ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว”

ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว”

หากเอ่ยถึงภาพยนตร์แนว “โรแมนติก” ส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นแนวความรักดราม่า หรือ โรแมนติกคอมเมดี้ ที่เต็มไปด้วยความน่ารักสดใส แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความขมขื่นและความเศร้าก็เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้สำหรับ “ภาพยนตร์โรแมนติก” สไตล์คนเหงาแบบ “หว่อง กาไว”

“กระทำความหว่อง” เรามักได้ยินหรือเห็นประโยคนี้ผ่านตาเมื่อมีใครบางคนกำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยวเหงาและหว่าเว้ ออกเดินทางไปด้วยคนเดียวในเมืองใหญ่ หรือนั่งจิบเครื่องดื่มเงียบๆ อยู่ในมุมหนึ่งของเมืองสุดวุ่นวาย หรือผิดหวังในความสัมพันธ์ ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว”

ภาพจาพภาพยนตร์ Fallen Angels (1995)

 

แท้จริงแล้ว ความเหงา ความเศร้า และความขมขื่น ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของ “ความรัก” เช่นเดียวกันกับความสุขและสมหวัง เพียงแต่เมื่อมันเกิดขึ้นอาจทำให้ใครหลายคนต้องรักษาหัวใจตัวเอง

นอกจากนี้ “ความเหงา” ก็เป็นอีกหนึ่งอารมณ์ที่สามารถหยิบยกมาเป็นส่วนประกอบของภาพยนตร์ได้เสมอ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมได้ง่ายเนื่องจากเป็นเรื่องราวที่หลายคนพบเจอมาในชีวิต มันยังสร้างจุดขายและกลายเป็นสิ่งที่สร้างชื่อให้ผู้กำกับฮ่องกงชื่อดังอย่าง “หว่อง กา ไว” เจ้าพ่อภาพยนตร์แห่งความขมขื่นที่สร้างฐานแฟนคลับได้ทั่วโลกแม้ภาพยนตร์จะไม่ใช้ภาษาอังกฤษ

  • หว่อง กา ไว ผู้กำกับชาวเอเชียที่พาความเหงาไปหว่องได้ทั่วโลก

สำหรับ “หว่อง กา ไว” ผู้กำกับภาพยนตร์ฮ่องกงชื่อดังที่สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ชมผ่านผลงานอารมณ์เปลี่ยวเหงาของมนุษย์ แท้จริงแล้วเป็นคนจีนแผ่นดินใหญ่โดยกำเนิด เขาเกิดที่เซี่ยงไฮ้ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ฮ่องกงพร้อมครอบครัวเมื่ออายุ 5 ขวบ และเมื่ออเขาเรียนจบจากสาขาออกแบบกราฟิก เมื่อปี 1980 เขาเริ่มงานในสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ด้วยตำแหน่งผู้เขียนบท และหลังจากนั้นไม่นานเมื่อเขาอายุ 30 เขาได้เริ่มกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคือ As Tears Go By (ทะลุกลางอก) ในปี 1988 ซึ่งเป็นแนวแอ็คชัน นำแสดงโดย หลิว เต๋อหัว และ จางม่านอวี้

ต่อมาในปี 1990 เขากำกับภาพยนตร์เรื่องที่สองที่เน้นไปในทางดราม่า มีการดำเนินเรื่องแบบเนิบช้าและเซื่องซึม อ้างว้าง เปลี่ยวเหงา ในเรื่อง Days of Being Wild (วันที่หัวใจรัก..กล้าตัดขอบฟ้า) ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เขามีชื่อเสียงไปทั่วโลกและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติทันที ด้วยการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยความเหงาและอ้างว้างซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกใหม่ในสมัยนั้น

หลังจากนั้น หว่อง กา ไว ได้สร้างปรากฏการณ์ “กระทำความหว่อง” ไปทั่วบ้านทั่วเมือง จากภาพยนตร์ชื่อดังที่ทำให้เขากลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเอเชีย ผู้ซึ่งใช้ภาษาจีนในบทภาพยนตร์ แต่สามารถชนะใจคนดูฝั่งตะวันตกได้ เช่น Chungking Express (1994), Fallen Angels (1995), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) ผลงานเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาโด่งดังไปไกลถึงฮอลลีวูด และทำให้เขาได้กำกับภาพยนตร์ฝั่งตะวันตก เช่น My Blueberry Nights ในปี 2008

นอกจากนี้ในปี 2021 หว่อง กา ไว ได้มาเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลการผลิตให้ภาพยนตร์ไทยเรื่อง "One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ" ของผู้กำกับมากความสามารถ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ และทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สามารถคว้ารางวัล World Dramatic Special Jury Award จาก Sundance Film Festival 2021 มาครองได้สำเร็จ

ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว” ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2021)

โดยภาพยนตร์ส่วนมากของหว่อง กา ไว จะมีลายเซ็นหรือเอกลักษณ์ที่ชัดเจนสะท้อนอยู่เสมอ นอกจากการเล่าเรื่องที่อ้างว้าง งานภาพ แสง สี เสียง และแฟชั่นแล้ว ความวุ่นวายในความสัมพันธ์ของตัวละครก็เป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญ

  • ถ้าเธอไม่ได้รักเขา เราจะรักกันไหม คำถามใน In the Mood for Love

เรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ย้ายเข้าไปอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ใจกลางฮ่องกง และได้พบกับหนุ่มหล่อนักเขียนที่อาศัยอยู่ในตึกเดียวกัน ทุกอย่างก็คงจะเหมือนกับหนังรักทั่วไปถ้าไม่ใช่ว่าสาวสวยในชุดกี่เพ้าของเราแต่งงานแล้วนั่นเอง

