ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ นักสะสมงานศิลปะ เล่าที่มาเหตุใดรอศิลปินชั้นครูเขียนรูปเดียวนาน 10 ปี กว่าจะได้ครอบครอง เผยความรู้สึกตัดสินใจมอบ 67 ผลงานศิลปะในคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวออกจัดประมูลในงาน ‘รามาฯ รักษาศิลป์’ รวมทั้งภาพที่รอมา 10 ปี

ในจำนวนผลงานศิลปะ 67 ชิ้นที่ ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) และนักสะสมงานศิลปะ มอบให้ ‘มูลนิธิรามาธิบดีฯ’ นำไปจัดประมูลเพื่อนำรายได้สมทบทุน ‘โครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี’ โดยกำหนดประมูลวันที่ 6 สิงหาคม 2566

มีภาพวาดที่คุณทัชชะพงศ์บบอกว่า ใช้เวลารอศิลปินวาดเป็นเวลาถึง 10 ปีรวมอยู่ด้วย

ภาพที่ว่าดังกล่าวนี้ชื่อ พุทธปฏิหาริย์ วาดโดย พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ.2546 และเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ที่มีโอกาสเรียนกับ อ.ศิลป์ พีระศรี

 

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ เจ้าของผลงานศิลปะในคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัว

 

“ผมเห็นงานชิ้นนี้ของอาจารย์(พิชัย นิรันต์)ตั้งแต่วาดเป็นรูปเล็กๆ ผมเกิดความประทับใจตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว” ทัชชะพงศ์ กล่าวถึงผลงาน ‘พุทธปาฏิหาริย์’

“รูปนี้เริ่มเมื่อสิบกว่าปีก่อน กว่าอาจารย์จะบรรจงเขียนเสร็จ อาจารย์ก็แต้ม(สี)แล้วแต้มอีก ผมก็บอกอาจารย์แค่นี้พอแล้วครับ อาจารย์ก็บอกยังไม่สำเร็จ ยังไม่สมบูรณ์ ผมบอกไม่ต้องสมบูรณ์หรอก แค่นี้ก็สวยแล้ว อาจารย์ก็บอกไม่ได้ 

ผมก็รอๆ รอแล้วรออีก จนวันสุดท้าย พออาจารย์บอกได้แล้วนะครับ ผมก็บอก ผมยกไปเลยนะครับ จากรูปเล็กๆ อาจารย์วาดจนเป็นขนาดเมตรกว่า”
 

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ ภาพ 'พุทธปฏิหาริย์'  โดย พิชัย นิรันต์

 

คุณทัชชะพงศ์กล่าวถึงเหตุที่ชอบภาพนี้ นอกจากปรัชญาในภาพแล้ว สีสันที่อาจารย์พิชัยแต้มลงในภาพยังมหัศจรรย์อีกด้วย

“ดูสีที่อาจารย์แต่งแต้มเข้าไป ซ้อนกันกี่สีผมมองไม่ออก คุณดูออกมั้ย เริ่มแรกสีแรกๆ ที่อาจารย์เขียนคือสีอะไร ก็ยังไม่ทราบเลยครับ แต่ออกมาสวยงามแบบนี้ได้”

ภาพ ‘พุทธปาฏิหาริย์’ แสดงเอกลักษณ์ตามแบบ พิชัย นิรันต์ จากการใช้สีคู่ตรงข้ามตัดกัน ใช้รูปทรงเรขาคณิตนามธรรม และองค์ประกอบที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา เช่น ภาพดอกบัว ภาพพระพุทธรูป

ภาพนี้ศิลปินจัดวางองค์ประกอบแบบงานจิตรกรรมไทยประเพณีตามคติไตรภูมิ มีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล แทนภาพเขาพระสุเมรุ ขนาบข้างด้วยดวงดาว และวิมานลอย

ในผลงานชิ้นนี้ พิชัยวาดพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิอยู่ตรงกึ่งกลางภาพ พร้อมกับแสดงท่าทางหงายพระหัตถ์ทั้งสองข้าง เหนือองค์พระ ปรากฏภาพสัญลักษณ์ดวงตา

