คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส

คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส

ไม่ได้มีแค่'คราฟท์โซดา' ยังมี"รูทเบียร์" รวมๆ กว่า 200 รสผลิตจากผักผลไม้ สมุนไพร 'ไก่ พรรณราย'คนต้นคิด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน“ฮักแป้ออร์แกนิคฟาร์ม” กว่าจะคิดสูตรได้ลงตัวไม่ง่ายเลย

แรงบันดาลใจแบบไหนที่ทำให้อดีตช่างภาพฟรีแลนด์คนเมืองที่มีตายายอยู่เมืองแพร่ หันหลังให้ชีวิตเมือง ไปปลูกบ้านหลังเล็กๆ ทำการเกษตร ลิ้มรสความลำบากในการปลูกข้าวออร์แกนิค แม้ขาดทุนก็สู้ไม่ถอย นำผัก ผลไม้ เห็ด มาแปรรูป คิดสูตร รูทเบียร์และ คราฟท์โซดา รสชาติไทยๆที่ฝรั่งหลงรักและคนไทยชอบกว่า 200 รสชาติในนาม วิสาหกิจชุมชนฮักแป้ออแกนิคฟาร์ม

ถ้าเลิกลาตั้งแต่ปลูกข้าว ไก่ พรรณราย เกกีงาม อดีตช่างภาพ คงไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรต่อ นั่นทำให้ผ่านชีวิตมาทุกรูปแบบ ทั้งซึมเศร้า ขาดทุน พายุพัดกระต๊อบหายไปทั้งหลัง

เมื่อชีวิตไม่มีปาฏิหาริย์ มีแค่เรียนรู้แล้วไปต่อให้สุด จนสามารถปลุกปั้นแบรนด์ ฮักแป้ (Hug Phrae)และSaZa Light (ซาซ่าไลท์) คราฟท์โซดา และรูทเบียร์ 200 กว่ารสในนามวิสาหกิจชุมชน 

ประธานวิสาหกิจชุมชนฮักแป้ออแกนิคฟาร์มคนนี้ ลองเอามะแขว่น สมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีชื่อของภาคเหนือ นิยมนำมาใส่พริกลาบและพริกแกง เพราะกลิ่นหอม เผ็ดอมเปรี้ยวและซ่าทำเป็นมะแขว่นรูทเบียร์ เปิดตัวที่จ.น่าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองรสชาติแบบไทยๆ ซึ่งต่างจากสูตรฝรั่งที่ใช้น้ำมันระกำ

คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส มะแขว่นรูทเบียร์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮักแป้ออแกนิคฟาร์ม 

  • กว่าจะเป็นแบรนด์ฮักแป้

ก่อนหน้านี้'พรรณราย'เลือกที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง ทั้งการเกษตร ปลูกข้าว ทำอาหาร เพาะเห็ด ฯลฯ เพื่อที่จะสร้างความยั่งยืนให้ครอบครัวและชุมชนในอ.ร้องกวาง เมืองแพร่

“เมื่อก่อนเป็นช่างภาพ แบกกล้องหนักๆ ทำมาหลายปี ป่วยกระดูกเสื่อม กระดูกคอมีปัญหา ตอนนั้นแปรงฟันยังไม่ได้ ทำงานไม่ได้สามปี ซึมเศร้า หดหู่ มองทุกอย่างติดลบ”

เมื่อรู้ว่า มีอาการซึมเศร้า ไก่เลือกที่จะดึงตัวเองออกจากหุบเหวแห่งความเศร้า แม้จะไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

 “จากชีวิตคนเมืองมาอยู่บ้านนอก ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า เปลี่ยนชีวิตมาทำเกษตรต้นน้ำที่จ.แพร่ 15 ไร่ ขุดดิน เรียนรู้ เข้าคอร์สเยอะมาก เดิมพันด้วยเงินห้าหกหมื่นปลูกข้าวอินทรีย์ 5-6 ไร่ ข้าวที่ปลูกครั้งแรกและครั้งสุดท้ายไม่ได้กิน เพราะติดเชื้อรา จึงได้เรียนรู้ว่า อะไรที่เราทำได้หรืออะไรที่ทำไม่ได้ สุดท้ายก็หันมาปลูกต้นไม้ เงินหมดไปกับการซื้อเมล็ดพันธุ์ คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส คราฟท์โซดาและรูทเบียร์ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เมืองแพร่

