กาแฟแอฟริกา 'สะเทือนหนัก' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า

กาแฟแอฟริกา 'สะเทือนหนัก' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า

เตือนผู้ปลูกกาแฟรายย่อยใน 'แอฟริกา' ได้รับผลกระทบแรงสุด อาจไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR หรือกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่าของอียู

สำหรับผู้ประกอบการแล้ว การส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ดูเหมือนจะยากลำบากขึ้นไปทุก ๆ ปี ปีก่อนมีกฎคุมเข้มบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง พอมาปีนี้มีระเบียบเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ให้ต้องเตรียมรับมือกันอีก เป็น 'กฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่า' แต่เอาเถอะ เป้าหมายของกฎใหม่นั้นอยู่ที่ความยั่งยืนของโลกและสิ่งแวดล้อม ผู้เขียนในฐานะผู้บริโภคยอมรับว่าก็โอเคนะ

อียูประกาศใช้กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EU Deforestation Regulation มีตัวย่อว่า EUDR ตั้งแต่เมื่อ 29 มิถุนายน 2023 ครอบคลุมการส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มในสหภาพยุโรป ได้แก่ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, วัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง

กฎหมาย EUDR นี้มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอยู่ 2 สเต็ป โดยสเต็ปแรกจะเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบสำหรับ 'ผู้ประกอบการรายใหญ่' ทั้งกลุ่มผู้ผลิต, ผู้นำเข้า และผู้ส่งออก ในวันที่ 30 ธันวาคม 2024 ส่วนสเต็ปถัดไปสำหรับ 'กลุ่มเอสเอ็มอี' ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2025

ผลกระทบจากกฎหมายนี้ หลาย ๆ คนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเกินไปสำหรับตลาดกาแฟเมืองไทย แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่อ 2 ปีก่อน กระทรวงพาณิชย์ก็พยายามผลักดันให้ 'กาแฟเกรดสเปเชียลตี้' ของไทยเข้าไปบุกตลาดยุโรป เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์กาแฟไทยยังคงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก พอมาเจอเงื่อนไขใหม่ตามกฎหมาย EUDR เข้า ไม่รู้ว่าโจทย์ของกระทรวงพาณิชย์จะเริ่มยากหรือไม่

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า สื่อเยอรมนีชี้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทค้ากาแฟตามกฎ EUDR อาจส่งผลให้เกิดปัญหากาแฟขาดแคลนขึ้นได้ในทวีปยุโรป  (ภาพ : Jess Eddy on Unsplash)

แต่ก็นั่นแหละครับทุกวิกฤติ(ของคนอื่น) อาจเป็นโอกาส(ของเรา) ก็ได้

อีกประการตามหลักอุปสงค์-อุปทานแล้ว อาจมีเรื่องราคากาแฟซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภค กติกาเข้ม ๆ ของอียู อาจทำให้พ่อค้ากาแฟรายใหญ่ 'ถอยห่าง' จากไร่กาแฟในภูมิภาคที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่-อย่างไร โดยอาจหันไปซื้อจากแหล่งปลูกอื่น ๆ แทน

จึงน่าคิดว่าราคาสารกาแฟที่ซื้อ-ขายกันในตลาดต่างประเทศ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แล้ว 'ผู้บริโภค' จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของราคากาแฟหรือไม่

ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในภาคธุรกิจกาแฟต่างประเทศเริ่มออกมาเคลื่อนไหวรับมือกับกฎหมายฉบับนี้กันแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีผลบังคับใช้ในสิ้นปีนี้

- 19 ธันวาคม 2023

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้นำเข้าสารกาแฟไปยังตลาดยุโรป เริ่มลดปริมาณการสั่งซื้อกาแฟจากเกษตรกรรายย่อยในทวีปแอฟริกาและที่อื่น ๆ เป็นการเตรียมความพร้อมต่อกฎหมายสำคัญของอียู ที่มีระเบียบห้ามขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้                                                

อียูเห็นว่า การตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับสองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ 'ไคลเมท เชนจ์' รองจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน

- 28 มกราคม 2024

เซกาเย่ อาเนโบ ผู้จัดการ 'สหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟซิดาม่า' ในเอธิโอเปีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวด็อยท์เชอเว็ลเลอของเยอรมนี ว่า ปีนี้เราไม่เห็นผู้ซื้อเข้ามามากนัก โดยปกติแล้ว ช่วงนี้เกษตรกรจะได้รับคำสั่งซื้อกาแฟเพื่อนำไปขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าติดต่อกันหลายเดือน โดยอาเนโบ มองว่าเป็นผลจากความไม่ชัดเจนของกฎระเบียบใหม่อียูที่สร้างความรู้สึก 'คลุมเครือ' ขึ้นในตลาด

ความเห็นของ เซกาเย่ อาเนโบ ถูกแชร์ผ่านโลกโซเชียลมีเดียโดยผู้ผลิตกาแฟชาวแอฟริกันหลายราย รวมทั้งสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟโอโรเมีย ในเอธิโอเปีย เองด้วย 

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า ผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในทวีปแอฟริกา มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด จากกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่าของอียู  (ภาพ : vandelino dias Junior จาก Pixabay)

- 21 กุมภาพันธ์ 2024

'สมาคมกาแฟแห่งชาติกัวเตมาลา' ลงนามในความร่วมมือกับ 'เจดีอี พีทส์' บริษัทค้ากาแฟอเมริกัน-ดัทช์ และ 'เอ็นเวอริตัส' องค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานด้านสำรวจวิจัยกาแฟและโกโก้ทั่วโลก ริเริ่มโปรเจกต์ที่จะอนุญาตให้เอ็นเวอริตัส ดำเนินการตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจว่า กัวเตมาลาจะไม่ส่งออกกาแฟที่ปลูกบนพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หลังจากสิ้นเดือนธันวาคม 2020  อันเป็นไปตามระเบียบใหม่ EUDR

กัวเตมาลากลายเป็นแหล่งปลูกกาแฟชาติแรกในละตินอเมริกาที่ร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อรับรองว่ากาแฟที่ส่งออกไปยุโรปจะเป็นไปตามกฎหมายใหม่

 - 22 กุมภาพันธ์ 2024

สหพันธ์ผู้ค้ากาแฟยุโรป (อีซีเอฟ) เรียกร้องให้อียู 'ชะลอ' การบังคับใช้กฎหมายปลอดการตัดไม้ทำลายป่าออกไปก่อน เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยยังไม่มีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงภายในสิ้นปีนี้ และหากว่ากฎหมายมีการบังคับใช้ จะมีผลกระทบรุนแรงต่อผู้ปลูกกาแฟรายย่อยหลายล้านรายที่ส่งออกกาแฟเข้ามาขายยังตลาดยุโรป

กลุ่มอีซีเอฟถือเป็นกลุ่มธุรกิจกาแฟที่มี 'อิทธิพลสูง' ทีเดียวในยุโรป สมาชิกล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่แทบทั้งสิ้น เช่น ลาวาซซา, อิลลี่, เจดีอี พีทส์, เนสท์เล่ และ สตาร์บัคส์ รวมไปถึงบริษัทนำเข้าสารกาแฟรายสำคัญอย่าง อีคอม, โอฟี, หลุยส์ เดรย์ฟัส และ ซูคาฟิน่า

อย่างที่ทราบกันดีว่า การส่งออกและนำเข้าสินค้า 7 กลุ่มตามกฎหมาย EUDR นั้น ได้แก่ ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, วัว, ไม้, กาแฟ, โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้ เช่น ถุงมือยาง, กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ โดยสินค้าเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบและรายงานที่มาตามขั้นตอนที่อียูกำหนด หลัก ๆ คือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม

อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจส่งออกกาแฟไทยแทบไม่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายตัวนี้ เพราะปริมาณการส่งออกกาแฟไปตลาดยุโรปมีปริมาณน้อย ต่างไปจากพืชผลการเกษตรอื่น ๆ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

มีการวิเคราะห์กันว่า ผู้ปลูกกาแฟรายย่อยใน 'ทวีปแอฟริกา' มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด และอาจจะไม่ผ่านเกณฑ์ EUDR เพราะยังคงมีสถานการณ์รุกป่าเพื่อปลูกพืชเกษตร เช่นเดียวกับไร่กาแฟแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอนทางละตินอเมริกา ทว่าไร่กาแฟโซนนี้สามารถตรวจสอบข้อมูล 'ย้อนหลัง' ได้ง่ายกว่า แม้จะมีการประเมินกัน ว่า บราซิลมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเป็นลำดับต้น ๆ เพราะมียุโรปเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุด

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า รายได้ส่วนใหญ่ของเอธิโอเปีย มาจากกาแฟที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อยที่มีอยู่ราว 2.2 ล้านครอบครัว ในปัจจุบัน  (ภาพ : ningxin23minor จาก Pixabay)

สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งรายงานทำนองว่า เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อยในแอฟริกาจำนวนมากซึ่งขายผลผลิตให้กับตลาดยุโรปเป็นหลัก ขณะนี้พบว่าแหล่งรายได้หลักของพวกเขา ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ 'ไม่แน่นอน' เอาเสียแล้ว

ส่วนสำนักข่าวชั้นนำของเยอรมันที่ชื่อด็อยท์เชอเว็ลเลอ พาดหัวข่าวแบบฟันธงลงไปว่า กฎหมายห้ามตัดไม้ทำลายป่าของอียู ก่อให้เกิดความเสี่ยงขึ้นต่อกลุ่มผู้ปลูกกาแฟรายย่อยที่ส่งออกไปยังยุโรป โดยเฉพาะในแอฟริกา พร้อมทั้งคำถามว่า เกษตรกรรายย่อยสามารถปฏิบัติตามกฎหมาย EUDR ได้จริง ๆ หรือ

ด็อยท์เชอเว็ลเลอ ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรรายย่อยประมาณ 25 ล้านคน ผลิตกาแฟในสัดส่วนประมาณ 80% ของการบริโภคทั่วโลก แล้วเกษตรกรรายย่อยหลายคนก็อาศัยอยู่ในสถานที่ห่างไกลชุนชนเมือง บางจุดอินเตอร์เน็ตเข้าไปไม่ถึง อย่างใน 'เอธิโอเปีย' เพียงประเทศเดียว เกษตรกรราว 2.2 ล้านครอบครัว ผลิตกาแฟรายหลัก ๆ ของประเทศ การส่งออกกาแฟนำมาซึ่งรายได้มหาศาลให้ประเทศ

ปัญหาขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและขาดแรงสนับสนุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็น 'อุปสรรคใหญ่' ของเกษตรกรรายย่อยในเอธิโอเปีย อาจส่งผลให้ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายใหม่อียู แล้วหลาย ๆ คนก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี

ไม่ใช่ว่าผู้ปลูกกาแฟในเอธิโอเปียจะขาดความพร้อมไปเสียทุกราย อย่างสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟซิดาม่า โซนปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียง ก็ได้นำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นเวลาหลายปีแล้ว แถมผลผลิตกาแฟยังได้รับใบรับรองด้านความยั่งยืนระดับสากลจากหลายสถาบัน

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า ผู้นำเข้าสารกาแฟไปยังยุโรป เริ่มลดปริมาณการสั่งซื้อกาแฟจากเกษตรกรรายย่อยในแอฟริกา เตรียมรับมือกฎหมายใหม่ EUDR  (ภาพ : Peter Bösken จาก Pixabay)

แต่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟหลายล้านรายทั่วแอฟริกา ใช่จะมีความพร้อมเหมือนกันหมด

เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการปฏิบัติตามกฎ EUDR  ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบางรายหันไปมองหาผู้ซื้อจากนอกทวีปยุโรป ประเด็นนี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหากาแฟ 'ขาดแคลน' ขึ้นได้ในยุโรป...สื่อเยอรมันสรุปความเห็นไว้อย่างนี้แหละครับท่านผู้อ่าน

วานูเซีย โนเกยร่า ผู้อำนวยการบริหารองค์การกาแฟระหว่างประเทศ ก็เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนธันวาคม 2024 ว่า สำหรับยุโรปแล้ว กาแฟจะหาซื้อได้ยากขึ้นในอนาคต เนื่องจากขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ และยุโรปอาจต้องเผชิญกับปัญหาด้านการขาดแคลนกาแฟ

ประเด็นที่อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนกาแฟในยุโรปนั้น ผู้เขียนมองว่า ไม่น่าจะรุนแรงถึงขั้นนั้น เพราะเทรดเดอร์ค้ากาแฟสามารถจัดหากาแฟจากแหล่งอื่น ๆ มาทดแทนได้ แต่ถ้าพูดถึง 'ราคากาแฟต่อแก้ว' ที่เราดื่มกันอาจปรับตัวขึ้นในบางช่วงบางตอน เคสนี้เป็นไปได้มากกว่า

แล้วก็ดูเหมือนเวลานี้ ผู้นำกาแฟรายใหญ่ ๆ ได้เตรียมการรับมือสถานการณ์กันไว้บ้างแล้ว

