ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย ลูกชาวนากับการคิดนอกกรอบ จบ ม.6 มุ่งหน้าสู่ท้องนาเรียนรู้การพัฒนาพันธุ์ข้าว ก่อตั้งกลุ่ม ‘ชาวนาไทอีสาน’ ส่งต่อ 7 สายพันธุ์ข้าวใหม่ให้ชาวนา เผยเหตุผลยอมสละความฝันหุ่นยนต์มาอยู่กับข้าวในนา ปัญหาใหม่ 'โลกร้อน' ทำเมล็ดข้าวลีบ

Keypoints :

  • สายเลือดชาวนาผู้ก่อตั้งกลุ่ม ชาวนาไทอีสาน เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้ตั้งใจพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทย
  • หากไม่พัฒนาพันธุ์ข้าวให้ ‘ดี’ และ ‘เหมาะสม’ เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น แต่ ที่ดิน มีเท่าเดิม ข้าวจะไม่พอเลี้ยงคน
  • รู้จักสายพันธุ์ข้าวไทยผ่าน เวิร์คช็อปเบลนด์ข้าว ในงาน ‘เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566’
  • ความเข้มของแสงแดดที่เพิ่มขึ้นผิดปกติจากภาวะ โลกร้อน ทำให้เกสรข้าวตาย เมล็ดข้าวลีบ

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย

แก่นคำหล้า พิลาน้อย มีชื่อเล่นว่า ‘ตุ๊หล่าง’ เกิดที่บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เป็นชายหนุ่มสายเลือดชาวนาโดยกำเนิด หากกล่าวถึงกลุ่มคนคิดนอกกรอบในเมืองไทย ‘ตุ๊หล่าง’ คือชื่อที่รวมอยู่ในนั้น

ตุ๊หล่าง คือแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม ชาวนาไทอีสาน การรวมตัวกันของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ ‘กลับบ้าน’ มาพัฒนาและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองถิ่นอีสาน ด้วยความเชื่อว่า ข้าวไทย มีดี และสามารถสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร ได้ด้วยการทำนาอินทรีย์ การทำนาแบบปราณีต

ซึ่งจะทำให้ได้ข้าวคุณภาพดี มีความหลากหลาย พึ่งพาตนเองได้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นคำตอบของการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

‘ชาวนาไทอีสาน’ เป็นทีมทดสอบร่วมในแต่ละพื้นที่ เมื่อ ‘ตุ๊หล่าง’ พัฒนาพันธุ์ข้าวขึ้นมาก็จะส่งไปทดสอบการปลูกในหลายพื้นที่เพื่อดูการตอบสนองต่อดินฟ้าอากาศและสภาพพื้นที่นั้นๆ

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน กลุ่มชาวนาไทอีสาน (credit : FB/ชาวนาไทอีสาน)

“กลุ่มชาวนาไทอีสาน มีด้วยกัน 15 ครอบครัว ในจังหวัดชัยภูมิ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ยโสธร สกลนคร ร้อยเอ็ด พวกเขารู้จักผมทางยูทูป ตอนแรกมาเรียนรู้การคัดพันธุ์ข้าว แต่สุดท้ายไม่รู้อะไรกวาดมาใส่กันไว้ อาจด้วยความเป็นคนที่มีความรู้สึกนึกคิดคล้ายคลึงกัน  ก็เลยอยากทำงานร่วมกัน และทำอย่างไรให้สิ่งที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อคนได้มากที่สุด โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรที่ยิ่งใหญ่เท่าคนอื่น” ตุ๊หล่าง ให้สัมภาษณ์กับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’

กลุ่ม ‘ชาวนาไทอีสาน’ รวมตัวกันหลวมๆ ปี 2557 ต่างคนต่างทำ ติดต่อกันผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มทำจริงจังปี 2561 พบกันทุกปีๆ ละหลายรอบ

นอกเหนือจากพันธุ์ข้าวที่ ‘ตุ๊หล่าง’ ทำมาก่อนหน้านี้ ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้หลังการรวมกลุ่ม คือ พันธุ์ข้าว ที่ร่วมกันพัฒนาแล้วส่งต่อให้สังคมได้อีก 7 สายพันธุ์ ได้แก่ 

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ

1 ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ : รสชาติดี เหนียวนุ่มละมุนลิ้น กลิ่นข้าวเคี้ยวใหม่ๆ หอมอวลอยู่ในโพรงจมูก เป็นพันธุ์ข้าวรุ่นแรกๆ ที่พัฒนาและปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหา ‘ข้าวหอมมะลิ 105’ ที่ให้ผลผลิตน้อย

