ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : จิ๊กซอว์ความสำเร็จและความสุขที่วัดผลได้

ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : จิ๊กซอว์ความสำเร็จและความสุขที่วัดผลได้

เรื่องราวคนชอบเขียน "นภดล ร่มโพธิ์" เป็นทั้งอาจารย์ นักเขียน และเจ้าของเพจ“Nopadol's Story”ที่เชื่อว่าคนเราไม่ต้องมานั่งรอช่วงเวลามหัศจรรย์ เราสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวของเราเองได้

เคยมีใครบอกคุณไหมว่าความสุข...วัดผลได้ หรือลองบริหารชีวิตเหมือนบริหารองค์กร ถ้าเลือกทำแบบเดิม คิดแบบเดิม ผลลัพท์ก็เหมือนเดิม ถ้าอยากได้ผลลัพท์ใหม่ ต้องคิดใหม่  

เรื่องการพัฒนาชีวิต แรงบันดาลใจ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อะไรทั้งหลายแหล่ที่วัดผลไม่ได้ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ลองวัดผล สิ่งสำคัญคือ โฟกัสให้ชัด ตั้งเป้าหมายที่ทำได้

ศ.ดร.นภดล นอกจากสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์กว่า 19 ปี ยังเป็นนักเขียนเล่าเรื่องการพัฒนาชีวิต แรงบันดาลใจ รวมถึงธุรกิจ หนังสือที่อาจารย์เขียนบางเล่มติด Bestseller มีผลงานทั้งหมดกว่า 14 เล่ม อาทิ พัฒนาชีวิตคิดแบบสตาร์อัพ,ความสุขปัจจุบันสุทธิ,อยากสำเร็จต้องโฟกัสด้วยแนวคิด OKR ,ความลับของการวัดผล ฯลฯ

นอกจากนี้ยังเขียนลงเฟซบุ๊คและทำ Podcast “Nopadol's Story” เป็นที่ปรึกษาองค์กรกว่าสิบแห่ง วิทยากรรับเชิญสอนออนไลน์ และที่สำคัญมองการเรียนการสอนออนไลน์ เป็นโอกาสของคนที่อยากเรียนรู้

แม้อาจารย์นภดลจะทำหลายอย่าง แต่ทั้งหมดเชื่อมร้อยเป็นเรื่องเดียว บางเรื่องอาจให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต และแรงบันดาลใจ ยกตัวอย่างการลดน้ำหนัก ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยทำได้ จนสามารถลดน้ำหนักได้ 14 กิโลกรัม (เกินเป้าหมาย)... 

ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : จิ๊กซอว์ความสำเร็จและความสุขที่วัดผลได้ (ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ เป็นทั้งอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ,ที่ปรึกษาองค์กร, วิทยากรสอนทางออนไลน์,นักเขียน และเจ้าของเฟซบุ๊คNopadol's Story)

  • ในฐานะที่ปรึกษาองค์กร ถ้าจะให้องค์กรประสบความสำเร็จ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องใดเป็นพิเศษ

ผมเป็นที่ปรึกษาองค์กรสิบกว่าแห่ง ผมเชี่ยวชาญเรื่อง OKR (objectives and key results) คือ แนวคิดการบริหารจัดการที่เน้นเรื่องการตั้งเป้าหมาย  ติดตามผลเฉพาะสิ่งที่สำคัญ โดยมีแรงจูงใจเป็นแรงขับเคลื่อน และประสบความสำเร็จได้ เพราะโฟกัสเฉพาะจุด

ผมเรียนรู้เรื่องนี้จากการอ่าน ซึ่งผู้บริหารกูเกิ้ลก็นำไปใช้ แล้วประสบความสำเร็จ พอผมอ่านเยอะๆ ผมก็เขียน ทำวิจัย และศึกษาลงลึกเรื่อยๆ ก็โชคดีที่คนเชื่อถือ เชิญไปบรรยายและเป็นที่ปรึกษา ก็เลยสร้างเฟรมเวิร์ก (framework) OKR ที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ

ปกติเวลาวัดความสำเร็จขององค์กรจะวัดผลทุกเรื่องทุกด้าน ก็ดี...ถ้าต้องการแค่ควบคุม ปัญหาขององค์กรคือมีทรัพยากรจำกัด แต่อยากทำทุกเรื่อง พอทำแล้วไม่ดีสักเรื่อง เพราะเวลาและเงินน้อย แต่แนวคิด OKR บอกว่า ไม่ต้องวัดทุกเรื่อง ถามตัวเองก่อนว่า อะไรคือเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าทำแค่เรื่องนั้น อาจสำเร็จไปแล้ว 80-90 เปอร์เซ็นต์

ยกตัวอย่างเรื่องยอดขาย ถ้าลูกค้า 20% สร้างยอดขายให้ได้ 80%ของทั้งหมด แทนที่บริษัทจะโฟกัสลูกค้ากลุ่มนี้ กลับไปโฟกัสลูกค้า 80 % ถ้าคุณกำหนดเป้าหมายแบบ OKR ต้องโฟกัสลูกค้าส่วน 20 % ที่ทำยอดขายได้เยอะ แค่นี้คุณก็รวยแล้ว หลายองค์กรพยายามทำให้ลูกค้าแฮปปี้ทั้งหมด ซึ่งเป็นความพยายามที่ดี เหนื่อย และเปลือง สุดท้ายไม่สำเร็จ ยกเว้นมีเวลาก็ค่อยโฟกัสลูกค้า 80 %

  • ชีวิตคนเราต้องโฟกัสสิ่งที่ทำให้ชัด ถึงจะประสบความสำเร็จ? 

ใช่ครับ ลองทำ OKR สำหรับชีวิตเรา ผมมีสามด้านคือ ด้านการเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ,การแบ่งปันทำให้สังคมดีขึ้น และด้านสุขภาพกายใจ แม้จะค่อนข้างยาก แต่เรื่องเหล่านี้วัดผลได้ อะไรที่เป็นนามธรรม วัดเป็นรูปธรรมโดยธรรมชาติได้

  • วัดผลได้...แม้กระทั่งความสุข ?

ผมออกหนังสือเรื่อง ความสุขปัจจุบันสุทธิ ถ้าพูดถึงเรื่องความสุข จะว่าง่ายก็ง่าย ยากก็ยาก ไม่อย่างนั้นเราจะไม่เห็นคนมีความทุกข์เต็มไปหมด เรื่องที่ผมเขียน เพื่อให้เห็นถึงความสมดุลระหว่างความสุขกับความทุกข์ 

ยกตัวอย่างการออกกำลังกาย ถ้าเราบอกว่า ทั้งเหนื่อยและมีความทุกข์ คนส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าไม่ออกกำลังกายดีกว่า แล้วจะทำยังไงให้ความสุขในปัจจุบันเยอะกว่าความทุกข์ 

ถ้าบอกว่า ออกกำลังกายแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้าสุขภาพดี มันก็ไกลไป หรือถ้าบอกว่า ต้องขับรถออกไปวิ่งที่สนาม ก็ทั้งลำบากและมีความทุกข์ ก็ลองปลดความทุกข์ออกด้วยการวิ่งหน้าบ้าน เหนื่อยเดี๋ยวก็หาย ก็มีความสุขได้

  • นำแนวคิดการวัดผลองค์กรมาใช้กับตัวเองอย่างไร

ผมสนใจเรื่องนี้และทำวิจัย ถ้าเราไม่วัดผล เราไม่รู้หรอกว่า จุดอ่อนจุดแข็งของเราอยู่ตรงไหน เราใช้ชีวิตแบบออโต้ไพล็อต (Autopilot )เยอะมาก ทำทุกอย่างเหมือนเดิมปีแล้วปีเล่า ทั้งๆ ที่วิธีการแบบนั้นอาจไม่ดีสำหรับเรา ก็ยังทำเหมือนเดิม ถ้าผมสอนเรื่องนี้ ผมก็จะชวนคิดเรื่องการวัดผล ถ้าทำสำเร็จก็ทำต่อ ถ้าไม่สำเร็จก็เลิกทำ

  • การลดน้ำหนัก เป็นเรื่องที่อาจารย์ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ แล้วทำไมทำได้ ?

