหนึ่ง แก้วหนึ่ง มีความหมายอะไรบ้าง ก่อนที่จะรณรงค์ชวนเขาเอาออกจากมือ เราต้องเข้าใจเขาก่อนและถ้าเราจะต้องเอาเหล้าออกจากมือเขา อะไรล่ะที่จะใส่เข้าไปแทน ซึ่งการสื่อสารรูปแบบนี้ยังตอบโจทย์กับกลุ่มคนดื่มในเมือง"

พิมพ์มณี ยอมรับว่า วิธีการทำงานกับชุมชนอาจใช้กับคนในเมืองไม่ได้เขาไม่เข้าใจหรอกเพราะ ไม่ได้มีพฤติกรรมการดื่มเหมือนกัน เขาไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา ดูแลตัวเองได้ เราเริ่มเห็นความมีสิทธิ์เพราะการทำงานกับคนเมือง เรายิ่งต้องฟัง เขาอยู่ตรงไหนกินอะไรตื่นเช้ากี่โมงเวลาไหนที่เค้ารับสาร ช่องทางไหนอะไรบ้าง เรื่องศาสนาเราอาจจะพูดกับเขาไม่ได้ เราก็เลยต้องหาศาสนาใหม่ของเขา ที่อาจเป็นสิ่งหรืออะไรที่ทำให้เขารู้สึกเชิดชูใจอยากตื่นมาทำอะไรสักอย่าง อาจเป็นสมาคม การทำงานจิตอาสา แม้แต่การที่เขาอาจจะไปหาเพื่อนสังสรรค์ การเข้าไปอยู่ในวงนักดื่มเป็นความสุขแบบหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องเคารพเขา

"เราออกแบบว่าสามสัปดาห์นี้ ให้เข้าใจกระบวนการติดของตัวเองในแง่จิตวิทยา ซึ่ง อาจจะไม่ได้หมายถึงแอลกอฮอล์อย่างเดียวอาจจะหมายถึงติดโซเชียลฯ ติดเกม หรือติดหวาน เดือนที่สองเป็นการเข้าใจตัวเอง เดือนที่สามคือการตั้งเป้าหมาย สิ่งสำคัญคือ จะไม่ปรับความคิดของเราเข้าไปให้เขา แต่จะพูดเรื่องสุขภาวะมากขึ้นโดยที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเชื่อว่าถ้าเป็นไปแบบนี้เรามองว่าในทศวรรษที่สี่ จะเริ่มเห็นว่าการดื่มอย่างมีสติ มันจะมีปฏิบัติการของมัน ซึ่งแม้แต่การตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์ก็จะไม่มีผล เวลานั้นอาจจะไม่ต้องควบคุมเลยก็ได้ เพราะเขาควบคุมตัวเอง" พิมพ์มณี กล่าวทิ้งท้าย

20 ปี \'งดเหล้าเข้าพรรษา\' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย 20 ปี \'งดเหล้าเข้าพรรษา\' โจทย์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ และ Landscape ใหม่ที่ท้าทาย