ฮาวทูงาน เงิน ความรักกับ 3 กูรู : เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ

ฮาวทูงาน เงิน ความรักกับ 3 กูรู : เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ

เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ กับฮาวทูงานรุ่ง รักปัง พลังล้น รับปีเถาะ เตรียมตัวรับมือเหตุการณ์ในอนาคตกับ 3 กูรู โดยบรรยง พงษ์พานิช ,นิ้วกลม-สราวุธ เฮงสวัสดิ์ และพระครูธรรมรัต

ว่ากันด้วยเรื่องสติ ชวนนักคิดมาคุยกันในบรรยากาศสบายๆ สไตล์ สวนโมกข์กรุงเทพ ตั้งคำถามกับชีวิตรอบด้าน ประมาณว่า ดวงดีกับเราดี อะไรดีกว่า ? ในเทศกาลเจริญสติ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ (2566) 

ตั้งคำถามง่ายๆ ว่าชีวิตที่ผ่านมา อะไรที่เป็นความหมายสำหรับชีวิต งานดี ดวงดี เกี่ยวกับตัวเราอย่างไร

และเมื่อชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ป่วยนอนโรงพยาบาล ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้ ต้องจัดการกับใจอย่างไร รวมถึงเรื่องราวพระที่เกือบเป็นซึมเศร้า เรื่องแบบนี้ประมาทไม่ได้เลย สิ่งสำคัญคือสติ จะมากมีน้อยต้องมี

สติในวันที่โลกผันผวน 

ความไม่แน่นอนคือ ความแน่นอนที่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ แต่บางทีก็หลงๆ ลืมๆ จึงต้องมีเทศกาลเจริญสติ ในวงเสวนาเล็กๆ ง่ายๆ นิ้วกลม-สราวุธ เฮงสวัสดิ์ นักเขียน นักคิด บอกว่า ตั้งแต่โควิดระบาด เห็นการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเทคโนโลยี และโรคระบาดไม่ได้จบแค่โควิด

"นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาผมเดินทางไป 5 ประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย คนที่นั่นบ่นว่าแทนที่จะหนาว ก็ไม่หนาวแล้ว ไปโมรอคโค จุดที่เรายืนอยู่ หิมะไม่ตกมา 2 ปี โลกเต็มไปด้วยความผันผวน

โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้าจะให้งานดี เงินดี ต้องเรียนรู้เทคโนโลยี หรือทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมี  การอยู่ท่ามกลางโลกผันผวน เราต้องมีสติและการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ตลอด”

ฮาวทูงาน เงิน ความรักกับ 3 กูรู : เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ

ส่วนความเห็นของ บรรยง พงษ์พานิช นักการเงินแถวหน้า ที่มาชวนคุยเรื่องชีวิตในบรรยากาศสบายๆ บอกว่า ในอนาคตคนเราต้องมีความสามารถที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่ผันผวน ที่เห็นและเป็นอยู่คือ ความไม่แน่นอน จึงจำเป็นที่คนต้องมีทักษะในโลกที่เปลี่่ยนไป

“ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยกตัวอย่างความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ทำให้โลกมีความผันผวนมากมายที่เราต้องผจญ ถ้าถามผม ผมเห็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาทำนายเศรษฐกิจเมื่อไม่นาน เดี๋ยวเขาก็จะออกมาอีกแล้วบอกว่า ทำไมเขาทำนายพลาด"

นั่นเป็นเรื่องที่นักการเงินและนักเขียนพูดถึงโลกที่ผันผวน ส่วนพระครูธรรมรัต วัดญาณเวศกวัน ผู้ทำงานขับเคลื่อนทางธรรมกับสังคมวิถีใหม่ เปิดประเด็นว่า

“งานอะไรที่ทำแล้ว คุณภาพชีวิตดีขึ้น ก็ทำไปเถอะ ให้ดีใจ พอใจกับสิ่งที่เราทำ งานเล็กๆ น้อยๆ ทำแล้วงอกงามก็ทำไป ทำด้วยความพากเพียรไม่ย่อท้อถอย ไม่ว่างานธรรมะหรืองานเพื่อทำมาหากิน”

ฮาวทูงาน เงิน ความรักกับ 3 กูรู : เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ

ละวางอัตตาในโลกที่เปลี่ยนเร็ว

ในวันที่โลกผันผวน มนุษย์ยังยึดติดกับคำว่าตัวกู ของกู เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ลองหันมาเพ่งพินิจตัวเองกันบ้าง

สราวุธ ยกตัวอย่างโดยโยงคำพูดของคุรุทิเบตว่า “การพังทลายคือข่าวดี” ตอนแรกเขาก็ไม่เข้าใจ ในทางธรรมไม่ว่าเรื่องงานหรือความรัก เมื่อทุกข์มากๆ ก็ต้องทำลายอัตตา ทำลายสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่น

"ก่อนหน้านี้ผมเดินไม่ได้อยู่ 3 เดือน ตอนนั้นผมร้องเพลงอยู่บนเวที แล้วโดดลงจากเวทีผิดจังหวะ เอ็นเข่าด้านขวาขาด เดินไม่ได้เหมือนมีมือล่องหนมาทุบเรา ชีวิตไม่เป็นไปตามที่เราคาดคิด

