พลิกโฉม "ซาเล้ง" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

พลิกโฉม "ซาเล้ง" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

พลิกโฉมอาชีพ "ซาเล้ง" สู่การเป็นฮีโร่กอบกู้โลกยุคใหม่ สร้างสังคมรีไซเคิล ผ่านโครงการอบรมการพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าทั่วไทย อีกหนึ่งกำลังสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

คงเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการคัดแยกขยะมานมนานหลายสิบปี แต่สำหรับประเทศไทย แม้จะพยายามมีการส่งเสริมให้แยกขยะมานาน แต่ก็ดูเหมือนวิถี "แยกขยะ" บ้านเรากลับไม่อาจเดินหน้าไปไหน 

อันที่จริงแล้ว การแยกขยะไม่เพียงช่วยลดภาระสิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้อีกด้วย ยิ่งเมื่อภาครัฐพยายามขับเคลื่อนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG หนึ่งในมาตรการที่เน้นการรักษาคุณค่าของทรัพยากรด้วยการลดการใช้ หมุนเวียนนำกลับมาใช้ และสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนขยะด้วยการนำมารีไซเคิลเพิ่มมูลค่า อาจเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตก็เป็นได้

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

"ขยะ" เป็น "ทรัพยากร"  

ขณะที่หลายคนอาจมองว่า "ขยะ" เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่อีกไม่นานเราต้องเผชิญ แต่รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปี อุตสาหกรรม "ขยะรีไซเคิล" ในประเทศไทยนั้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศถึงกว่าสามแสนล้านบาททีเดียว 

หากเอ่ยในแวดวงรีไซเคิล "ขยะ" หลายคนน่าจะนึกถึงกลุ่มอาชีพหนึ่งในสังคม ที่เราต้องยกให้เขาเป็นกูรูด้านจัดการขยะตัวจริงนั่นก็คือ "ซาเล้ง" และ "ร้านรับซื้อของเก่า" อีกธุรกิจที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แต่มักไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญในการแก้ไข ปัญหาขยะ ของประเทศ

ซาเล้ง และร้านรับซื้อของเก่า เป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในธุรกิจรีไซเคิล เพราะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเก็บหรือรับซื้อ ขยะรีไซเคิล หรือวัสดุเหลือใช้ เพราะพวกเขาเชื่อว่า "ขยะ" สามารถเปลี่ยนจากภาระของประเทศ มาเป็น "ทรัพยากร" ที่มีคุณค่า เพียงรู้จักนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า อาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าในไทยมีมานานกว่า 100 ปี และในประเทศไทย ซาเล้ง คือคนที่รู้ดีที่สุดเรื่อง แยกขยะ และเรื่องรีไซเคิล เพราะนี่คืออาชีพของเขาที่ทำทุกวัน แยกทุกวัน

ผู้ประกอบการซาเล้ง เป็นหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญของธุรกิจแยกขยะ จากความต้องการมีส่วนร่วมในการสร้าง ecosystem ยกระดับสังคมด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการแยกขยะและการรีไซเคิลขยะในเมืองไทยให้ดีขึ้น ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการซาเล้ง ได้จัดตั้งสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าขึ้นในปี 2563 

ชัยยุทธิ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายการจัดตั้ง สมาคมซาเล้ง เกิดจากการมองเห็นปัญหาและเป็นมาตรการในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่เพียงเฉพาะการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการกลุ่มซาเล้งและรับซื้อของเก่าเท่านั้น แต่ยังมองถึงการยกระดับและเพิ่มศักยภาพการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมของประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบันมีสมาชิก 34,000 คน แต่หากนับจำนวนพี่น้องผู้ประกอบอาชีพนี้จริงอาจมากกว่านั้นหลายเท่า

"เราประมาณการตัวเลขของผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย น่ามีประมาณ 20,000 ร้านค้า ซึ่งหากเฉลี่ยหนึ่งร้านอาจมีเครือข่ายรายย่อยเฉลี่ยสูงถึง 50 ราย นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบอาชีพซาเล้ง หรือรับซื้อของเก่าในไทย น่าจะมีประมาณเกือบล้านราย" ชัยยุทธิ์ กล่าว

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ติดอาวุธ เติมเรื่องขยะยุคใหม่

เพราะการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุด เพื่อตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพตนเอง ด้วยการติดอาวุธความรู้ อัปเดตข้อมูลให้ทันกับโลกยุคใหม่

