เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน

เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน

ความยุ่งเหยิงในสังคมที่ไม่เข้าใจกัน มนุษย์แม่-นักเขียนซีไรต์มองว่าเป็นเพราะช่องว่างระหว่างอนาล็อกกับดิจิทัล มากกว่าเรื่องของวัยหรือ Generation

วีรพร นิติประภา นักเขียนนวนิยาย เจ้าของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) 2 สมัย จากเรื่อง ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ปี 2558 และ ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ปี 2561

กล่าวในงานเสวนา ‘จากนักอ่าน...สู่นักเขียน SEA Write สองสมัย’ ในเทศกาลออกร้านหนังสือ Arts Chula Book Fest ครั้งที่ 12 โดย ภาควิชาภาษาไทย อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียนที่ดี ต้องหัดอ่านวรรณกรรมคลาสสิก

"อย่าอ่านแต่แนวที่ตัวเองชอบ ท่ามกลางปัจจุบันที่มีป๊อปปูลาร์คัลเจอร์เยอะแยะ มีวรรณกรรมนอกกระแสเยอะไปหมด การอ่าน วรรณกรรมคลาสสิก สำคัญมาก แต่ที่ผู้มาเรียนคอร์สสอนการเขียนของวีรพร ไม่มีใครอ่านงานคลาสสิกเลย

วรรณกรรมคลาสสิกคือ โครงสร้างแข็งแรงที่สุดของการเขียนและการอ่าน หลายคนไม่ได้อ่านงานโมเดิร์นคลาสสิกของ ‘เฮมิงเวย์’ มาถึงก็อ่านงาน ‘มูราคามิ’ เลย ซึ่งถ้ารื้อดีเอ็นเอ (DNA) กันจริง ๆ จะเห็นโครงสร้างอยู่ในนั้น ท้าได้เลยว่ามีโครงสร้างแบบคลาสสิก มีคานรับ ตรงนั้นตรงนี้อยู่ตลอด

ถ้าจะอ่านงานของ ‘มูราคามิ’ ให้รู้เรื่อง ต้องไปอ่าน ‘เฮมิงเวย์’ หรืองานสยองขวัญของญี่ปุ่นมาก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้สึกในเรื่องการสร้างอารมณ์ ความรู้สึกน่ากลัว ความเปลี่ยวเหงา"

เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน Cr. Kanok Shokjatatkul

  • วรรณกรรมไทยยุครุ่งเรือง

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมีผลต่อการอ่าน วีรพร กล่าวว่า โชคดีที่เกิดและเติบโตในยุคที่วรรณกรรมไทยรุ่งเรือง ทำให้ได้อ่านงานดี ๆ มากมาย

"เราเกิดปี 2505 แม่สมัครสมาชิกนิตยสารฟ้าเมืองทอง, ฟ้าเมืองไทย, ชัยพฤกษ์การ์ตูน, ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ทำให้เราได้อ่านหนังสือ

พออายุ 12 เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา มีงานวรรณกรรมการเมืองมากมาย ‘ดอสโตเยฟสกี้, หลู่ซิ่น, เจ้าชายน้อย หลังจากนั้นงานเขียนก็มีภาษาที่เรียบง่ายขึ้น ภาษาสวยงามหายไป

ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่ามีทั้งภาษาเขียน, ภาษาอ่าน, ภาษาราชการ, ภาษาโรแมนติค, ภาษาโกวเล้ง เราเป็นประเทศที่มีความรุ่มรวยในภาษา เด็ก ๆ ควรจะได้อ่านงานเหล่านี้"

วีรพร กล่าวว่า ถ้าอยากจะเป็นนักเขียน ต้องเป็นนักอ่านก่อน

"การอ่านมีความจำเป็น ถ้าคุณไม่อ่าน คุณก็เขียนไม่ได้ดีอยู่ดี นักเขียนรุ่นใหม่ที่เขียนออนไลน์ ไม่อ่านหรืออ่านน้อยมาก งานคลาสสิกไม่เคยอ่าน