แม้ว่าฝ่ายหญิงจะแต่งงานแล้วแต่สามีกลับไม่ได้มาอยู่ที่นี่ด้วยทำให้ความสัมพันธ์กับหนุ่มนักเขียนพัฒนาไปมากกว่าเพื่อนแต่ก็ไม่ใช่คนรัก เพราะต่างคนต่างรู้ว่าเป็นรักต้องห้ามและทั้งคู่ยังคงเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะต้องจบลงโดยที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดหวัง ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ทั้งคู่อยู่ด้วยกันหรือนึกถึงกันมักจะมีคำถามเกิดขึ้นกับผู้ชมเสมอว่า “ถ้าเธอไม่ได้รักกับเขา เราจะได้รักกันไหม ?” รวมไปถึงคำถามที่ผู้ชมมีไปถึงตัวละครว่า แท้จริงแล้วพวกเขา “คิดถึง” กันหรือเปล่า

นอกจากเรื่องราวของตัวละครสองคนที่เดินไปท่ามกลางความเหงาในฮ่องกงแล้ว บรรยากาศของเรื่องนั้นก็เต็มไปด้วยความหม่นหมอง เพราะส่วนใหญ่ล้วนเป็นเวลากลางคืน รวมถึงความเหงาในช่วงเวลาที่แต่ละคนต้องอยู่กับตัวเองในห้องสี่เหลี่ยม

ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว” ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง In the Mood for Love (2000)

  • เพราะความสัมพันธ์มีวันหมดอายุ ? คำถามจาก Chungking Express

แม้ว่าตัวละครหลักในเรื่องนี้จะมีเยอะแยะมากมายจนน่าสับสน แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนจำได้ก็คือประโยคสุดหวานแต่กลายเป็นความขม “...Password is Love You for 10,000 Years...” เพราะเป็นรหัสผ่านที่ตัวเอกชาวญี่ปุ่น (ทาเคชิ คาเนชิโร) ไว้ใช้กับแฟนเก่า แต่เพราะเธอบอกเลิกเขาในวันที่ 1 เมษายน (April fool’s day) ทำให้เขายังคงสับสนว่าเธอแค่ล้อเล่นหรือบอกเลิกเขาจริง และหลังจากนั้นทำให้เขาซื้อสับปะรดที่จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤษภาคม มากินเสมอ คล้ายกับว่าเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ที่สุดท้ายแล้วก็มีวันหมดอายุ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของหญิงสาวที่หลงรักนายตำรวจหนุ่มกะดึก แม้ว่าเธอจะไม่ได้รู้จักเขาเท่าไรนักแต่ก็พยายามจะช่วยเขาในหลายเรื่อง แม้สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้เจอกันอีกเลยก็ตาม

สำหรับการเล่าเรื่องด้วยภาพในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการตอกย้ำความเหงาของคนเมืองได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้ เพราะแม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายในฮ่องกง แต่สุดท้ายแล้วเราก็อาจจะเหลืออยู่ตัวคนเดียวก็เป็นได้

ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว” ภาพจากภาพยนตร์ Chungking Express (1994)

  • ชายรักชาย มีความเป็นไปได้แค่ไหนกัน คำถามของ Happy Together

ความรักของ LGBTQ นั้น มีมาช้านาน แต่ต้องไม่ลืมว่าในยุค 90’s - 2000’s อาจจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาเท่าไรนักที่ชายกับชายจะมีความสัมพันธ์กันแบบ “คนรัก” ทำให้ความรักในเรื่อง Happy Together นั้น ออกไปในแนว Hopeless Romantic หรือ ความโรแมนติกที่เป็นไปไม่ได้ เพราะชายหนุ่มคู่รักที่รับบทโดย เหลียงเฉาเหว่ย และ เลสลี่ จาง ที่ตัดสินใจเดินทางไปยังน้ำตกอีกวาซู ประเทศอาร์เจนติน่า แต่ระหว่างทางก็ต้องพบเจอกับความสัมพันธ์ที่แย่ลง เริ่มมีความห่างเหินหมางเมิน แต่สุดท้ายก็ยังกลับมารักกันและชิงชังกันและกัน วนซ้ำไปเรื่อยๆ เหมือนความสัมพันธ์ที่มูฟออนเป็นวงกลมไม่รู้จบ

ปัญหาที่ทำให้พวกเขาต้องสลับบทบาทจากคนรักกลายเป็นคนแปลกหน้าอยู่เรื่อยๆ นอกจากจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แบบคู่รักทั่วไปแล้ว ความรักแบบชายรักชายในปี 1994 ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่เดินหน้า

ภาพยนตร์ “โรแมนติก” ไม่หวานซึ้งเสมอไป แต่อาจเป็นหนังเศร้าสไตล์ “หว่อง กา ไว”

ภาพจากภาพยนตร์ Happy Together (1997)

  • ในความเหงายังมีความสวยงามเสมอ

แม้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของ “หว่อง กา ไว” จะตลบอบอวลไปด้วยความเหงาเปล่าเปลี่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าความเหงาจะมีแต่ข้อเสีย เพราะในบางครั้งที่เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองก็ช่วยให้เรามีสมาธิและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาที่เราบังเอิญได้มีโอกาสเปิดรับใครบางคนเข้ามาในหัวใจเราจะเข้าใจได้ว่าบางครั้งมันก็คุ้มค่าในการรอคอย

สุดท้ายนี้ในเดือนแห่งความรักอย่ามัวแต่กระทำความหว่องกันอยู่ ใครที่ไม่มีคู่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีใคร เพราะเราสามารถออกไปพบปะเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว เท่านี้ก็เป็นเรื่องราวดีๆ และช่วยเติมเต็มความรักในชีวิตได้แล้ว

อ้างอิงข้อมูล : Adaddict TH, Spring News, IMBD และ Btitannica