ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

ถอดรหัสพลัง 3 เครือข่าย เบื้องหลังความสำเร็จของ “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” ที่วิทยาลัยสารพัดช่างเมืองช้างสร้างโอกาสให้เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม

“เด็กพิการที่จบ ม.6 แล้ว แต่ไม่มีกำลังเรียนต่อมหาวิทยาลัย บางคนต้องกลับไปใช้ชีวิตเป็นคนพิการในหมู่บ้าน แต่หากบางคนไม่ต้องการกลับไปอยู่เฉยๆ ในหมู่บ้าน เขาจะทำอะไรได้บ้าง วิทยาลัยจึงเพิ่มทางเลือกในการศึกษาให้เด็กพิการผ่านหลักสูตร ปวส. สำหรับกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อให้มีทักษะอาชีพและวุฒิการศึกษาติดตัว” อภิชาติ กุลธานี ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ เล่าถึงสารตั้งต้นของการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมแก่เด็กพิการ

เพราะความบกพร่องทางร่างกายไม่ใช่ตัวตัดสินว่าพวกเขาต้องบกพร่องทางโอกาส กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกับ วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนด้อยโอกาสที่ร่างกายพิการผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพันธมิตรคอยเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาโครงการ

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

ความสำเร็จของโครงการตั้งแต่รุ่นแรกเมื่อปี 2563 คือมีเด็กจบการศึกษาแล้ว 9 คน แล้วอกไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ และอีก 35 คนที่กำลังศึกษาอยู่ แบ่งเป็น นักเรียนรุ่นที่ 2 ปี 2564 กำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส. 2 จำนวน 15 คน และนักเรียนรุ่นที่ 3 ปี 2565 กำลังศึกษาระดับชั้น ปวส. 1 จำนวน 20 คน โดยแผนกวิชาที่เปิดรับผู้เรียนกลุ่มนี้มีสามแผนก คือ สาขาวิชาช่างกลโรงงาน สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ และ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ

ด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายเป็น เด็กที่มีความต้องการพิเศษ กระบวนการจัดการศึกษาก็ต้องไม่ธรรมดาเช่นกัน และนี่คือการสร้างเครือข่ายทั้งสิ้น 3 ช่วง ที่เปรียบเสมือนเบื้องหลังของความสำเร็จในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาให้สารพัดช่างเมืองช้างแห่งนี้

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

เครือข่ายร่วมจัดหานักเรียน

ครอบคลุมทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งส่งต่อมาจากโรงเรียนโสตศึกษาและศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุรินทร์ ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาศุนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา เพื่อรองรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในพื้นที่อีสานใต้

อักษรเพชร วิจิตรเรืองชัย หัวหน้าศูนย์บริการสนับสนุนนักเรียนนักศึกษาพิการ วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่ครูทำเพื่อค้นหาเด็กมารับทุนของ กสศ. คือ การหาข้อมูลเด็กพิการที่ด้อยโอกาสแต่อยากเรียนจากเครือข่าย เช่น รุ่นพี่รุ่นน้อง จากนั้นลงพื้นที่ไปที่บ้าน ไปพูดคุยถึงความต้องการช่วยเหลือกับเด็กหรือผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งเพื่อคัดกรองอย่างเข้มข้น เนื่องจากความพิการมีหลายประเภท และศักยภาพความพร้อมในการเรียนรู้ของผู้พิการแต่ละประเภทนั้นต่างกัน

“ข้อดีของวิธีการนี้ คือ ทำให้ครูเห็นและเข้าใจพื้นฐานชีวิตของเด็กจริงๆ เข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีปัญหาหรือข้อจำกัดของชีวิตอย่างไร และนำไปสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม หรือนำไปสู่การออกแบบแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลได้ในอนาคต”

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

เครือข่ายร่วมจัดกระบวนการศึกษา

ทั้งหน่วยงาน โรงงาน ตลอดจนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุรินทร์ ล้วนเป็นเครือข่ายสถานประกอบการที่ร่วมจัดกระบวนการศึกษาทั้งสิ้น เพื่อประสานส่งผู้เรียนจากวิทยาลัยเข้าฝึกงานหรือฝึกอาชีพ

นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลสุรินทร์เนื่องจากบางกิจกรรมต้องใช้นักจิตวิทยา รวมถึงล่ามภาษามือ เข้ามาอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ด้วย

ในหนึ่งภาคเรียน นักเรียนจะฝึกงานประมาณ 4 เดือน ซึ่งเรื่องของการหาสถานประกอบการที่จะรับนักเรียน นักศึกษาพิการเข้าฝึกงานนั้นก็เป็นโจทย์ท้าทายสำหรับวิทยาลัย เพราะต้องเป็นสถานประกอบการที่มีส่วนงานรองรับการฝึกงานที่ตรงกับแผนการเรียน ให้นักเรียนนักศึกษาได้ฝึกฝนการใช้ทักษะที่เรียนมาในการทำงานจริงๆ