ค่อยๆ ก้าวไปเรื่อยๆ ก็ทำได้เอง อย่างการเขียนเพจ วันแรกๆ มียอดคนอ่านหลักสิบหลักร้อย ก็กลายเป็นหลักหมื่น พอดแคสต์ แรกๆ ไม่มีคนฟัง ตอนนี้คนฟังวันหนึ่งเป็นหมื่น 

  • ย้อนไปเรื่องเข็มทิศชีวิตที่เปลี่ยนไป จากวิศวะมาเป็นอาจารย์สอนด้านบริหารธุรกิจ? 

ผมจบวิศวะปริญญาตรีและโท แล้วมาเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ธรรมศาสตร์ รู้สึกสนุกและเปิดโลก จึงชอบอยากทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่วิศวะ จนไปเรียนต่อปริญญาเอก Business and Management จาก University of Glasgow ก็มีทางเลือกคือ เป็นอาจารย์สอนหนังสือ น่าจะตอบโจทย์มากกว่า มีเวลาให้ครอบครัว

เป็นอาจารย์มา 19 ปี อาศัยว่าชอบเขียน จึงมาทำเพจ Nopadon Story หลักๆ ผมเขียนอยู่สามเรื่องคือ รีวิวหนังสือ เพราะผมอ่านสองมุมคือ แรงบันดาลใจ พัฒนาตัวเองและธุรกิจ ผมขอยกตัวอย่างอีกนิด ผมชอบทำวิจัย ก็เขียนว่าจะทำวิจัยให้สำเร็จต้องทำอย่างไร การจัดการเวลาให้มีประสิทธิภาพ การทำพอดแคสต์ใช้ทักษะการพูดจะง่ายกว่าการเขียน 

  • นำสิ่งที่อ่านจากหนังสือไปทดลองทำไหม 

 ก็ลองทำ มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล อย่างเรื่องสตาร์ทอัพ ผมลองใช้โมเดลที่อ่านมาทำแพลตฟอร์ม เว็บไซต์รวบรวมการรีวิวหนังสือ โดยคนอ่านต้องซื้อเหรียญมาอ่านรีวิว ปรากฎว่ามีคนเข้ามารีจิสเตอร์(Register) 400-500 คน ผมว่าไม่น้อย แต่ผมไม่มีเวลาทุ่มเท สุดท้ายก็เลิกไป

ส่วนเรื่องที่ทำแล้วได้ผลคือ การลดน้ำหนัก ทุกคนรู้ว่าต้องกินน้อย ออกกำลังกายเยอะๆ ผมเองก็รู้ แต่น้ำหนักก็ยังเพิ่มขึ้น จนผมมาเจอเทคนิคจากหนังสือ Atomic Habits เขียนโดย James Clear แค่ใช้พลังกายพลังใจอย่างเดียวไม่พอ

ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : จิ๊กซอว์ความสำเร็จและความสุขที่วัดผลได้

  • ใช้ใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องใช้วิธีการอย่างไร

อยากลดน้ำหนัก แต่ชอบกินอาหารฟาสต์ฟู้ด ก็ต้องปรับสภาพแวดล้อม ไม่ซื้อมาเก็บไว้ อีกอย่างไม่ต้องตั้งเป้าใหญ่โตว่า ต้องวิ่งวันละ 5 กิโลเมตร ถ้าทำอย่างนั้นแค่สองสัปดาห์แรก ก็เลิก ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้น ลองตั้งเป้าง่ายๆ เริ่มวิ่งวันละสิบเมตรก็ได้ เหมือนหลอกตัวเอง เพราะคนเราจะยากตอนที่จะออกวิ่ง เมื่อวิ่งแล้วก็เพิ่มระยะขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อก่อนผมเน้นออกกำลังกาย เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง 90 เปอร์เซ็นต์สำหรับผมน้ำหนักเพิ่มเพราะการกินมากกว่าการออกกำลังกาย ยกตัวอย่างวิ่ง 5 กิโลเมตร แคลอรี่ที่รีดออกไปเท่ากับดื่มน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง ดังนั้นการลดน้ำตาลและแป้งนี่ใช่เลย แต่เราไปหลงทาง วิ่งแทบแย่แล้วกินเค้ก กินไอศกรีม อ้วนกว่าเดิมอีก พอเรามาใส่ใจกับการกิน และทำแบบ IF ไม่กินอาหารเย็น กินผักผลไม้เยอะขึ้น เห็นผลเลยน้ำหนักลด

อย่างเรื่องลดน้ำหนัก ผมก็ตั้งเป้าแบบ OKR ว่า ปีนี้จะลดน้ำหนัก 12 กิโลกรัม ทั้งๆ ที่ไม่เคยลดน้ำหนักได้แม้แต่กิโลเดียว ผมไม่คิดว่าจะทำได้ แต่ด้วยระบบที่ผมสอนคนอื่นให้ใช้กับองค์กร ผมลองมาใช้กับตัวเอง ปีนั้นผมลดน้ำหนักได้ 14 กิโลกรัม ผมตั้งเป้าแล้วดูความก้าวหน้า แต่ต้องหาวิธีการที่ดีสำหรับเรา

  • การสอนวิชา“การวัดผลการปฎิบัติงานองค์กร” สอนอย่างไรให้สนุก

ผมค้นพบวิธีนี้เอง ใช้แนวทาง 4 E คือ Empathy  ไม่ว่าจะออนไลน์หรือออฟไลน์ เราต้องรู้ว่า เวลานักศึกษาเรียนกับเรารู้สึกยังไง อย่างผมจะสอนออนไลน์ ผมต้องไปลงเรียนออนไลน์ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่า สอนแบบไหนน่าเบื่อ

ส่วนอีกวิธี Engagement ลองนึกถึงตัวเรา ถ้าต้องฟังคนบรรยาย 3 ชั่วโมงในออนไลน์เบื่อแน่นอน แต่เมื่อใดก็ตามเราถูกเรียกให้พูด ไม่ใช่แบบจี้ให้พูด ผมจะเรียกให้พูดแบบชวนคุย ทำให้อยากพูดเพราะสนุก แต่ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูด ไม่ใช่พูดแล้วทำให้เสียหน้า คนคงไม่อยากพูดเพราะกลัว ถ้าพูดแล้วรู้สึกเจ๋งมากก็อยากคุยอยู่แล้ว

เรื่อง Energy (พลังงาน) การสอนออนไลน์ที่สอนไม่ดีเพราะไม่เห็นหน้าคนเรียน คนสอนก็คิดว่ารีบๆ พูดให้จบ ยิ่งคนสอนพลังน้อย ก็ยิ่งไม่ดี ผมต้องมีเสียงกระตุ้นสอนเหมือนเวลาเม้าส์กับเพื่อนต้องสนุก

ส่วนเรื่อง Emotion ถ้าควบคุมอารมณ์ในการบรรยายการสอนไม่ได้ จะเละเลย อาจารย์บางคนโกรธง่าย นักศึกษาตอบผิด อารมณ์ขึ้นเลย คนเรียนคงไม่ชอบ แม้สอนออนไลน์จะทำยาก แต่ถ้าพยายาม ทำได้ครับ

