แพลตฟอร์ม ‘สินค้ามือสอง’ บูม! หลัง ‘คนรุ่นใหม่’ เมินซื้อของหน้าร้าน

แพลตฟอร์ม ‘สินค้ามือสอง’ บูม! หลัง ‘คนรุ่นใหม่’ เมินซื้อของหน้าร้าน

“ตลาดสินค้ามือสอง” บนโลกออนไลน์ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้า “แบรนด์หรู” จนบางเว็บไซต์ยอดขายเพิ่ม 7% ในปีเดียว เพราะผู้บริโภคบางส่วนมองว่าซื้อง่ายและรักษ์โลก ?

KEY

POINTS

  • สินค้ามือสองบน “แพลตฟอร์มออนไลน์” ได้รับความสนใจจากผู้บริโภครุ่นใหม่เป็นจำนวนมาก เพราะมองว่าซื้อง่าย ราคาถูก ช่วยลดขยะ Fast Fashion
  • “Vestiaire Collective” แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสองของฝรั่งเศส มียอดขายสินค้า “แบรนด์หรู” เพิ่มขึ้นถึง 7% และ “Sellier” ของอังกฤษมียอดขายเพิ่มขึ้น 25%
  • แม้การใช้สินค้ามือสองอาจช่วยลดปริมาณขยะแฟชั่นได้บ้าง แต่ยังมีผู้เชี่ยวชาญตั้งคำถามว่า หากความต้องการซื้อสินค้ายังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร ?

“ตลาดสินค้ามือสอง” บนโลกออนไลน์ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้า “แบรนด์หรู” จนบางเว็บไซต์ยอดขายเพิ่ม 7% ในปีเดียว เพราะผู้บริโภคบางส่วนมองว่าซื้อง่ายและรักษ์โลก ?

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อของผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก แม้แต่ “สินค้ามือสอง” ที่กำลังได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อสินค้าหน้าร้านไปซื้อผ่าน “ออนไลน์” แทน โดยเฉพาะ “แบรนด์หรู” เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งมองว่าสินค้าบางชิ้นมีราคาถูกกว่าหน้าร้านและยังมีสภาพดี รวมถึงเชื่อว่าอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดขยะแฟชั่นได้ จนทำให้บางเว็บไซต์ทำเงินจากการเป็นตัวกลางขายสินค้าออนไลน์ได้เป็นจำนวนมาก และแซงหน้าเจ้าของแบรนด์ได้มากพอสมควร

กลุ่มผู้บริโภคหลักที่ซื้อสินค้าแบรนด์หรูออนไลน์ก็คือคนในช่วงวัย Gen Y และ Gen Z ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม้ว่าจะมีความต้องการในตัวสินค้า แต่ก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายทั่วไปมากพอสมควรและบางคนก็ยังมีรายได้ไม่มากนัก ดังนั้น “สินค้ามือสอง” ที่มีราคาย่อมเยาลงมาก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสม ยกเว้นบางแบรนด์ที่หน้าเว็บมือสองมีราคาพุ่งสูงกว่าหน้าร้าน เช่น Hermès Birkin เพราะการหาซื้อหน้าร้านเป็นเรื่องยาก และต้องรอนานข้ามปี แต่สามารถซื้อได้ทันทีบนเว็บไซต์สินค้ามือสอง ซึ่งก็ต้องแลกกับราคาที่แพงขึ้น

ยุคทองของสินค้าแบรนด์หรู ใน “ตลาดมือสอง”

Vestiaire Collective” แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง โดยเฉพาะ “แบรนด์หรู” ในฝรั่งเศส ที่เริ่มดำเนินธุรกิจเสื้อผ้ามือสองมาตั้งแต่ปี 2009 และปัจจุบันมีลูกค้าที่เป็นชาว “Gen Z” เป็นจำนวนมาก เปิดเผยรายงานการเติบโตเฉพาะยอดขายสินค้าจากแบรนด์หรูล่าสุดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7 จากปีที่แล้ว เรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับยอดขายที่เริ่มซบเซาในกลุ่มสินค้าแบรนด์ที่ซื้อขายโดยตรงจากหน้าร้าน นอกจากนี้ Bain & Co บริษัทเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน ก็ให้ความสำคัญกับตลาดแบรนด์หรูมือสองอยู่ที่ 46.5 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022

ด้าน “Sellier” แพลตฟอร์มสินค้ามือสองสุดหรูจากเกาะอังกฤษ ที่มีช่องทางการขายทั้งแบบออนไลน์และหน้าร้าน มียอดขายเพิ่มขึ้นในปี 2023 ถึงร้อยละ 25 โดย ฮานุชกา โทนี (Hanushka Toni) ซีอีโอของบริษัท เปิดเผยกับ Fortune ว่า สินค้าบางประเภทอาจมีราคาแตกต่างกันไป ไม่ใช่ถูกกว่าหน้าร้านอย่างเดียว เช่น Hermès Birkin ที่ขายได้ดีในตลาดมือสองเพราะหาซื้อหน้าร้านได้ยาก ซึ่งก็จะมีราคาสูงเกินจริง แต่สำหรับสินค้าแบรนด์อื่นๆ ก็จะมีราคาถูกกว่าหน้าร้านถึงร้อยละ 20-80 เลยทีเดียว