2 ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร : ข้าวกล้องสีม่วงดำ เมื่อขัดแล้วมีสีขาวใสอมม่วง มีความเหนียวนุ่ม กลิ่นหอม

3 ข้าวเจ้าหอมเวสวิสุทธิ์ : มีความเหนียวนุ่ม กลิ่นหอม หุงขึ้นหม้อ หากปลูกในสภาพดินที่มีส่วนผสมของดินทราย 25% ขึ้นไป ข้าวจะมีกลิ่นหอมมากยิ่งขึ้น รสชาติและรสสัมผัสคล้ายข้าวหอมมะลิพื้นเมืองโบราณแถบภาคอีสานที่สูญพันธุ์ไป

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน เมล็ดพันธุ์ข้าว (จากซ้าย) สูตะบุตร, กุสุมา, เพขรราตรี

4 ข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ (มีศีลเป็นเครื่องประดับ) : เป็นข้าวเหนียวดำ หอมกลิ่นข้าวก่ำชัดจน เอกลักษณ์รสชาติคล้ายการกินขนมที่หอมหวาน

5 ข้าวเหนียวดำ อสิตะ : ข้าวกล้องสีม่วงดำเข้ม เมื่อขัดผิวออก เนื้อแป้งเป็นสีขาวขุ่นอมม่วง มีกลิ่นหอม 2 ระดับ คือ กลิ่นหอมของข้าวเหนียวดำและกลิ่นหอมของข้าวมะลิแทรกอยู่ในเมล็ดเดียว อสิตะเป็นคำในภาษาบาลี แปลว่า ดำสนิท มืดสนิท เป็นชื่อพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีสีดำที่สุดขณะนี้

6 ข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี : เป็นข้าวกล้อง มีสีม่วงดำสนิท เมื่อขัดแล้วได้ข้าวสารสีขาวใสอมม่วง ข้าวพันธุ์นี้เกิดจากการแตกตัวทางพันธุกรรมอย่างผิดปกติจากข้าวเจ้าสีขาว ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยากมาก จึงเปรียบดั่งอัญมณีในยามราตรี ‘เพชรราตรี’ หมายถึงสิ่งมีค่าที่ซุกซ่อนอยู่

7 ข้าวเหนียวหอมกุสุมา : ‘กุสุมา’ แปลว่าดอกไม้ เป็นแรงบันดาลใจที่นำมาตั้งชื่อพันธุ์ข้าวที่หุงแล้วให้กลิ่นหอมฟุ้งเหมือนกลิ่นดอกไม้ป่า ข้าวสายพันธุ์นี้เกิดจากการกลายพันธุ์ของข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ที่กลายเป็นข้าวสีขาว ค้นพบขณะแกะเปลือกคัดเลือกรวงข้าวเพื่อเอาไว้ทำพันธุ์เมื่อปี 2556

“เป็นชุดพันธุ์ข้าวที่ทีมงานของเราส่งต่อให้สังคมได้แล้ว เป็นความภาคภูมิใจที่เราเห็นว่าเราสามารถทำให้เกษตรกรในประเทศไทยสร้างรายได้ดูแลตัวเอง ครอบครัว และชุมชนได้”

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน เวิร์คช็อปเบลนด์ข้าว ในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566

ข้าวแต่ละสายพันธุ์มีความต่างกันของรสชาติ กลิ่นหอม เนื้อสัมผัส นอกจากพัฒนาสายพันธุ์ ตุ๊หล่างยังเสนอแนวคิดต่อยอดความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวสำหรับการบริโภคด้วย เวิร์คช็อปเบลนด์ข้าว ในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566 หรือ Isan Creative Festival (อีสาน ครีเอทีฟเฟสติวัล) ที่ TCDC จังหวัดขอนแก่น

เป็นกิจกรรมที่ ‘ชาวนาไทอีสาน’ ชวนให้รู้จักข้าวแต่ละสายพันธุ์ให้มากขึ้นด้วยการ เบลนด์เมล็ดข้าวสารต่างชนิด แล้วนำไปหุงและรอชิมข้าวหุงสุกที่ได้

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน ตักเมล็ดข้าวสารใส่ถ้วยนึ่ง

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน ข้าวหุงสุกที่ได้ นุ่มเหนียวหอมอร่อย

โดยเตรียมเมล็ดข้าวสารหลากสีสัน จำนวน 5 สายพันธุ์ คือ ข้าวเหนียวดำคนึงนิตย์ ข้าวเหนียวแดงศรีถาวร ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวฮางงอก และข้าวเหนียวขาววิสุทธิ์ มาให้ทดลองเบลนด์ตามใจชอบ

