บันเทิงเกาหลีอ่วม ซีรีส์ดองเป็นร้อยเรื่อง-ต้นทุนพุ่งตอนละ 26 ล้านบาท

บันเทิงเกาหลีอ่วม ซีรีส์ดองเป็นร้อยเรื่อง-ต้นทุนพุ่งตอนละ 26 ล้านบาท

“ซีรีส์เกาหลี” กำลังประสบปัญหาต้นทุนสูง ใช้เงินผลิตขั้นต่ำ 1,000 ล้านวอนหรือราว 26 ล้านบาทต่อตอน ส่งผลผู้ผลิตเข้าเนื้อ ขาดเงินทุน ผู้เชี่ยวชาญคาดปีหน้ามีซีรีส์ลดลงเกือบครึ่ง ขณะเดียวกันตอนนี้มีซีรีส์โดนดองกว่า 100 เรื่อง เพราะหาช่องลงไม่ได้

ความนิยมใน “ซีรีส์เกาหลี” ที่ดังไปทั่วโลก ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์สดใหม่ มีบทดี รูปแบบการถ่ายทำและวิชวลเอฟเฟกต์สมจริง แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้อุตสาหกรรมซีรีส์เกาหลีกำลังประสบปัญหาอยู่ไม่น้อย ทั้งต้นทุนผลิตทำซีรีส์แต่ละเรื่องพุ่งสูงทะลุเป็นพันล้านวอนต่อตอน และมีซีรีส์ดองอยู่เป็นร้อยเรื่อง

เกาหลีใต้มีบริการสตรีมมิงมากมายหลายเจ้า แต่ละแบรนด์ต่างพากันผลิตคอนเทนต์เพื่อดึงดูดผู้ชมให้มาสมัครใช้บริการ ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และหลายเจ้ากำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

รายล่าสุดที่กำลังสะเทือนหนัก คือ “Watcha” สตรีมมิงเจ้าดังของเกาหลีใต้ ที่แม้จะพยายามจะเน้นผลิตซีรีส์วาย เพื่อเรียกสาววายมาสมัครสมาชิก แต่ยังไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีหนี้เพิ่มขึ้นและขาดกระแสเงินสุด ขณะที่งบรายงานประจำปีของ “Teabing” และ “Wave” อีกสองบริษัทสตรีมมิงขนาดกลาง แสดงให้เห็นว่าทั้งของบริษัทขาดทุน ถึง 100,000 ล้านวอน จนมีข่าวว่าทั้ง 2 บริษัทกำลังเจรจาควบรวมกิจการอยู่

  • ต้นทุนพุ่งทำผู้ผลิตไม่มีเงินทุน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ขาดทุนเป็นอย่างมาก เป็นเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว ก่อนหน้านี้ซีรีส์เกาหลีทั่วไปมีต้นทุนอยู่ราว ๆ 700 ล้านวอนต่อตอน ตอนนี้พุ่งไปอยู่ที่ตอนละ 1,000 - 1,500 ล้านวอน หรือเป็นเงินไทยราว  26-40 ล้านบาท และหลายบริษัทอุ้มค่าผลิตไม่ไหว โปรดักชันต่าง ๆ จึงไม่มีทางเลือกต้องไปเสนอกับแฟลตฟอร์มระดับโลกอย่าง “Netflix” ที่ให้ทุนผลิตสูงแทน 

จากข้อมูลของสำนักข่าว Inquirer พบว่า 10 อันดับแรกของซีรีส์เกาหลีที่มีทุนสร้างสูงที่สุด (ข้อมูลถึงปี 2022) มีซีรีส์เกาหลีถึง 6 เรื่องที่เป็นออริจินัลคอนเทนต์ของ Netflix หรือที่เรียกว่า “Netflix Original” คือ อันดับ 3 Bulgasal: Immortal Souls (2019), อันดับ 4 Kingdom 1 & 2 (2019 – 2020), อันดับ 5 Snowdrop (2021), อันดับ 6 Mr. Sunshine (2018), อันดับ 8. Sweet Home (2020), และอันดับ 10 Squid Game (2021)

ขณะที่อันดับ 1 เป็นซีรีส์แฟนตาซีเรื่อง “The Arthdal Chronicles” (2019) จากช่องเคเบิล tvN ซึ่งใช้ทุนสร้างตอนละ 3,000 ล้านวอน 

“เมื่อก่อนซีรีส์ใช้เงินทุนผลิตไม่มากนัก แต่ตอนนี้มันแพงจนเริ่มเอาไม่อยู่ ทำให้ผู้จัดต้องพึ่งพา Netflix มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้ชมสูญสิทธิ์ในการรับชมละครที่มีความหลากหลายไป เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสมัคร Netflix” ตัวแทนของบริษัทละครเปิดเผยกับสำนักข่าว Harald ของเกาหลีใต้

อันที่จริงต้นทุนที่สูงขึ้นก็ช่วยให้ซีรีส์เกาหลีมีศักยภาพแข่งขันในระดับโลกเพิ่มขึ้น เพราะมีเงินไปจ้างนักเขียนบท นักแสดงฝีมือดี และสามารถลงทุนกับโปรดักชันได้เต็มที่ ทำภาพเหมือนกับภาพยนตร์ (เป็นอีกส่วนที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น) ตัวอย่างเช่น “Itaewon Class” ที่มีต้นทุนผลิตอยู่ที่ 600 ล้านวอนต่อตอน ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนญี่ปุ่นซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมกในชื่อ “Roppongi Class”

