ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี

ความทรงจำอันงดงามของครอบครัว ‘ประจวบเหมาะ’ กับเรื่องราว ‘วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช’ หรือ ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จังหวัดเพชรบุรี อายุเกือบร้อยปี

บ้านทรงยุโรป สีเขียว นามว่า บ้านขุนวิเชียรพานิช ที่คนสมัยก่อนเรียกว่า ตึกเขียว ด้านในเป็นไม้สักทองทั้งหลัง เป็นบ้านที่รวบรวมศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ไม่ว่าหน้ามุก 6 เหลี่ยม มีมุมโค้งมน บานหน้าต่างโค้งมนตามรูปทรงของบ้าน ถือว่าเป็น ศิลปะสถาปัตยกรรม จากช่างผู้มีฝีมือในสมัยก่อน ปัจจุบันบ้านหลังนี้เปิดให้เข้าชม และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของ จังหวัดเพชรบุรี

วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช สถาปัตยกรรมสไตล์ตะวันตก ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี เป็นบ้านพักกึ่งพิพิธภัณฑ์ ของตระกูล ประจวบเหมาะ  ปัจจุบันดูแลโดยทายาทรุ่นที่ 3 ต่อ-สุมนธรี  ประจวบเหมาะ

สุมณฑารี เล่าว่า คุณปู่ (ขุนวิเชียร) เป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของเพชรบุรี หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีลูก 6 คน ทว่า ลูกสาวคนโตเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 3 ขวบ คุณพ่อของเธอ ธรรมนูญ ประจวบเหมาะ เป็นลูกชายคนเล็ก เรียนจบจากสหรัฐอเมริกา กลับมาเมืองไทย เริ่มทำงาน ช่วยก่อตั้ง อสท. ในปี พ.ศ. 2503

บ้านเก่า ‘ขุนวิเชียรพานิช’

ทายาทรุ่นที่ 3 ต่อ-สุมนธรี ประจวบเหมาะ เล่าว่า คุณพ่อของเธอรักบ้านหลังนี้มาก และคำสั่งเสียของคุณย่า (ร่าย ประจวบเหมาะ) บอกไว้ว่า ห้ามขายบ้านหลังนี้เด็ดขาด ให้เก็บเอาไว้

"บ้านขุนวิเชียรพานิช สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2470 เสร็จในปีพ.ศ. 2473 คุณปู่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปีพ.ศ. 2429 ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่า บ้านหลังนี้จะได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก"

ครอบครัว “ขุนวิเชียรพานิช” เป็นคหบดีที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเพชรบุรี มีธุรกิจการค้าหลายอย่าง อาทิ โรงไฟฟ้า โรงสี โรงน้ำแข็ง สังฆภัณฑ์ ฯลฯ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคอีกมากมาย “ขุนวิเชียรพานิช” เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2486 ขณะที่อายุเพียง 58 ปี และหลังจากนั้นภรรยา(ร่าย ประจวบเหมาะ )ก็เสียชีวิต บ้านหลังนี้ก็เลยถูกปิดไว้ยาวนาน

จนกระทั่ง ธรรมนูญ ประจวบเหมาะ พร้อมบุตรชาย พตท.กุลธร ประจวบเหมาะ เป็นผู้ออกแบบและดูแลการซ่อมแซมในช่วงปี 2556-2558 มีการรื้อถอนเรือนไม้สองชั้นที่ติดกับริมแม่น้ำเพชรบุรีออกไป ทำให้มองเห็นความงดงามอันโดดเด่นของตัวบ้าน ใครสัญจรผ่านไปมาทางน้ำ ก็มักจะถามว่านี่เป็นบ้านของใคร สวยจัง

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี

ปัจจุบัน บ้านขุนวิเชียรพานิช-ร่าย ประจวบเหมาะ ใช้เป็นที่พักอาศัย และอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อจัดทำเป็นที่พักเจ้าของบ้านและพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็ก โดยใช้ชื่อว่า วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี “คุณปู่พื้นเพคือมาจากประจวบเลย ต้นตระกูลเราเป็นนายอากร เป็นขุนอากรทรงโปรด หลังจากนั้นก็มีลูกหลาน คุณปู่ย้ายจากประจวบมาอยู่ที่เพชรบุรี คุณปู่วิเชียรมีโรงสีข้าว และโรงสีของเราอยู่ตรงสะพานรถไฟ ตรงข้ามกับจวนผู้ว่าฯ เพราะฉะนั้นคุณปู่คุณย่าก็จะล่องเรือไปรับข้าวจากชาวนาเข้าโรงสี

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี นอกจากธุรกิจโรงสีแล้ว คุณปู่ก็ยังได้สัมปทานจากรัฐบาลทำโรงไฟฟ้า บ้านเรามีโรงสีไฟ เขาเรียกว่าโรงสีไฟอยู่ใกล้ๆ โรงสีข้าว ซึ่งจ่ายไฟตั้งแต่ตอน 6 โมงเช้าจนถึง 2 ทุ่ม แล้วแม่น้ำเพชรบุรีก็จะใช้เป็นที่ล่องเรือไปเอาข้าวจากชาวนา ท่าน้ำชานบ้าน ก็จะเป็นท่าที่คุณปู่คุณย่าจอดเรือ ลากโยงเรือไปเอาข้าวมาสีเข้าโรงสี”

