‘เรื่องผี’ ที่มีแต่ ‘ผู้หญิง’ ความบันเทิงใน ‘สังคมชายเป็นใหญ่’

‘เรื่องผี’ ที่มีแต่ ‘ผู้หญิง’ ความบันเทิงใน ‘สังคมชายเป็นใหญ่’

“ผีผู้หญิง” ความบันเทิงใน “หนังผี” และ “เรื่องผี” ที่ถูกสร้างมาจากค่านิยม “สังคมชายเป็นใหญ่” โลกที่ “ผู้หญิง” สามารถแก้แค้น มีพลังอำนาจได้เฉพาะตอนตายแล้วเท่านั้น

หากพูดถึง “ผี” สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่คิดถึงคงจะหนีไม่พ้นภาพ “ผู้หญิงผมยาวใส่ชุดสีขาว” ที่มักจะได้ยินเป็นเรื่องเล่ามีคนพบเห็นผีผู้หญิงผมยาวใส่ชุดสีขาวตอนกลางคืนอยู่ตามท้องถนนบ้าง บ้านร้างบ้าง จนกลายเป็นตำนานเมืองอยู่เสมอ ซึ่งไม่ได้มีอยู่แค่ในประเทศไทย หรือเอเชีย แต่มีปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าพูดถึงผีเฮี้ยน ดุร้าย ตามหลอกหลอน ส่วนมากยังเป็น “ผู้หญิง” ด้วยเช่นกัน ไม่ค่อยจะมีผีผู้ชายตามแก้แค้นเท่าใดนัก แล้วทำไมผีส่วนใหญ่ถึงเป็นผู้หญิง ?

 

  • ผีผู้หญิงภายใต้โลกปิตาธิปไตย

หลายวัฒนธรรมในโลกมีเรื่องเล่าสยองขวัญ เรื่องผีที่ใช้เป็นกุศโลบายไม่ให้เด็กเข้าไปในพื้นที่หวงห้าม หรือออกไปข้างนอกตอนกลางคืน รวมถึงกำหนดมุมมองคนในสังคมว่าควรไว้วางใจหรือควรกลัวใคร และเกือบทั้งหมดนั้นมีผู้หญิงเป็นตัวละครหลัก รับบทวิญญาณอาฆาต สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของวัฒนธรรม สังคม การเมือง และนำการเมืองเรื่องเพศมาบรรเทาทุกข์

เดิมทีแล้ว ในประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้หญิงเป็นใหญ่ในด้านวัฒนธรรม พิธีกรรม และการปกครองมาโดยตลอด ดังนั้นเหล่าวิญญาณที่คอยปกปักรักษาสิ่งต่าง ๆ พร้อมรับหน้าที่เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”  จึงเป็นผู้หญิง เช่น แม่โพสพ แม่ย่านาง นางไม้ นางตานี นางตะเคียน ฯลฯ 

แต่หลังจากที่สังคมเข้าสู่ปกครองแบบรัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุข และเริ่มมีศาสนาต่าง ๆ แพร่เข้ามาในศตวรรษที่ 13 ทำให้การปกครองตามระบบความเชื่อมีความสำคัญลดลง ขณะเดียวกันผู้ชายได้รับการศึกษามากขึ้น ผู้หญิงกลับต้องอยู่แต่บ้านกลายเป็น “แม่ศรีเรือน” ทำให้ระบบชายเป็นใหญ่ หรือ “ปิตาธิปไตย” มีอิทธิพลมากขึ้นผ่านระบบศักดินาและวรรณกรรม ดังที่ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดคนสำคัญของไทยเคยกล่าวไว้ว่า

“ระบบศักดินาไม่เพียงแต่เป็นระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ หากยังเป็นระบบวัฒนธรรมด้วย เพราะระบบศักดินาช่วยกระตุ้นให้วรรณคดีไทยพัฒนาตามแนวโน้มความคิดแบบปิตาธิปไตย ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการปกครองของสัมคมปิตาธิปไตยรวมทั้งสถาบันฯ”  

สังคมปิตาธิปไตยมองว่าผู้ชายก้าวนำผู้หญิงอยู่เสมอ และไม่คิดผู้หญิงมีคุณสมบัติเป็นผู้นำ เข้มแข็ง เฉียบคม ฉลาด รวย แต่ถ้าผู้หญิงได้รับบทบาททางสังคม มักจะถูกมองในแง่ลบ หรือใช้ “เสน่ห์” ในการไต่เต้าตำแหน่ง 

ดังนั้นความกลัวผู้หญิงจะเป็นใหญ่จึงถูกแสดงออกมาในรูปแบบเรื่องเล่าผีผู้หญิงที่หลอกหลอนไปทั่ว ทำลายล้างทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่สนว่าใครจะเกี่ยวข้องกับความแค้นของพวกเธอหรือไม่ก็ตาม

  • ผู้หญิงมีอำนาจแค่ตอนที่ตายแล้ว?

