‘LE SSERAFIM’ หยิบตำนานตีความใหม่ผ่านเพลง เมื่อผู้หญิงไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย

‘LE SSERAFIM’ หยิบตำนานตีความใหม่ผ่านเพลง เมื่อผู้หญิงไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย

เปิดเรื่องเล่าตัวละครหญิงในตำนานการสร้างโลก เทพปกรณัมกรีก และวรรณกรรมจากฝรั่งเศส ผ่าน การตีความใหม่ในเพลง “Eve, Psyche & The Bluebeard’s wife” จาก “LE SSERAFIM” วงเกิร์ลกรุ๊ป K-POP ที่สะท้อนความคิด “ผู้หญิง” ไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชายอีกต่อไป

ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับ “LE SSERAFIM” (เลเซราฟิม) วงเกิร์ลกรุ๊ป K-POP ตัวตึงของเจน 4 กับคัมแบ็กครั้งล่าสุดในเพลง “Unforgiven” เป็นซิงเกิลหลัก จากอัลบั้มเต็มชุดแรกของพวกเธอที่ใช้ชื่อเดียวกัน ซึ่งกลับมาในครั้งนี้ยังคงคอนเซ็ปต์สาวมั่นใจ ไม่กลัวเหมือนเดิม ที่เพิ่มเติมคือความดุดัน ไม่อโหสิกรรม สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเหล่า “Fearnot” (เฟียร์น็อท) แฟนคลับที่ตั้งตารอได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ชมมิวสิควิดีโอ

นอกจากความสวยตาแตกของสมาชิกทั้ง 5 คน ที่ประกอบไปด้วย ซากุระ (Sakura) แชวอน (Chaewon) ยุนจิน (Yunjin) คาซึฮะ (Kazuha) และอึนแช (Eunchae) แล้ว ความพร้อมเพรียงและความแข็งแรงในการเต้นของพวกเธอยังถูกพูดถึงไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต

แม้ว่า LE SSERAFIM จะเพิ่งเดบิวต์ได้เพียง 1 ปี แต่ยอดขายอัลบั้มกลับเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยอัลบั้ม Unforgiven สามารถทำยอดขายวันแรกได้ 1,024,034 ชุด กลายเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปเจน 4 วงแรกที่ทำได้

อัลบั้มนี้ประกอบไปด้วยเพลงหลากหลายแนว มีทั้งเพลงสนุกสดใสอย่าง "No-Return (Into the Unknown)" เพลงช้าความหมายดี ๆ ก็มีกับเพลง "Fearnot (Between You, Me and the Lamppost)" ส่วน "Flash Forward" เป็นเพลงรักหวาน ๆ รวมไปถึงเพลง "Fire in the Belly" เพลงละตินแดนซ์สุดสนุก

อีกหนึ่งเพลงที่น่าสนใจในอัลบั้มนี้คือ “Eve, Psyche & The Bluebeard’s wife” แม้จะเป็นเพลงอิเล็กโทรแดนซ์ เต้นลืม แต่แฝงการต่อสู้ของ “ผู้หญิง” กับค่านิยมทางสังคม ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านเนื้อเพลง 

รวมไปถึงชื่อเพลงที่มัดรวมตัวละครหญิงจากตำนาน เทพปกรณัม และนิทานพื้นบ้านที่ถูกอำนาจของสังคมชายเป็นใหญ่ การไม่ถูกยอมรับในสังคมกดทับพวกเธออยู่ ประกอบไปด้วย อีฟ (Eve) มนุษย์ผู้หญิงคนแรก จากตำนานการสร้างโลกของกลุ่มศาสนาอับราฮัม, ไซคี (Psyche) คนรักของอีรอสในตำนานเทพปกรณัมกรีก และ ภรรยาของชายเคราสีน้ำเงิน (The Bluebeard’s wife) นิทานพื้นบ้านของฝรั่งเศส โดยแต่ละตัวละครมีเรื่องราวที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของคนในสังคมสมัยนั้น

  • อีฟ มนุษย์ผู้หญิงคนแรกของโลก

ตำนานสร้างโลก” มีปรากฏอยู่หลากหลายศาสนา แต่เรื่องเล่าที่คุ้นหูของคนทั่วโลกมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นเรื่องจากในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม ที่เล่าว่า พระเจ้าได้สร้าง “อดัม” ผู้ชายคนแรกของโลกขึ้นมา เพื่อให้ดูแล “สวนอีเดน” ที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยมวลไม้และพืชพันธุ์บนสรวงสวรรค์ แต่อดัมเพียงคนเดียวคงไม่อาจจะดูแลสวนนี้ได้อย่างดี พระเจ้าจึงได้สร้าง “อีฟ” (หรือ เอวา) มนุษย์เพศหญิง ขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัม

เรื่องราวก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งวันหนึ่งซาตานได้ปลอมตัวมาเป็นงู แล้วหลอกให้อีฟกินผลไม้แห่งความรู้ผิดรู้ชอบ ซึ่งเป็นผลไม้ต้องห้ามที่พระเจ้าสั่งไว้ว่าห้ามกิน ถือเป็นการไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระเจ้า เป็นต้นเหตุแห่งบาปกำเนิด (Original Sin) ซึ่งเป็นสถานภาพความมีบาปติดตัวของมนุษย์ ขณะเดียวกันการกินผลไม้ต้องห้ามทำให้มนุษย์อับอายกับการเปิดเผยเรือนร่างและเครื่องเพศ จนต้องหาใบมะเดื่อมาปกปิดร่างกายและเครื่องเพศ ซึ่งต่อมากลายเป็นเครื่องแต่งกายนั้นเอง

เมื่อพระเจ้าทรงทราบว่าอดัมและอีฟได้กินผลไม้ต้องห้ามไปแล้ว จึงเพิ่มความทุกข์ยากในการตั้งครรภ์และคลอดบุตรให้แก่อีฟ รวมถึงต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสามี เพื่อเป็นการลงโทษ (อดัมและงูตัวต้นเรื่องก็โดนลงโทษด้วยเช่นกัน) จากนั้นเนรเทศทั้งอดัมและอีฟลงจากสวรรค์ จนกลายเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การท้าทายพระเจ้าของอีฟจึงนำมาสู่ความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่ว่า ร่างกายของผู้หญิงเป็นดังบ่อเกิดแห่งตัณหาอีกด้วย

‘LE SSERAFIM’ หยิบตำนานตีความใหม่ผ่านเพลง เมื่อผู้หญิงไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย

อีฟกำลังเด็ดผลไม้ต้องห้าม ในรูปภาพ The Fall of Man โดย Peter Paul Rubens

 

  • ไซคี หญิงผู้พิสูจน์ความรัก

ไซคี” เป็นหญิงสาวที่สวยงามมาก จนความสวยของไซคีสร้างความไม่พอใจให้แก่ “อะโฟรไดที” (หรือ วีนัส ในทางโรมัน) เทพีแห่งความงาม เธอจึงได้ส่ง “อีรอส” (หรือที่รู้จักในชื่อ คิวปิด) ไปจัดการนางไซคีให้พ้นทาง แต่กลับกลายว่าอีรอสและไซคีกลับตกหลุมรักกัน

ด้วยความกลัวอะโฟรไดทีผู้เป็นแม่จะตามมาราวีไซคีอีก อีรอสจึงพาไซคีไปอยู่ที่วิหารของตน ทั้งคู่อยู่ด้วยกันในฐานะคนรัก แต่อีรอสจะออกมาหาไซคีเพียงแค่ตอนกลางคืนเท่านั้น ทำให้ไซคีมองเห็นอีรอสแค่เพียงเงามืดเท่านั้น และกำชับไซคีอย่าพยายามสืบหาว่าเขาคือใคร มิเช่นนั้นเขาจะหนีจากไปและไม่กลับมาให้เห็นอีก

