"คนต่างวัย" ไม่ใช่ "ต่างดาว" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน"เหยียดอายุ"

"คนต่างวัย" ไม่ใช่ "ต่างดาว" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน"เหยียดอายุ"

เปิดแนวคิด “ประสาน อิงคนันท์” ผู้ก่อตั้งแคมเปญ “มนุษย์ต่างวัย” เพจที่เล่าเรื่องผู้สูงอายุใน "สังคมสูงวัย" อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่อง สู่การรับรางวัล “ต่อต้านการเหยียดอายุ" Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) ประจำปี 2565

ระหว่างที่ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มตัว เวลาเดียวกันนี้ ความแตกต่างของช่วงวัยก็กลายเป็นช่องว่างที่ค่อยๆ ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในระดับครอบครัว, สำนักงาน ไปจนถึงภาพใหญ่ในสังคม ซ้ำยังรุนแรงมากขึ้นจนเข้าข่าย “การเหยียดอายุ” ตัวอย่างเช่น การถกเถียงในสังคมออนไลน์ หรือการใช้คำเรียกที่ลดทอนคุณค่าอย่าง สันดานลุง, มนุษย์ป้า, ผู้ใหญ่หัวโบราณ, เด็กสมัยนี้ และอีก ฯลฯ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ความเห็นต่างที่เกิดจากพื้นฐานเรื่องอายุนั้นมีอยู่จริง แต่ถึงเช่นนั้น ก็ยังมีผู้คนหลายช่วงวัย หลายชีวิต ที่พยายามทำความเข้าใจความแตกต่างที่ว่านั้น โดยที่หนึ่งในจำนวนนี้มี “มนุษย์ต่างวัย” ออนไลน์คอนเทนต์ที่พยายาม ถ่ายทอดเรื่องราวว่าด้วยความแตกต่างของช่วงอายุอย่างสร้างสรรค์

นักกีฬารุ่นใหญ่ที่ไม่เคยหยุดฝัน, คำสารภาพของสาววายอายุ 86 ปี, นักธุรกิจโฮมสเตย์ที่เริ่มชีวิตในวัยเกษียณ คือตัวอย่างแรงบันดาลใจในเรื่องเล่าที่ “มนุษย์ต่างวัย” นำเสนอ ซึ่งภายใต้แก่นความคิดที่ห่อหุ้มด้วยความสนุกสนานนี้มี มี “ประสาน อิงคนันท์” เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

ในฐานะคนทำสื่อมากประสบการณ์   เจ้าของเพจมนุษย์ต่างวัย ผู้ก่อตั้งบริษัท บุญมีฤทธิ์ มีเดีย จำกัด  ประสานบอกว่า เขาเริ่มทำ “มนุษย์ต่างวัย” ด้วยความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เราสามารถมีจุดเชื่อมต่อกันได้ เพราะ เราแค่ “ต่างวัย” ไม่ได้มาจาก “ต่างดาว”

 

“ผู้สูงอายุ คือเคสหนึ่งที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสำหรับเราชีวิตหลังเกษียณไม่ใช่การจบลงของชีวิต แต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิม” ผู้ก่อตั้ง มนุษย์ต่างวัยอธิบายตอนหนึ่ง

จากการเริ่มทำเพจเมื่อ 4-5 ปีก่อน เมื่อไม่นานมานี้  ศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Center for International Exchange - JCIE) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute for ASEAN and East Asia - ERIA) ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัล Healthy Aging Prize for Asian Innovation (HAPI) ประจำปี 2565 และแคมเปญ “มนุษย์ต่างวัย” ก็ได้รับรางวัลพิเศษในการรณรงค์ของสหประชาชาติผ่านแคมเปญการต่อต้านการเหยียดอายุทั่วโลกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทศวรรษแห่งการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ 

\"คนต่างวัย\" ไม่ใช่ \"ต่างดาว\" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน\"เหยียดอายุ\"

  • จุดเริ่มต้นของมนุษย์ต่างวัยคืออะไร?

