ประวัติพระเจ้าเสือ ละครพรหมลิขิต กับ 3 ข้อสมมติฐาน พระองค์เป็นพระราชโอรสใคร

หลวงสรศักดิ์ ละครพรหมลิขิต กับ 3 ข้อสมมติฐาน พระองค์เป็นพระราชโอรสใคร

เปิดประวัติพระเจ้าเสือ หลวงสรศักดิ์ อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จาก ละครพรหมลิขิต ภาคต่อของละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ทางช่อง 3 HD กับ 3 ข้อสมมติฐาน พระองค์เป็นพระราชโอรสใคร

เปิดประวัติพระเจ้าเสือ อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์จาก ละครพรหมลิขิต ภาคต่อของละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ทางช่อง 3 HD ที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากหลังออกอากาศไปแล้ว 2 ตอนซึ่งต้องบอกว่าเรตติ้งกระฉูดสุดๆ โดย EP แรกทั่วประเทศอยู่ที่ 6.40 นอกจากนี้ยังทุบยอดดูสดออนไลน์ทะลุ 1 ล้านคนเลยทีเดียว

"ละครพรหมลิขิต" อีกหนึ่งตัวละครที่ทำเอาคนดูอินตามสุดๆนั่นก็คือ พระเจ้าเสือ หรือ สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ ซึ่ง รับบทนำแสดงโดย ก๊อต จิรายุ ตันตระกูล 

 

ประวัติพระเจ้าเสือ ละครพรหมลิขิต กับ 3 ข้อสมมติฐาน พระองค์เป็นพระราชโอรสใคร

 

ที่มาของชื่อ พระเจ้าเสือ

สมเด็จพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี หรือ หลวงสรศักดิ์ มีพระนามเดิมว่า สิงห์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยพระนามว่าเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่สองแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2246 - 2251

พระเจ้าเสือ เป็นชื่อที่ประชาชนในสมัยพระองค์มักเรียกขานพระองค์ เพื่อเปรียบว่าพระองค์มีพระอุปนิสัยโหดร้ายดังเสือ พระองค์ทรงมีพระปรีชาด้านมวยไทย ทรงเป็นผู้คิดท่าแม่ไม้มวยไทย ซึ่งมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจนและได้มีการถ่ายทอดเป็นตำราให้ชาวไทยรุ่นหลังได้เรียนรู้ฝึกฝนจนถึงปัจจุบัน

พระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสใคร?

รศ.(พิเศษ) นพ. เอกชัย โควาวิสารัช คุณหมอนักเขียนผู้สนใจประวัติศาสตร์เสนอว่า สมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสจริงของสมเด็จพระเพทราชา ในผลงานที่ชื่อว่า ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาพระนารายณ์

ซึ่งที่ผ่านมา สมมติฐานเรื่องสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสใคร จำแนกเป็น 3 แนวทางคือ 

  1. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช-พระราชบิดา, นางลาว พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่-พระราชมารดา 
  2. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช-พระราชบิดา เจ้าจอมบุญ-พระราชมารดา 
  3. สมเด็จพระเพทราชา-พระราชบิดา ส่วนพระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม

สมมติฐานที่ 1. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช-พระราชบิดา นางลาว พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่-พระราชมารดา แม้พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชไม่ทรงรับนางลาวที่ทรงครรภ์กับพระองค์เป็นพระสนมเพราะทรงละอายต่อพระสนมทั้งปวง แต่พระราชทานให้พระเพทราชาไปเลี้ยงดู และครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระชินราช พระชินสีห์ที่เมืองพิษณุโลก นางลาวที่มีครรภ์ก็ตามเสด็จและคลอดบุตรชายชื่อ เดื่อ ซึ่งก็คือสมเด็จพระเจ้าเสือในเวลาต่อมา

นพ.เอกชัย วิเคราะห์ว่า “สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานนางลาวแก่พระเพทราชา เพราะทรงละอายต่อพระสนมทั้งปวง” เป็นเรื่องไม่สมเหตุผล เพราะพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต เป็นกฎหมาย ไม่ว่าพระสนมจะเป็นชาวต่างชาติใด ๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าละอาย นอกจากนี้ นางลาวที่ครรภ์แก่ ไม่น่าจะได้ติดตามการเสด็จดังกล่าว เพราะถ้ามีการคลอดระหว่างทางจะทำให้กระบวนเสด็จวุ่นวาย

นอกจากนี้ หลักฐานของนายแพทย์ประจำคณะราชทูตเยอรมันที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี เมื่อ พ.ศ. 2233 ต้นรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาเขียนว่า สมเด็จพระเจ้าเสือพระมหาอุปราชมีพระชนม์ 20 พรรษา แสดงว่าพระองค์ประสูติ พ.ศ. 2213 แต่เมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2205 หากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีสัมพันธ์กับพระธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่จริง สมเด็จพระเจ้าเสือก็ควรทรงพระราชสมภพในช่วง พ.ศ. 2205-06 ไม่น่าจะเลยไปถึง พ.ศ. 2213