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม

ต่อ-สุมนธรี ประจวบเหมาะ  เล่าว่า ที่ดินของบ้านหลังนี้มี 3 แปลง ต่อมามีการตัดถนน ก็มีการแลกที่ดินบางส่วน และบริจาคที่ดินบางส่วนทำเป็นท่าเรือหลวง เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์

“หลังจากซ่อมบ้านหลังนี้เสร็จ คุณพ่อบอกว่า ทำยังไงก็ได้ให้อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นสถานที่ที่คนต้องแวะ ก่อนที่จะไปเที่ยวชะอำ หัวหิน และก็เป็นเรื่องที่บังเอิญมาก เหมือนกับนามสกุลเราเลยค่ะ ประจวบเหมาะ ที่ กลุ่มรัตนโกสิเนหา เขาทำทริปท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมอยู่พอดี มาสำรวจเส้นทางที่ จังหวัดเพชรบุรี

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี ‘ต่อ-สุมนธรี ประจวบเหมาะ’ ทายาทรุ่นที่ 3 

แล้วเผอิญเห็นหลังคาบ้านเรา ก็เลยเข้ามาดู เขาก็ตกใจ อย่างที่บอกก่อนซ่อมบ้านหลังนี้ จะไม่มีใครเคยเห็นบ้านหลังนี้เลย เพราะว่า มีเรือนสองชั้นที่เป็นเรือนไม้ ตอนที่ซ่อมไม้ผุมาก เก็บไว้ไม่ไหว

เพราะค่าซ่อมมหาศาลแน่นอน ก็เลยต้องรื้อเรือนนั้นออก ทำให้มองเห็นบ้านหลังนี้ ตอนที่เราซ่อมบ้านหลังนี้เสร็จ ก็คุยกับอาจารย์ทางศิลปากร ตอนแรกอยากมอบให้กรมศิลป์

พออาจารย์จากศิลปากรมาดู เขาบอกว่า อย่าเด็ดขาด เพราะการตอกตะปูตัวหนึ่งคือต้องขออนุญาต ทำอย่างไรให้คนรู้จักบ้านหลังนี้ ก็ต้องส่งบ้านเข้าประกวด สมาคมสถาปนิกสยาม จนกระทั่งได้รางวัลเมื่อปี 2563-2564"

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี คุณค่าที่อยากให้คนได้ชื่นชม

การซ่อมแซมบ้านหลังนี้ ต่อ บอกว่า เริ่มต้นใช้เงินไปประมาณ 10 ล้านบาท ซ่อมเรื่อยมาจนถึงวันนี้ น่าจะใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 15 ล้านบาท และต้องดูแลต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้บ้านหลังนี้ยังคงมีลมหายใจอยู่ ตามความประสงค์ของเจ้าของบ้านรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2

"การเปิดบ้านให้เข้าชมมีรายได้เพียงนิดหน่อย ไม่พอค่าแม่บ้านและค่าดูแล ทว่าต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเพชรบุรี จึงทำด้วยใจรัก และขอฝากผู้ที่สนใจงานด้านสถาปัตยกรรม แวะเวียนเข้ามาชมกันได้

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี ปัจจุบันคุณพ่ออายุ 88 ปี เป็นโรคไตเรื้อรัง จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ถ้าพูดถึงบ้านหลังนี้ เป็นสิ่งเดียวที่เขาจำได้แม่นที่สุด แล้วเขาจะมีความสุขมากที่เล่าให้เขาฟังว่า มีคนเข้ามาเที่ยว มาเยี่ยมบ้าน

โดยเฉพาะบอกว่า คนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้ามาด้วยนะคะ คุณพ่อ ยิ้มดีใจ บอกจริงเหรอ แค่นั้นเลยค่ะความสุขของคุณ ธรรมนูญ ประจวบเหมาะ ตอนนี้

สิ่งที่เราพยายามทำ ก็ทำตามความคิดที่คุณพ่อบอกว่า ทำให้หน่อย แล้วเขาไม่มีโอกาสที่จะได้ทำแล้วถึงแม้ตอนนี้เราได้ทำแล้ว  เขาก็ไม่มีโอกาสได้มาเห็น เพราะเขาก็เดินทางไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นบ้านก็จะมีประมาณนี้นะคะ”

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี

บ้านขุนวิเชียรพานิช รูปทรงสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำเพชรบุรี เป็นไม้สักทองทั้งหลัง พื้นบ้านเป็นไม้เก่าทั้งหมด มีห้องต่างๆให้เข้าไปเยี่ยมชม

เจ้าของบ้านเป็นผู้พาชมบอกเล่าเรื่องราวของบ้าน ทุกซอกมุม มีรูปของบรรพบุรุษ มีห้องต่างๆที่ยังรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ที่มีอยู่เดิม เช่น เตียงนอน ตู้ โต๊ะอาหาร ฯลฯ เป็นอีกแห่งที่เมื่อไป จังหวัดเพชรบุรีแล้วต้องไม่พลาดเช็คอิน

ความทรงจำอันงดงาม ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’ จ.เพชรบุรี ‘วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช’  หรือ ‘บ้านขุนวิเชียรพานิช’

ที่ตั้ง : เลขที่ 1 ถนน สุรพันธุ์ ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ต้องการเข้าเยี่ยมชมติดต่อได้ที่  [email protected] หรือ inbox ไปสอบถามยัง FB Page ของ วิลล่าประวัติศาสตร์ขุนวิเชียรพานิช