หากเทียบกับทั้ง 2 เรื่องนี้แล้ว ผู้ชมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า Itaewon Class นั้นมีคุณภาพเหนือกว่า Roppongi Class ในทุกด้าน ตั้งแต่เนื้อเรื่อง โปรดักชัน องค์ประกอบศิลป์ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวนของนักแสดงที่เข้าฉาก นอกจากนี้ นักแสดงของญี่ปุ่นมีค่าตัวถูกกว่านักแสดงเกาหลี เนื่องจากนักแสดงญี่ปุ่นมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการถ่ายโฆษณามากกว่า

ต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นเหมือน “ดาบสองคม” แม้จะเป็นอาวุธต่อสู้กับคอนเทนต์จากประเทศอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็กลับมาทิ่มแทงคนในอุตสาหกรรมประเทศเดียวกันเอง เพราะปัจจุบันเกาหลีใต้ผลิตซีรีส์ได้ประมาณ 100-150 เรื่อง โดยบริษัทโปรดักชันคาดว่า ปัญหาด้านต้นทุนจะทำให้ปีหน้าจำนวนซีรีส์เหลือเพียง 70 เรื่องเท่านั้น

ทั้งนี้ หากจะลดต้นทุนลงด้วยการลดจำนวนตอนของซีรีส์ลง ให้เป็น “มินิซีรีส์” ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้จัดและสถานีโทรทัศน์ได้รายได้มากขึ้น เพราะยังมีมินิซีรีส์หลายเรื่องในช่องฟรีทีวีที่ขายโฆษณาเต็มเวลา แต่ก็ยังขาดทุนอยู่

เมื่อการผลิตซีรีส์ไม่คุ้มทุน ทำให้สถานีโทรทัศน์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผลิตรายการวาไรตี้ขึ้นมาทดแทน เพราะรายการโทรทัศน์มีต้นทุนต่ำกว่าซีรีส์มาก ต่อให้เป็นรายการที่ไปถ่ายทำถึงต่างประเทศก็ตาม

 

  • Netflix เปลี่ยนแปลงวงการบันเทิง

ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ Netflix เข้ามาให้บริการในเกาหลีใต้ ได้ทำให้วงการบันเทิงของเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงไป ข้อดีคือทำให้ซีรีส์เกาหลีโด่งดังไปทั่วโลก เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แจ้งเกิดนักแสดงหลายคน ผู้ผลิตต่างแข่งขันกันเสิร์ฟคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน ด้วยการแข่งขันที่สูงนี่ทำให้เกิดการสร้างซีรีส์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จากการรายงานของสำนักข่าว The Dong-a Ilbo เปิดเผยว่ามีซีรีส์เกาหลีร่วม 100 เรื่องที่ยังไม่ได้ออกอากาศเพราะหาช่องทางลงไม่ได้ แม้หลายเรื่องจะได้นักแสดงชื่อดังมาแสดงก็ตาม เมื่อไม่มีอะไรที่การันตีได้ว่าโปรเจ็คที่ลงทุนไปจะได้ออนแอร์หรือไม่ ผู้ผลิตซีรีส์จึงเลือก “เพลย์เซฟ” ด้วยการทำซีรีส์แนวโรแมนติก ระทึกขวัญ ที่น่าจะติดตลาดได้ มากกว่าทำซีรีส์ย้อนยุคฟอร์มยักษ์ที่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หรือเลือกใช้นักแสดงตัวท็อปเอาไว้ก่อน ทำให้ซีรีส์ที่ออกฉายขาดความหลากหลาย

นอกจากนี้เมื่อนักแสดงมีชื่อเสียงจากการเล่นซีรีส์ในระดับโลก พวกเขาก็จะเรียกค่าตัวในการแสดงซีรีส์แต่ละตอนสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะนักแสดงชายตัวท็อปขอค่าเหนื่อยมากกว่า 300-500 ล้านวอนต่อตอน ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของต้นทุนในแต่ละตอน และแน่นอนว่าซีรีส์พวกนี้จะกลายเป็นออริจินัลคอนเทนต์ของแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น Netflix, Disney+ และ Apple TV ทั้งนั้น 

ด้วยค่าตอบแทนที่สูงจึงทำให้นักแสดงหลายคนหวังจะแจ้งเกิดจาก Netflix ทำให้ Netflix มีอำนาจต่อรองในการกำหนดราคาค่าตัวนักแสดง ทำให้คนในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีเสียอำนาจไปโดยปริยาย รวมถึงนักแสดงเบอร์เล็ก ๆ จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะการออดิชันคัดเลือกนักแสดงลดลง โอกาสที่พวกเขาจะได้งานก็จะลดลงตามไปด้วย

ศ.คิม ดง-ซุก จากมหาวิทยาลัยอันดง กล่าวว่า “ด้วยสภาพแวดล้อมในวงการที่เป็นเช่นนี้ การพัฒนาซีรีส์เกาหลียากยิ่งขึ้น อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปฏิวัติอุตสาหกรรมซีรีส์เกาหลี แล้ววางแผนการผลิตใหม่ให้สร้างกำไรและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”


ที่มา: DongaHeraldInquirerThe Korean Economy DailySouth China Morning PostYonhap News