ชาว 'เจน Z' เบื่อหน่ายโลกโซเชียลมีเดีย หันไป 'อ่านหนังสือ' กลับเข้าห้องสมุด

ชาว 'เจน Z' เบื่อหน่ายโลกโซเชียลมีเดีย หันไป 'อ่านหนังสือ' กลับเข้าห้องสมุด

“เจน Z” หันกลับมา “อ่านหนังสือ” เข้าห้องสมุดมากขึ้น หลังจากเบื่อ “โซเชียลมีเดีย” โดยเลือกอ่านหนังสือหลากหลายประเภท และมีเนื้อหน้าเชิงลึก ไม่ใช่แค่นิยายประโลมโลก

หมดยุคใช้เวลาไปกับ “โลกออนไลน์” แล้ว ในตอนนี้ “เจน Z” คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 แทนที่จะใช้นิ้วไถหน้าฟีด มาใช้นิ้วพลิกหน้า “หนังสือ” แทน เปลี่ยนความคิดอ่านหนังสือเป็นเรื่องน่าเบื่อ และมีแต่พวกเด็กเนิร์ดทำกัน 

ไกอา เกอร์เบอร์ นางแบบวัย 22 ปี ผู้รักการอ่านเป็นชีวิตจิจใจ เพิ่งเปิดตัวชมรมหนังสือออนไลน์ของตัวเองชื่อ Library Science Gerber เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันหนังสือของเหล่านักเขียนหน้าใหม่ ให้ผู้อ่านได้พบปะนักเขียน และทำหน้าที่สร้างชุมชนของคนที่รักการอ่านแบบที่เธอเป็น

“หนังสือเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่ฉันมีมาตลอดชีวิต การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่เซ็กซี่สำหรับฉันมาก” เกอร์เบอร์กล่าวกับ The Guardian

เกอร์เบอร์ไม่ใช่คนเดียวที่รักการอ่าน ในปี 2023 สหราชอาณาจักรมีการขายหนังสือได้ 669 ล้านเล่ม ซึ่งเป็นยอดสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ ขณะที่รายงานจาก Nielsen BookData เน้นย้ำว่า คนเจน Z ชอบซื้อหนังสือแบบเล่ม โดยชาวเจน Z เป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือ เพราะ 80% ของยอดขายหนังสือตั้งแต่ พ.ย. 2021-พ.ย.2022 มาจากคนรุ่นใหม่ 

อีกทั้งชาวเจน Z ยังเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้นถึง 71% เพราะพวกเขาชอบอ่านหนังสือในที่เงียบ ๆ มากกว่าไปอ่านตามร้านกาแฟที่มีคนพลุกพล่านตลอดเวลา

  • BookTok แหล่งแนะนำหนังสือของชาวเจน Z

BookTok” ถือเป็นชุมชนสำหรับหนอนหนังสือบน TikTok ไว้สำหรับแลกเปลี่ยนความเห็น รีวิวหนังสือ แนะนำหนังสือสำหรับนักอ่านหน้าใหม่ ตอลดจนเป็นพื้นที่ให้นักอ่านและผู้เขียนได้พูดคุยกันเกี่ยวกับผลงานการเขียนของพวกเขา

ปรากฏการณ์ BookTok เริ่มขึ้นในช่วงปี 2020 ที่ทุกคนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน ผู้คนว่างไม่มีอะไรทำ จึงอยากจะหาหนังสือมาอ่าน และ BookTok นี้เองก็ทำให้หนังสือหลายเล่มเป็นที่รู้จักและติดอันดับหนังสือขายดี ถือเป็นช่องทางที่ทำให้คนได้ค้นพบงานอดิเรกใหม่ และได้รับความรู้ ความเพลิดเพลินไปในตัว

อย่างไรก็ตาม เกรตา แพตเตอร์สัน นักวิจารณ์กล่าวว่า BookTok ทำให้การอ่านกลายเป็น “สินค้า” เหล่าติ๊กต็อกเกอร์สามารถทำให้หนังสือบางเล่มกลายเป็นหนังสือขายดี หรือวิจารณ์งานเขียนบางเล่มให้กลายเป็นหนังสือไม่ดีเพียงชั่วข้ามคืน 

“เทคโนโลยีทำให้หนังสือกลายเป็นฟาสต์แฟชั่น อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลกับการบริโภคของผู้คนในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่การอ่านหนังสือ” แพตเตอร์สันกล่าว 

  • วัฒนธรรมการอ่านของคนเจน Z

ฮาลี บราวน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Books on the Bedside วัย 28 ปี บัญชี TikTok เกี่ยวกับการอ่านหนังสือของชาวเจน Z กล่าวว่า คนรุนใหม่อ่านหนังสือหลากหลายประเภทอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาชอบอ่านวรรณกรรม บันทึกความทรงจำ นิยายแปล และชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิกมาก ๆ

นอกจากนี้ มีวัฒนธรรมย่อยในโลกของชาวเจน Z ที่รักการอ่าน เช่น Hot Girl Books ซึ่งเป็นหนังสือที่เหล่าคนดังอ่าน และ Sad Girl Books หนังสือแนวโศกนาฏกรรม ซึ่งบราวน์ระบุว่าทั้ง 2 เทรนด์ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงหรือผู้หญิงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เคนดัลล์ เจนเนอร์ นางแบบชื่อดัง กลายเป็นตัวแทนของเทรนด์ Hot Girl Books หลังจากที่มีภาพถ่ายของเธออ่านหนังสือ “Tonight I'm Someone Else” ของ เชลซี ฮอดสัน บนเยือยอร์ชในปี 2019 และอีกครั้งในฝรั่งเศสขณะที่เธอกำลังอ่าน “Literally Show Me a Healthy Person” ของ ดาร์ซี ไวล์เดอร์ ซึ่งทำให้หนังสือทั้ง 2 เล่มขายหมดในเว็บไซต์ Amazon ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากภาพถ่ายถูกเผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ต

ส่วนแนว Sad Girl Books ก็ไม่ได้จำกัดแค่ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น เพราะทั้งแฮร์รี่ สไตล์ส นักร้องชื่อก้องโลก ก็อ่านหนังสือเรื่อง Didion ส่วนทิโมธี ชาลาเมต์ นักแสดงชื่อดังก็ยอมรับว่า Fyodor Dostoevsky's Crime and Punishment เป็นหนึ่งใน หนังสือเล่มโปรดของเขา และเจคอบ เอลอร์ด นักแสดงดาวรุ่งก็ชอบอ่านหนังสือเรื่อง Prima Facie นวนิยายเกี่ยวกับการรล่วงละเมิดทางเพศและระบบกฎหมาย

เอบิเกล เบิร์กสตอร์ม นักเขียนและตัวแทนลิขสิทธิ์วรรณกรรม กล่าวว่า ด้วยความอิ่มตัวของโซเชียลมีเดีย รวมความน่ารำคาญและน่าเบื่อของผู้คนในโลกโซเชียล ทำให้คนเจน Z หลีกหนีไปหาหนังสือ โดยที่หนังสือเหล่านั้นจะต้องเป็นหนังสือที่สนุก หรือเลือกอ่านหนังสือจากนักเขียนเก่งเฉพาะทางหรือมีชื่อเสียง

 

  • เปิดปาร์ตี้อ่านหนังสือ

บางคนชอบที่จะอ่านหนังสือตามลำพัง เพื่อจะได้มีสมาธิในการอ่าน แต่หลายคนก็ชอบที่อ่านหนังสือกับเพื่อน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นไปในตัว ตามรูฟท็อป บาร์ หรือสวนสาธารณะในนิวยอร์กมักจะมีการจัด “ปาร์ตี้การอ่าน” อยู่เสมอ 

มอลลี ยัง ผู้จัดปาร์ตี้รักการอ่านกล่าวว่า นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการใช้เวลาร่วมกับผู้คนโดยไม่มีสมาร์ทโฟนมารบกวนสมาธิ และได้แลกเปลี่ยนความคิดที่มีต่อนสิ่งที่เพิ่งอ่านไป

“ผมอ่านทั้งอ่านหนังสือ และได้ใช้เวลากับเพื่อน ๆ ของผม และผมอยากจะทำมันอีก” ยังกล่าว

หลังจากที่รูปถ่ายของเจนเนอร์และเอลอร์ดดีถูกเผยแพร่ คนในโลกโซเชียลตั้งคำถามว่า ในตอนนี้คนเจน Z หันมาอ่านหนังสือที่ยากขึ้น แม้จะยังอยู่ในแนวนวนิยาย แต่ก็เป็นเนื้อหาเชิงลึกลงไปถึงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งแสดงว่ากระตือรือร้นที่จะสำรวจโลกแห่งการอ่าน แน่นอนว่าทำให้หนังสือขายดีขึ้นอย่างมาก

เจมส์ ดันท์ กรรมการผู้จัดการของ Waterstones บริษัทจัดจำหน่ายหนังสือในอังกฤษ และซีอีโอของ Barnes & Noble ผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงและเทรนด์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจหนังสือที่ตกต่ำมาเป็นสิบปี 

“ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตอนนี้เทรนด์คนหนุ่มสาวกำลังทำอะไร บอกได้เลยว่าพวกเขากำลังหาหนังสือดี ๆ สักเล่มอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก”


ที่มา: The GuardianThe Wall Street JournalThe WeekVogue