ป่วย "อัลไซเมอร์" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

ป่วย "อัลไซเมอร์" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

หากผู้ใหญ่ในบ้านป่วยเป็น "อัลไซเมอร์" แต่ไม่รู้จะรับมืออย่างไรดี ชวนไปรู้จักเทคนิค RDAD อีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและความสุขให้ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลไปพร้อมๆ กัน

"อัลไซเมอร์" เป็นโรคที่ต้องใช้ความใส่ใจและวิเคราะห์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากแนวโน้มการศึกษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกพบว่า ในการดูแลผู้ป่วยนั้น พลังใจเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกัน สำหรับคนใกล้ชิดที่ต้องดูแลแล้ว นี่คือภารกิจอันแสน "หนักหน่วง" ที่สร้างความหนักใจไม่น้อย

ล่าสุด สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงร่วมกับ มูลนิธิสังคมและสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่องการพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยร่วมกันพัฒนาและเปิดตัวหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม Reducing Disability in Alzheimer's Disease หรือ RDAD เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และผู้ดูแลให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น

ป่วย \"อัลไซเมอร์\" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

สมองเสื่อมเริ่มที่ "เข้าใจ"

ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ หัวหน้าโครงการสร้างความร่วมมือเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงอายุ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดพร้อม สมองเสื่อม คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ซึมเศร้า ก้าวร้าว ซึ่งปัญหานี้เป็นความทุกข์ของผู้ดูแล โดยสิ่งที่ได้เจอจากการลงพื้นที่ พบผู้สูงอายุหลายรายที่มีอาการสมองเสื่อมและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป จากแม่ที่ดีต่อลูก พอเกิดสภาวะสมองเสื่อมก็ด่าทอลูกเสียๆ หายๆ บางรายจุดไฟไหม้บ้านเพียงเพราะต้องการจะหุงข้าว ขณะที่บางคนบ้วนข้าวใส่หน้า ถ่ายปัสสาวะไม่เป็นที่ เป็นต้น

การดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมด้วยโปรแกรม Reducing Disability in Alzheimer's Disease หรือ RDAD เป็นอีกทางออกของการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริง ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เซาท์แคโรไลนา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มูลนิธิสังคมสุขภาพ วิทยาลัยพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยดำเนินการมา 5 ปี เพื่อศึกษาพฤติกรรม โครงสร้างครอบครัว วงจรวิถีชีวิต รวมถึงบริการสุขภาพ 

ป่วย \"อัลไซเมอร์\" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

ดร.นพ.โกมาตร กล่าวต่อว่า สำหรับการขยายผลงานวิจัยนี้มี 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีการสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์การดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมผ่านการใช้โปรแกรม RDAD สามารถนำมาเบิกค่าใช้จ่ายกับกองทุน สปสช. ได้ และอีกส่วนคือ การอบรมกับทาง ThaiHealth Academy ของ สสส. ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาเรียนได้ 

"นอกจากนี้ เรายังมีการทำหนังสือเกี่ยวกับการดูแลแบบ RDAD น่าจะออกเดือนมิถุนายนนี้ แต่หนังสืออาจได้ความรู้ความเข้าใจเพียงบางส่วน สำหรับผู้สนใจต้องการมาฝึกภาคปฏิบัติก็สามารถมาฝึกกับทาง ThaiHealth Academy ได้" ดร.นพ.โกมาตร กล่าว

รู้จักอาการจริง "อัลไซเมอร์"

รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ คงศิริ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เนื่องจากสมอง ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จะค่อยๆ น้อยลงและตายไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์สมองส่วนที่ตายเป็นส่วนไหนก่อน ดังนั้นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอาการผู้ป่วยจึงไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าสมองส่วนรับผิดชอบเรื่องภาษา ผู้ป่วยจะเริ่มพูดจาไม่รู้เรื่อง หรือพูดเรื่องสมัยตั้งแต่เด็กๆ แต่หากสมองส่วนควบคุมการมองเห็นเสียไปก่อน ผู้ป่วยอาจเกิดภาพหลอน เช่น เห็นญาติที่เสียชีวิตไปแล้วมาหา อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานนิสัยของแต่ละคนด้วย