เรารู้สึกว่าคนที่มองสังคมสูงวัยมักจะมองด้วยทัศนคติเดิมๆ โดยมองว่า “ผู้สูงวัย” คือ “ภาระ” ที่ต้องมีที่พึ่งพิง แต่เราคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ยังไม่มีคนทำ หรือ ไม่เคยมีการกล่าวถึงเลยก็คือ การแสดงให้เห็นว่ามีผู้สูงวัยที่เป็น Active อยู่ และสื่อออกมาให้เห็นในเชิงบวก ซึ่งการมองแบบนี้จะทำให้เกิดประโยชน์โดยทำให้ตัวกลุ่มผู้สูงวัยเองมีทัศนคติที่ดีในชีวิตของตัวเองในการเข้าสู่ชีวิตในวัยเกษียณ เพราะจริงๆแล้ว การอยู่ในวัยสูงอายุมันไม่ได้หมายความว่าเป็นวัยภาระ มันเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของชีวิตที่จะสามารถเริ่มต้นมีชีวิตที่มีคุณภาพ และ สามารถออกแบบเอง อยากทำอะไรที่อยากทำได้

ระหว่างที่เรานำเสนอผู้สูงอายุนี้ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องทำให้รู้สึกได้ว่าคนใน Generation อื่นมองกลับเข้ามาแล้วก็สามารถเห็นรูปแบบลักษณะชีวิตแบบเดียวกัน เพื่อที่ว่าเมื่อถึงวันหนึ่งเขาจะต้องเดินเข้าสู่อีกช่วงชีวิต นั่นก็คือวัยเกษียณเขาอยากจะมีชีวิตอย่างไร และสามารถออกแบบชีวิตในแบบที่อยากจะเป็นได้ ดังนั้น เราเลยคิดว่าสิ่งที่เราสามารถที่จะทำออกมาได้คือการปลูกฝังเรื่อง Mindset  เพราะ Mindset เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

  •  Mindset ที่ดี คือจุดเริ่มทั้งหมด?

ครับ เรามองว่า Mindset คือ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง อย่างตัวผู้สูงวัยที่เกษียณแล้ว อาจมีความคิดที่ว่า หากไม่ได้ทำงานแล้วชีวิตก็เหมือนขาดอะไรบางอย่างไป ความท้าทายในชีวิตน้อยลง ไม่มีชีวิตชีวาเหมือนเดิม ไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ แต่เราก็มองว่า ณ ปัจจุบันนี้ผู้สูงวัยเองมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น 

คนอายุ 60 ปี ยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติได้ ซึ่งตรงนี้ผู้สูงวัยจำเป็นต้องตระหนักและมี Mindset นี้ต่อตนเอง แต่ในความเป็นจริงสังคมจะตีกรอบพอสมควร เช่น “ไม่ต้องทำหรอกแก่แล้วพักผ่อนดีกว่า  ให้อยู่บ้านเลี้ยงหลานจะได้ไม่เหนื่อย”  เราเลยมองว่าตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญที่คนในสังคมต้องปรับวิธีคิด 

\"คนต่างวัย\" ไม่ใช่ \"ต่างดาว\" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน\"เหยียดอายุ\" จากการทำงานของเราที่ผ่านมาเราได้เจอกับผู้สูงวัยที่มีความ Active มาก และสามารถเป็น Showcase ที่จะบอกเราว่า จริงๆแล้วชีวิตเราสามารถกำหนดได้ว่าจะแก่อย่างไร เราสามารถเลือกที่จะเป็นได้ และ เมื่อเราทำงานไปเรื่อยๆ สิ่งที่เรานำเสนอออกไปเป็นการสื่อสารสองทาง เป็นทั้งการสื่อสารกับคนสูงวัยและคน Generation อื่น

  • กลุ่มเป้าหมายหลักของมนุษย์ต่างวัยไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุ?

กลุ่มใหญ่ๆที่อยู่ในออนไลน์แพลตฟอร์ม คือกลุ่ม อายุ 25-45 ปี ตอนเราเริ่มต้นทำเราคุยกันไว้ว่าเราจะคุยกับใคร เราบอกตรงๆ ว่าเราอยากคุยกับคนกลุ่มนี้ หลังจากที่เราทำมาเกือบๆ 4 ปีเราก็มองเห็นว่าคนกลุ่มนี้อยู่ใน Community ที่เราอยากจะสื่อสารกับเค้า