ผู้ประกอบการซาเล้งและรับซื้อของเก่า ภายใต้การสนับสนุนจาก กรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ. และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงร่วมกันริเริ่มโครงการฝึกอบรมการพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ครั้งที่ 1 ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า โครงการพัฒนาและบริหารจัดการการคัดแยกและนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า 

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ปรีญาพร สุวรรณเกษ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า การจัดครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายให้ประชาชนคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมี ซาเล้ง และ ร้านรับซื้อของเก่า เข้ามาร่วมเป็นกลไกในการทำให้เศษพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ จากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และแหล่งกำเนิดต่างๆ ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ขยะต้องไม่ใช่ขยะ แต่ขยะคือทรัพยากรที่ต้องนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตามหลักการ เศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ตามที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ และจะสนับสนุนนโยบายห้ามนำเข้าเศษพลาสติกในอีก 2 ปีข้างหน้า 

"การฝึกอบรมในวันนี้ เป็นการพัฒนาศักยภาพในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าครั้งที่ 1 จากทั้งหมดจำนวน 5 ครั้ง โดยจะจัดขึ้นกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในเรื่องของความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท การปฏิบัติงานที่เหมาะสม ข้อควรระวังต่อวัตถุอันตรายบางประเภท ที่อาจผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อม ผู้อยู่อาศัยข้างเคียง การปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันฮีโร่รีไซเคิล เพื่อเสริมประสิทธิภาพในการซื้อขาย ขยะรีไซเคิล ในอาชีพซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ" ปรีญาพร กล่าว

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. กล่าวว่า การปรับทัศนคติเกี่ยวกับขยะมูลฝอย โดยมองว่าสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนึ่ง การปฏิบัติงานของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าจะต้องมีหน้าที่คัดแยกวัสดุแต่ละชนิดไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก อลูมิเนียม ทองแดง และเหล็ก เพื่อเพิ่มมูลค่าในการจำหน่าย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปนเปื้อนของโลหะหนักและสารพิษในพื้นที่โดยรอบ สุขภาพอนามัยผู้ปฏิบัติงานและคนในชุมชน จากการสัมผัสต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สสส. จึงสานพลังกับ กรมควบคุมมลพิษ สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ยกระดับคุณภาพชีวิตของซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่าอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ตั้งแต่สุขภาพกาย จิต ปัญญา สร้างความรู้ความเข้าใจในการประกอบอาชีพที่ปลอดภัยต่อชีวิตและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ และรวมตัวจัดตั้งเครือข่ายองค์กรเพื่อ ลดความเหลื่อมล้ำ 

ตัวจริงเรื่องรีไซเคิล

ชัยยุทธิ์ กล่าวถึงปัญหาที่เผชิญในปัจจุบันว่า "ขยะกำพร้า" หรือขยะที่นำไปรีไซเคิลหรือขายต่อไม่ได้กำลังมีมากขึ้น ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากหลายปัจจัย โดยในอดีต 3 ปีก่อน ถ้า ขยะรีไซเคิล ที่เราเก็บใน 100% จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ถึง 80% แต่ทุกวันนี้สามารถรีไซเคิลได้เพียง 60% ยังเหลืออีกถึง 40% ที่ต้องเข้าไปสู่กระบวนการฝังกลบ หรือนำไปเผาแบบ RDF แทน หรือไม่อาจถูกทิ้งสู่ทะเลและแม่น้ำลำคลองธรรมชาติต่างๆ

"ในช่วงโควิด การจัดเก็บขยะรีไซเคิลมีความยากลำบากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็สวนทางกับจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้น เพราะการเติบโตของธุรกิจเดลิเวอรีส่งอาหาร แต่ผู้ประกอบการซาเล้งต้องจัดเก็บด้วยความระมัดระวัง เพราะเราไม่รู้ว่าขยะชิ้นไหนมีเชื้อหรือเก็บจากผู้ติดเชื้อ ปัจจุบันสถานการณ์ดีขึ้น แต่ขยะเยอะเหมือนเดิม ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นคือ ขยะที่จะถูกนำมารีไซเคิลมีการปนด้วยพลาสติกหลายประเภทในชิ้นเดียว ทำให้ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ต้องกลายเป็นขยะกำพร้า ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เรามองว่าหากยังเป็นแบบนี้ในอนาคตเดือดร้อนแน่นอน" ชัยยุทธิ์ กล่าว

