อ่านน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 1 ใน ดวงเมือง (ตอนที่ 1) โดย "โหรฟองสนาน"

อ่านน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 1 ใน ดวงเมือง (ตอนที่ 1) โดย "โหรฟองสนาน"

"โหรฟองสนาน" เผยบทความ อ่านน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 1 ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์ ที่ถือกำเนิดจากพระราชพิธีพระนครฐาน หรือพิธีวางเสาหลักเมืองที่ ลัคนาสถิตราศีเมษธาตุไฟ

"โหรฟองสนาน" เปิดเผยคำทำนายผ่านบทความ แม่หมอสมัครเล่นตอนที่463 โดยฟองสนาน จามรจันทร์ อ่านน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 1 ในดวงเมือง (ตอนที่ 1)

ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์ ที่ถือกำเนิดจากพระราชพิธีพระนครฐาน หรือพิธีวางเสาหลักเมืองที่ ลัคนาสถิตราศีเมษธาตุไฟ ตามรูปนั้น คนศึกษาโหราศาสตร์สามารถอ่าน-ตีความ พื้นดวงชะตาเดิมได้หลายประเด็น ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกมองแง่มุมที่จะสะกัดออกมาแบบไหน

โดยการสร้างเมือง - วางเสาเสาหลักเมืองนี้ย่อมหนีไม่พ้นที่จะผูกพัน - เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระผู้สถาปนาเมือง และราชวงศ์จักรีตั้งแต่เมืองถือกำเนิดไปจนกว่าจะไม่มีเมือง หรือถ้าเปรียบเทียบกับคนคือเมืองตายไป

เรื่องที่ทราบ และเผยแพร่กันทั่วไปที่จะหยิบยกมาเขียนถึงพระองค์ท่านคือทางเลือกสองทางของดวงเมืองที่ปรากฎเผยแพร่ในโลกออนไลน์ในหัวข้อเรื่องที่ชื่อ "ตำนานเสาหลักเมือง"

อ่านน้ำพระราชหฤทัย รัชกาลที่ 1 ใน ดวงเมือง (ตอนที่ 1) โดย "โหรฟองสนาน"

โดยขอสรุปตัดตอนว่า เมื่อเริ่มสร้าง เมืองรัตนโกสินทร์ นั้นทรงให้คณะโหร - ชี - พราหม์ หาฤกษ์ที่วางเสาหลักเมือง ซึ่งฤกษ์นี้เมื่อหาได้และทำตามพระราชพิธีพระนครฐานหรือวางเสาหลักเมืองแล้วถือเป็นวินาทีแรกที่เมืองจะอยู่ไปจนกว่าเมืองจะตายหรือไม่มีเมืองรัตนโกสินทร์ในโลกนี้แล้ว ซึ่งทางโหรเรียกว่า ดวงกำเนิดของเมือง

หากเปรียบเทียบกับคน คือ ก็วินาทีที่อุแว๊แรกลืมตาดูโลกแล้ว สามารถนำวัน - เดือน - ปี - จังหวัด - ประเทศ - เวลาเกิด ซึ่งสำคัญมากมาผูกดวงชะตา เป็นดวงชะตาเดิมหรือแผนที่ชีวิตอันจะบอกบอกลีลา - บุญ-  กรรมตั้งแต่เกิดจนตายของเจ้าชะตาได้ (ขึ้นอยู่กับความรู้ของโหรแต่ละท่านที่จะอ่าน-ตีความ)

ตัวอย่างที่คลาสสิคที่สุดที่เล่าเป็นตำนานกันมาคือ พระยาโหราธิบดี หรือเจ้ากรมโหรสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งท่านนี้เป็นบิดาศรีปราชญ์ กวีเอกของกรุงศรีอยุธยา (พระยาโหราธิบดีมีหลายท่าน) เมื่อรู้เวลาเกิด หรือเวลาตกฝากของลูกชาย นำมาผูก-อ่านดวงชะตาแล้วท่านรู้ว่าแม้ลูกชายจะโด่งดังคับกรุงศรีฯ แต่จะตายไม่ดี

ในฐานะพ่อท่านได้พยายามหาทางป้องกันไว้ให้ โดยขอสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ถ้าศรีปราชญ์ทำผิดขอทรงให้เนรเทศเว้นโทษประหาร แต่ในที่สุดลูกของท่านที่ถูกเนรเทศจากกรุงศรีฯก็ถูกตัดคอโดยเจ้าพระยานครฯจนได้หนีเคราะห์กรรมที่ท่านอ่านไว้ไม่พ้น

กลับมาที่การหาฤกษ์เกิด - กำเนิดเมืองรัตนโกสินทร์ ตำนานเสาหลักเมืองบอกว่า คณะผู้หาฤกษ์ ได้กราบบังคมแนวทางให้ ร.1 ทรงเลือกสองทางคือ
ทางที่หนึ่ง เมืองจะมีทุกข์-สุขเป็นธรรมดา แต่จะออกแนวสงบสุข เพียงแต่จะมีบางช่วงที่เมืองจะตกเป็นเมืองขึ้นต่างชาติ

ทางที่สอง เมืองมักจะวุ่นวาย - ทะเลาะเบาะแว้งกัน อยู่ดีๆก็จะเรื่องร้าย แต่สุดท้ายจะรอดและเมืองจะไม่เป็นเมืองขึ้นต่างชาติ

ย้อนกลับไปขณะที่กำลังสร้างบ้านแปง เมืองรัตนโกสินทร์ นั้น คนไทยยังเพิ่งผ่านการเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สอง และเกิดความแตกแยกกันมากจากการปราบดาภิเษก อีกทั้งศึกพระเจ้าปดุง หรือสงครามเก้าทัพกำลังก่อตัว ตำนานเสาหลักเมืองบอกว่า ล้นเกส้าฯรัชกาลที่1ทรงเห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรที่สยามจะตกเป็นเมืองขึ้นต่างชาติ จึงทรงเลือกแนวทางที่สอง คือทรงเลือกฤกษ์วางเสาหลักเมืองวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เวลารุ่งเช้าแล้วเก้าบาท หรือ 06.54น. ลัคนาสถิตราศีเมษ ธาตุไฟ (ดังรูป)

สำหรับท่านที่ไม่เชื่อตำนานนี้อาจจะมองว่าเหลวไหล แต่ที่ผ่านมาอาถรรพ์ดวงเมืองก็แสดงให้เห็นตลอดเมื่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ คือสงครามเก้าทัพซึ่งกำลังข้าศึกมากกว่าสยามเท่าตัวแต่เมื่อคนไทยสู้เต็มที่แล้วพระเจ้าปดุงยกทัพกลับเองเพราะมีปัญหาภายใน

ต่อมาสมัยฝรั่งชาติตะวันตกล่าเมืองขึ้น สยามจำแขนขาดเสียดินแดน แต่ไม่เป็นเมืองขึ้นของใครเป็นชาติเดียวในภูมิภาคนี้

ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ส่วนของสงครามมหาเอเชียบูรพากองทัพญี่ปุ่นบุกหลายประเทศแถบนี้สู้กันตายและเสียหายมาก ไทยยินยอมให้ผ่านทางประเทศไทย และจำต้องเข้าข้างญี่ปุ่น แต่ครั้นญี่ปุ่นแพ้สงคราม ไทยกลับชนะ

หลังไซ่ง่อน - เวียงจันทน์ - พนมเปญแตกเป็นคอมมิวนิสต์ กองทัพเวียดนามซึ่งขณะนั้นเป็นมหาอำนาจอันดับสามของโลกประชิดชายแดนไทยเตรียมบุกถึงกรุงเทพฯเมืองเข้าที่คับขันอีกครั้ง

ครั้นต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2522 จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนาม ทำให้ไทยรอดจากการถูกรุกราน เพราะเวียดนามต้องถอนกำลังจากชายแดนไทยเพื่อไปสู้รบกับจีน

นี่คือตัวอย่างที่พิสูจน์ทางเลือกที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่1 ทรงเลือกแต่ต้องแลกด้วยความวุ่นวายชวนทะเลาะเบาะแว้งในภายใน แต่หากมีศัตรูก็ช่วยกันสู้แล้วกลับมาทะเลาะกันต่อ

ซึ่งเกณฑ์นี้อธิบายง่ายๆ คือ ดวงเมืองรัตนโกสินทร์ ถูกออกแบบให้เป็นแบบกรรไกรคลายออกหลังจากบีบเข้าหากันแล้ว พูดง่ายๆว่าวาสนาของเมืองคือหากเกิดวิกฤติคราวใดจะคลี่คลายในที่สุดและมีโอกาสดีตามมา เฉกเช่นหลังสงครามเก้าทัพราชอาณาจักรสยามแผ่ขยายไปใหญ่โตมากกว่าปัจจุบันมากมาย แต่หากเมืองนิ่งๆ นานๆ ระวังเรื่องร้ายเกิดบีบให้ต้องสู้ต่อ
ตอนต่อไปจะอ่านน้ำพระราชหฤหัยของ ร.1ในดวงเมืองส่วนที่ว่า "พระราชสายโลหิตของพระองค์จะรับเคราะห์ร้ายก่อนเมือง" (ยังมีต่อ)

ฟองสนาน จามรจันทร์
20 มกราคม 2566