ประวัติท้าวทองกีบม้า ตัวละครพรหมลิขิตที่มีอยู่จริง ราชินีแห่งขนมไทย

ประวัติท้าวทองกีบม้า ตัวละครพรหมลิขิตที่มีอยู่จริง ราชินีแห่งขนมไทย

เปิดประวัติท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ หนึ่งในตัวละครเรื่องพรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครภาคต่อจาก 'บุพเพสันนิวาส' ออกอากาศ EP1 ตอนแรกเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา

ประวัติท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ หนึ่งในตัวละครเรื่องพรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครภาคต่อจาก 'บุพเพสันนิวาส' ออกอากาศ EP1 ตอนแรกเมื่อคืนวันที่ 18 ต.ค.2566 ที่ผ่านมาซึ่งตัวละครนี้รับบทโดยซูซี่ สุษิรา แน่นหนา สาวลูกครึ่งไทยจีนอังกฤษนั่นเอง
 

ท้าวทองกีบม้า ที่แม่การะเกดชอบเรียกติดปากว่า "แม่มะลิ" ซึ่งเป็นตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีชื่อตัวว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (Maria Guyomar de Pinha) เป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ใน ละครพรหมลิขิต EP1 เมื่อคืนนี้มีฉากที่เป็นการพูดคุยกันระหว่างสองพระนาง พระยาวิสูตรสาคร (พ่อเดช) รับบทโดยโป๊ป ธนวรรธน์ และแม่หญิงการะเกด รับบทโดยเบลล่า ราณี ซึ่งเป็นการพูดคุยกันในช่วงที่ แม่มะลิ หรือ ท้าวทองกีบม้า กำลังอยู่ในช่วงที่ลำบากยากแค้น เป็นทุกข์แสนสาหัสซึ่งเป็นช่วงที่ตกอับของชีวิต โดย พ่อเดช รู้สึกแปลกใจและได้ถามแม่หญิงการะเกด ว่าไม่เป็นห่วงเพื่อนทั้งๆที่เพื่อนกำลังเป็นทุกข์อยู่

พ่อเดช เลยถาม แม่หญิงการะเกด อีกครั้งว่ารู้อยู่แล้วใช่ไหมว่า แม่มะลิ จะจบสวย ก่อนที่แม่หญิงการะเกด จะอธิบายว่า แม่มะลิ มีวิบากกรรมของนางแต่จะผ่านพ้นไปได้ในที่สุด และบั้นปลายชีวิตของแม่มะลิ หรือ ทองกีบม้า จะรุ่งโรจน์ยิ่งว่าช่วงที่นางเป็นท่านผู้หญิงของพระยาวิไชเยนทร์เสียอีก 

 

ประวัติท้าวทองกีบม้า ตัวละครพรหมลิขิตที่มีอยู่จริง ราชินีแห่งขนมไทย

ประวัติท้าวทองกีบม้า

แม่มะลิ หรือ ท้าวทองกีบม้า มีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนักอยุธยา ซึ่งเธอได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกสจนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" 

ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย

ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย" โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น ประกอบด้วย ทองม้วน ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ทองโปร่ง ฝอยทอง กะหรี่ปั๊บ ขนมหม้อแกง สังขยา ขนมผิง สัมปันนี ขนมขิง ขนมไข่เต่า ลูกชุบ

 

ประวัติท้าวทองกีบม้า ตัวละครพรหมลิขิตที่มีอยู่จริง ราชินีแห่งขนมไทย

ชีวิตสมรส ท้าวทองกีบม้า

มารีอา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยะมะดะ ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น

ก่อนได้สมรสกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก

ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย

ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อควน ฟอลคอน (Juan Phaulkon) แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลาร่า (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง

ช่วงชีวิตตกอับ

แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ขณะที่พระยาวิไชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า "[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูก ซึ่งมารีอาสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง 

ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต

 

ประวัติท้าวทองกีบม้า ตัวละครพรหมลิขิตที่มีอยู่จริง ราชินีแห่งขนมไทย

ท้าวทองกีบม้าต้องตกระกำลำบาก เธอได้เขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับท้าวทองกีบม้า ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ

บั้นปลายชีวิต 

ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน

โดย ท้าวทองกีบม้า ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมากๆทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า

"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."

จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง

ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ.2265 ตอนที่เธอมีอายุ 63-64 ปี

 

 

ข้อมูลประกอบจาก หนังสือท้าวทองกีบม้า มาดามฟอลคอน , wikipedia , ช่อง 3