แจงนับ 'คนไร้บ้าน' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

แจงนับ 'คนไร้บ้าน' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

ผนึกกำลังเครือข่าย เดินหน้าปฏิบัติภารกิจการแจงนับ "คนไร้บ้าน" ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด อีกหนึ่งก้าวสำคัญ เพื่อหาตัวเลขที่แท้จริง นำไปสู่แนวทางช่วยเหลือ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียม

พูดถึงวงเวียนชีวิต "คนไร้บ้าน" หลังสิ้นสุดภารกิจหาเลี้ยงชีวิตอันเหนื่อยล้าในแต่ละวันแล้ว ตามพื้นที่สาธารณะหลายแห่งมักจะพบคนกลุ่มนี้รวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย เพื่อเป็นที่กิน นอน พักพิง หรือทำกิจกรรมในยามค่ำคืนด้วยกัน ซึ่งในเวลานี้เองจึงเป็นช่วงเหมาะสมต่อ "การแจงนับ" หรือการลงพื้นที่สำรวจสถิติคนไร้บ้าน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลหรือตัวเลขคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะที่ชัดเจน โดยวิธีการ One Night Count คือ วันเดียวเวลาเดียว เพื่อหาตัวเลขที่แท้จริงของคนไร้บ้านที่จะนำมาสู่การดำเนินการดูแลพวกเขาต่อไป

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เผยถึงเจตนารมณ์สำคัญของโครงการแจงนับคนไร้บ้าน (One Night Count) หรือการลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลเบื้องต้นจำนวนคนไร้บ้านในปี 2566 ที่ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมพัฒนาสังคมสวัสดิการ กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินการ โดยมอบหมายให้ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 77 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง กองคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ลงพื้นที่แจงนับ 1 คืน เพื่อนำฐานข้อมูลมาขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่และระดับประเทศ พร้อมเตรียมแผนผลักดันนโยบายการเข้าถึงสิทธิ์สุขภาพ สวัสดิการต่างๆ และจัดบริการสวัสดิการสังคมอย่างตรงจุด

แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

"ในการสำรวจครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ได้จำนวน คนไร้บ้าน ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำมาประเมินในมิติต่างๆ ว่า ความต้องการของคนไร้บ้านด้านใดที่ยังขาดอยู่ รวมถึงครอบครัวคนไร้บ้านที่ต้องการสนับสนุนเรื่องใด ทำให้พวกเขาได้กลับไปเป็นคนมีบ้านเหมือนพวกเราทุกคนอย่างยั่งยืน" 

อนุกูล กล่าวต่อไปว่า กลุ่มคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มประชากรที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ จำเป็นต้องมีการคุ้มครองทางสังคม และสร้างพลังทางสังคม หากมองในแง่ความเป็นคนไทยเฉกเช่นเดียวกัน แท้จริงแล้วคนไร้บ้านไม่ใช่ปัญหาสังคมแบบที่หลายคนมอง เพียงแต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการด้านต่างๆ

"เรามักพูดถึงวาทกรรมการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในการแก้ปัญหาความยากจนบนมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังต้องเผชิญภาวะความเหลื่อมล้ำและขาดโอกาสทางสังคม จึงเป็นอีกกลุ่มคนที่รัฐต้องดูแล รวมทั้งชุมชน สังคมควรให้ความเข้าใจ ซึ่งอีกปัญหาสำคัญเวลานี้คือ ทัศนคติคนในสังคมส่วนใหญ่ที่มองคนไร้บ้านด้วยมุมมองที่ไม่เข้าใจ และคิดว่าเขาเป็นปัญหาสังคม ซึ่งการแจงนับคนไร้บ้านที่สื่อสารออกไปยังสะท้อนว่ารัฐต้องการให้สังคมเข้าใจว่าคนไร้บ้านไม่ได้เป็นปัญหาสังคม อาจถูกละเลยจากสังคม"

แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

เริ่มต้นที่ลบแต้มลบในชีวิต

เพราะความเปราะบางทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนครอบครัว คือสิ่งที่ผลักดันให้คนหนึ่งก้าวสู่ชีวิตการเป็น คนไร้บ้าน อย่างไรก็ดี สถานการณ์และมิติปัญหาของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การแจงนับคือการหาข้อมูลที่ทำให้ภาพของคนไร้บ้านชัดเจนมากขึ้น และเป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะทำให้คนไร้บ้านเริ่มมีตัวตน จากการที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เริ่มศึกษาเกี่ยวกับประเด็นคนไร้บ้านมาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้เราเองเริ่มเห็นตัวตนของพวกเขา

ดร.สุปรีดา ยอมรับว่า สถานการณ์และมิติปัญหาของการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทาง สสส. และภาคีเครือข่าย จึงพยายามผลักดันหลายโครงการร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ มาตรการพัฒนาโครงการ "ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง" ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดย สสส. สนับสนุน 60% คนไร้บ้านสมทบ 60% ในอัตราค่าเช่า 1,700 - 2,200 บาท/เดือน สำหรับโมเดลนี้ ต่อยอดโครงการนำร่อง "บ้านสวัสดิการที่อยู่อาศัยคนจนเมือง" ปรับพื้นที่ตึกร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยราคาถูก โดย พม. และ กทม. อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้คนไร้บ้านหรือคนที่อยู่ในภาวะก้ำกึ่งต่อการไร้บ้าน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต

"แม้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไร้บ้านคือ ได้กลับไปหาครอบครัว แต่อาจมีคนไร้บ้านบางรายที่ไม่ต้องการ ซึ่งจากการขับเคลื่อนโมเดลนี้ก็สามารถช่วยให้คนไร้บ้านหลายรายสามารถหลุดพ้นจากสภาวะไร้บ้านถาวรได้"

ดร.สุปรีดา ยังกล่าวต่อไปว่า โอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้งรายได้ รัฐสวัสดิการ และหลายปัจจัย นอกจากนี้การอยู่ในภาวะไร้บ้านเป็นเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาวะทางจิต เห็นได้จากการสำรวจที่ผ่านมายังพบสถานการณ์สุขภาพคนไร้บ้านไม่ค่อยดีนัก ทั้งในด้านพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่สูงถึง 55% ดื่มสุรา 41% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าคนโดยทั่วไป 

"การสำรวจ One Night Count จะเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผล เราจะได้รับทราบข้อมูลมากขึ้นว่า สิ่งที่เราทำมามีผลลัพธ์อย่างไร รวมถึงการได้คำตอบใหม่ๆ จากฐานข้อมูลที่ สสส. เคยศึกษา ซึ่งคนไร้บ้านส่วนใหญ่เผชิญปัญหาสุขภาพ เนื่องจากขาดโอกาสการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข ทำให้คนไร้บ้านต้องเผชิญความเจ็บป่วยและมีอายุสั้นกว่าค่าเฉลี่ยโดยปกติ อย่างไรก็ดีการสร้างเสริมสุขภาพของเขา ต้องเริ่มที่การลบแต้มลบในชีวิตของพวกเขาก่อน" 

แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

รศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็นต้นแบบสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งในการแจงนับและสำรวจคนไร้บ้านครั้งใหม่ปี 2566 ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดนี้จะมีส่วนอย่างสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ประชากรคนไร้บ้านมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการกำหนดนโยบายที่ครอบคลุม ตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะคนไร้บ้าน รวมถึงการป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของกลุ่มเปราะบาง

"ถ้าเรามองแต่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจเอาตัวเลขการเติบโตเป็นตัวตั้งก็จะเห็นภาพแบบนี้ อยากให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค อย่างน้อยในสิทธิขั้นพื้นฐาน ในบทบาทของสถาบันการศึกษา เราอยากมีส่วนร่วมขับเคลื่อนในทุกมิติที่จะทำให้การแก้ปัญหาสังคม"

พิษโควิด ส่อเพิ่มประชากรไร้บ้าน

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้คนไร้บ้านฯ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของสสส. คาดการณ์ถึงจำนวน คนไร้บ้านในปัจจุบันว่า เนื่องจากความเปราะบางที่ต้องเผชิญทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจอันเนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ คนไร้บ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 

"การแจงนับครั้งนี้น่าจะพบจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่จากการที่ทั้งกระทรวง พม. และ สสส. รวมถึงภาคีทีเกี่ยวข้องมีการทำงานร่วมกันในเรื่องคนไร้บ้านมาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น ช่วยให้คนไร้บ้านไม่เพิ่มจำนวนมากกว่านี้ แม้การสำรวจอาจพบแนวโน้มจำนวนมากขึ้น แต่ก็ทำให้สถานการณ์มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนไร้บ้านหน้าใหม่เข้าสู่วงจรคนไร้บ้านถาวรได้ ซึ่งมองว่าจะยิ่งมีความยุ่งยากในอนาคต จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราต้องรีบทำการแจงนับด้วย"

แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์

อนรรฆ กล่าวต่อว่า อีกสิ่งที่ก้าวหน้าเพิ่มขึ้นในการแจงนับครั้งนี้ยังมีการนำแอปพลิเคชัน ซึ่งสามารถจัดเก็บข้อมูลและทำพิกัดด้วยระบบจีพีเอสมาใช้ เพื่อที่จะได้รู้ตำแหน่งและแนวโน้มการเคลื่อนย้ายประชากรไร้บ้านทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งหากในอีกสามปีข้างหน้ามีการแจงนับใหม่ก็จะทำให้ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

แก้ปัญหาเชิงยั่งยืน

จตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า การจัดทำระบบติดตามด้วยจีพีเอส ทำให้การสำรวจ คนไร้บ้าน ในทุกจังหวัด สามารถทำต่อเนื่องได้ โดยเราตั้งใจทำงานเชิงป้องกันด้วย ซึ่งพอรู้สาเหตุ รู้ความต้องการ การทำงานจะตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาจริงๆ และทราบสาเหตุว่าทำไมพวกเขาต้องออกมาเป็นคนไร้บ้าน หากเราสามารถแก้ที่ต้นเหตุ จึงจะเป็นโอกาสในการบูรณาการความร่วมมือนับพร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนการทำงานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทุกจังหวัด หรือแม้แต่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ยังมีการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและท้องถิ่นในการดูแลคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านยั่งยืนต่อไปด้วย ส่วนมิติป้องกันในอนาคตก็จะเป็นการทำงานเชิงครอบครัวควบคู่กับการคุ้มครองเข้าถึงสิทธิ์ เรามองว่าเป็นการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เพียงการรอรับปัญหา

จตุพร กล่าวทิ้งท้ายว่า เราคิดว่าการกระทำเสียงดังกว่าคำพูด เมื่อก่อนคนไร้บ้านอาจถูกมองว่าไม่สำคัญ แต่วันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าเขามีความสำคัญ เราต้องเชื่อมั่นว่า ทุกคนมีศักยภาพในการดูแลตัวเองและเราต้องเคารพศักยภาพตรงนั้นของเขา แต่ที่ผ่านมาเขาอาจจะเจอกับอะไรบางอย่างที่มากระทบ และต้นทุนในชีวิตเขาอาจน้อยกว่าคนอื่น วันนี้เราจะมาร่วมด้วยช่วยกันการทำงานเรามองทุกมิติ สุขภาพ ทักษะอาชีพ มีที่อยู่อาศัยมีรายได้ โอกาสที่จะยืนด้วยตัวเองก็มากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเรา

แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์ แจงนับ \'คนไร้บ้าน\' ก้าวสำคัญ ลดเหลื่อมล้ำประชากรไร้สิทธิ์