ในช่วง 5 ปีนอกจากปลูกต้นไม้ทำการเกษตร เธอเลือกฟื้นฟูป่า เนื่องจาก อ.ร้องกวาง จ.แพร่ เกษตรกรทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดเยอะ เมื่อชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า ทิศทางลมเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของเธออย่างไม่ต้องสงสัย

“เราเริ่มจากไม่ตัดต้นไม้ เป็นคนเดียวที่ขนขยะไปทิ้งที่บ่อขยะ เมื่อเริ่มปลูกต้นไม้ปี 2560 เห็ดก็กลับมา เราก็ไปเรียนรู้การทำอาหารและเรื่องโพรไบโอติก เอาเห็ดไปปลูกกับกิ่งไม้ ใบไม้ เรียนรู้เกี่ยวกับเห็ดต่างๆ แล้วแปรรูป

เมื่อพื้นดินสมบูรณ์ เห็ดโคนก็กลับมา นอกจากนี้ยังมีเห็ดน้ำหมาก เห็ดไข่เหลือง แรกๆ เราก็เริ่มทำไอศกรีม น้ำปั่นและผลิตภัณฑ์จากเห็ดเยื่อไผ่”

  • มะเกี๋ยงเรดโรเซ่ ฝีมือคนไทย

ถ้าจะเรียกว่า ยิ่งเรียนรู้ยิ่งค้นพบ คงไม่ผิด พรรณรายลองเบรนเครื่องดื่มสร้างรสชาติใหม่ ทำคราฟท์โซดาจากสิ่งที่มีอยู่ พืชผัก ผลไม้ สมุนไพรเครื่องเทศ เมื่อทำจนมีสูตรคงที่จึงส่งเข้าประกวดเครื่องดื่มออร์แกนิค ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ในโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการภาคเหนือตอนบนสู่สตาร์อัพ 

เครื่องดื่มของเธอคว้ามาสองรางวัลคือ ระดับจังหวัดและระดับภาคเหนือตอนบน และหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ได้รางวัล ก็คือ มะเกี๋ยงเรดโรเซ่ โดยทั้งหมดใช้แนวทางชีวภาพและเศรษฐกิจหมุนเวียน

“กว่าผลิตภัณฑ์คราฟท์โซดาจะลงตัวก็ปีกว่าๆ ทำทั้งการวิจัย ใช้สมุนไพรท้องถิ่น จนได้ใช้แบรนด์ฮักแป้ มีทั้งรูทเบียร์ คอมบูชะ ไซเดอร์ ซีอิ๋ว และใช้อีกแบรนด์ SaZa โดยทั้งหมดทำเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฮักแป้ออแกนิคฟาร์ม 

 เพราะเราเป็นสมาชิกให้สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแพร่ รวมกลุ่มทั้ง 8 อำเภอ ทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้มาตรฐาน SDGsPGS แบบชุมชนมีส่วนร่วม เราเป็นคนคิดสูตร แต่ไม่จดลิขสิทธิ์ เพราะเรายังแบ่งปันให้ชุมชนทั้ง จ.แพร่ น่าน สงขลา และจ.เพชรบูรณ์ เพื่อพัฒนาผลผลิตราคาต่ำให้มีมูลค่า  คนในชุมชนที่อยากพัฒนาวัตถุดิบเชื่อมต่อกับชุมชน เราคิดสูตรเฉพาะให้"

มะแขว่นรูทเบียร์ แบรนด์ฮักแป้ จึงเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งเดียวในประเทศไทย และยังมีคราฟท์โซดากุหลาบ ใช้กลิ่นบำบัดสุขภาพใจได้ด้วย

คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส

  • ฮักแป้ ธุรกิจชุมชนเล็กๆ

เมื่อปลุกปั้นแบรนด์จนเป็นที่รู้จัก พรรณราย จึงค่อยๆ ต่อยอด มีงานอีเว้นท์ทั่วประเทศ ทั้งปาร์ตี้เล็กๆ และสัมมนาเฉพาะกิจ และอบรมให้ความรู้ร่วมกับคนหลากหลายอาชีพในการทำเครื่องดื่มโพรไบโอติกจากธรรมชาติ

"เครื่องดื่มของเราต้องมีการพูดคุยให้ความรู้ ถ้าถามว่าเราขายเท่าไร ขวดละ 159 บาท เพราะบ่มหมักจากธรรมชาติ มีจุลินทรีย์ที่ดื่มแล้วได้ประโยชน์ในการปรับสมดุลลำไส้ ถ้าเกษตรกรอยากปรับตัวเป็นผู้ประกอบการ เราก็สอนจากวัตถุดิบที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มมูลค่า"

แม้จะผ่านพ้นความยากลำบากมาแล้ว เธอก็ยังเรียนรู้ต่อไป เพราะสิ่งที่ได้มากกว่าเงินคือความสุข พรรณราย บอกว่า เราสร้างคอมมูนิตี้เพื่อทำให้คนได้มีเครื่องดื่มที่ปลอดภัย มีอากาศดีๆ ในจ.แพร่

“เราทดลองผลไม้ทุกอย่าง อย่างมะกอกป่า มะม่วงหาวมะนาวโห่ เราก็นำมาใช้ เพราะคนไทยมีภูมิปัญญาการยืดอายุอาหาร อย่างการทำมะม่วงดอง มะขามดอง เราก็เอาภูมิปัญญามาต่อยอดเป็นคราฟท์โซดา ออกแบบสูตรสำหรับโปรดักส์ ใครอยากมีธุรกิจเล็กๆ มีพืชผักที่มีปลูกไว้ ยกตัวอย่างผักหวานป่ ดอกดาวเรือง ก็ทำผลิตภัณฑ์ได้

กระบวนการหมักไม่ได้ยาก ทุกคนมีพื้นฐาน แต่ต้องจัดระบบใหม่ งานของเราจึงมีทั้งทำเพื่อสังคม เพื่อตัวเอง และธุรกิจ อย่างอดีตผู้อำนวยการพืชสวนโลก ปลูกดอกกุหลาบเยอะ เราก็ไปสอนทำคราฟท์โซดากุหลาบ"

ถ้าถามว่า ทำไมคราฟท์โซดาแบรนด์วิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ของพวกเธอราคาสูง พรรณรายอธิบายว่า เราใช้ระยะเวลาบ่มไม่ต่ำกว่าสองเดือน กว่าจะได้หัวเชื้อ ทำให้เครื่องดื่มให้อร่อยต้องพิถีพิถัน

เราใช้ความแปลกใหม่ ผลไม้ สมุนไพรในท้องถิ่น ทำธุรกิจแบบพอเพียง ส่วนใหญ่ใช้แรงงานผู้หญิงที่มีปัญหาครอบครัว เพื่อให้พวกเขามีรายได้ เดิมทีคนกลุ่มนี้รู้จักแค่ทำมาหากิน ก็สืบทอดความรู้ กลายเป็นผู้รู้ เป็นผู้ช่วยวิทยากร เราพาออกไปถ่ายทอดความรู้

“เราไม่ได้แบ่งปันแค่ค่าแรง แบ่งปันในเรื่องจิตใจด้วย ค่อยๆ ทำตามกำลังทรัพย์ สิ่งที่ตอบโจทย์ได้คือ ผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัย และคนในชุมชนมีความสุข รวมทั้งได้อากาศบริสุทธิ์กลับมา"

คราฟท์โซดาฮักแป้ (Hug Phrae) : พรรณราย คนต้นคิด สู้ให้ซ่า 200 รส .............

ดูรายละเอียดได้ที่เฟซบุ๊ค Panarai Kakeengam