ส่วนที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล บันทึกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเคยรับสั่งกับสมเด็จพระเจ้าเสือครั้งเป็นนายเดื่อมหาดเล็ก เมื่อประทับหน้าพระฉาย (กระจก) คู่กับพระองค์ว่าเห็นเป็นอย่างไร นายเดื่อกราบทูลว่ารูปพรรณทั้งสองมีความคล้ายคลึงกัน สมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ทรงเมตตาพระราชทานเงินทองและข้าวของจำนวนมาก ฯลฯ

ประเด็นนี้เป็นรูปลักษณ์ภายนอก และคงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เราเคยเห็นกันนั้น ก็เป็นการเขียนในหลายวาระ ส่วนพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าเสือกลับไม่เคยปรากฏเลย

สมมติฐานที่ 2 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช-พระราชบิดา เจ้าจอมบุญ-พระราชมารดา คำให้การขุนหลวงหาวัด บันทึกว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงไม่ยอมรับเจ้าจอมสมบุญซึ่งเป็นคนโปรดของพระองค์ที่มีครรภ์อยู่ โดยทรงยกให้พระเพทราชา (เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) แต่ไม่ทำลายครรภ์ เพราะเหตุที่พระศรีศิลป์กุมารซึ่งเป็นพระโอรสของเชษฐา (ที่ไม่ได้เกิดจากพระมเหสี) เคยเป็นขบถต่อพระองค์ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอให้ได้พระราชโอรสอันเกิดในพระครรภ์ของพระมเหสี ทั้งตรัสกับพระสนมทั้งปวงว่าใครมีครรภ์จะทำลาย

นพ.เอกชัยอธิบายว่า ปกติการสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยา จะสืบต่อทางพระราชอนุชาก่อน หากไม่มีจึงสืบทางพระราชโอรส และก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีเท่านั้นจึงมีสิทธิในราชบัลลังก์ เช่น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาทองก็ทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัยซึ่งมิได้ประสูติแต่พระมเหสี การทำลายครรภ์อันเกิดแต่พระสนมจึงไม่มีเหตุผลที่สมควร นอกจากนี้ยังอาจเป็นความคลาดเคลื่อนจาก คำให้การขุนหลวงหาวัด เพราะเป็นการแปลจากภาษารามัญ จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างภาษาได้

สมมติฐานที่ 3. สมเด็จพระเพทราชา-พระราชบิดา ส่วนพระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม เป็นสมมติฐานที่อ้างอิงจากเอกสารชั้นต้นของชาวต่างชาติที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น จดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะกรรมการต่างประเทศ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1703, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฯลฯ โดยบันทึกไปในแนวทางเดียวกันว่า “สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเป็นพระราชโอรสจริงของสมเด็จพระเพทราชา”

นอกจากนี้หากพิจารณา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล ตอนหนึ่งบันทึกเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่า ถ้าพระองค์สวรรคตจะถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมพระราชวังหลัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกริ้วมาก ถึงกับตรัสว่าขอให้พระองค์มีพระชนมชีพอีก 7 วัน จะขอดูหน้ากบฏสองคนพ่อลูก นพ.เอกชัยท้วงว่า หากสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์น่าจะทรงตัดพ้อ หรือตำหนิว่าเป็นทรพีที่ฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อเช่นในรามเกียรติ์มากกว่า

ส่วนที่มีข้อคัดค้านว่า พระเพทราชามิใช่พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าเสือ เพราะเมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงพระประชวรใกล้สวรรคต มิได้ทรงยกราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเสือที่เป็นพระราชโอรสพระองค์โต แต่กลับทรงยกให้เจ้าฟ้าพระยอดขวัญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสซึ่งประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ

ประเด็นนี้ นพ.เอกชัยอธิบายว่า สมัยกรุงศรีอยุธยามีอยู่หลายครั้งที่พระราชสมบัติมิได้แก่พระราชโอรสพระองค์โต เช่น สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย แทนที่จะเป็นเจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสองค์โต, สมเด็จพระเจ้าบรมโกศก็ทรงตั้งกรมขุนพรพินิต พระราชโอรสองค์เล็กสุดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อเป็นองค์รัชทายาท นอกจากนี้เจ้าฟ้าพระยอดขวัญยังเป็นพระราชโอรสที่ประสูติภายใต้พระเศวตฉัตร (พระราชบิดาทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว) หรือเป็นความเสน่หาที่สมเด็จพระเพทราชามีต่อเจ้าฟ้าพระยอดขวัญ

เรื่อง สมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสลับของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

กรณีคลาสสิกที่เคยเชื่อกันว่า สมเด็จพระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสลับของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มานานก็เริ่มถูกท้าทายว่า พระองค์เป็นพระราชโอรสจริงของ สมเด็จพระเพทราชา และอาจมีประเด็นอื่นต่อไปในอนาคต เมื่อมีการค้นคว้าใหม่ทางวิชาการเกิดขึ้น

สำหรับ พระเจ้าเสืออยู่ในราชสมบัติเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2246 – 2251 เป็นเวลา 5 ปี สวรรคตเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2251 พระชนมายุ 47 พรรษา

 

ข้อมูลประกอบจาก wikipedia , ศิลปวัฒนธรรม , ช่อง 3