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ชัยยุทธิ์ กล่าวด้วยว่า ขยะพลาสติก เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากพลาสติกแตกต่างกับขวดแก้วหรือกระดาษลัง เหล็กทองแดงที่ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ตลอดเวลา โดยในปัจจุบันมีพลาสติกที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกหลากหลายประเภท ซึ่งมีมากกว่า 30 ชนิด สำหรับพลาสติกที่เหมาะสมแก่การรีไซเคิลที่สุดคือ PP และ PE แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตมักมีการใช้พลาสติกหลายชนิดผสมกันเพื่อลดต้นทุน ซึ่งเป็นการตัดวงจรการรีไซเคิลทันที

"ที่เราพบพลาสติกบางอย่างก็มาผสมกับพลาสติกไบโอที่สามารถย่อยสลายได้เอง แต่หากถูกนำไปผสมกับพลาสติกชนิดอื่นก็จะทำให้ไม่สามารถย่อยสลายได้เอง อยากสังเกตง่ายๆ ถ้าพลาสติกไหนที่จุ่มน้ำแล้วลอยขึ้นมาเหนือน้ำแสดงว่ารีไซเคิลได้ จมน้ำรีไซเคิลไม่ได้" ชัยยุทธิ์ กล่าว

ลดขยะกำพร้ากัน

ชัยยุทธิ์ ยังให้คำแนะนำในการจะคัดแยกขยะพลาสติกที่บ้านว่า อยากให้เริ่มจากสังเกตว่า เป็นประเภทใด รีไซเคิลได้หรือไม่ โดยให้สังเกตด้านล่างที่จะมีสัญลักษณ์ลูกศร ฐานสามเหลี่ยม หรือวงกลมซึ่งจะมีเลขเบอร์หนึ่งถึงเจ็ด แต่ปัจจุบันต้องประสบปัญหาผู้ผลิตบางรายก็แอบใส่พลาสติกปะปนกันทำให้ขยะที่ซื้อไปรีไซเคิลไม่ได้

"ตอนนี้กำลังปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า หากเราสามารถเปลี่ยนโลโก้เป็นรูปรถซาเล้งได้ไหมเพื่อแก้ปัญหานี้ หากเขียนว่า 100% แปลว่ารีไซเคิลได้ แต่ถ้า 80% แปลว่าพอได้ แต่ยังมีปัญหา 50% ก้ำกึ่ง 0% มีปัญหา เราจะไม่เก็บหรือไม่รับซื้อ แต่ที่สำคัญอยากฝากผู้บริโภคว่า ก่อนจะแยกรีไซเคิลควรล้างน้ำสักหนึ่งถึงสองรอบ เพื่อขจัดเศษอาหารที่ติดออก เพราะเมื่อนำไปรีไซเคิลใหม่ เศษอาหารเหล่านี้พอผ่านกระบวนการหล่อหลอมจะมีกลิ่นหรือควัน สำหรับกล่องนมยูเอชที กล่องน้ำผลไม้ เมื่อก่อนไม่มีการซื้อขายกัน แต่วันนี้สมาคมซาเล้งฯ สามารถเปิดรับซื้อได้ในราคากิโลกรัมละ 6 บาท เพียงแค่ผู้บริโภคล้างน้ำครั้งเดียวก่อนส่งขาย" ชัยยุทธิ์ กล่าว

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่

ล่าสุดมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน "ฮีโร่รีไซเคิล" เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการซื้อขาย ขยะรีไซเคิล ในอาชีพ ซาเล้ง และ ร้านรับซื้อของเก่า

"แอปฯ นี้เกิดจากเจตนาว่า อยากให้ผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าได้มาเจอกัน เนื่องจากที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายไม่เคยเจอกันเลย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการรีไซเคิลไม่สามารถหาผลิตภัณฑ์สำหรับรีไซเคิลได้ ทำให้ต้องขออนุญาตนำเข้าขยะรีไซเคิลจากต่างประเทศ การมีแอปฯ นี้จะทำให้ผู้ขายเจอผู้รับซื้อรวดเร็ว เป้าหมายเราคืออยากกำจัดขยะที่ตกหล่นให้เข้ามาสู่ระบบรีไซเคิล และเพื่อลดปัญหานำเข้าขยะ" ชัยยุทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย

ในวันที่เรากำลังนับถอยหลังกับวิกฤติ "ขยะ" ล้นเมือง ความร่วมมือร่วมใจของทุกคนที่มีส่วนร่วมกับการจัดการขยะ ด้วยการเริ่มต้น "ลดขยะ" และ "แยกขยะ" เพื่อนำมา "รีไซเคิล" ใหม่จากที่บ้านเราเอง

พลิกโฉม \"ซาเล้ง\" สู่ฮีโร่ในโลกรีไซเคิลยุคใหม่