แต่คนรักกันจะอยู่โดยไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใครไม่ได้ ในคืนหนึ่งขณะที่อีรอสนอนหลับ ไซคีใช้เทียนไขส่องไปที่หน้าสามีของเธอ และพบว่าเป็นอีรอสเทพหนุ่มรูปงาม ขณะเดียวกันน้ำตาเทียนหยดใส่ตัวอีรอสทำให้เขาตื่น และเห็นว่าไซคีผิดคำสัญญา อีรอสจึงบินหนีไป

ไซคีจึงไปอ้อนวอนของให้อะโฟรไดทีผู้เป็นแม่ของอีรอส ด้วยความที่อะโฟรไดทีไม่ชอบหน้าและต้องการกำกัดไซคีอยู่แล้ว เธอจึงออกอุบายให้ไซคีไปทำภารกิจเสี่ยงตาย 4 อย่างให้สำเร็จ ถึงจะยอมรับไซคีเป็นลูกสะใภ้ โดยภารกิจสุดท้ายไซคีจะต้องลงไปยมโลก เพื่อนำความงามของเพอร์เซโฟนี ภรรยาของฮาเดส เจ้าแห่งยมโลก มอบให้แก่อะโฟรไดที

ทุกอย่างดำเนินไปดี ไซคีได้รับกล่องความงามมาจากเพอร์เซโฟนีเรียบร้อย แต่ด้วยความอยากรู้ของไซคี ว่าความงามจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เธอจึงแอบเปิดกล่องทองใบนั้น และพบว่าในกล่องมีแต่เมฆหมอกแห่งความมืด ทำให้เธอหลับใหล ร้อนถึง “ซุส” ราชาแห่งทวยเทพ และ อีรอส มาปลุกให้ไซคีตื่นและมอบความเป็นอมตะให้เธอ โดยซุสได้เตือนอะโฟรไดทีอย่ากลั่นแกล้งไซคีอีก ทำให้อีรอสและไซคีครองรักกันอย่างมีความสุข

‘LE SSERAFIM’ หยิบตำนานตีความใหม่ผ่านเพลง เมื่อผู้หญิงไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย

ภาพนางไซคีเปิดกล่องทองคำ (Psyche Opening the Golden Box) โดย John William Waterhouse

 

  • ภรรยาของชายเคราสีน้ำเงิน

ชายเคราสีน้ำเงิน” (La Barbe bleue) วรรณกรรมสุดคลาสิกของฝรั่งเศส เป็นเรื่องของเศรษฐีคนหนึ่งที่มีเคราสีน้ำเงิน เขามีสมบัติมากแต่กลับเป็นที่รังเกียจของผู้หญิงทั่วไป วันหนึ่งเขาได้แต่งงานกับหญิงสาวที่อายุห่างกันคราวลูก หลังจากแต่งงานไม่นานมีเหตุให้ชายเคราสีน้ำเงินต้องเดินทางออกไปต่างเมือง โดยเขาได้ฝากกุญแจบ้านไว้กับภรรยา แต่มีอยู่ห้องหนึ่งที่เขากำชับไม่ให้เธอเข้าไปเด็ดขาด

แต่แล้วความอยากรู้อยากเห็นก็ทำให้ภรรยาฝ่าฝืนและเข้าไปในห้องนั้น ซึ่งภายในห้องเต็มไปด้วยศีรษะของภรรยาคนก่อน ๆ ของชายเคราน้ำเงิน ด้วยความตกใจ ทำให้เธอเผลอทำพวงกุญแจหล่นบนกองเลือดที่นองอยู่เต็มพื้น เธอพยายามจะทำความสะอาดกุญแจพวงนั้น แต่เช็ดเท่าไหร่ก็เช็ดไม่ออก เพราะกุญแจพวกนี้ต้องมนตร์อยู่ หากโดนเลือดแล้ว จะไม่สามารถเช็ดคราบออกไปได้