สมาชิก ‘ชาวนาไทอีสาน’ จะอธิบายก่อนว่าข้าวแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นอย่างไร เป็นธาตุร้อนหรือธาตุเย็น เมล็ดข้าวแต่ละสายพันธุ์ให้สีสันอย่างไร เนื้อสัมผัสเมื่อหุงสุกแล้วเป็นอย่างไร ฯลฯ

จากนั้นผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปก็เบลนด์ด้วยการตักเมล็ดข้าวสารพันธุ์ต่างๆ ตามสัดส่วนที่คิดไว้ใส่ถ้วยนึ่งข้าว เขียนชื่อแปะไว้ รอจนข้าวหุงสุก ทีมงานก็จะนำมาให้ชิมว่ารสชาติ เนื้อสัมผัส กลิ่นหอม ที่เกิดจากการเบลนด์เมล็ดข้าวสารตามสัดส่วนที่แต่ละคนพอใจเป็นอย่างไร ตรงหรือแตกต่างจากที่คิดไว้อย่างไรหรือไม่

แต่ละคนอาจค้นพบสูตรเบลนด์ข้าวที่อร่อยในแบบฉบับของตนเอง บางคนอาจได้ข้าวเหนียวแทนที่จะได้ข้าวเจ้าอย่างที่คิดไว้ บางคนได้ข้าวที่มีสีออกไปในโทนสีดำ ฯลฯ 

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน การแสดงพันธุ์ข้าวไทยพัฒนาโดยกลุ่มชาวนาไทอีสาน

ตุ๊หล่าง กล่าวว่า งานพัฒนาพันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ข้าวเหนียว เนื่องจากวัฒนธรรมอีสานเป็นวัฒนธรรมข้าวเหนียวมากกว่า และข้าวเหนียวยังนิยมนำไปแปรรูปทำขนมได้ในทุกภูมิภาคของไทย

“ถ้าเทียบกันในสภาพของข้าวดำเหมือนกัน ผลผลิตจะสูงกว่าข้าวดำทั่วไป 2-3 เท่า ในการปลูกพื้นที่ขนาดเท่ากัน ถ้าเทียบกับข้าวก่ำโบราณกับข้าวสีลาภรณ์และอสิตา ข้าวโบราณได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ แต่อสิตาและสีลาภรณ์จะได้ 900-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ และดูแลง่ายกว่า” ตุ๊หล่าง กล่าวถึงข้อแตกต่างของสายพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้

การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อเหตุผลให้ขายได้เงินมากขึ้นเท่านั้น แต่เขามองไปถึงปัญหาใหญ่ของโลก 

ความมั่นคงทางอาหาร เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของคนทั้งโลก การที่เราใช้วิธีและกระบวนการปลูกแบบที่มีอยู่แล้ว แต่พันธุ์ไม่ได้มีการพัฒนาที่เหมาะสม ต่อให้ปลูกดีแค่ไหน ผลผลิตก็ได้แค่นี้ จะไม่พอเลี้ยงคน ถ้าเราไม่พัฒนาพันธุ์ให้ดี ให้เหมาะสม คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะ ที่ดิน เท่าเดิม มันจะเลี้ยงคนไม่พอ เราก็เลยให้ความสำคัญและพัฒนาเรื่องนี้มาตลอด”

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย

‘ตุ๊หล่าง’ แก่นคำหล้า พิลาน้อย ปัจจุบันอายุ 40 ปี สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 โรงเรียนกุดชุมวิทยาคม จ.ยโสธร สนใจเรื่อง การพัฒนาพันธุ์ มาตั้งแต่อายุ 19 เขาใช้คำว่า “ชอบเหมือนถูกดูดวิญญาณเข้าไปเลย” ชอบเรื่องการพัฒนาพันธุ์ทุกอย่าง  ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ 

ดังนั้นพอเรียนจบ ม.6 จึงตัดสินใจเดินออกจากห้องเรียนไปคลุกคลีอยู่กับการพัฒนาพันธุ์ข้าวในท้องนา และเดินทางไปเรียนรู้หลักวิชาการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการคัดพันธุ์ข้าวที่ ‘มูลนิธิข้าวขวัญ’ ของอาจารย์เดชา ศิริภัทร ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ตรงพัฒนาเป็นองค์ความรู้มาเรื่อยๆ

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน (credit : FB/ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย)

ความจริงแล้วสิ่งที่ ‘ตุ๊หล่าง’ อยากทำไม่ใช่เรื่อง ‘ข้าว’ แต่เป็นเรื่อง หุ่นยนต์ กับ ยานอวกาศ และถ้าจะศึกษา 2 เรื่องนี้จริงๆ ก็สามารถทำได้ เพราะเขาสอบผ่านได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