ทุกครั้งที่เกิดการพังทลายขึ้น เราก็ต้องหยุดพัฒนาทักษะตัวเอง แต่มาพัฒนาใจแทน ตอนที่ผมนอนโรงพยาบาลไม่สามารถเคลื่อนไหว สิ่งที่ผมทำคือ ฟังคลิปอ.กำพล ทองบุญนุ่ม เรื่องรุ้เรื่องกายป่วย ใจอย่าป่วย ไม่จำเป็นต้องทำให้จิตตก จึงต้องฝึกฝนจิต"

ส่วน บรรยง ก่อนหน้านี้เคยสโตรก(Stroke) ต้องเข้าโรงพยาบาล ฝึกพูด ฝึกเดินใหม่หมด กว่าจะเหมือนเดิมใช้เวลาร่วมปี 

“ตอนสโตรกไม่รับรู้เลย ตอนที่ฟื้นขึ้น มีทางเลือกสองทางคือ ปล่อยไป กับ ลุกขึ้นมาสู้ แต่มันไม่ต้องเลือก ผมได้ประสบการณ์เยอะมาก นอนโรงพยาบาลสองเดือน พระอาจารย์หลายท่าน อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอาจารย์ชยสาโร ส่งหนังสือธรรมะมาให้อ่าน พระอาจารย์นวลจันทร์และท่านว.วชิรเมธี มาเยี่ยม รวมถึงเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยอะมาก ทำให้เรารู้ว่า ชีวิตเรา สิ่งที่สำคัญคือความสัมพันธ์กับผู้คน"

นอกจากสองฆราวาส พระครูธรรมรัต มีเรื่องเล่าเกือบเป็นซึมเศร้า ชีวิตเหมือนลอยเคว้งคว้าง แต่สติที่เคยฝึก ค่อยๆ ปลุกให้รู้สึกตัวบางอย่าง 

“ความทุกข์ทางใจแต่ละคน ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน อาตมาก่อนมาบวช ก็เป็นทุกข์ ทุกข์เพราะติดยึดในอุดมการณ์ที่ว่าดี อะไรที่เชื่อว่างดงามและดีกว่าคนอื่น ดีที่สุด เพราะความยึดมั่น ถือมั่น

เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง เวลามีความทุกข์ทางใจ บางทีคิดไม่ถึง ต้องอาศัยกัลยาณมิตร สิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีคุณค่า ก็คือเรื่องความสัมพันธ์ 

อาตมาเองก็เฉียดซึมเศร้า เพราะความถือดี ตั้งใจดี แต่ขาดสติ ยึดติดว่า ทุกคนต้องโอเค ตอนนั้นไม่ได้อยากฆ่าตัวตาย แค่อยากหายไปเฉยๆ พอรู้สึกตัวก็รู้ว่า นี่คือภาวะซึมเศร้า มีความรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร ไม่มีเรื่องอะไรสำคัญที่จะลุกขึ้นมาทำ แม้กระทั่งการแปรงฟัน นั่นทำให้เข้าใจคนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า บางทีรู้ว่าภาวะนี้ไม่ดี แต่ไม่สามารถควบคุมให้กายกระทำให้เป็นไปตามปรารถนาได้

อาตมาเป็นอย่างนี้หนึ่งเดือน โชคดีที่ไม่ตกอยู่ในภาวะนั้น เคยคาดหวังว่าสังฆะแบบพระต้องรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่มีความขัดแย้ง เป็นภาวะที่ทำให้เรารู้ว่า คนที่เป็นแบบนี้ทุกข์ทรมานมาก"

และนั่นทำให้พระครูธรรมรัต เห็นความสำคัญของคำว่ากัลยาณมิตร ในช่วงที่เกือบตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ท่านบอกว่า คนที่เข้าใจไม่ต้องมาสอนอะไร แค่อยู่เป็นเพื่อนและเข้าใจ

"โชคดีที่ในพรรษามีพระอยางน้อยสองรูป อยู่ในภาวะซึมเศร้ามาปรึกษาทุกวัน ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติการป่วยทางใจ 

และศรัทธาที่เชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองที่จะทำให้เราเปลี่ยน ไม่ควรฝากคุณค่าชีวิตไว้ที่อื่น ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น ทำเพื่อความว่าง ยกผลงานให้ความว่าง ไม่ต้องยกผลงานให้ตัวเอง" 

ส่วนสราวุธ ยกตัวอย่างการเป็นกัลยาณมิตรเพิ่มเติมว่า  “พี่เตา(บรรยง)ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนดี และบางทีปากเสีย แต่คนก็รักแก ตอนที่พี่เตาป่วย มีผู้คนในชีวิตแสดงความห่วงใยเยอะมาก 

นั่นเป็นการยืนยันว่า ชีวิตที่ผ่านมาใช้ได้ พอเราเห็นผู้ใหญ่เป็นแบบนั้น เราก็รู้สึกว่า ชีวิตเรายังมีเวลาที่จะเป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อน

"ถ้าเราทำแบบนั้นได้ เราก็จะเป็นกัลยาณมิตรของคนอื่น กัลยาณมิตรคือคนที่สนับสนุนเราตลอดเวลา กล้าด่า กล้าติ "
  ฮาวทูงาน เงิน ความรักกับ 3 กูรู : เทศกาลเจริญสติ สวนโมกข์กรุงเทพ ภาพ : เฟซบุ๊คกิจกรรมสวนโมกข์กรุงเทพ