จริงๆ เนื้อหาเราไม่ได้มุ่งเน้นให้ผู้สูงอายุดูอย่างเดียวแต่เราสื่อสารให้สามารถเข้าใจได้ทุกวัย ถ้าหากวัยอื่นเข้ามาดูก็จะสามารถบอกได้ว่าถ้าเราแก่เราจะเป็นแบบนี้ และจะมีการตั้งคำถามต่อไปว่าถ้าหากเราต้องการที่จะจะแก่แบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เช่น เราทำเรื่อง เข้าสู่วัยเกษียณแล้วหุ่นดี ถ้าเราอยากจะหุ่นดีแบบนั้น เราจะไม่สามารถเริ่มต้นหุ่นดีแบบนั้นได้ตอนอายุ 60 ต้องสร้างนิสัยเพื่อไปสู่เป้าหมายแบบนั้นได้ตั้งแต่วันนี้ หรือ แม้แต่เราอยากจะทำเรื่องชีวิตอิสระ เมื่อแก่และเกษียณสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วโลกได้  คำถาม คือ ถ้าอยากจะมีชีวิตแบบนั้นได้ คุณต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรบ้างเพื่อจะพาตัวเองไปถึงจุดนั้น เช่นการวางแผนทางการเงิน การวางแผนด้านทัศนคติ ดังนั้นตรงนี้เราจะทำให้เขาสามารถมองเห็นภาพได้ว่าถ้าอยากเป็นแบบนั้นเส้นทางในการไป ไปได้อย่างไรบ้าง 

  • การคัดเลือก Showcase เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวในแบบของมนุษย์ต่างวัยมีหลักคิดอย่างไร?

หลักคิดในการเลือกคนของเราไม่ใช่แค่แต่งตัวเปรี้ยวจี๊ดก็สามารถมาออกรายการของเราได้ต้องมีจุดเชื่องโยงทางความคิด หรือสามารถจุดประกายอะไรบางอย่าง เช่น เราไปทำเรื่องคุณป้าโอ๋ อายุ 67 ก็มีกล้ามท้องร่อง 11 ได้ การที่จะมีกล้ามหุ่นดีได้ไม่ใช่เรื่องง่าย รูปร่างที่ได้มามันใช่ของฟรีต้องเริ่มจากเรื่องของวินัย การคุมอาหาร ความพยายาม

สิ่งนี้คือเบื้องหลังที่มันจะช่วยให้สามารถจุดประกายหรือแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างได้ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มันไม่ได้ไปเชื่อมโยงกับผู้สูงวัยอย่างเดียว มันเชื่อมโยงกับทุกวัย การที่จะมีรูปร่างดีได้มันเป็นความฝันของคนทุกวัย  แต่สิ่งที่ถ่ายทอดออกมามันเป็นการบอกว่าการที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องเริ่มจากอะไรบ้าง

\"คนต่างวัย\" ไม่ใช่ \"ต่างดาว\" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน\"เหยียดอายุ\"

Showcase ที่เรานำมาเล่า คือการเอาประสบการณ์มาเชื่อมต่อกับคนใน Generation ต่างๆ มีเคสที่หลากหลายทั้งในเรื่องการทำธุรกิจร่วมกันกับลูกหลาน แบบนี้ก็มีเยอะเพื่อเราต้องการให้มีการแชร์ความสำคัญในบางส่วนได้ เพราะเวลา ที่คนส่วนใหญ่พูดถึงคนต่างวัยคนส่วนใหญ่จะพูดไปที่ประเด็นความต่างทางความคิด เน้นในเรื่องของความขัดแย้งเป็นหลัก

\"คนต่างวัย\" ไม่ใช่ \"ต่างดาว\" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน\"เหยียดอายุ\" ก็ต้องยอมรับว่าในบางเรื่องมีความขัดแย้ง แต่ในบางเรื่องมันก็มีจุดลงตัวกันได้เราก็จะเห็นว่ามีแม่กับลูกมาร่วมเปิดร้านกาแฟด้วยกัน โดยใช้ความถนัดของแม่ในการทำอาหาร  และ ใช้ทักษะการรับลูกค้าการทำสื่อออนไลน์ของลูกในการหาลูกค้า กลายเป็นอีก 1 ธุรกิจ  เราต้องการทำให้คนมองเห็นว่า เราหยิบส่วนที่เป็นจุดแข็งของแต่ละ Generation เข้ามาผสานกันได้ 

  • มนุษย์ต่างวัยมองเรื่อง Generation Gap อย่างไรบ้าง?