เบื้องล่าง แสดงภาพดอกบัวตูมที่ค่อยๆ บานออกจนกระทั่งร่วงโรย รายล้อมด้วยเส้นแสงและรัศมีสาดส่อง แสดงพุทธปาฏิหาริย์ที่ฉายให้เห็นสัจธรรมของชีวิต ผ่านการตีความใหม่ตามจินตนาการของศิลปิน

ภาพ ‘พุทธปาฏิหาริย์’ บันทึกปีที่วาดเสร็จคือ พ.ศ.2553 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 126 x 155 เซนติเมตร ถ้ารวมกรอบด้วยก็จะเป็น 151 x 181 เซนติเมตร

คุณทัชชะพงศ์มอบภาพนี้ให้ ‘มูลนิธิรามาธิบดีฯ’ นำออกประมูล โดยผู้เชี่ยวชาญกำหนดราคาเปิดประมูลไว้ที่ 2,500,000 บาท

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ กับหนังสือรวมผลงานศิลปะในงานประมูลฯ

 

ถามว่ามีวิธีเลือกภาพวาดในคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวอย่างไรว่าภาพใดจะมอบให้นำออกประมูล คุณทัชชะพงศ์กล่าวว่า

“ผมไม่ได้เป็นคนเลือกนะครับ ผมให้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านศิลปะ 4 คนเป็นคนเลือก เพื่อให้รู้ว่างานชิ้นไหนเป็นที่สนใจเป็นที่พึงใจของนักสะสม และเลือกกันถึง 4-5 ครั้ง ตอนแรกเรากะว่าประมาณ 50 กว่ารูป แต่เขาเลือกมา 60 กว่ารูป 

ถ้าเป็นผมเลือกเอง จะเป็นความรู้สึกส่วนตัว บางทีงานนี้เราไม่อยากให้ ผมเปิดฟรีเลย ใจกว้างพอ ในเมื่อใจเราเปิดแล้วที่จะ ‘ให้’ ก็ไม่มีคำว่า ‘ไม่’ ไม่มีคำว่าต่อรอง บางรูปผมเพิ่งซื้อมา ทีมงานเห็นรูปนี้บอกแจ๋วเลย ผมให้เลย”

โดยเฉพาะภาพ ‘พุทธปาฏิหาริย์’ เดิมทีทีมงานไม่ได้เลือก เพราะภาพนี้แขวนอยู่ในห้องนอนส่วนตัวของคุณทัชชะพงศ์

“แต่ผมอยากให้ เพราะเป็นการให้กับโรงพยาบาลที่มีความหมายมาก มีความหมายในความสุข การให้ชีวิตกับคนไข้ ผมเรียกคนถ่ายรูปกลับมาใหม่ ถ่ายรูปไปเลยว่าเป็นภาพที่อยู่ในการประมูลด้วย”

นอกจากนี้ยังมีภาพวาดของศิลปินชั้นครูอีกหลายท่าน อาทิ เฉลิม นาคีรักษ์ ปรีชา เถาทอง อินสนธิ์ วงศ์สาม ชลูด นิ่มเสมอ ประสงค์ ลือเมือง แนบ โสตถิพันธุ์ ประติมากรรมของศาสตรเมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน 

รวมทั้งผลงานของศิลปินรุ่นกลางและรุ่นเล็ก เพื่อให้ผู้มาประมูลเข้าถึงงานศิลปะได้ทั่วทุกกลุ่ม 

 

ทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ รอซื้อภาพวาดนี้ 10 ปี กว่าศิลปินจะเขียนเสร็จ วันแถลงข่าว รามาฯ รักษาศิลป์

 

งานประมูลผลงานศิลปะ  ‘รามาฯ รักษาศิลป์ : ส่งต่อความสุข สานต่อการ ‘ให้’ ผ่านงานศิลปะ’ กำหนดจัดประมูลวันที่ 6 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ปทุมวัน กรุงเทพฯ 

ผู้สนใจประมูลผลงานศิลปะ สามารถกรอกแบบฟอร์มลงทะเบียนเข้าร่วมประมูลงาน  "รามาฯ รักษาศิลป์" ตามลิงค์  https://bit.ly/RAMARegisForm ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป