“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี  ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

ชี้เผยเงาสะท้อนคุณค่าของครอบครัว สู่สภาพจิตหลากมิติของคนในสังคม “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

โครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด ที่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเวทียกระดับนักเขียนสตรีเข้าสู่ระดับสากลมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

โดยปีนี้ ชาติศิริ โสภณพนิช บอสใหญ่ธนาคารกรุงเทพ มาเป็นประธานมอบรางวัล ท่ามกลางบรรยากาศคับคั่งไปด้วยแขกผู้มีเกียรติ อาทิ อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์, ปรียนาถ สุนทรวาทะ, ผศ.สกุล บุญยทัต, อรุโณชา ภาณุพันธุ์, นรีภพ จิระโพธิรัตน์, กนกพันธ์ สุนทรกมลวัฒน์, ตรีคิด อินทขันตี, ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง นักเขียนหญิงเจ้าของผลงาน “รอยวสันต์" ผู้ชนะรางวัลชมนาดครั้งที่ 1 วิทิดา ดีทีเชอร์ เจ้าของผลงาน “รอยบาศ" ผู้ชนะรางวัลชมนาดครั้งที่ 9 มาร่วมงาน

“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี  ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

พร้อมร่วมฟังเสวนาเรื่อง “จะร่วมกันผลักดันงานเขียนสตรีสู่นานาชาติ” โดย คุณกนกวลี พจนปกรณ์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ม.ล.วีรอร วรวุฒิ นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศ และ ดร.สวัสดิ์ เก่งชน ณ ห้องประชุมชั้น 29 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่สีลม เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เผยว่า วรรณกรรม เป็นงานสร้างสรรค์ของบุคคลที่เป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสภาพชีวิต สังคม และ คตินิยมของงานทุกยุคทุกสมัย "วรรณกรรมรางวัลชมนาด" เป็นการประกวดวรรณกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างจากวรรณกรรมรางวัลอื่นๆ เนื่องจากเป็นการประกวดวรรณกรรม ที่มุ่งเน้นมอบให้แก่นักประพันธ์ที่เป็นสตรี เท่านั้น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด มุ่งมั่นส่งเสริมให้นักเขียนหญิงที่มีใจรักในงานประพันธ์ ทั้งมืออาชีพ และมือใหม่ ได้สร้างสรรค์ผลงานในมุมมองของผู้หญิงบนเวทีคุณภาพแห่งนี้ และมีโอกาสเดินก้าวต่อไปสู่นักเขียนในระดับนานาชาติ

“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี  ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

โดยปีนี้มีนักเขียนส่งผลงานเข้าประกวด 30 เรื่อง และผ่านเข้ารอบสุดท้าย 9 เรื่อง ได้แก่  “เมื่อแม่ฉันเป็นยักษ์” โดย คุณกชกร ชิณะวงศ์, “กุสุมาอีกครั้ง”  โดย คุณกมลวรรณ ชมชอบบุญ,  “5,929  ไมล์...ระยะฝัน”  โดย คุณจีรภา  บุณยะทัศน์,  “the present ของขวัญ” โดย คุณชัญญา ศรีธัญรัตน์,  “คมบุหลัน” โดย คุณณัฏฐ์ธีรตา  วิทิตวิญญูชน,  “ไกรสร” โดย คุณดวงตา ศรีวุฒิวงศ์,  “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” โดย คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล,  “ผู้พิทักษ์ตนสุดท้าย” โดย คุณสมาพร แซ่จิว,  “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” โดย คุณอภิญญา เคนนาสิงห์

ผลงานชนะเลิศ ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” (ชื่อประกวด) โดย คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล ภายใต้ชื่อหนังสือ “วิหารความจริงวิปลาส” รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมตีพิมพ์ผลงานเป็นรูปเล่มทั้งภาษาไทยและแปลเป็นภาษาต่างประเทศ โดย “ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” นำเสนอเรื่องราวของตัวละครหลายตัว ที่เดินทางมาพบกันที่โบสถ์แห่งหนึ่งเพื่อร่วมงานศพในขณะที่พายุฝนฟ้าคะนอง การเล่นเกมเล่าเรื่องเพื่อให้ทายว่าเป็นเรื่องจริงหรือลวง เผยให้เห็นสภาวะผิดปกติทางจิตของตัวละครในลักษณะต่างกัน สร้างความแปลกใหม่ด้วยการผสานเรื่องเล่าสยองขวัญกับปมปัญหาทางจิตเวชอันหลากหลายได้อย่างกลมกลืน สะท้อนแนวคิดคุณค่ากับความรัก ความผูกพัน และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่หล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคล การนำจิตวิทยาเข้ามาอธิบายเสริมให้เข้าใจความผิดปกติของตัวละคร ช่วยให้สังคมเข้าใจผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชหลากหลายลักษณะมากขึ้น

“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี  ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

“รู้สึกดีใจที่ได้รางวัลนี้เพราะความหวังสูงสุดคืออยากให้เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในระดับสากลค่ะ เพราะเนื้อหาของเรื่องน่าจะสามารถเชื่อมโยงให้คนอ่านทุกวัฒนธรรมมีความรู้สึกลึกซึ้งทางอารมณ์ร่วมกัน ได้เรียนรู้ความแตกต่างหลากหลายซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องของหลักวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติต่อศาสนา ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สภาวะทางจิตในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่เป็นอาการทางจิตเวชและปัญหาบุคลิกภาพ” คุณศศิวิมล นทธี สุระเดชชะมงคล ผู้ชนะเลิศรางวัลชมนาด กล่าว

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมค่าลิขสิทธิ์หนังสือจัดพิมพ์ภาษาไทย ซึ่งปีนี้มีนวนิยายได้รับถึง 2 เรื่อง ได้แก่ นวนิยายเรื่อง “ดอกไม้ในแจกันเหล็ก” โดยคุณอภิญญา เคนนาสิงห์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของหญิงสาว นามว่า รำเพย หญิงสาวที่ถูกพ่อแม่มองเป็นเพียงทรัพย์สมบัติขายกิน แต่เธอไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค แม้จะผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่เคยที่จะหยุดฝัน พร้อมจะกัดฟันทำงานสู้ชีวิต เพื่อไขว่คว้าฝันให้สมดั่งใจปรารถนา และ นวนิยายเรื่อง “5,929  ไมล์...ระยะฝัน” โดยคุณจีรภา บุณยะทัศน์ นำเสนอเรื่องราวชีวิตของนักเรียนไทยกับการตามฝันไปเรียนปริญญาโทที่ประเทศอังกฤษในวัย 40 ที่พกความกล้าไปด้วยใจเกินร้อย แม้เงินในกระเป๋าจะไม่เต็มเท่าความกล้าก็ตาม

สำหรับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ตกเป็นของ นวนิยายเรื่อง “ไกรสร” โดย คุณดวงตา ศรีวุฒิวงศ์ ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมค่าลิขสิทธิ์หนังสือจัดพิมพ์ภาษาไทย “ไกรสร” นวนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ของทนายนามว่า ประมวล ที่ประสบปัญหาขาดงานเพราะการระบาดของโควิด-19 และเมื่อเขาได้รับว่าจ้างจากเศรษฐีนีให้ตามหาสามีที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทนายประมวลคิดว่างานไม่ยาก แต่เมื่อยิ่งสืบเรื่องราวตามหาคนหายธรรมดาอาจจะกลายเป็นขุดลึกถึงเบื้องหลังอะไรสักอย่างที่ไม่ชอบมาพากลไปเสียแล้ว

“ความจริงมิอาจวิปลาสได้หรือ” ของ นทธี  ศศิวิมล คว้ารางวัลชมนาดครั้งที่ 11

ปิดท้ายกับกติกาการเปิดรับโครงการประกวดงานวรรณกรรมยอดเยี่ยมประเภทนวนิยายของนักเขียนหญิง รางวัลชมนาด ครั้งที่ 12 ดร.พิสุทธิ์ เลิศวิไล กรรมการบริหาร บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด กล่าวว่า สามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2565 - 30 เมษายน 2566 โดยผลงานต้องมีความยาวไม่ต่ำกว่า 120 หน้ากระดาษ A4 ขนาดอักษร 16 Point ส่งต้นฉบับมาที่ บริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด เลขที่ 222 บุษราคัม เทอเรส ถ.พุทธมณฑล สาย 2 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กทม. 10170