นิยายวาย, นิยายจิ้น ขึ้นเร็วมาก เพราะความสด แล้วเรื่องก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่หลังจุดพีคเมื่อคุณอายุ 25 ปีแล้วจะไปต่อยังไง นักเขียนนิยายวายอายุค่อนข้างสั้น 3-5 ปี ก็มีรุ่นใหม่มาแล้ว ที่สดกว่า พล็อตก็ตื่นเต้นเร้าใจกว่า"

เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน Cr. Kanok Shokjatatkul

  • ลักษณะเฉพาะในการเขียน

ความเป็นตัวของตัวเองที่นักเขียนทุกคนต้องมี วีรพรเรียกสิ่งนี้ว่า เสียงของตัวเอง

"การเป็นนักเขียนต้องมี ‘เสียง’ ของตัวเอง เราเริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มแรกตอนอายุ 50 ถ้าไม่มีเสียงของตัวเองหรือลักษณะเฉพาะตัว ก็คงจะตายก่อนดัง ในยุคสมัยใหม่นี้นักเขียนไม่ได้แข่งกับตัวเอง แต่แข่งกับมีเดียอื่นด้วย เช่น มือถือ, ไลน์, ทีวี ฯลฯ

วิธีการคือ แลกหมัดกันไปเลยละกัน ถ้าอ่านวีรพร คุณต้องปิดทุกอย่าง ไม่งั้นอ่านไม่รู้เรื่อง หรือไม่ปิดก็ได้ ก็ไม่ต้องอ่าน ถ้าอ่านก็ปิดทุกอย่าง

เพราะมันมีความซับซ้อนเรื่องอารมณ์ ถ้าเราไม่สร้างอาณาจักรให้เขาจะเดินเข้ามาแล้วอยู่ในนั้น เพื่อจดจ่อและเข้าใจสิ่งที่เราพูด ความรู้สึกของตัวละคร และเรื่องราวต่าง ๆ "

โลกเปลี่ยนไป คนต้องเปลี่ยนตาม วีรพร จึงเขียนเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกลงในสื่อออนไลน์

"เป็นงานเขียนสั้น ๆ ถูกแชร์ไป 2,000 ครั้ง จนสำนักพิมพ์มาขอพิมพ์แจกสมาชิก เราคิดว่าการพูดน้อย มันเสี่ยงต่อการเข้าใจผิด ก็เลยทำเป็นเล่มออกมา ชื่อว่า 'โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก' ปรากฎว่าขายดีกว่านวนิยาย

เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน Cr. Kanok Shokjatatkul

ในโลกสมัยใหม่ เราไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยวิธีดั้งเดิมอย่างที่ถูกเลี้ยงมาหรือเข้าใจมา ตอนนี้มันมีอินเตอร์เน็ต, มีมือถือ มีทุกอย่าง การที่คุณเข้าใจว่าเด็กเห็นอะไรในมือถือ นั่นไม่ถึงครึ่งหรือ 10 เปอร์เซ็นต์ รูปแบบสังคมเปลี่ยนไป

เราคิดว่าเป็นช่องว่างระหว่างวัย แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นช่องว่างระหว่างระบบอนาล็อกกับดิจิทัล ไม่ได้อยู่แค่พ่อแม่, ครอบครัว, การเลี้ยงดู, โรงเรียน, มหาวิทยาลัย แต่รวมถึงปัญหาทางการเมือง ทางธุรกิจ แล้วก็มีเด็กอัลฟ่าที่เกิดมาพร้อมกับระบบดิจิทัลเต็มตัว เขาก็มองโลกอีกแบบหนึ่ง"

คนยุคก่อนกับคนยุคปัจจุบัน ทำงานต่างกัน วีรพร เห็นว่า นั่นทำให้โลกเรายุ่งเหยิง

"เราเคยไปทำงานกับน้องคนหนึ่ง ทำหนังสือเด็กชื่อจั๊กกะจิ่งจิ่ง เวลาทำงานก็จะประชุมให้ทุกคนเสนอ แล้วก็โหวต สองชั่วโมงผ่านไปได้หนังสือหนึ่งเล่ม