ตอนเราตั้งแคมเปญมนุษย์ต่างวัยเราตั้ง Tag line ว่า “แค่ต่างวัยเราไม่ได้ต่างดาว” และอะไรที่ทำให้เราต่างกัน วัย หรือ ใจ ที่ทำให้เราต่างกัน”   อันนี้คือ Tag line ที่เราหมายความว่าแนวทางของเรามาทางนี้อยู่แล้ว ถามว่าเราเชื่อว่า Generation gap มันมีอยู่หรือไม่ เราก็เชื่อมัน "มี"  แต่เราไม่ได้เชื่อทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราก็เชื่อว่าการแบ่งคนเป็น Generation มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณก็เป็นหนึ่งในการมองคนแบบ Stereotype เข้ากับอะไรบางอย่างแล้ว

เช่น “หากคุณไปพูดว่า “เจนฯ baby boomer มีบุคลิกแบบนี้” ประโยคคุ้นหูที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ มันก็อาจถูกก็ได้จากที่เขาได้ประสบพบเจอมา แต่จากการทำงานของเรา เราก็เคยเห็นคน Baby Boomer ที่มีใจเหมือนกับคน เจนฯ Y และ เจนฯ Z เหมือนกัน เช่น เป็น Baby boomer ที่พร้อมเปิดรับและเรียนรู้ ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นคน เจนฯ Y หรือ เจนฯ Z ที่พร้อมจะปิดประตู และเชื่อว่า ฉันคิดว่ามันเป็นแบบนี้แล้วตัดสินด้วยวัยวุฒิของตัวเอง 

เราตั้งคำถามว่า “วัย” หรือ “ใจ” มันมีอยู่จริงหรือเปล่า เพราะ จริงๆแล้วความคิดของคุณมันก็มีจุดตัดกันเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็สรุปว่าไม่ว่ามันจะมีอยู่จริง คำถามก็คือ เมื่อคุณต้องอยู่ร่วมกันจะอยู่ร่วมกันด้วยอะไรซึ่งเมื่อเราทำมางานนี้มาซักระยะเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเกี่ยวโยงกันด้วยความเป็นมนุษย์ และ ประสบการณ์บางอย่างมันเชื่อมต่อกันได้ เช่น คุณป้าโอ๋ อายุ67ปี มีร่อง 11ได้  คุณจะนับถือเขาได้ ไม่ใช่เพราะว่าเขาแก่แต่เป็นเพราะเขามีความพยายาม หรือ ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดร่อง 11 ซึ่ง คนแบบคุณไม่มี และ คุณจะนับถือเขาด้วยเรื่องนี้

ในขณะเดียวกัน คนแก่เขาจะนับถือ คนวัยอื่นๆเขาก็ต้องมีหัวข้อในการยอมรับเหมือนกัน เราก็เลยบอกว่าจริงๆแล้ว ไม่ว่าคุณจะต่างกันในความเป็น Generation  ยังไงก็ตาม แต่ในความเป็นมนุษย์บางอย่าง ทุกวัยจะมีสิ่งที่เชื่อมต่อกันได้ ดังนั้นคุณก็อย่าไปมองอะไรที่มันไม่เหมือนกันอย่างเดียว

อย่างเรื่องของการเหยียดอายุก็ไม่ใช่แค่ว่าฝั่งเด็กจะเหยียดอายุอย่างเดียวด้วยคำพูดประมาณ “คนแก่หัวโบราณใดโนเสาร์” ผู้ใหญ่เอง ก็จะมีคำพูดทำนองว่า “เด็กสมัยนี้ …..”  ซึ่งคำพูดเหล่านี้ก็คือการเหยียดอายุทั้งสิ้น

เราก็เลยมองว่าจริงๆแล้วเราอยากจะเปิดใจของทุกคนว่าลองเปิดใจกันดีๆ ฟังกันจริงๆก่อนจะตัดสิน

ทีนี้ถามว่า Generation Gap มีอยู่มั้ย ก็ต้องต้องตอบว่าบางส่วนมีอยู่จริงแต่ว่ามันเป็นเรื่องของใจของเรามากกว่าเป็นเรื่องของวัย

\"คนต่างวัย\" ไม่ใช่ \"ต่างดาว\" รู้จัก “มนุษย์ต่างวัย” สื่อต่อต้าน\"เหยียดอายุ\"

  • รู้สึกอย่างไร ที่เพจมนุษย์ต่างวัยได้รับความสนใจและรางวัลการต่อต้านการเหยียดอายุ? 

ก็ต้องบอกว่าพอใจมาก เพราะจริงๆ เราเริ่มต้นจากทุนของตัวเองความอยากทำล้วนๆ เพียงแต่เราโชคดีหน่อยตรงที่มีพื้นฐานการทำสื่อมาก่อน เราเริ่มต้นลงทุนด้วยการเริ่มแรงและเงินของเราเอง ด้วยทีม 3-4 คน เราก็ดูขนาดของตัวเองเราแรงน้อยเราทำน้อยก่อน มันเติบโตเร็วกว่าที่คาดคิดเราต้องพูดว่าประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่ค่อนข้างขม คนจะกลัวและขยาด

ตัวรางวัลที่เราได้ เป็นรางวัลพิเศษเกี่ยวการต่อต้านการเหยียดอายุซึ่งจริงๆ มันไม่ได้อยู่ใน Catagory ที่จะได้รับรางวัลเลย  ต้องบอกว่าเพจมนุษย์ต่างวัย เราทำงานเกี่ยวกับประเด็นการเหยียดอายุมาตลอดเหมือนกันเพียงแต่เราทำในเรื่องของมุมที่มัน Positive ไม่ได้ทำในเรื่องของความแตกต่างของ Generation Gap มากขนาดนั้น เราพยามทำให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีความต่าง แต่เมื่อมันมาเชื่อมต่อกันแล้ว มันเป็นพลังได้ เป็นสิ่งที่เราสื่อสารมาโดยตลอด รางวัลที่ได้มาจะเกี่ยวกับการต่อต้านการเหยียดอายุมันเป็นส่วนหนึ่งของเราที่ทำให้เรารู้ว่างานที่เราทำมันถูกมองเห็นและทิศทางมันก็โอเค ถือว่าเป็นเรื่องน่าดีใจ

  • ก้าวต่อไปของมนุษย์ต่างวัยจะเป็นอย่างไร?

การทำงานตลอด 3-5 ปีที่ผ่านมา เราค่อนข้างได้เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่ง แต่ปีหน้าเรากำลังวางแผนกันอยู่ว่าเราสื่อสารในโลกออนไลน์อย่างเดียวคงไม่พอ เราจะเข้าสู่การ On ground มากขึ้น เรามองถึงการสร้าง Community ในกลุ่มคนที่มี Mindset แบบเดียวกัน  เราจะทำในเรื่อง อาชีพ การเงิน และจะนำคนกลุ่มอายุ 45 ปี ก่อนเกษียณเข้ามาเรียนวางแผนเพื่อที่จะเกษียณเป็นอีกห้องเรียนหนึ่งใน Workshop

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เรานำเสนอในรูปแบบ Inspiration ค่อนข้างเยอะ แต่ปีหน้าเราจะพยายามทำให้เป็น Information มากขึ้น โดยเมื่อคุณต้องวางแผนจริงๆต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ในแบบฉบับของเราเพื่อจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณได้รับคู่มืออะไรบางอย่างเพื่อที่จะไปถึงจุดหมายที่ได้วาดไว้

 

เกี่ยวกับรางวัล

สำหรับรางวัล HAPI หรือ Healthy Aging Prize Innovation เป็นความคิดริเริ่มของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนและเอเชียตะวันออก (Economic Research Institute fo ASEAN and East Asia - ERIA) ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนิเซีย กับศูนย์แลกเปลี่ยนระหว่างประเทศญี่ปุ่น (Japan Center for International Exchange - JCIE) ซึ่งดำเนินการภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐบาลญี่ปุ่น ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในเอเชีย (Asia Health and Wellbeing Initiative - AHWIN) 

JCIE และ ERIA มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในเอเชีย สนับสนุนการวิจัยการสนทนา และแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและผู้กำหนดนโยบายทั่วทั้งภูมิภาค โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  • Technology and Innovation
  • Community-Based Initiatives
  • Supporting Self-Resilience

ผู้ได้รับรางวัลได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการจากนานาชาติซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ 8 ท่านจากทั่วภูมิภาค ซึ่งในปีนี้เพื่อเป็นการยกย่องแคมเปญการรณรงค์ระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการเหยียดอายุ (Global Campaign to Combat Ageism) เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านการสูงวัยอย่างมีสุขภาวะของสหประชาชาติ หรือ UN Decade of Healthy Ageing คณะกรรมการจึงได้มอบรางวัลพิเศษ 2022 Special Prize for Combatting Ageism (รางวัลพิเศษสำหรับการต่อสู้การเหยียดอายุ) ซึ่งผู้ได้รับรางวัลนี้คือบุญมีฤทธิ์ มีเดีย - แคมเปญมนุษย์ต่างวัยบนสื่ออนไลน์ สำหรับแนวคิดมนุษย์ต่างวัยที่สนับสนุนการต่อสู้การเหยียดอายุ