“แต่ตอนจบ ม.6 ผมตั้งเป้าหมายเรื่องข้าวไว้แล้ว ผมก็โอนทุนของญี่ปุ่นให้รุ่นน้อง แล้วตัวเองก็มาทำเรื่องข้าว ผมคิดว่าสิ่งนี้มันสำคัญกว่า 

มีคนบอกว่าถ้าผมวิจัยเรื่องยานอวกาศ ผมอาจมียานอวกาศอพยพคนไปนอกโลกเวลามีสงครามได้แล้ว แต่มันก็ได้ไม่กี่คนหรอก ที่สำคัญกว่านั้นคือคนระดับพื้นบ้าน ทำอย่างไรเขาจึงจะมีชีวิตรอด เราไม่สามารถสร้างยานขนาดใหญ่ที่จะบรรทุกคนทั้งประเทศไทยหนีไปได้

แต่ถ้าเรา พัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดีพอ ให้คนในประเทศไทยปลูก หรือหล่อเลี้ยงคนในประเทศไทย หล่อเลี้ยงคนในภูมิภาคเอเซียนและอยู่รอดได้ อันนี้จะมีคุณค่าที่คงทนและเป็นรูปธรรมมากกว่า

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน (credit : FB/ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย)

ผมไม่ได้วางเป้าหมายให้คนไทยปลูกแล้วขายเท่านั้น ผมเอาพันธุ์ข้าวไปทดลองปลูกที่เวียงจันทน์ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ เพื่อให้คนเขาได้เลี้ยงชีวิต ผมมีเป้าหมายประมาณนี้ ให้คนได้เลี้ยงชีวิต ไม่จำเป็นต้องมีรายได้เลี้ยงประเทศทั้งหมด

ผมอยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ปลูกข้าวมากกว่า ไม่ได้อยากให้ทุกคนมีสิทธิ์ซื้อ ผมถึงพัฒนาพันธุ์ข้าว หนึ่งไร่เลี้ยงได้ 5-10 คน นั่นหมายถึงครอบครัวหนึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นชาวนา แค่มีที่ปลูกข้าว ก็สามารถปลูกข้าวไว้กินเองได้แล้ว

พันธุ์ข้าวที่ผมพัฒนา ใช้น้ำน้อยกว่า ข้าวทั่วไปต้องมีน้ำขัง 5-10 เซนติเมตร แต่พันธุ์ข้าวของเราไม่ต้องมีน้ำขัง ขอแค่ให้ดินชุ่มจนก่อนเกี่ยว 10 วัน หยุดให้น้ำทันที แต่ละสายพันธุ์ใช้เวลาปลูกไม่เท่ากัน น้อยสุด 132 วัน ไปจนสูงสุด 180 วัน ปลูกหน้านา แต่ปลูกที่ไหนก็ได้”

การพัฒนาพันธุ์ข้าวยังมีเรื่องให้คิดต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะโจทย์ใหม่ล่าสุดที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้

ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย โจทย์ใหม่พัฒนาพันธุ์ข้าวไทยเมื่อโลกร้อน (credit : FB/ตุ๊หล่าง แก่นคำหล้า พิลาน้อย)

“ตอนนี้ผมสังเกตว่า กลางวันเหมือนยาวนานกว่ากลางคืนในช่วงฤดูทำนา ซึ่งเมื่อก่อนไม่เป็นแบบนี้ สังเกตว่าพอความเข้มแสงแดดมากไป ข้าวออกรวงเร็ว ผมไม่เคยเจอกรณีนี้ตั้งแต่เกิด 

กำหนดเวลาที่เราทำมาเพี้ยนไปหมด ปีสองปีที่ผ่านมาต้องปรับแผนการทำงานใหม่ ข้าวอสิตะกับสีลาภรณ์ จะไปเกี่ยว 1 ธันวา ทั้งๆ ที่ปักดำ 1 มิถุนา ปีนี้ได้มาเกี่ยว 25 พฤศจิกา นั่นหมายความว่าความเข้มแสงมันสูงกว่าเดิม แปลว่าโลกร้อน 

ความเข้มแสงมากกว่าปกติ ข้าวเราถึงสุกเร็ว โลกเราต้องเสี่ยงกับความร้อนที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าที่เป็น ผลที่ตามมาจะทำให้เมล็ดข้าวลีบมากขึ้น นี่คือโจทย์ที่ทีมต้องทำต่อ แสงเข้มทำเกสรข้าวตาย ทีมเราต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นคือพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีเมล็ดเต็มเหมือนเดิมให้ได้”

ตุ๊หล่าง กล่าวถึงภารกิจที่เขาและกลุ่ม 'ชาวนาไทอีสาน' กำลังทำงานอยู่ในเวลานี้