ป่วย \"อัลไซเมอร์\" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

"ผู้ป่วยสมองเสื่อมจาก อัลไซเมอร์ มี 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะสุดท้าย ในระยะเริ่มต้นนั้น เป็นช่วงของการลืมบางอย่าง แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ผู้ป่วยยังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ แต่ระยะกลาง คืออาการหลงลืมไปหมด เริ่มพูดจากหยาบคาย พฤติกรรมเปลี่ยนไป จำทางกลับบ้านไม่ได้ แต่ร่างกายยังแข็งแรงพอเดินได้ ส่วนระยะสุดท้าย ร่างกายจะเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากรับประทานอาหารได้ไม่ดี สมองไม่ได้สั่งงาน อยู่ติดที่เรื่อยๆ ทำให้เกิดภาวะร่างกาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลายเป็น ผู้ป่วยติดเตียง และเสียชีวิตในที่สุด เพราะสมองลืมวิธีการกิน ลืมหิว หรือหายใจ" รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ กล่าว

"หลง" กับ "อัลไซเมอร์"

สำหรับ 2 คำนี้ รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ ให้ความรู้ว่า "หลง" เป็นคำใหญ่ มีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการหลงลืม แต่คนหลงลืม ไม่ได้เกิดจากอัลไซเมอร์อย่างเดียว ยังมีจากโรคอื่นๆ อาทิ เส้นเลือดสมองตีบ ผู้ที่เคยใช้สารเสพติด หรือการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จนถึงการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ เพราะฉะนั้นจึงต้องรีบหาสาเหตุ เพราะหลงลืมบางอย่างรักษาให้หายได้ ส่วนคนไข้สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ มีหลายรูปแบบ แต่การรักษาผู้ป่วยสมองเสื่อมจะใช้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบการใช้ยาและไม่ใช้ยา บางคนได้ยา สามารถชะลออาการได้ แต่การใช้ยาก็ต้องแบกรับถึงผลข้างเคียง แม้องค์ความรู้การรักษาแบบใช้ยาในปัจจุบันจะมีการพัฒนามากขึ้น ทั้งการให้ยาเพื่อชะลอหรือรักษาอาการทางพฤติกรรม และอาการซึมเศร้าของผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีการรับรองว่าการกินยาแล้วจะหาย 

"ในกรณีไม่ใช้ยา จะมีกระบวนการรักษาหลายรูปแบบ อาทิ การใช้ดนตรีบำบัด การใช้ธาราบำบัด พฤติกรรมบำบัด แต่ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการพัฒนาให้เป็นระบบและไม่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่า ควรต้องใช้การดูแลรักษาแบบไหน ซึ่งการดูแลด้านพฤติกรรมผู้ป่วยสมองเสื่อม มักไม่ใช่วิธีการเดียว แต่เป็นส่วนประกอบหลายพฤติกรรม" รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ อธิบาย

RDAD คืออะไร?

Reducing Disabilities in Alzheimer's Disease หรือ RDAD เป็นหนึ่งในแนวทางการดูแล ผู้ป่วยสมองเสื่อม ที่มีอาการทางพฤติกรรม ซึ่งเรื่องนี้ รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ กล่าวว่า มีนักวิจัยท่านหนึ่งแนะนำงานของศาสตราจารย์ลินดา เทอรี่ จาก University of Washington ให้มาศึกษา ท่านได้พัฒนาการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นโปรโตคอลในชื่อ ซีแอทเทิลโปรโตคอล (Seattle Protocol) โดยแนะนำว่า ควรมีการทำใน 5 เรื่อง ดังนี้