ด้วยเหตุนี้ชายเครานำ้เงินจึงจับได้ว่าภรรยาของเขาละเมิดคำสั่ง เขาจึงจะใช้ดาบเชือดคอภรรยาเพื่อเป็นการลงโทษ แต่ในขณะนั้นเองพี่ชายของภรรยามาช่วยไว้ได้ทัน และทำการสังหารชายเคราสีน้ำเงินแทน

ด้วยความที่เคราน้ำเงิน ไม่มีญาติทำให้ทรัพย์สมบัติและปราสาทหลังตกเป็นมรดกของภรรยาแต่เพียงผู้เดียว ต่อมาภรรยาของชายเคราน้ำเงินได้จัดพิธีฝังศพให้แก่ภรรยาทั้ง 6 คน เพื่อให้วิญญาณไปสุคติ ท้ายที่สุดเธอได้แต่งงานใหม่และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

‘LE SSERAFIM’ หยิบตำนานตีความใหม่ผ่านเพลง เมื่อผู้หญิงไม่อยู่ใต้อำนาจผู้ชาย ภรรยาของชายเคราน้ำเงินได้รับกุญแจบ้าน วาดโดย Walter Crane

 

  • I wish for what's forbidden

จะเห็นได้ว่าตัวละครหญิงทั้ง 3 ตัวได้ “ฝ่าฝืน” คำสั่งของผู้ชาย และทำตามสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของพวกเธอ ซึ่งสามารถตีความเปรียบเทียบได้ว่า ผลไม้ต้องห้ามที่อีฟกิน เป็นตัวแทนของความรู้ ขณะไซคีส่องหน้าอีรอสและเปิดกล่อง เป็นตัวแทนของความงาม และภรรยาของชายเคราน้ำเงินใช้กุญแจเปิดเข้าไปในห้องต้องห้าม ทำให้ค้นพบกับตัวตนที่แท้จริง ความลับที่ชายเคราน้ำเงินซ่อนไว้ เป็นการอุปมาว่าเธอได้ทำลายกฎและบรรทัดฐานที่ผู้ชายตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ตำนานทั้ง 3 เรื่องถูกแต่งด้วยถูกชายทั้งสิ้น จึงสร้างให้ตัวละครหญิงกลายเป็นตัวร้าย หรือทำให้เกิดกิเลส เห็นได้จากอีฟที่กลายเป็นบ่อเกิดตัณหา ไซคีโดนผู้หญิงด้วยกันอิจฉาและกลั่นแกล้ง และภรรยาทั้ง 6 ของชายเคราน้ำเงินโดนฆ่าตาย รวมถึงภรรยาคนล่าสุดที่เกือบโดนฆ่า เพราะไม่เชื่อฟังคำสั่งของสามี

LE SSERAFIM ใช้ตัวละครเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่แหวกขนมธรรมเนียม ไม่ทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวังไว้ อีกทั้งยังเชื่อมไปยัง “Unforgiven” ชื่ออัลบั้มของพวกเธอ ถึงแม้ว่าการกระทำของตัวละครเหล่านี้อาจจะไม่ได้รับการให้อภัยจากสังคม แต่พวกเธอไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เพราะสิ่งที่พวกเธอทำลงไปมันทำให้พวกเธอ “ตาสว่าง” เห็นความจริงที่ถูกซุกซ่อนไว้ และมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามต้องการ ดังเนื้อเพลงที่ระบุว่า 

I'm a mess in distress but we're still the best dressed

(ฉันสับสนวุ่นวาย แต่เราก็ยังแต่งตัวสวยปัง)

Fearless, say yes, we don't dress to impress

(ใช่ เราไม่กลัวหรอก เราไม่ได้จะแต่งตัวสวยให้ใครชม)

 

ที่มา: วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์GeniusSilpa-MagThe Collector