อีกหนึ่งแพลตฟอร์มมือสองออนไลน์ “Thredup” เปิดเผยผ่านรายงานการขายสินค้ามือสองประจำปีของบริษัทที่คาดว่า ตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าของตลาดเครื่องแต่งกายทั่วโลกโดยรวมจนถึงปี 2027 โดยมีผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่

โดย แอนโทนี มาริโน (Anthony Marino) ประธาน Thredup กล่าวว่า ตามรายงานแล้วการขายต่อทางออนไลน์คาดว่าจะสูงถึง 38 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ซึ่งเติบโตเร็วกว่าสินค้ามือสองโดยรวมถึง 2 เท่า แบรนด์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดสินค้ามือสองที่อ้างถึงในรายงาน ได้แก่ Patagonia, Lululemon, Vuori, Reformation และ The North Face

ทำให้หลังจากนี้จะมีโอกาสมากมายสำหรับแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสอง เพราะในช่วง 12 ปีที่ผ่านมามีคน Gen Z ประมาณร้อยละ 58 ซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อย 1 ครั้ง มากกว่าคนในรุ่น Gen Y ขึ้นไป

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ “สินค้ามือสอง” กำลังจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับนักช้อปรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อสินค้าแบรนด์หรู ส่วนหนึ่งก็มาจากกระแส “Fast Fashion” บวกกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และความสนใจในเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

“รักษ์โลก” อีกหนึ่งปัจจัยคนรุ่นใหม่ซื้อของมือสอง ?

ปัจจุบันกระแส “สิ่งแวดล้อม” ได้รับการพูดถึงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” ทำให้สินค้ามือสองก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ทำให้พวกเขามองหาสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น แม้ว่าจะยังตามกระแส Fast Fashion อยู่ก็ตาม

รายงานที่อ้างอิงใน yahoo finance ระบุว่าสินค้ามือสองมากกว่าครึ่งหนึ่งที่ขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์แทบจะไม่เคยถูกสวมใส่เลย หมายความว่าพวกเขาซื้อมาใส่ตามกระแสแล้วก็ขายต่อทันที ดังนั้นช่องทางออนไลน์ก็ช่วยลดขยะจาก Fast Fashion ได้อยู่บ้าง

ความสนใจที่เพิ่มขึ้นในเสื้อผ้าที่นำกลับมาใช้ใหม่ กระตุ้นให้เกิดความนิยมอย่างมากในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Depop และ Vinted ซึ่งเคยอยู่ในระดับล่างสุดของตลาด

พวกเขา (Gen Z) ได้รับแรงบันดาลใจจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเล็กน้อยจากสิ่งที่พวกเขากำลังซื้อ” ฮานุชกากล่าว ในทางกลับกัน คน Gen Y คิดเรื่องความหรูหราแตกต่างออกไป เพราะพวกเขาต้องการซื้อสินค้าราคาแพงเพื่อความตื่นเต้นในการซื้อและความสุขที่ได้เป็นเจ้าของมัน

แม้ว่าการซื้อสินค้ามือสองอาจจะมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีคำถามสำคัญที่เกี่ยวกับการเติบโตของตลาดมือสอง คือ พฤติกรรมการซื้อของในลักษณะนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนมากขึ้นหรือไม่ หากผู้ซื้อยังคงมีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น เมื่อการซื้อของกำลังกลายเป็นการแข่งขันรูปแบบหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และแบรนด์ต่างๆ ไม่ได้ลดระดับการผลิตลงเนื่องจากพวกเขาเองก็ได้เงินจากตลาดมือสองเช่นกัน (เพราะมีคนบางกลุ่มตั้งใจซื้อไปขายต่อ)

แฮร์เรียต วอกกิง (Harriet Vocking) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ที่ยั่งยืน Eco-Age จึงมองว่า ยิ่งตลาดสินค้ามือสองมีโอกาสทำเงินได้มากแค่ไหน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราผลิตและบริโภคสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเน้นไปที่การให้ความรู้กับผู้บริโภคและช่วยให้พวกเขาเข้าถึงและเข้าใจของคุณค่าที่แท้จริงของการซื้อของมากกว่า

ท้ายที่สุดนี้การซื้อ “สินค้ามือสอง” แม้ว่าบางอย่างอาจมีราคาถูกลงจริง และมีส่วนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริง แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตาดูต่อไปว่าจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้มากน้อยแค่ไหน

อ้างอิงข้อมูล : yahoo finance และ vogue business