  1. ต้องให้ความรู้กับญาติหรือผู้ดูแล เนื่องจากบางราย ญาติคิดว่าผู้ป่วยแกล้ง เข้าใจว่าพ่อแม่ไม่รัก หากเขารู้ว่าอาการเหล่านั้นเกิดจากพ่อแม่ป่วย ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น ไม่โกรธ น้อยใจ หรือเสียใจ 
  2. เรื่องการสื่อสาร เรื่องนี้สำคัญมาก เมื่อสมองเสื่อม ตาก็จะไม่ค่อยเห็น หูจะไม่ได้ยิน แต่สิ่งที่ยังเหลือคือภาษากาย ท่าทาง น้ำเสียงที่เขาเข้าใจผิด บางทีลูกไม่ได้พูดดุร้าย แต่อาจแสดงกิริยาเหมือนขึ้นเสียงหรือมีอารมณ์ เขาก็คิดเลยว่าลูกด่า ดังนั้นการสื่อสารสำคัญ แนะนำว่าจำเป็นต้องสื่อสารให้ดี เน้นกระชับ เข้าใจง่าย พูดสั้นๆ ไม่จำเป็นต้องพูดยาว  
  3. ต้องหาให้ได้ว่ากิจกรรมที่คนไข้ทำแล้วมีความสุขคืออะไร ถ้าเราหักเหความสนใจเขานิดเดียว อารมณ์ความคิดก็เปลี่ยนแล้ว เช่นเวลาคนไข้บ่นของหาย ไม่ได้กินข้าว เขาบ่นทุกวันแหละ เพราะเขาจำไม่ได้แล้ว คนดูแลไม่ต้องจมกับความเศร้า แต่เราชวนเขาไปดูดอกไม้สวนหลังบ้านแทน สักพักเขาก็ลืม
  4. ต้องดูก่อนว่าพฤติกรรมนั้นคืออะไร เรียนรู้พฤติกรรม เรียกว่า ABC เราเห็นพฤติกรรมอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แค่ภาพที่เราคิดว่าคนไข้โวยวาย แต่ต้องคิดว่าก่อนคนไข้โวยวาย มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งพบว่ามีท่าทีที่คนรอบตัวไม่ให้ความสำคัญ 
  5. ส่งเสริมให้ผู้ป่วยออกกำลังหรือมีกิจกรรมทางกาย ยกตัวอย่าง ผู้ป่วยรายหนึ่งไม่ยอมอาบน้ำ ลูกหลานเข้าใจว่าแม่สมองเสื่อมแล้วดื้อไม่ยอมอาบน้ำ ความจริงแล้วคนไข้มีอาการเจ็บไหล่เพราะอยู่เฉยมากเกินไป ขาดการออกกำลัง หลังทำกายภาพออกกำลังกาย คนไข้สามารถอาบน้ำเองได้

สำหรับ 5 ข้อนี้ รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ บอกว่า เป็นพื้นฐานเรื่องง่ายๆ แต่ทำอย่างไรจะใส่ลงไปให้เป็นระบบก็ต้องไปผนวกกับโปรแกรม Long Term Care ซึ่งเป็นศาสตร์การนำนโยบายแนวคิดมาสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์ เรียกว่า GTO โดยให้ทำ 13 ครั้งใน 12 สัปดาห์  

"ถามว่าเราควรใช้โปรแกรมนี้เมื่อไร คำตอบคือ เมื่อเราพบเจออาการตั้งแต่เริ่มแรกหรือยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะมีผลการวิจัยพิสูจน์แล้วว่า การออกกำลังกายจะช่วยให้อาการสมองเสื่อมชะลออาการได้ ที่สำคัญ กระบวนการนี้จะช่วยให้ผู้ดูแลคนไข้ไม่เป็นทุกข์ไปด้วย หรือมีความเข้าใจผิด บางคนเข้าใจแม่ไม่รัก มีภาวะซึมเศร้า สามารถเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ ได้ รวมถึงผู้ป่วยระยะกลางที่ยังสามารถเดินออกไปไหนได้หรือขยับร่างกายได้ก็ยังสามารถใช้ RDAD ได้" รศ.ดร.พญ.ศิรินาถ กล่าว

ป่วย \"อัลไซเมอร์\" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

จากวิจัยสู่หลักสูตรเพื่อคนไทย

เบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สสส. กล่าวว่า ปี 2566 ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมสูงวัย สมบูรณ์แบบ ดังนั้นในปีนี้ สสส. จึงวางทิศทาง ThaiHealth Academy ออกแบบหลักสูตรให้ตรงสถานการณ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพปัจจุบัน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2555 ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 8.1% ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ดูแลมักมีปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ

"การพัฒนาหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อม ถูกพัฒนาให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย นำไปปฏิบัติได้จริง เหมาะทั้งกับญาติ ผู้ดูแล และอสม. ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคลากรด้านสุขภาพอย่างเดียว นอกจากเป็นหลักสูตรแล้ว Thaihealth Academy มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมภาคเอกชนและภาครัฐในเขต กทม. ด้วย" เบญจมาภรณ์ กล่าว

รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผู้สูงวัยที่มีภาวะ สมองเสื่อม เป็นความท้าทายในสังคม ต้องได้รับการดูแลที่ดีและมีความสุข ซึ่งไม่ใช่หน้าที่แพทย์ พยาบาลเท่านั้น หากเป็นหน้าที่ทุกคนในชุมชนร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ปัญหาในยุคสังคมสูงวัย

"สสส. อยากเป็นโหนด (Node) ที่ช่วยขยายฐานความรู้ตรงนี้ เราอยากให้ความรู้เรื่องนี้กระจายไปทั่วและลงไปสู่ชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ปัจจุบัน ผู้สูงอายุ ในไทย พบภาวะสมองเสื่อมมาก ไล่เลี่ยกับ ภาวะซึมเศร้า แต่ส่งผลเสียมากกว่า เพราะเป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว" รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าว

ป่วย \"อัลไซเมอร์\" รับมือได้ ด้วยพลังใจ - รู้เทคนิค RDAD

ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มีวิสัยทัศน์มุ่งหวังเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ดังนั้นสิ่งสำคัญสุดคือ ต้องมีการวิจัยที่ตอบสนองต่อ (สุขภาพ) ชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาสมองเสื่อมเป็นหนึ่งปัญหาหลักของผู้สูงอายุไทยเวลานี้ กรณีผู้ป่วยสมองเสื่อมจาก อัลไซเมอร์ แม้เราใช้ศึกษาผ่านตำราจากต่างประเทศหลากหลาย แต่การมีกรณีศึกษาในไทย เราต้องการวิจัยขึ้นมา จะทำให้นักศึกษาสามารถได้เห็นเคสของจริงในแต่ละพื้นที่

"เวลาเราสอนนักเรียนแพทย์จะมี 2 รูปแบบคือ ความรู้ด้านวิชาการที่อยู่ในตำรา ขณะเดียวกับความรู้ใหม่เกิดจากการศึกษาวิจัย เพราะยุคสมัยเปลี่ยนแปลง เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันผู้เรียนเองก็เบื่อ อย่างกรณีผู้ป่วยสมองเสื่อม เราใช้ตำราจากต่างประเทศหลากหลายจริง แต่กรณีศึกษาในไทยเราต้องการวิจัยขึ้นมา แต่การวิจัยไม่ใช่ภารกิจเดียวของคณะแพทยศาสตร์ เราต้องบูรณาการร่วมกัน พัฒนาองค์ความรู้ด้านสมองเสื่อม นอกจากต่อยอดวิชาการนำไปสอนให้นิสิตแพทย์ เรายังมุ่งหวังนวัตกรรมด้วย" ผศ.นพ.เทพลักษ์ กล่าวทิ้งท้าย