  • หาวิธีการใหม่ๆ มาสอนนัักศึกษาอย่างไร

ถามว่า คิดค้นเองหรือเปล่า...ก็ไม่ใช่ ยกตัวอย่างผมสอนปริญญาตรีเรื่องการวัดผลองค์กร นักศึกษาที่เรียนคงไม่อิน เพราะไม่เคยทำงาน ผมบอกว่า ถ้าจะตั้งเป้าหมายชีวิตอย่างไร ให้ใช้หลักการเดียวกับองค์กร หรือบางอย่างนำมาประยุกต์กับชีวิตไม่ได้ ผมก็หา Simulation games ให้ทดลองเป็นเจ้าของบริษัท

ช่วงเปลี่ยนผ่านเรื่องราวในโลก ผมมองว่า ถ้าเราพร้อมก็คือโอกาส ถ้าไม่พร้อมคือภัยคุกคาม เรื่องบางอย่างไม่ใช่วันเดียวเตรียมได้ หลังโควิดสองปี คนพร้อมจะเรียนออนไลน์เยอะมาก

ต้องยอมรับว่าจำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยลดลง ถ้าเราเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่ไม่มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ ได้เรียนออนไลน์จะมีประโยชน์มหาศาล แล้วยังการเรียนข้ามประเทศผ่านออนไลน์ โอกาสมาแล้ว

ปัจจุบันคนทำงานออนไลน์ข้ามประเทศที่ไหนก็ได้ และการจ้างงานคนไทยทำงานจะถูกกว่าในประเทศของเขา ถ้าจ้างคนไทยเดือนละหนึ่งแสน จ้างคนในประเทศเขาสองแสน แต่เด็กไทยทำงานในประเทศไทยได้เดือนละสองหมื่น ผมมองว่า นี่เป็นโอกาส แต่ต้องมีทักษะเฉพาะด้านและภาษาอังกฤษใช้งานได้ดี 

ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ : จิ๊กซอว์ความสำเร็จและความสุขที่วัดผลได้

  • หนังสือที่เขียนมีทั้งหมดกี่เล่ม

      14-15 เล่ม เป็นแนวพัฒนาตัวเองและธุรกิจ รวมถึงการวัดผลแบบ OKR แม้กระทั่งเรื่องหุ้น ผมก็เขียนแนววิชาการ เพราะผมชอบอ่านเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม ผมเอามาใช้กับตลาดหุ้นได้ด้วย เวลาคนลงทุนในหุ้น จะมีความลำเอียงในการตัดสินใจ ผมก็ลงทุนในตลาดหุ้น เวลาเราจะซื้อหุ้นสักตัว เราพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง คิดว่า หุ้นตัวนั้นมันดี แต่ไม่ใช่ศึกษาจริงจัง เราแค่หาข้อมูลที่เราตัดสินใจไปแล้ว ข้อมูลแบบนี้ไม่มีประโยชน์เพราะเราลำเอียง 

  • แล้วการลงทุนในหุ้นของอาจารย์เป็นอย่างไร

แรกๆ ที่ลงทุนผมก็ไม่มีความรู้ ซื้อตามที่เขาเชียร์ให้ซื้อ ก็ขาดทุน ต่อมาก็หาความรู้ จึงไม่เจ็บตัว พัฒนาตามความรู้และประสบการณ์ จนผมเขียนเรื่อง เล่นหุ้นยังไงไม่ลำเอียง เพื่อเตือนคนอื่น

  • ทำไมมองว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อยลง ?  

ผมยังไม่สามารถยืนยันสถิติการอ่านของคนไทย ที่กำลังแย่ คือ ร้านหนังสือ เพราะแบกต้นทุนมหาศาลจึงอยู่ไม่รอด ตอนนี้คนซื้อหนังสือผ่านออนไลน์ ผมคิดว่าคนยังอยากอ่านหนังสือ หนังสือของผมจึงมีทั้งพิมพ์เองและสำนักพิมพ์พิมพ์ให้

  • อยากให้แนะนำหนังสือดีๆ สักเล่ม ? 

หนังสือ Atomic Habits เขียนโดย James Clear การสร้างนิสัยดีๆ และเลิกนิสัยที่เราไม่ชอบ มีเทคนิคที่เราทำได้ ลองอ่านดูครับ