สันติ ภัยหลบลี้ ไม่ต้องห่วง อีก 100 ปี "กรุงเทพฯไม่จมน้ำ"

สันติ ภัยหลบลี้  ไม่ต้องห่วง อีก 100 ปี "กรุงเทพฯไม่จมน้ำ"

อีก 100 ปีข้างหน้า "กรุงเทพฯ" และปริมณฑลแค่เป็นพื้นที่ปริ่มน้ำมากขึ้น(0-2 เมตรจากระดับน้ำทะเล)ระบายน้ำยากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอย่างนั้นในอนาคตหาก "น้ำท่วม"จำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่...

เรื่องกรุงเทพฯ จะจมน้ำเพราะน้ำท่วมขัง ต้องคิดไกลแค่ไหน หนึ่งทศวรรษหรือหนึ่งศตวรรษ จะแค่วิตกจริตหรืออยู่ๆ กันไป หรือจะย้ายเมือง ย้ายชีวิตไปอยู่อีสานหรือภาคเหนือ 

เพราะต่อไปคนกทม.จะเจอน้ำท่วมขังมากบ้าง น้อยบ้าง อาจต้องลุยน้ำท่วมทุกปี ตามเหตุปัจจัยของพายุที่ซัดมาแต่ละลูก จะถี่หรือห่างแค่ไหน ถ้าไม่ทำใจจะจัดการอย่างไร เพราะกทม.เป็นพื้นที่ราบลุ่มอ่อนไหว 

ทอล์คครั้งนี้ ไม่ได้คุยเรื่องการจัดการน้ำในช่วงน้ำท่วม แต่ชวนคุยเรื่องธรณีวิทยากับ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

 

และไม่ได้คุยไปไกลถึงธารน้ำแข็งขั้วโลก แต่คุยกันเรื่องใกล้ๆ ตัว น้ำท่วม แผ่นดินยุบตัว โอกาสที่ภัยพิบัติจะมาเยือนประเทศไทย เรื่องราวการขยับเขยื่อนของเปลือกโลก โดยอาจารย์สันติ ย้ำระหว่างการสนทนาว่า 

“อีก 100 ปีข้างหน้ากรุงเทพฯก็ไม่จมน้ำ เพียงแค่ระบายน้ำยากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าผู้ว่าฯกทม.คนไหน ก็แก้ไม่ได้หรอก” 

และนี่คือเรื่องราวมุมธรณีวิทยา เมื่อน้ำท่วม แผ่นดินยุบ ทำเลทองของกรุงเทพฯ มีเรื่องดีๆ และไม่ดีอย่างไร

สันติ ภัยหลบลี้  ไม่ต้องห่วง อีก 100 ปี "กรุงเทพฯไม่จมน้ำ" ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญ สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

ก่อนจะคุยเรื่องน้ำท่วม ขอถามสักนิด ทำไมเลือกที่จะศึกษาเรื่องธรณีวิทยา

ผมมองว่า เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นผิวโลก เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม เรื่องรอบตัว โดยเฉพาะภัยพิบัติ ส่วนใหญ่สร้างความเสียหายให้ชีวิตมนุษย์ได้ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจโลกทางกายภาพ เราจะสามารถเตรียมพร้อมรับมือ และเลือกพื้นที่ในการตั้งถิ่นฐาน

สนใจทั้งธรณีวิทยาและโบราณคดี นำมาเชื่อมโยงกันอย่างไ

คีย์เวิร์ดในตัวผมคือ ธรณีวิทยาและโบราณคดี ผมชอบเรื่องเหล่านี้ คนอาจคิดว่าไม่น่าเกี่ยวกัน แต่ทั้งสองเรื่องเกี่ยวกัน ศาสตร์ด้านธรณีวิทยาโบราณคดีมีคนศึกษาด้านนี้แต่น้อยมาก เรื่องอะไรที่ไม่มีตัวอักษรมาเกี่ยว หรือบันทึกตรงนั้นตรงนี้ อันนี้ใช้ศาสตร์ธรณีวิทยาเกือบทั้งหมด เพราะเป็นวิทยาศาสตร์

ศึกษาเรื่องลักษณะหินของปราสาทดั้งเดิม เพื่อบอกเล่าอะไรบ้าง

ยกตัวอย่างทำไมหินสระบุรีต้องเป็นหินปูน หรือหินที่กระจายอยู่ในอีสาน ส่วนใหญ่เป็นหินทราย และหินทรายแต่ละชั้นของอีสานมีความแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อมที่ต่างกันแต่ละช่วงเวลา ส่วนใหญ่ปราสาทหินในไทย นิยมใช้หินจากหมวดหินเสาขัวและหมวดหินภูพาน ซึ่งอยู่ในกลุ่มหินโคราช (ยังมีหมวดหินโคกกรวด หมวดหินพระวิหาร ฯลฯ ด้วย)มีจำนวนมากในอีสานใต้ ตลอดแนวเทือกเขาพนมดงรักถึงดงพญาเย็น 

 การศึกษาเรื่องเหล่านี้มีประโยชน์หลายมิติ อย่างแรกคือทรัพยากร วัสดุที่เราใช้เกือบทั้งหมดในโลกนี้ เป็นทรัพยากรทางธรณีวิทยา อิฐ หิน ปูน ทราย แร่ ถ้าเราศึกษาเรื่องพวกนี้ เราก็จะรู้ว่า จะตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ส่วนไหนดี จะใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งการศึกษาทางธรณีวิทยา มีหลักฐานของแผ่นดินไหว ไม่ควรตั้งบ้านเรือนตรงนั้นตรงนี้อย่างไร

สันติ ภัยหลบลี้  ไม่ต้องห่วง อีก 100 ปี "กรุงเทพฯไม่จมน้ำ" ภาพจาก : http://www.mitrearth.org แบบจำลองความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการแยกตัวของสันเขากลางมหาสมุทรและระดับน้ำทะเล (ที่มา : www.slideplayer.com)

สภาวะน้ำท่วมปี 2554 กับปี 2565 จะต่างกันแค่ไหน

ผมไม่ได้ติดตามตัวเลขมวลน้ำอย่างละเอียด กรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อน้ำท่วม จะค่อยๆ คืบคลานไปช้าๆ คืออ่อนไหวมากขึ้น

คำว่าอ่อนไหว ไม่ได้เป็นภัยพิบัติ ถ้าฝนไม่ตก น้ำอาจไม่ท่วม ก็คล้ายๆ อีสาน แต่เมื่อใดฝนตกในพื้นที่ จะมีความอ่อนไหวที่น้ำจะท่วม ปัจจัยที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติอยู่ที่ปริมาณมวลน้ำ จะมีความอ่อนไหวในแง่เป็นทางออกของน้ำลงสู่ทะเล และพื้นที่กทม.ปริ่มน้ำ

ขณะที่นักวิชาการหลายคนบอกว่า ในอนาคตกรุงเทพฯจะจมน้ำ แต่อาจารย์บอกว่า อีก 100 ปีกรุงเทพฯก็ไม่จมน้ำ ? 

มิติของน้ำท่วมคือน้ำไหลหลาก ส่วนน้ำท่วมคือน้ำขังไว้ ชีวิตของเราทั้งชาติ ไม่มีโอกาสได้เห็นกรุงเทพฯอยู่ในสภาพน้ำท่วมขังเป็นทะเลหรือพื้นที่ใต้น้ำ

มีข้อมูลสรุปจากการสำรวจของกรมแผนที่ทหารล่าสุดปี 2554 พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมีอัตราการทรุดตัวโดยส่วนใหญ่อยู่ระดับ 2 เซนติเมตรต่อปี ส่วนพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมีอัตราการทรุดตัวสูงกว่า ประมาณ 3 เซนติเมตรต่อปี

ปัจจัยที่พิจารณาคือ มีโอกาสทรุดตัวไหม อัตราการทรุดตัวเท่าไร ระดับน้ำทะเลสูงแค่ไหน ถ้าคำนวณใน 50 ปีระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.17 เมตร พื้นที่มีโอกาสทรุดตัวลงอีก 1.5 เมตร ดังนั้นอีก 50 ปีข้างหน้าความต่างระหว่างระดับน้ำทะเลและความสูงของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะลดลง 1.67 เมตร

ในอีก 100 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.34 เมตร พื้นที่มีโอกาสทรุดตัวลง 3.0 เมตร ความต่างระหว่างระดับน้ำทะเลและความสูงของพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจะลดลงแค่ 3.34 เมตร ดังนั้นปัญหาที่เจอแน่ๆ คือน้ำระบายช้าขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ว่าผู้ว่ากทม.คนไหนก็แก้ไม่ได้? 

