เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

เช็งกี้ เคยไปเรียนเพอร์มาคัลเชอร์ที่จอร์แดน และเป็นอาสาสมัครในฟาร์มที่ออสเตรเลีย จากนั้นซื้อที่ดิน 2 ไร่ จ.ราชบุรีทำฟาร์มเล็กๆ ในแบบไม่เหมือนใคร

อะไร...ทำให้ผู้หญิงคนนี้หันมาซื้อที่ดินผืนเล็กๆ 2 ไร่กว่าจังหวัดราชบุรี ทำฟาร์มเช็งเชื่อ ทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่มั่นใจว่าอยู่ได้ แต่มีแพสชั่นบางอย่าง และการเรียนรู้เพอร์มาคัลเชอร์(Permaculture)การออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ จากการลงมือทำและเรียนรู้ตามแนวทาง Bill Mollison ที่จอร์แดนหนึ่งเดือน 

นอกจากนี้ เช็ง(เช็งกี้)-สุดารัตน์ วรคุณาภรณ์ ยังไปเรียนต่อ ปริญญาโท สาขาวิชาการพัฒนาภูมิสังคมอย่างยั่งยืน  คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

ประกอบกับประสบการณ์การใช้ชีวิตในฟาร์มออสเตรเลียและการทำฟาร์มเล็กๆ ของเธอ แม้ไม่สวยหรูเหมือนฟาร์มทั่วไป แต่เธอทำคนเดียวได้อย่างไร ตั้งแต่การวิเคราะห์พื้นที่ แบ่งโซนตามแบบเพอร์มาคัลเชอร์ และอีกหลายเรื่อง จนกลายเป็นฟาร์มในแบบของเธอ

 

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ (ฟาร์มเช็งเชื่อ ปี 2562 จะวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของที่ดินก่อนลงมือออกแบบพื้นที่) 

และถ่ายทอดความรู้หลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น  อาทิ การออกแบบพื้นที่บ้านสวนเกษตรตามหลักภูมิสังคม ,การจัดการพื้นที่บ้านสวนเกษตรตามหลักเพอร์คัลเชอร์ และการวิเคราะห์พื้นที่ก่อนซื้อที่ดินสำหรับบ้านสวนเกษตร ฯลฯ ที่งานเกษตรแฟร์ ปี 2567 

หลักการธรรมชาติในฟาร์ม

“อ้าว ! ทำไมดินที่ขุดแข็งมาก ไม่เหมือนฟาร์มในออสเตรเลียเลย เช็งนั่งร้องไห้เลย ” เช็ง เล่าช่วงเริ่มต้น ส่วนเรื่องสนุกๆ ในแบบของเธอก็คือ ผลลัพธ์บางเรื่องเป็นที่น่าพอใจ

"พ่อมีที่ดินสวนมะพร้าว 14 ไร่ ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เราขอหนึ่งงานทดลองปลูกผัก ปะป๋าบอกว่า สองเดือนก็ร้องไห้กลับบ้าน ผ่านไปสามเดือน มีแครอท ผักสลัด ข้าวโพดให้ปะป๋ากิน และได้เริ่มทดลองหลายทฤษฎีที่เรียนมา เน้นการวิเคราะห์องค์ประกอบ

แล้วค่อยจัดวางพื้นที่ ทำแปลงปลูกข้าวโพด 14 วันต่อมาลงเมล็ดถั่วฝักยาวและฟักทอง เราต้องวิเคราะให้ได้ว่า พืชแต่ละชนิดเติบโตอย่างไร ชอบน้ำมากหรือน้อย ให้ปุ๋ยอะไร 

 

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

แทนที่จะทำค้างให้ถั่วเลื้อย ก็ใช้ลำต้นข้าวโพดให้เลื้อย ถั่วฝักยาวเลื้อยขึ้นข้างบน ฟักทองเลื่อยคลุมดิน หญ้าก็จะไม่ขึ้นในแปลงข้าวโพด ปกติปลูกข้าวโพดหนึ่งต้นได้สองฝัก ปรากฎว่าได้สี่ฝัก เพราะพืชไม่แย่งอาหารกัน"

