“Blackout Challenge” คืออะไร? ชวนส่องคอนเทนต์ใน TikTok ที่อันตรายถึงชีวิต

“Blackout Challenge” คืออะไร? ชวนส่องคอนเทนต์ใน TikTok ที่อันตรายถึงชีวิต

Blackout Challenge คืออะไร? ทำไมถึงอันตรายและมีเด็กเสียชีวิตจากชาเลนจ์นี้ และย้อนไปถึงคอนเทนต์แปลกๆ ใน TikTok ซึ่งแม้จะได้รับความสนใจ แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนถึงความปลอดภัย เพราะบางกรณีอาจได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

 ไม่นานมานี้ คอนเทนต์ “ขอแตรสามช่ารถสิบล้อ” ที่เรามักเคยเห็นใน TiKToK ได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ไม่ควรทำ” นั่นเพราะการทำมือส่งสัญญาณสื่อสารกับผู้ขับขี่บนท้องถนน อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกลอกเลียนแบบในพฤติกรรมดังกล่าวได้

“เรื่องนี้มีประชาชนร้องเรียนมายังตำรวจ เป็นจำนวนมาก หวั่นจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุกับเด็กหรือผู้ที่จะลอกเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกเสียสมาธิในการขับขี่ เสียงแตรอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชนทั่วไป อีกทั้งการยืนริมทางหรือถ่ายคลิปวีดีโอขณะอยู่บนรถอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งถึงคลิปไวรัล (Viral) ที่เป็นกระแสใน TikTok

กรณีของคลิปขอแตรรถสามช่าเป็นอันว่าจบไป และในเวลาเดียวกันนี้ ผู้คนในโลกออนไลน์ก็ต่างตั้งคำถามถึงชาเลนจ์หรือคอนเทนต์อันตรายอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดการเลียนแบบและเป็นอันตราย ซึ่งหนึ่งในลิสต์รายชื่อคอนเทนต์อันตรายนั้น มีชาเลนจ์อันตราย หนึ่งที่ชื่อ Blackout Challenge ที่ทุกฝ่ายต่างออกย้ำเตือนกันอย่างเด็ดขาดว่าไม่ควรกระทำตามโดยเด็ดขาด

  • Blackout Challenge คืออะไร?

ถ้า “ขอแตรรถสามช่า” มีความน่ากลัวระดับ 3 ดาว Blackout Challenge ก็ต้องถือว่าน่ากลัวกว่ามาก และคอนเทนต์ที่ว่านี้ก็กำลังถูกจับตามากๆ ในต่างประเทศ มาตั้งแต่ 1-2 ปีก่อน

Blackout แปลได้ว่า แสงที่ดับลง, ไฟดับ ซึ่ง Blackout Challenge ก็หมายถึงชาเลนจ์ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมแข่งกันหมดสติอย่างตั้งใจ เป็นแสงที่ค่อยๆหรี่ลงเพราะความหมดสติ

วิธีการที่จะทำให้หมดสตินั้น ผู้เล่น อาจจะใช้เข็มขัด เชือก หรือใช้แขนของผู้อื่นรัดคอ เพื่อไม่ให้ผู้เล่นได้รับอากาศ เป็นผลทำให้หมดสติลง ซึ่งชาเลนจ์ดังกล่าวนี้ถูกศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ของสหรัฐอเมริกา ออกคำเตือน และยังมีผู้ปกครองฟ้องร้อง TikTok ที่ปล่อยให้มีคอนเทนต์นี้ปรากฎในช่วงปี 2019

มีรายงานว่า ในต่างประเทศ มีเด็กเสียชีวิตจากการทำคอนเทนต์ในชาเลนจ์ Blackout Challenge อย่างน้อย 7 ราย และถึงไม่เสียชีวิตก็พบอาการข้างเคียงอื่นๆ นั่นคือ รอยช้ำที่คอ ปวดหัว  

มีรายงานว่า ผู้ปกครองหลายคนฟ้องร้อง TikTok แอปพลิเคชันโซเชียลชื่อดัง เนื่องจากลูกๆ ของพวกเขาเสียชีวิตจากการ รัดคอตัวเองเพื่อทำชาเลนจ์ ‘Blackout’ หรือการหมดสติอย่างตั้งใจ หลังอัลกอริทึม แสดงวิดีโอต่างๆ จากชาเลนจ์ให้เด็กเหล่านี้เห็น ซึ่งหนึ่งในคดีฟ้องร้องอ้างว่าชาเลนจ์กระตุ้นให้ผู้ใช้รัดคอตัวเองด้วยเข็มขัด สายกระเป๋า โดยเด็กทั้งหมดที่เสียชีวิตมีอายุต่ำกว่า 15 ปี

  • คอนเทนต์ที่ล้ำเส้นความบันเทิง

ในยุคที่คอนเทนต์วิดีโอสั้น คือเนื้อหาที่ผู้คนรับชมมากกว่าวันละ 3 เวลา มีคอนเทนต์จำนวนมากที่ถูกผลิตและส่งต่อๆกันสร้างความบันเทิง แต่ถึงเช่นนั้นในอีกด้านก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาบางประเภทล้ำเส้นของความพอดีและกลายเป็นอันตรายถึงชีวิต

ลองมาดูกันว่า ช่วงหลายปีปีที่ผ่านมามีคอนเทนต์ใดบ้าง ที่แม้จะได้รับความนิยมในจำนวนยอดเข้าชมใน TikTok แต่ก็ถูกผู้เกี่ยวข้องตักเตือนเพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต 

  • กิน “ปลาหมึกช็อต” หรือปลาหมึก สด ๆ เอาหัวจุ่มลงไปในแก้วที่มีน้ำจิ้มซีฟู้ด

เกิดขึ้นในประเทศไทย ภายหลังจากการแชร์วีดีโอ กินปลาหมึก ตัวเล็ก สด ๆ เอาหัวจุ่มลงไปในแก้วที่บรรจุน้ำจิ้ม เพื่อให้หมึกดูดเอาน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้าตัว

“Blackout Challenge” คืออะไร? ชวนส่องคอนเทนต์ใน TikTok ที่อันตรายถึงชีวิต

ภายหลัง กรมอนามัยออกมาแจ้งเตือน ว่า พฤติกรรมการกินดังกล่าวอาจจะเสี่ยงได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม หรือ Vibrio parahaemolyticus ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามโคลนตมในทะเลหรือตามชายฝั่งต่าง ๆ เมื่อกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย มีอาการอาหารเป็นพิษ หากรุนแรงมาก ๆ ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบได้อีกด้วย

  • Blackout Challenge แข่งหมดสติอย่างตั้งใจ เช่น รัดคอตัวเอง

ชาเลนจ์ท้าตายที่ผู้เล่นจะทำให้ตัวเองหมดสติไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และถ่ายคลิปมาลงโซเชียลภายหลังมีรายงานว่า ซึ่งชาเลนจ์นี้ถูกต่อต้านอย่างมาก เพราะมีเด็กชายวัย 12 ปี ได้ทำการรัดคอตัวเองด้วยเชือกรองเท้าเป็นระยะเวลาหนึ่งจนหมดสติ และสลบไป แต่ปัญหาที่ตามมาคือสมองของเด็กคนนี้ได้เกิดสภาวะสมองตาย อีกทั้งยังรายงานว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการทำชาเลนจ์นี้มากกว่า 5 ราย

  • “วัยรุ่นลิ้นฟ้า” ใช้ยาโรฮิบนอล (Rohypnol) ผิดวิธี

เกิดจากวัยรุ่นบางกลุ่มชอบอัปคลิปตัวเองตอนเมา แล้วแลบลิ้นที่มีสีฟ้า ซึ่งมาจาก ยาโรฮิบนอล หรือชื่อทางการค้าของยาในกลุ่มฟลูนิแทรซิแพม (Flunitrazepam) ยาดังกล่าวนี้จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาควบคุม ไม่มีขายทั่วไป ต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

“Blackout Challenge” คืออะไร? ชวนส่องคอนเทนต์ใน TikTok ที่อันตรายถึงชีวิต

ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขออกเตือนว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก อาจเกิดผลข้างเคียง จนถึงแก่ชีวิตได้ เช่น หยุดหายใจ หากเสพปริมาณมาก หรือเสพร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่สูงมาก

  • ‘บีบแตรสามช่า’ หรือขอให้รถสิบล้อบีบแตรจังหวะสามช่า

การส่งสัญญาณมือ หรือการรุกล้ำเข้าไปในช่องทางจราจร จะทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์บรรทุกเสียสมาธิในการขับขี่ และเสียงแตรอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชนทั่วไป

  • ยกซดน้ำปลาร้า

น้ำปลาร้าคือเครื่องปรุง ที่มีรสเค็มดังนั้นการบริโภคมากไป เสี่ยงต่อการเกิดความดันสูง ไตทำงานหนัก อาจถึงขั้นไตวายได้ ในกรณีที่เลวร้ายสุด จะเกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูง ซึ่งมีผลกับสมอง ทำให้สมองเสียหายจนเสียชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน

ที่มา  Theverge