“อ็อกโทเบอร์เฟสต์” กลับมาแล้ว หอการค้าเยอรมัน-ไทยจัดใหญ่

“อ็อกโทเบอร์เฟสต์” กลับมาแล้ว หอการค้าเยอรมัน-ไทยจัดใหญ่

หอการค้าเยอรมัน-ไทย นำประสบการณ์เยอรมันขนานแท้ใหญ่สุดในประเทศกลับมาอีกครั้ง กับงาน “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” อย่างเต็มรูปแบบ วันที่ 3-4 พ.ย.นี้

หอการค้าเยอรมัน - ไทย (German-Thai Chamber of Commerce หรือ GTCC) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย บริษัท โฟล์วอินเตอร์ จำกัด (Flow Inter Co., Ltd.) และโรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท (Sofitel Bangkok Sukhumvit Hotel) นำงาน “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” เทศกาลเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและวัฒนธรรมบาวาเรียนขนานแท้จากประเทศเยอรมนี กลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 3 และศุกร์ที่ 4  พ.ย.  2565 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมโซฟิเทล กรุงเทพ สุขุมวิท

ในงานวันแรกของ “GTCC Oktoberfest 2022” นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย จะเป็นผู้นำพิธีตอกเบียร์ถังแรกร่วมกับนายไมเคิล เวลเซอร์ ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย ซึ่งพิธีตอกถังเบียร์เปิดงานเป็นหนึ่งในประเพณีประจำเทศกาล “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ในแบบฉบับเยอรมนีขนานแท้

“GTCC Oktoberfest 2022” นับเป็นงาน ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ในแบบบาวาเรียนขนานแท้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นของหอการค้าเยอรมัน-ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากความร่วมมืออย่างต่อเนื่องยาวนานของหอการค้าเยอรมัน-ไทยกับสมาชิก โดย ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ทำหน้าที่เป็นเวทีวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับเครือข่ายชุมชนธุรกิจเยอรมัน-ไทย นับตั้งแต่การเปิดตัว ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 1980 จำนวนผู้ร่วมงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและทำลายสถิติเดิมอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุด ในปี 2562 มีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 1,700 คน

สำหรับปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดเพิ่งจะคลี่คลาย หอการค้าเยอรมัน-ไทยกลับมาจัด“อ็อกโทเบอร์เฟสต์” เต็มรูปแบบอีกครั้งหลังจากหยุดพักไป 2 ปี 

GTCC แถลงว่า  แม้ขนาดของงานเล็กลงกว่าที่เคยจัดมาก่อนยุคโควิด แต่ไม่เคยลดคุณภาพและมุ่งมั่นที่จะมอบประสบการณ์ ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ที่ดีที่สุดแก่ผู้ร่วมงานของเสมอมา เริ่มจากพิธีตอกเบียร์ถังแรกเปิดงานที่เป็นหนึ่งในประเพณีประจำเทศกาลที่ห้ามพลาด การบรรเลงดนตรีโดย ‘AnTon and the Funny Guy’ วงดนตรีนำเข้าโดยตรงจากดินแดนบาวาเรีย ในงานจะเต็มไปด้วยสีสันของผู้คนทั้งชาวต่างชาติและไทย ที่สลัดภาพธุรกิจมาแต่งกายชุดประจำถิ่นบาวาเรียน ผู้หญิงในชุดกระโปรงเดรส “ดรินเดิล” (Dirndl) ผู้ชายในกางเกงเอี๊ยมหนัง “เลเดอร์โฮเซน” (Lederhosen) สังสรรค์ร่วมกันด้วยอาหารบาวาเรียนดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก ขาหมู เพรสเซล ซาวเออร์เคราส์ ไก่ย่างเนย ฯลฯ และ ที่ขาดไม่ได้คือเบียร์ที่ผลิตเฉพาะเทศกาลนี้เท่านั้น คือ Paulaner Oktoberfestbier ซึ่งเป็นเบียร์ประจำเทศกาล ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ของพอลลาเนอร์

ทั้งนี้ พอลลาเนอร์ (Paulaner) เป็น 1 ใน 6 แบรนด์ดังประจำ ‘อ็อกโทเบอร์เฟสต์’ ที่มิวนิค ซึ่งเป็นเทศกาลสไตล์บาวาเรียน ที่สนุกสนานมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 7 ล้านคน สำหรับเมืองไทย พอลลาเนอร์ และหอการค้าเยอรมัน-ไทย ได้ร่วมกันจัดงานเทศกาลเบียร์มายาวนานกว่า 15 ปี โดยมีวงดนตรี AnTon and the Funny Guy บินตรงจากเยอรมันเพื่อมาเพิ่มความสนุกสนานและสีสรรให้กับงานนี้โดยเฉพาะ ทั้งยังมีเบียร์  Oktoberfest และเบียร์ Weizen, Weissbier Dunkel นำเข้ามาเพื่องานนี้ด้วย

ประวัติศาสตร์ “อ็อกโทเบอร์เฟสต์”

“อ็อกโทเบอร์เฟสต์” จัดขึ้นในเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนีครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2353 เป็นการแข่งม้าเพื่อเป็นเกียรติแก่พิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงเธเรเซ แห่งแซ็ก– ฮิลด์เบอร์กเฮาเซน (Saxe-Hildburghausen) และเจ้าฟ้าชายลุดวิด มกุฎราชกุมาร ต่อมาคือกษัตริย์ลุดวิกที่ 1 แห่งบาวาเรียทุ่งหญ้าที่จัดการแข่งม้า ถูกขนานนามว่า Theresienwiese ตามพระนามของเจ้าหญิง นี่คือเหตุผลที่บริเวณจัดงาน “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ถูกเรียกว่า Wiesn ในปัจจุบัน

พิธีตอกถังเบียร์เปิดเทศกาล “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” อย่างเป็นทางการเกิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองมิวนิคตอนเที่ยงวัน

เดิมที “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” เริ่มต้นในเดือนตุลาคม แต่เปลี่ยนเป็นเดือนกันยายนเนื่องจากสภาพอากาศที่ดีขึ้น อบอุ่นมากกว่าและยาวนานกว่า โดยจัดขึ้นต่อเนื่อง 16 วัน และในวันสุดท้ายคือวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม

เกร็ดน่ารู้“อ็อกโทเบอร์เฟสต์”

เบียร์ “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ที่เสิร์ฟในเต็นท์ ต้องมาจากหนึ่งในโรงผลิตเบียร์ของมิวนิคเท่านั้น พอลลาเนอร์ (Paulaner) เป็นหนึ่งในหกแบรนด์ประจำเทศกาล โดยจะเสิร์ฟเบียร์ในเหยือกแก้วขนาดหนึ่งลิตร พนักงานเสิร์ฟยกถาดได้สูงสุด 10 แก้วต่อครั้ง!

ตั้งแต่ปี 1818 (พ.ศ. 2361) พอลลาเนอร์ผลิตเบียร์ “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ที่หมักขึ้นในช่วงเทศกาล จนได้กลิ่นแสงแดดเดือนตุลาคม เบียร์สีทองนั้นเกิดขึ้นจากความสมดุลของรสชาติที่สมบูรณ์จากกดอกฮ็อพและกลิ่นมอลต์ จึงเป็นเบียร์ที่ผลิตเพื่องาน “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” เท่านั้น

อาหาร “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” แบบดั้งเดิมประกอบด้วย: Schweinshaxe (ขาหมูทอดกรอบ), Schweinebraten (หมูย่าง), Würstl (ไส้กรอก), Brezen (เพรทเซิล), Knödel (เกี๊ยวมันฝรั่งและแป้ง) และ Lebkuchenzen (ขนมปังขิง)

หอการค้าเยอรมันจัดใหญ่

นอกจากหอการค้าเยอรมัน-ไทยแล้ว มีหอการค้าเยอรมันในประเทศต่างๆ มากกว่า 33 ประเทศที่จัดงาน “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ในประเทศไทยงานนี้กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับชาวเยอรมันและคนไทย ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจในขณะที่สัมผัสวัฒนธรรมเยอรมันไปด้วย

ไฮไลต์ “อ็อกโทเบอร์เฟสต์”โดยหอการค้าเยอรมัน-ไทย(GTCC Oktoberfest 2022)

   “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” ของหอการค้าเยอรมัน-ไทย เป็นเวทีสังสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับคู่ค้าทางธุรกิจและเพื่อนๆ ในชุมชนเยอรมัน-ไทยที่จะมารวมตัวกันเพื่อสนุกกับเทศกาลนี้ในแบบบาวาเรีย โดยไม่ต้องบินไกลไปถึงมิวนิค!

จากการจัดงานครั้งแรกของหอการค้าเยอรมัน-ไทย ภายใต้ชื่อ “บาวาเรียนไนท์” เมื่อปีพ. ศ. 2523 มีคนร่วมงานราว 250 คน จากนั้นมีผู้มาร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดในปี 2562 มีมากถึง 1,700 คน  ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจในชุมชนธุรกิจเยอรมัน – ไทยที่มีจำนวนผู้ร่วมงานทั่วไปเพิ่มขึ้นเช่นกันราว 10%

 วงดนตรี “AnTon and the Funny Guy” บินตรงจากแคว้นบาวาเรีย มาสร้างความบันเทิงในงาน ทั้งดนตรีและการละเล่นแนวครื้นเครงสนุกสนาน

เบียร์ Paulaner Oktoberfest ผลิตขึ้นเฉพาะเทศกาล “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” พร้อมด้วยอาหารบาวาเรียน และขนมหวานท้องถิ่นหลากหลายสไตล์ นำเข้าโดยบริษัท โฟลว์ อินเตอร์ จำกัด (Flow Inter Co., Ltd.) ซึ่งเป็นสมาชิกหอการค้าเยอรมัน-ไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยเป็นหนึ่งในความร่วมมืออย่างยาวนานของหอการค้าเยอรมัน-ไทยกับบริษัทสมาชิก

 สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจนอกเหนือจากอาหารเครื่องดื่มยังมีการละเล่นอันเป็นเอกลักษณ์ของ “อ็อกโทเบอร์เฟสต์” เช่น ขบวนเต้นรำ การแข่งขันดื่มเบียร์ และอื่น ๆ นอกจากนี้  บูธของ Häfele ร่วมกับ FC Bayern ยังพร้อมด้วยสีสันมาสคอตและเกมการละเล่นต่างๆ แต่น่าเสียดายว่า  GTCC Oktoberfest ของหอการค้าเยอรมัน-ไทย ขายหมดเกลี้ยงแล้ว!!!