นั่นเป็นช่วงปี 2013 เธอทดลองทำการเกษตรในวันเสาร์-อาทิตย์เป็นเวลา 8 เดือน กระทั่งหัวหน้าเก่าเรียกตัวกลับไปทำงาน สัญญาจ้าง 3 ปี เช็งเล่าว่า ถ้าจะทำแบบเพอร์มาคัลเชอร์ในสวนมะพร้าวไม่สามารถขยายความฝันได้ จึงตัดสินกลับมาทำงานออฟฟิศ เก็บเงินซื้อที่ดินผืนเล็กๆ ทำได้ปีกว่าๆ ลาออก เพื่อทำตามฝัน ประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ

"ตอนนั้นดินแข็งมาก ก็พยายามหาวิธีทำให้ง่ายขึ้น ไม่คิดจะเลิกทำ จนมาซื้อที่ดินสองไร่กว่าๆ  บริหารจัดการพืื้นที่ด้วยตัวเอง 95 เปอร์เซ็นต์ มีบ้านสังกะสีเล็กๆ ทำระบบน้ำ เลี้ยงไก่ ขุดสระน้ำ 

สวนของเราไม่ได้สวย อยู่กลางทุ่งนา มีเพื่อนบ้านหนึ่งหลัง เช็งไม่มีญาติหรือคนรู้จักในโพธารามเลย ปีแรกสร้างบ้านเล็กๆ  ปีที่สองสร้างแหล่งอาหาร และปีที่สามเจอโควิด ทำให้เห็นว่ามาถูกทางแล้ว มีปลา ไก่ ต้นเลี่ยน ใบมันปู ผลไม้

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ กระต่ายและไก่ช่วยเปลี่ยนหญ้าเป็นปุ๋ย

เราทำงานสายธุรกิจมา ต้องรู้จักจัดการความเสี่ยง ถ้าอยู่ไม่ได้ ที่ดินก็ขายได้ เราวิเคราะห์พื้นที่รู้ว่ามีมูลค่าในอนาคต  ตอนนั้นไม่ได้มั่นใจเต็มร้อยว่าอยู่ได้ ถ้าพูดถึงการผลิตอาหารกินเอง เรากับหมาสี่ตัว มีอาหารเพียงพอ"

กว่าจะเป็นฟาร์มเช็งเชื่อ

ฟาร์มเช็งเชื่อ ไม่ใช่ฟาร์มที่สวยงาม แต่เป็นฟาร์มที่มีการออกแบบให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช็งดัดแปลงสิ่งนั้นสิ่งนี้มาใช้ตามความเหมาะสม เรียนผิดเรียนถูกหาจุดที่ลงตัว  

“พอเปลี่ยนมายเซ็ท บ้านสังกะสีที่ปะป๋าให้คนงานช่วยสร้างตามที่เราออกแบบ ทั้งๆ ที่เบี้ยว ก็มีความสุขได้ ตอนที่ไปอยู่เชียงใหม่เพื่อเรียนที่นั่น เช่าบ้านดีๆ อยู่ ก็คิดถึงพื้นที่กว้างๆ ที่ปลูกมะเขือเทศของเรา”

ย้อนไปถึงตอนเป็นมนุษย์ออฟฟิศ  หลังจากเช็งเรียนจบปริญญาโทที่อังกฤษกลับมาทำงานมีรายได้ 6 หลัก แต่ก็แลกกับปัญหาสุขภาพ จึงต้องหาทางเลือกใหม่

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ “ก่อนมาทำฟาร์ม ตอนปี 2554 เกิดวิกฤตน้ำท่วม เราถูกตัดขาดจากห่วงโซ่อาหาร เช็งก็เลยสนใจเรื่องที่มาของอาหาร จึงไปนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ปกติเราทำงานแบบสัญญาจ้างปีต่อปี ประกอบกับป่วยเจอเนื้องอก หมอบอกว่า เครียด ประชุมเยอะ ขับรถนานเกินไป รวมถึงปัญหาอาหารการกิน บอกให้เปลี่ยนไลฟ์สไตล์”

ตอนที่เช็งตัดสินใจไปเป็นอาสาสมัครช่วยงานในฟาร์มโครงการ WWOOF นิวซีแลนด์ ได้เรียนรู้วิธีทำสวนสี่เดือน ตอนนั้นไปเจอ Host Family ที่ผู้ชายเป็นนักบิน ผู้หญิงเป็นสถาปนิก เขาถามเราว่ารู้จักเพอร์มาคัลเชอร์ไหม ก็เลยสนใจ จากนั้นบินไปออสเตรเลียสามเดือน ดูงานศิลปะและทำงานในฟาร์ม