ผมจะไม่โทษผู้ว่าฯกทม.คนไหนเลย มันผิดที่พวกเราที่มาเลือกพื้นที่ตรงนี้ เพราะเป็นพื้นที่ทางผ่านน้ำ แล้วเราอยู่บนพื้นที่ปริ่มน้ำ

แบบนี้จะเรียกว่า ตั้งเมืองผิดได้ไหม

ใช่ แต่เราไม่ได้มองมุมเดียว เพราะอยู่ที่นี่อุดมสมบูรณ์ คนไทยทำมาหากินได้ดีก็คุ้มแล้ว ผมกล้าฟันธงว่า อีก 100 ปีกรุงเทพฯไม่จมน้ำ ผมมีข้อมูล

ทำไมถึงไม่จมน้ำท่วมขัง เพราะผมคำนวณจากข้อมูลจริงกรมแผนที่ทหาร ว่าช่วงแรกๆ มีอัตราการทรุดตัวของพื้นที่มีเท่าไร ช่วงแรกๆ ทรุดตัวเร็ว ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยทรุด อธิบายได้จากปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ไม่ว่าเรื่องอัตราน้ำใต้ดิน หรือการทับถมกันของตะกอน 

ส่วนระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีอัตราที่ยอมรับทั่วโลก ปัจจัยที่ผมนำมาคำนวณค่อนข้างเชื่อถือได้ เมื่อคำนวณแล้ว กรุงเทพฯ ไม่จมน้ำ แต่เราอยู่ปริ่มน้ำมากขึ้น

สันติ ภัยหลบลี้  ไม่ต้องห่วง อีก 100 ปี "กรุงเทพฯไม่จมน้ำ"

ปัญหาน้ำรอระบายได้ยากขึ้น มีวิธีการจัดการไหม

จัดการไม่ได้ ถ้าผู้ว่าฯกทม.จัดการได้ ผมว่ามหาเทพ ไม่ว่าใครก็ตาม ธรรมชาติพื้นที่บ้านเรา ฝนตกน้ำท่วมเดือนพฤษภาคม-กันยายน เมื่อใดก็ตามเข้าเดือนตุลาคม มวลน้ำทางตอนเหนือจะเยอะมาก น้ำจะไปไหนไม่ได้ นอกจากผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่พื้นที่กทม.ปริ่มน้ำ คือ ระบายน้ำไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลักษณะธรรมชาติแต่ละวันมีน้ำขึ้นน้ำลง เวลาน้ำขึ้นสูงสุด ระดับน้ำต่ำกว่าระดับน้ำทะเล เพราะฉะนั้นเราจะระบายได้ บางเวลาช่วงน้ำลง

เมื่อฝนตกน้ำไหลมาขังแถว จ.อ่างทอง สิงหบุรี พระนครศรีอยุธยา และปากแม่น้ำเจ้าพระยา ประตูน้ำเปิดปิดเป็นเวลา จึงมีสองทางเลือกคือ ปล่อยน้ำให้ท่วมจังหวัดที่กล่าวมา กรุงเทพฯ เปิดให้น้ำเข้าช่วงเวลา 8-10 โมง ก็ต้องคิดถึงคนจังหวัดอื่นที่เสียสละรับน้ำไว้ระยะหนึ่ง

กรมชลฯก็บอกว่า ควรมีเวลาผันน้ำเข้าทุ่ง เพราะคนจังหวัดเหล่านั้นลำบาก ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องลำบากทั้งชาติ แล้วปล่อยให้คนกรุงเทพฯสบาย สุดท้ายกรุงเทพฯจะน้ำท่วมก็ต้องปล่อยไปบ้าง

หน่วยงานที่ดูแลจัดการเรื่องระดับน้ำในลำคลองกรุงเทพฯ ซึ่งก็ทำได้ดีตามแนวทางธรณีวิทยา ผมอยากให้เห็นภาพ ยกตัวอย่างมีพายุจ่อแถวจ.นครสวรรค์ แล้วฝนตกแรงมาก น้ำก็ท่วมกรุงเทพฯ อยู่แล้ว เพราะกรุงเทพฯเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อน้ำท่วม 

ปัญหาการขุดบาดาล ทำให้ดินยุบตัว ก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว แต่ยังมีปัญหาดินยุบตัวอีก ?

ตอนนี้มีตัวบทกฎหมายไม่ให้มีการสูบน้ำบาดาลในพื้นที่ แล้วส่งผลดีอย่างไร เมื่อกรมแผนที่ทหาร วัดอัตราการทรุดตัวของพื้นดินลดลงอย่างเห็นได้ชัดและมีนัยยะสัมพันธ์

การทรุดน้ำลงของกรุงเทพฯและปริมณฑล มาจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ถ้าแบบเร็วๆ เรียกว่าหลุมยุบ เป็นการทรุดตัวตามธรรมชาติจากการถล่มของโพรงใต้ดินทันทีทันใด อาจเกิดจากการกัดเซาะหินปูนของน้ำใต้ดินจนกลายเป็นโพรง หรือถ้ำใต้ดิน ถ้าเป็นการทรุดตัวจากฝีมือมนุษย์ก็มาจากเหมืองใต้ดิน เหมืองเกลือ

ส่วนการทรุดตัวที่เกิดจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้จำนวนมาก อย่างรัฐแคลิฟอร์เนีย อเมริกา เมื่อปี 2468-2518 ทำให้พื้นที่มากกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร ทรุดตัวมากกว่า 9 เมตร

ผลจากการสูบน้ำใต้ดินมาใช้อย่างต่อเนื่องในอดีตของบ้านเรา ทำให้ที่ราบลุ่มภาคกลางทรุดตัวอย่างช้าๆ คล้ายรัฐแคลิฟอร์เนีย ดังนั้นในปี 2526จึงควบคุมงดการสูบน้ำใต้ดินมาใช้ ผลสำรวจปี 2521-2554 กรุงเทพฯมีการทรุดตัวจริง แต่ละพื้นที่จะต่างกัน แต่มีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 1 เมตรในพื้นที่บางกะปิและสมุทรปราการ และทรุดน้อยลงเมื่อห่างไกลจากกรุงเทพฯ 

การสร้างผนังกั้นน้ำแม่น้ำมีผลป้องกันน้ำท่วมได้ไหม

การสร้างผนังกั้นน้ำ หรือใช้กระสอบทราย เป็นการแก้ปัญหาตรงๆ มีประสิทธิภาพที่สุด ปัญหาน้ำท่วมคือ น้ำป่าทุ่ง น้ำล้นตลิ่ง ถ้าน้ำล้นตลิ่งจะแพร่ไปทั่วพื้นที่ แม้จะมาเยอะๆ มาแรงๆ ไม่น่ากลัวถ้าไหลอยู่ในร่องในแม่น้ำเจ้าพระยา หรือบางปะกง ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าน้ำล้นตลิ่ง มีปัญหา เพราะเรามีคลองเยอะ จะปิดกั้นได้ยาก

ถ้าน้ำมาไม่เยอะ เราก็ไม่เห็นคลองเป็นปัญหา แต่เป็นประโยชน์ ผมก็ไม่อยากเหยียบย่ำคลองที่ขุดกันมา แต่จะเหมือนแม่น้ำสายใหญ่แล้วมีรูรั่วเต็มไปหมด

ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นของกรุงเทพและปริมณฑล เทียบได้กับเมืองไหนของประเทศอื่น

จาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ภูมิประเทศคล้ายกัน น้ำทุกหยดที่ตกบนภูเขาไหลผ่านจาร์กาต้าทั้งหมด ถ้าฝนตกแช่น้ำต้นน้ำบนภูเขา จาร์กาต้าจึงเลอะเทอะ จนต้องย้ายเมืองหลวง

กรุงเทพฯจำเป็นต้องย้ายเมืองหลวงไหม

เรายังมีมิติอื่นๆ เราทำมาหากิน ค้าขาย เจริญรุ่งเรือง เราคุ้นชินแล้ว ถ้าเรายอมรับกับปัญหาเหล่านี้เหมือนคนอยุธยาอยู่กับน้ำ ถึงเดือน 4-5 ก็เตรียมซ่อมเรือ เรื่องนี้ถ้าคนกรุงเทพฯรับกับน้ำท่วมได้ ยังอยู่ได้ก็อยู่ แต่เมื่อไรคนส่วนใหญ่คิดว่า ไม่คุ้ม ก็แค่นั้นเอง

ถ้าน้ำท่วมแบบแย่สุดๆ กรุงเทพฯ จะประมาณไหน

หนักกว่าปี 2554 ก็เป็นได้ ปัจจัยไม่ใช่เพราะที่นี่คือกรุงเทพฯ แต่ปัจจัยคือ ช่วงเวลานั้นมีพายุเข้ามากี่ลูก น้ำเยอะไหม และขอตอกย้ำอีกครั้ง กรุงเทพฯเป็นพื้นที่อ่อนไหว

ถ้าในแง่ปัจจัยเชิงพื้นที่ในกรุงเทพฯ 100 ปีน้ำก็ไม่ท่วมขัง กรุงเทพฯไม่จมแน่ๆ แต่ความสามารถในการระบายน้ำต้องใช้พลังเยอะ เพราะพื้นดินเราทรุดลงอย่างช้าๆ

ถ้าดูแค่น้ำเหนือในช่วงหน้าฝน ต้องดูอีกว่ามีปริมาณน้ำเยอะแค่ไหน หน่วยงานที่รับผิดชอบเลี้ยงน้ำให้ไหลลงคลอง แล้วค่อยๆ ไหลลงทะเลอย่างไร จึงมีทั้งเรื่องพื้นที่พักน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่แก้มลิง เพราะมีการกักน้ำไว้รอไหลลงทะเล

สำหรับประเทศไทย ภัยพิบัติเรื่องไหนต้องระวังมากที่สุด ? 

ที่กวนใจเรามากที่สุดคือ น้ำท่วม และจากข้อมูลธรณีวิทยา แผ่นดินไหวในประเทศไทยแทบจะไม่ทำให้เกิดภัยพิบัติ คงแค่มาเยี่ยม กำเนิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาวตอนเหนือ พื้นที่เหล่านั้นมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวและได้รับผลกระทบรุนแรง แต่แรงสั่นสะเทือนอาจมาถึงบ้านเรา รับรู้ได้ถึงแผ่นดินไหว แต่ไม่ได้สร้างภัยพิบัติให้พวกเรา

สรุปว่าโอกาสที่เกิดภัยพิบัติ ในประเทศไทยน้อยมาก ?

สุวรรณภูมิดีที่สุดแล้ว ผมพูดในฐานะนักธรณีวิทยาที่สนใจด้านโบราณคดี บ้านเราดีที่สุดของที่สุด ถ้าปล่อยตามธรรมชาติที่ราบลุ่มภาคกลางปลูกข้าวขึ้น น้ำมาตามฤดูกาล แผ่นดินไหวไม่มี รอยเลื่อนที่ดุที่สุดขยับออกจากประเทศเราหมด รอยเลื่อนที่เหลือในประเทศไทยดูเด็กๆ

ส่วนภัยจากสึนามิ เราไม่ต้องกลัวเลย แม้ระบบเตือนภัยจะใช้ไม่ได้ ต่อให้สึนามิมาวันนี้ ก็คงไม่มีใครเสียชีวิต เพราะเรารู้จักสึนามิแล้ว เราก็ขึ้นที่สูง จึงต่างจากสถานการณ์ปี 2547 มนุษย์โดยรอบมหาสมุทรอินเดียไม่มีใครรู้จักสึนามิ เพราะสึนามิเคยเกิดเมื่อ 300 ปีที่แล้ว

............