แต่สิ่งสำคัญคือ ทางวิทยาลัยก็ต้องมีกระบวนการจัดการศึกษาให้เด็กกลุ่มนี้อย่างมีศักยภาพและมีความพร้อมในวิชาชีพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการด้วยระดับหนึ่ง แต่สำหรับเด็กบางคนที่ไปฝึกงานไกลๆ ไม่ได้ ทางวิทยาลัยได้จัดพื้นที่สำหรับการฝึกฝนทดลองงานในร้านโกนตำแร็ย Café & Workspace ซึ่งเป็นร้านกาแฟที่ตั้งอยู่หน้าวิทยาลัย เป็นการประสานเชื่อมโยงเครือข่ายครบทั้งรายใหญ่รายย่อยให้มีประสิทธิผลสูงสุด

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

เครือข่ายส่งต่อสู่การทำงาน

ปลายทางของโครงการและเป็นผลลัพธ์ของความเท่าเทียมทางการศึกษา คือการที่เด็กทุกคนมีโอกาสได้ไปดำเนินชีวิตบนแนวทางของตัวเอง ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองหรือครอบครับได้ หัวใจสำคัญสิ่งสุดท้ายคือเครือข่ายที่จะส่งต่อพวกเขาไปสู่การทำงานจริง

ไม่ว่าจะประกอบอาชีพส่วนตัวหรือทำงานในสถานประกอบการ จำเป็นต้องประสานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อดำเนินงานต่อเรื่องการจัดหางาน และการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานสำหรับผู้เรียนต่อไป

ล่าสุดวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ได้ทำ MOU ร่วมกับสถานประกอบการเพิ่มเติม ในเครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป, เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป และเซ็นทรัลเรสตอรองส์ กรุ๊ป เพื่อสร้างเครือข่ายในการรองรับการฝึกงาน และการมีงานทำของผู้เรียนในอนาคต

ถอดรหัส “ความเท่าเทียมทางการศึกษา” สารพัดช่างสุรินทร์ กับสูตรเครือข่าย 3+1

ครู ตัวละคร (ไม่) ลับ ของความสำเร็จ

“การเรียนการสอนในลักษณะเรียนรวม คณะครูผู้สอนต้องมีความเข้มแข็งและมั่นคง เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีต้นทุนไม่เท่ากัน ยิ่งเด็กพิการยิ่งมีความซับซ้อนและความพร้อมในการเรียนรู้ต่างกัน ดังนั้นครูต้องรู้จักผู้เรียนแต่ละคน และปรับการสอนตามบริบทของผู้เรียนได้ อย่างผมเองเป็นครูช่างกลโรงงานมานาน ไม่เคยรู้เกี่ยวกับการศึกษาพิเศษเลย แต่เมื่อสอนนักเรียนนักศึกษาพิการมาระยะหนึ่ง เราต้องปรับตัวเข้าหานักเรียน ปัจจุบันจึงใช้ภาษามือสื่อสารขั้นพื้นฐานกับเด็กได้โดยอัตโนมัติ โดยที่ไม่ต้องไปเรียนด้วยซ้ำ” อักษรเพชร พูดถึงบทบาทหน้าที่ของครูให้ฟัง

นั่นอาจเป็นเพราะความท้าทายหนึ่งของงานนี้ คือ การจัดการศึกษาให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในลักษณะเรียนรวม หมายความว่า ผู้เรียนที่พิการทางสติปัญญา ผู้เรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน และผู้เรียนปกติ จะต้องเรียนรวมในชั้นเรียนเดียวกัน พักอาศัยในหอพักเดียวกัน และใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันได้อย่างปกติ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ท้าทายครูว่าจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และดูแลเด็กทุกคนให้สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร

ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนนักเรียนนักศึกษาพิการ ครูจะเน้นที่การฝึกปฏิบัติมากกว่าการเรียนทฤษฎีหลักการ เพราะหากเขาได้ลงมือทำบ่อยๆ เขาจะเข้าใจหลักการวิธีการเองโดยอัตโนมัติ แต่หลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น โดยสามารถปรับได้ตามความสามารถของผู้เรียน และที่สำคัญสถานศึกษาต้องทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program : IEP) เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพของตัวเอง

นั่นหมายถึงการเตรียมความพร้อมและอำนวยความสะดวกให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ล่ามภาษามือ, นักจิตวิทยา เครือข่ายทั้งสาม และบวกกับครูที่เข้าอกเข้าใจ จึงเป็นส่วนเติมการศึกษาให้ทุกคนได้อย่างเสมอภาค และพวกเขาจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับคนปกติในสังคมต่อไป