“ตอนนั้นเป็นอาสาสมัคร 3-4 แห่ง เน้นเที่ยวดูงานศิลปะ นั่งเรือจากเกาะเหนือลงเกาะใต้ ตอนไปพิพิธภัณฑ์เจอคุณลุงฝรั่งเป็นลมก็เข้าไปช่วย และมาเจอกันอีกที่โฮลเทล

จากนั้นบินไปเที่ยวฟาร์มคุณลุงที่เมืองบริสเบน ลูกชายคุณลุงทำงานเกี่ยวกับเพอร์มาคัลเชอร์ สถาบันที่ก่อตั้งโดย Bill Mollison เขาแนะนำให้ไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่จอร์แดน พวกเขาทำให้ทะเลทรายเป็นสีเขียวได้ พอกลับมาเมืองไทย ปี 2017 จึงบินไปจอร์แดน เป็นเวลาหนึ่งเดือน"

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

มุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป

ประสบการณ์ในฟาร์มจากนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และการเรียนเพอร์มาคัลเชอร์ที่จอร์แดน ทำให้เช็งต่อภาพจิกซอว์ได้ชัดขึ้น เช็ง เล่าถึงชีวิตช่วงนั้นว่า ตอนอยู่ในฟาร์มที่ออสเตรเลียช่วยเขาสร้างบ้านบนต้นไม้  ทำให้เห็นว่าหลักเพอร์มาคัลเชอร์ไม่ใช่แค่การเกษตร แต่มันคือ Living พื้นที่ 1 เอเคอร์เขาทำคนเดียวได้

“ตอนเรียนคอร์สสั้นๆ ที่ศูนย์ที่เป็นพื้นที่สีเขียว กลางทะเลทรายในจอร์แดน เมื่อพวกเขาขุดบ่อน้ำไม่ได้ ก็สร้างแทงค์น้ำจากหินที่ขุดมาจากในดิน เพื่อเก็บน้ำไว้ปลูกผัก

เมื่อพื้นที่เป็นทราย เก็บน้ำยากก็ใช้นวัตกรรม เราได้เรียนรู้กระบวนการคิดมากกว่ากระบวนการทำ ได้เห็นว่า จอร์แดนเป็นทรายปลูกผักได้ ถ้ากลับไปเมืองไทย ยังไงก็ทำได้” 

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ ผลผลิตฟาร์มเช็งเชื่อ แค่ทำดินให้ดี ไม่จำเป็นต้องดูแลมากมาย  

เช็ง เล่าถึงการใช้ชีวิตในฟาร์มที่ออสเตรเลีย ทำให้มายเซ็ทเปลี่ยนไป ตอนนั้นช่วยลูกชายคุณลุงฝรั่งที่เป็นลมสร้างบ้านบนต้นไม้ ทำให้เรามีทัศนคติใหม่ 

"ตอนอยู่บ้านบนต้นไม้จะลงมาเข้าห้องน้ำ มีงูเหลือมนอนอยู่ตรงบันได เราบอกให้เขาช่วยไล่งู เขาบอกว่า "ไม่ไล่...ยูต้องฉี่จากด้านบนลงมาตรงที่งูนอน ทุกอย่างอยู่ที่คุณคิดในหัว

ถ้าคิดว่างูจะฉก ก็เกิดจากความกลัวของคุณ ทำให้คุณคิดว่าทำนั่น ทำนี่ ไม่ได้“ เราก็เลยปัสสาวะรดหัวงู มันก็ไม่ฉก งูก็แค่หันมามอง นั่นเป็นจุดเปลี่ยนเลย ถ้าเชื่อว่าทำได้ ก็ต้องทำได้ ต้องลบความกลัวออกไปก่อน ที่เราเริ่มทำตรงนี้ได้เพราะมายเซ็ท"

ถ้าวันนั้นไม่กล้าปัสสาวะรดหัวงู คงไม่มีฟาร์มเช็งเชื่อ พื้นที่ทดลองหลักวิชาการต่าง ๆ ที่เรียนมา เพื่อจะนำไปสอนหลักสูตรฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้น วิชาการออกแบบพื้นที่ทางการเกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ ถ้าออกแบบพื้นที่ดี จัดวางมุมบ้านดี อยู่สบาย ถ่ายปี 2562