กับอีกงานหนึ่ง กว่าจะเข้าเรื่อง ประชุมกัน 4-5 วัน ยังไม่รู้เรื่อง เพราะทุกคนพยายามขาย ครึ่งหนึ่งในนั้นคือขายตัวเอง ไม่ได้ขายงาน ประชากรส่วนใหญ่อายุ 40 อัพจะเป็นอย่างนี้

ต่างจากการทำงานของเด็ก ๆ ที่ไม่ได้สนใจตัวเองเลย สนใจแต่เนื้องาน ไม่มีเรื่องส่วนตัว ปัญหายุ่งเหยิงของโลกทั้งใบคือ เส้นแบ่งที่เป็นช่วงเวลา 10-20 ปี ตอนนี้เราอยู่ตรงกลางของ 20 ปีนั้นของการก้าวไปสู่ดิจิทัลเต็มตัว"

เปิดมุมมองนักเขียนซีไรต์ ‘วีรพร นิติประภา’ เขียนยังไงให้คนอ่าน Cr. Kanok Shokjatatkul

  • ความสำคัญของภาษาเขียน

ภาษา เป็นเรื่องสำคัญ วีรพร แนะว่า

"ภาษาที่เราใช้ไม่ดีพอ เช่น ทีวีช่องหนึ่งประกาศว่า พบศพคนตาย มันไม่มีค่ะพบศพคนเป็น ช่องนี้ได้แจ้งความเท็จไปแล้ว หรือคำว่า เสียงแห่งลม ก็ไม่มีค่ะ เสียงลมก็เสียงลม

วรรณกรรมบ้านเราเหมือนการอ่านมันขาดหายไปช่วงหนึ่ง จากยุค ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, สุวรรณี สุคนธา, โกวเล้ง’ ก็ตัดเข้าสู่ยุควรรณกรรมเพื่อชีวิต ภาษากลายเป็นอีกชุดหนึ่ง เรียบ ๆ ถึงเรียบที่สุด

เพราะต้องสื่อสารกับมหาชน แล้วก็ไม่มีใครใช้คำชุดในระดับที่บางกว่านั้น เช่น เดียวดาย เขาก็เขียนว่า เหงา ซึ่งเดียวดายมันรู้สึกเป็นอีกขั้นหนึ่ง

วิธีแก้คือ การอ่าน และการสอนระดับประถม-มัธยม ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสนุก มีความงาม มีสิ่งที่ต้องมองหามากกว่าแค่ความเก๋

อย่างตอนทำ ‘ไส้เดือนตาบอดฯ’ เนื่องจากเนื้อเรื่องเบาบาง เลยมีพื้นที่ให้เล่นกับภาษาเยอะมาก ขณะที่ ‘พุทธศักราชฯ’ ภาษาจะเบาบางลงมาก ชุดคำเวิ่นเว้อไม่มีพื้นที่ให้ใส่ ซึ่งแตกต่างกัน ในการทำงานจริง ๆ มันมีหลายระดับ"

การสอนจะทำให้เด็กมองเห็นว่า ภาษามันสวยยังไง มันทำงานยังไง ตอนเด็ก ๆ เราได้ฟัง ‘กาพย์นางลอย’ ที่อาจารย์ร้องออกไมค์ให้ฟัง ฟังครั้งแรกร้องไห้เลย อาจารย์กระตุกเสียงเหมือนสะอื้น เพราะเขาใช้คำสั้น คำยาว เราก็รู้สึกตื่นเต้น เทิดทูนบูชา เพราะเขาทำให้เรามองเห็น

ในประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลจะส่งเสริมสำนักพิมพ์ ลดภาษีสิ่งพิมพ์ ทำห้องสมุด เราควรทำตามประเทศเหล่านี้ ถ้าเรากระตุ้นการอ่านได้ ก็กระตุ้นวงการได้

ทุกวันนี้วงการวรรณกรรมทุกคนลำบากมาก ถ้าอยู่ปริ่มน้ำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ก็จะทำแต่หนังสือที่แน่ใจว่าขายได้

หนังสือบางประเภทก็จะแคบลง ซึ่งการพัฒนาทั้งหมดขึ้นอยู่กับความหลากหลาย ถ้าประเทศไหนไม่มีบทกวี ก็เตรียมล่มสลายได้แล้ว"