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า เจดีอี พีทส์ ประกาศโปรเจกต์นำร่องว่าด้วยไร่กาแฟปลอดการตัดไม้ทำลายป่า กับผู้ผลิตกาแฟใน 5 ประเทศ  (ภาพ : jdepeets.com)

สำหรับบริษัทค้ากาแฟที่นำเข้าสารกาแฟจากแหล่งปลูกทั่วโลกเข้าไปยังตลาดยุโรป กฎหมาย EUDR ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ จากผลของการปฏิบัติตามเงื่อนไข เช่น จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อมูลกาแฟนำเข้า และการรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต

แล้วการตรวจสอบว่าไร่กาแฟทำผิดกฎหมาย EUDR  หรือไม่นั้น อียูได้กำหนดให้บริษัทจัดทำพิกัดทางภูมิศาสตร์ของที่ดินปลูกกาแฟ ผ่านทาง "แอปพลิเคชั่น" บนสมาร์ทโฟนและ 'โปรแกรม' ต่าง ๆ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ เสียด้วย

ก็ไม่แน่ใจว่าต้นทุนที่สูงขึ้นนี้ บริษัทค้ากาแฟจะผลักภาระไปให้ใคร เกษตรกรผู้ผลิตหรือผู้บริโภค หรือยินดีรับไว้เอง!

ที่น่าชวนปวดหัวอีกเรื่องก็คือ หากอียูมีการตรวจสอบย้อนหลังแล้วไปพบว่า กาแฟที่บริษัทนำเข้ามายุโรป ปลูกบนพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหลังจากเดือนธันวาคม 2020 แน่นอนว่าผู้นำเข้ากาแฟดังกล่าวถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แล้วหากว่าเกิดไปสต็อกสารกาแฟไว้เยอะ หรือนำออกไปคั่วจำหน่ายบ้างแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไร จะมีการเรียกเก็บสินค้าไหม จะนำไปทิ้งหรือเปล่า หรือแค่ปรับเงินก็นำสารกาแฟมาใช้ประโยชน์ได้ต่อ คำถามมีมากมายจริง ๆ

กาแฟแอฟริกา \'สะเทือนหนัก\' กฎเข้มอียู! ห้ามสินค้าเอี่ยวทำลายป่า สหพันธ์ผู้ค้ากาแฟยุโรป เรียกร้องให้อียูชะลอการบังคับใช้กฎหมายปลอดการตัดไม้ทำลายป่าออกไปก่อน เพราะหวั่นเกรงผลกระทบ  (ภาพ : Ben Moreland on Unsplash)

เรื่องการจัดหากาแฟโดยไม่ต้องผิดกฎใหม่อียูนั้น 'เจดีอี พีทส์' บริษัทค้ากาแฟอเมริกัน-ดัทช์ ดูจะโดดเด่นนำหน้ารายอื่น ๆ อยู่บ้าง โดยเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกาศโปรเจกต์นำร่องว่าด้วยไร่กาแฟปลอดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก กับประเทศผู้ผลิตกาแฟอย่างน้อย 5 ประเทศ เช่น เวียดนาม, เอธิโอเปีย, ปาปัวนิวกินี, แทนซาเนีย และยูกันดา คาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกในหลายประเทศ

กับโปรเจกต์นี้ เจดีอี พีทส์ร่วมมือกับ 'เอ็นเวอริตัส' องค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศ ในการตรวจสอบความยั่งยืนของการปลูกกาแฟ โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการตรวจสอบภาคพื้นดิน เพื่อเช็คสภาพพื้นที่ปลูกกาแฟว่ามีการบุกรุกเข้าไปตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ เป้าหมายคือการรับรองว่ากาแฟจากไร่นั้น ๆ ปลูกในพื้นที่ซึ่งไม่มีปัญหาทำลายป่า สามารถส่งออกกาแฟไปยังตลาดยุโรปได้

การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ อันนี้เข้าใจได้ครับ แต่สำหรับ AI ยังนึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่ามีขั้นตอนทำงานอย่างไรบ้าง ยอมรับว่าผู้เขียนขาดแคลนความรู้ด้านนี้มาก ๆ ครับ

นี่เป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดของวงการกาแฟทั่วโลก อันเป็นผลกระทบจากกฎหมายห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป เพียงแค่ต้นปีก็ยังเข้มข้นขนาดนี้แล้วครับท่านผู้อ่าน

...........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี