‘เสื้อผ้ามือสอง’ ยอดขายพุ่ง คนซื้ออยากได้ของถูก แต่ดี

‘เสื้อผ้ามือสอง’ ยอดขายพุ่ง คนซื้ออยากได้ของถูก แต่ดี

“เสื้อผ้ามือสอง” คิดเป็น 10% ของยอดขายแฟชั่นทั่วโลก ผู้บริโภคหันมาซื้อมากขึ้นเนื่องจาก วิกฤติค่าครองชีพ ความกังวลปัญหาโลกร้อน และแนวคิดความยั่งยืน

KEY

POINTS

  • ยอดขายเสื้อผ้ามือสองทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 197,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18% ภายในปี 2571 ตลาดเสื้อผ้ามือสองมีมูลค่าสูงถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะคิดเป็น 10% ของมูลค่าตลาดแฟชั่นทั่วโลก
  • ผู้บริโภคมีงบสำหรับซื้อเสื้อผ้าน้อยลง จำเป็นต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายกับค่าครองชีพ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองที่มีราคาถูกกว่าเสื้อผ้าใหม่ อีกทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับ "ปัญหาโลกร้อน" และสนใจแนวคิดด้านความยั่งยืนมากกว่าเดิม
  • ในตอนนี้คนทุกรุ่นหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองกันหมด โดย 65% ของคนที่เลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ชาวมิลเลนเนียลและคนเจน Z ซึ่งนิยมซื้อผ้าแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนวัยที่โตกว่ามักจะซื้อจากหน้าร้านที่เชื่อถือได้เป็นหลัก

“เสื้อผ้ามือสอง” คิดเป็น 10% ของยอดขายแฟชั่นทั่วโลก ผู้บริโภคหันมาซื้อมากขึ้นเนื่องจาก วิกฤติค่าครองชีพ ความกังวลปัญหาโลกร้อน และแนวคิดความยั่งยืน

ยอดขาย “เสื้อผ้ามือสอง” คิดเป็น 10% ของมูลค่าแฟชั่นทั่วโลก ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้ามือสองมากขึ้นเนื่องจากวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งเกิดจากความกังวล "ปัญหาโลกร้อน" และสนใจแนวคิดด้านความยั่งยืนมากกว่าเดิม

ตามรายงานของบริษัทวิจัยข้อมูล GlobalData ที่อ้างอิงข้อมูลจากร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นออนไลน์ ThredUp พบว่ายอดขายเสื้อผ้ามือสองทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 197,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18% 

ภายในปี 2571 ตลาดเสื้อผ้ามือสองมีมูลค่าสูงถึง 350,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะคิดเป็น 10% ของมูลค่าตลาดแฟชั่นทั่วโลก ซึ่งช้ากว่าที่คาดไว้ในรายการฉบับก่อน 1 ปี เนื่องจากสภาพตลาดทั่วโลกเติบโตช้าลงจากพิษเศรษฐกิจ

ในปี 2566 ตลาดเสื้อผ้ามือสองในสหรัฐ เติบโตขึ้นถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับธุรกิจด้านค้าปลีกแฟชั่นที่มียอดขายทรงตัวในปี 2566 ทั้งนี้เอเชียเป็นตลาดใหญ่เสื้อผ้ามือสองที่สุดในโลก ตามมาด้วยยุโรป

 

“คนรุ่นใหม่” ผลักดันตลาด “เสื้อผ้ามือสอง”

เจมส์ ไรน์ฮาร์ท ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ThredUp กล่าวว่า ตลาดเสื้อผ้ามือสองยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคมีงบสำหรับซื้อเสื้อผ้าน้อยลง จำเป็นต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายกับค่าครองชีพ เช่น ค่าพลังงานและค่าอาหารที่พึ่งสูงขึ้น ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงหันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองที่มีราคาถูกกว่าเสื้อผ้าใหม่

“เมื่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง คุณค่าก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้คนกำลังมองหาการซื้อของมือสองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตนเอง” ไรน์ฮาร์ทกล่าว

ข้อมูลจากรายงานพบว่า 65% ของคนที่เลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ ชาวมิลเลนเนียลและคนเจน Z ที่มีอายุระหว่าง 12-43 ปี โดย 38% ของพวกเขายอมรับว่าตั้งใจหาสินค้าแบรนด์เนมในตลาดสินค้ามือสอง ซึ่งเป็นผลมาจากความสะดวกในการช้อปปิ้งของมือสองแบบดิจิทัลที่เว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Vinted และ Depop รวมถึง ThredUp 

รายงานคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดขายเสื้อผ้ามือสองในช่องทางออนไลน์จะมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มมากกว่า 2 เท่าของมูลค่าในปัจจุบัน โดยเสื้อผ้าเด็ก เป็นเสื้อผ้ามือสองที่เติบโตเร็วที่สุด

“นักช้อปรุ่นใหม่ ทั้งชาวมิลเลนเนียล และเจน Z จะมีส่วนทำให้เกิดการเติบโตสูงสุดในช่วงห้าปีข้างหน้า ทั้ง 2 เจนสนใจในเรื่องความยั่งยืนและเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งของมือสอง โดยเฉพาะคนเจน Z ที่เห็นว่าพวกเขามีอำนาจในการใช้จ่ายเพิ่มมาก ทำให้พวกเขาช้อปปิ้งเสื้อผ้ามือสองมากกว่าเดิม” นีล ซอนเดอร์ส นักวิเคราะห์การค้าปลีกของ GlobalData กล่าว

ตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแต่ “คนรุ่นใหม่” เท่านั้นที่นิยมซื้อเสื้อผ้ามือสอง แต่คนรุ่นอื่น ๆ ก็หันมาซื้อเสื้อผ้ามือสองกันมากยิ่งขึ้นโดยนักช้อปที่มีอายุมากกว่ามีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีหน้าร้านมากกว่า เช่น ร้านค้าเพื่อการกุศล และร้านบูติกเฉพาะทาง

“เสื้อผ้ามือสอง” ทางออก “แฟชั่นยั่งยืน”

กระแสความนิยมสินค้า “Pre-Loved” ซึ่งเป็นสินค้ามือสองที่ได้รับการรักษาดูแลอย่างดีจากเจ้าของเดิม กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีผู้เข้าแข่งขันรายการเรียลลิตี้ Love Island (ที่มี eBay เป็นสปอนเซอร์) ชอบใช้สินค้าประเภทนี้ และทำให้คนทั่วไปรู้จักมากขึ้น จนสามารถเข้าสู่กระแสหลักได้

อีกทั้ง รายงานยังพบว่า 62% ของผู้บริหารร้านค้าปลีกเชื่อว่าลูกค้าใส่ใจเกี่ยวกับความยั่งยืนของแบรนด์ ทำให้ห้างร้านต่าง ๆ เช่น Selfridges ห้างสรรพสินค้าชื่อดัง และ Primark ร้านขายเสื้อผ้า ลองนำสินค้า Pre-Loved มาวางจำหน่ายในร้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

ซอนเดอร์ส แนะนำให้แบรนด์ต่าง ๆ ควรใช้เทคนิครีเซลล์มาใช้เป็นกลยุทธ์ เพราะสามารถเรียกความสนใจให้ผู้บริโภค พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมได้อีกด้วย อีกทั้งสินค้ามือสองยังช่วยให้ผู้ซื้อรับรู้ว่าแบรนด์ตระหนักต่อความยั่งยืน และแตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ อย่างไร

ขณะที่ ไรน์ฮาร์ทกล่าวว่า ตลาดเครื่องแต่งกายมือสองทั่วโลกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคมองเห็นคุณค่าจากประสบการณ์การซื้อสินค้ามือสอง และเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของวงการแฟชั่น

อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้แบรนด์เสื้อผ้าต่าง ๆ ทั้งระดับดีไซเนอร์แบรนด์ และแบรนด์เนม ไปจนถึงแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น จับมือกับผู้เชี่ยวชาญ และร้านค้าออนไลน์ ร่วมกันผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับเสื้อผ้าใช้แล้วทิ้ง เพื่อหวังให้ผู้บริโภคตระหนักถึงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าของพวกเขา ก่อนที่จะซื้อใหม่ เพราะในแต่ละปีมีเสื้อผ้าที่ถูกกลบในบ่อขยะเป็นจำนวนมาก

เราจะยังสนับสนุนรัฐบาลให้ขับเคลื่อนการยอมรับและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในวงการแฟชั่นต่อไป จนกว่าแฟชั่นจะไม่ใช่หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมมากที่สุด” ไรน์ฮาร์ทกล่าวสรุป

 

บุกตลาดเอเชียหวังสร้างกำไร

ขณะเดียวกัน แม้จะมียอดขายเติบโตอย่างมาก แต่ผู้ขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์หลายเจ้าก็ยังมีรายได้ติดลบอยู่  Vinted ตลาดเสื้อผ้าออนไลน์ รายงานผลประกอบการในปี 2565 ว่าขาดทุนก่อนหักภาษี 47.1 ล้านยูโร แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้น 51% ก็ตาม 

ส่วน Depop อีคอมเมิร์ซของอังกฤษก็ขาดคุณ 59.4 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ Thredup ซึ่งขาดทุนพื้นฐาน 2.1 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว แม้ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้น 14% เป็น 81.4 ล้านดอลลาร์ก็ตาม แต่ไรน์ฮาร์ทก็ยังมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถทำยอดขายมากขึ้นและมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น จะเข้าสู่จุดคุ้มทุนได้

ด้วยความที่เอเชียเป็นตลาดเสื้อผ้ามือสองกำลังเติบโต ทำให้แพลตฟอร์มการขายของมือสองออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในโลกตะวันตก หันมารุกตลาดในเอเชียมากยิ่งขึ้น เช่น Depop, Vinted และ ThredUp เพื่อหวังจะโกยรายได้จนสามารถทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น


ที่มา: FortuneThe Guardian