เรื่องผีจึงกลายเป็นเรื่องเล่าและวรรณกรรมเพื่อความบันเทิง ที่แต่งขึ้นภายใต้กรอบสังคมชายเป็นใหญ่ โดยส่งต่อภาพลักษณ์ผีผู้หญิงที่มีหลากหลายอารมณ์ทั้งความรัก ความเศร้าโศก ความอาฆาตพยาบาท ปนเปกันไป ตามมายาคติทางสังคมที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง ไม่มีเหตุผล ขี้หึง เกรี้ยวกราด รักแรงเกลียดแรง โดยเฉพาะ “ผีตายทั้งกลม” ผู้หญิงที่ตายระหว่างคลอดลูก

แม่นากพระโขนง” เป็นหนึ่งในตำนานเรื่องผีที่โด่งดังที่สุดของไทย ถูกสร้างเป็นสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบนับครั้งไม่ถ้วน แตกต่างกันออกไปตามการตีความของผู้จัด แต่แก่นที่มีเหมือนกันคือ แม่นากรอคอยพ่อมากอยู่เสมอ แม้ว่าตอนเองจะตายไปแล้วก็ตาม และเมื่อพ่อมากกลับมา ยังทำงานบ้าน ปรนนิบัติสามี และเลี้ยงลูกโดยไม่ขาด ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของหญิงสาวที่สังคมชายเป็นใหญ่ต้องการ นอกจากนี้แม่นากยังหลอกหลอนชาวบ้านที่พยายามจะบอกกับพ่อมากอีกด้วย

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผีตายทั้งกลม ทั่วโลกต่างมีเรื่องเล่าของผู้หญิงที่ตายระหว่างคลอดกลายเป็นวิญญาณอาฆาตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Kuntilanak ผีที่น่ากลัวที่สุดของอินโดนีเซีย ผีตายทั้งกลมที่คอยหลอกหลอนชาวบ้าน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ Banshee ของชาวไอริช La Llorona ของชาวเม็กซิกัน, Rusalka ของชาวสลาฟ และ Kuchisake-onna ของชาวญี่ปุ่น 

ขณะที่ นิยายแนวโกธิคโรแมนติก (Gothic Romance) นิยายรักแนวลึกลับที่ได้รับความนิยมช่วงปลายศตวรรษที่ 18-19 ในประเทศอังกฤษ มักจะมีฉากหลังเป็น ปราสาท เสียงโหยหวน เรื่องราวฆาตรกรรม ผู้หญิงเสียสติในห้องใต้หลังคา ก็หล่อหลอมสร้างภาพผีผู้หญิงให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาชาวโลกด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ บทความจากเว็บไซต์สื่อบันเทิง Film Companion ระบุว่า ผู้หญิงกลายเป็นวิญญาณอาฆาต เพราะว่าตอนที่พวกเธอมีชีวิตอยู่มักจะกลายเป็น “เหยื่อ” ไม่ว่าจะเป็น ถูกกดขี่ข่มเหงสารพัด การทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจ ข่มขืน ค้ามนุษย์ หักหลัง ถูกทรยศ นอกใจจากคนที่เธอรัก อันเป็นที่มาของการถูกฆาตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เรายังคงพบเห็นได้ในหน้าหนังสือพิมพ์และรายการข่าว

เมื่อพวกเธอกลายเป็นผี ความอาฆาตเคียดแค้นกลายเป็นพลังให้พวกเธอใช้แก้แค้น

ตามทฤษฎี “Return of The Repressed” ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์และวิธีจิตบำบัด ระบุว่า จิตสำนึกของมนุษย์จะเก็บและกกดความคิดที่ไม่ดีหรือความเจ็บปวดเข้าไว้อยู่ภายในจิตไร้สำนึก แต่เมื่อมนุษย์เผลอลืมตัว สิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกจะแสดงออกมา ซึ่งเทียบได้กับตอนที่ ผู้หญิงยังเป็นคนอยู่ต้องอดทนอดกลั้นกับสิ่งที่เธอเผชิญ แต่พอเมื่อพวกเธอตายไปสิ่งที่เธอเก็บกดเอาไว้ก็ปรากฏออกมาในรูปแบบพลังอาฆาต

สำนักข่าว The Guardian วิเคราะห์ว่าประสบการณ์และอคติทางเพศหล่อหลอมให้คนคิดว่าผู้ชายจะไม่เป็นผีอาฆาตตามจองล้างจองผลาญศัตรู เพราะว่าในผู้ชายมักจะหาทางแก้แค้นตอนที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมภาพยนตร์แอคชันบู๊ระห่ำส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องการล้างแค้นของตัวละครชายมากกว่า

เรื่องผีผู้หญิงตามแก้แค้นสามารถดึงดูดกลุ่มผู้ชมผู้ชายได้ไม่แพ้กับผู้หญิง เนื่องจากสามารถล้มล้างภาพจำของสังคมที่มีต่อผู้หญิงในฐานะช้างเท้าหลังที่ต้องคอยเชื่อฟังและห้ามตอบโต้ กลายเป็นจิตวิญญาณที่ชั่วร้ายรุนแรง เต็มไปด้วยความโกรธ เคียดแค้น พร้อมอาละวาดไม่เลือกหน้า

ดังที่โคเล็ตต์ บัลแม็ง อาจารย์อาวุโสด้านสื่อและการสื่อสารและผู้แต่งหนังสือ Introduction to Japanese Horror Film อันโด่งดังกล่าวไว้ว่า

“ความสำเร็จและความนิยมของผีผู้หญิงเกิดจากส่วนผสมของความปรารถนาของผู้หญิง และความกลัวว่าผู้หญิงจะมีอำนาจ”

ไม่ว่าผู้หญิงจะเป็นคนหรือเป็นผีก็ยังไม่สามารถหนีกรอบปิตาธิปไตยไปได้อยู่ดี


ที่มา: Film CompanionMediumThe GuardianThe Momentum