 “วิชานี้สอนมาหลายครั้งแล้ว หลายคนไม่สามารถมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนี้เราก็อยากทำในยูทูบ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ศึกษาทดลอง แต่ยังไม่เก่งเรื่องการตัดต่อวิดีโอ”

 นี่คือ เส้นทางที่ใช่ในแบบเช็ง เมื่อเลือกแล้วต้องไปให้สุด ค่อยๆ เรียนรู้ เติมในสิ่งที่ขาด   

“สำหรับเช็งไม่ใช่แค่เรื่องอาหาร ถ้าไม่เปลี่ยนไลฟ์สไตล์อาจเป็นมะเร็งได้ เพราะตอนเป็นมนุษย์ออฟฟิศทำงานหนัก ทั้งร่างกายและจิตใจ ถ้าต้องทิ้งเงินเดือนหกหลัก เราก็ต้องวิเคราะห์ว่า ต้องลงทุนทำอะไร เช็งเลือกซื้อที่ดิน ลดค่าใช้จ่ายสร้างแหล่งอาหาร พึ่งพิงตนเอง”

.................

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

คิดก่อนออกแบบพื้นที่สวนเกษตร

#ต้นทุนชีวิตและเป้าหมาย ต้องสอดคล้องกันอย่างไร

"ไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว ทักษะก็สำคัญ ยกตัวอย่าง เช็งมีปะป๋าทำรับเหมาก่อสร้าง มีรถแม็คโคร คนงาน มีเศษวัสดุเหลือใช้เยอะ เพอร์มาคัลเจอร์เน้นให้ใช้วัสดุมือสอง เราก็ดูต้นทุนที่มี 

ส่วนทักษะที่เราเรียนรู้ อาศัยว่าเช็งเคยเรียนที่อังกฤษ เขาสอนให้ทำการวิจัย ศึกษา ทดลอง เปรียบเทียบเกิดกระบวนการอ่านแล้วนำมาวิเคราะห์จดบันทึก

บางคนอาจมีพ่อแม่เป็นเกษตรกร เป้าหมายคือ อยากมีสวนเกษตร ก็ใช้เวลาเสาร์อาทิตย์ทำการเกษตรได้ เป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับทุนชีวิต แต่ถ้าเป็นพนักงานออฟฟิศ มีเป้าหมายอยากรวยจากการเกษตร หนึ่งไร่หนึ่งล้าน แบบนี้เรียกว่าเป้าหมายไม่สอดคล้องกัน ทำงานออฟฟิศโต๊ะสองตารางเมตรได้เงินมากกว่าทำการเกษตรหนึ่งไร่

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ ถ้าทุนชีวิต ทักษะ เงิน สอดคล้องกับเป้าหมาย การออกแบบพื้นที่ อย่าทำตูมเดียว ให้ทำเป็นเฟสๆ วางแผนเป็นลำดับขั้นว่า ปีแรกอยากได้อะไร..."

#โคก หนอง นา ,เกษตรทฤษฎีใหม่ และเพอร์มาคัลเชอร์ เหมือนและต่างกันอย่างไร

"ตอนไปเรียนปริญญาโท มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตอนนั้นอยากได้ความรู้เรื่องการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน อีกอย่างไม่มีใครตอบเราได้ จึงไปเรียน เพราะคนที่สอนคือ คนที่สนองงานพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เราก็ได้คำตอบชัดเจนว่า ทั้งสามเรื่องไม่เหมือนกัน แต่มีจุดร่วม 

โคก หนอง นา เป็นการต่อยอดแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ นำมาเป็นภาษาชาวบ้านให้กระจายแนวคิดเร็วขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นความคิดคนตะวันออกเฉียงใต้ บังเอิญสอดคล้องกับเพอร์มาคัลเชอร์ของ Bill Mollison ชาวออสเตรเลีย แค่เกิดขึ้นคนละประเทศ

จุดร่วมคือ การพึ่งพาตนเอง จุดต่างคือ วิธีการ ทั้งโคกหนองนา และเกษตรทฤษฎีใหม่ เน้นเรื่องการปฎิบัติด้านการเกษตร แต่เพอร์มาคัลเชอร์ การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดนี้

ความแตกต่างคือ เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถใช้ทรัพยากร เครื่องจักร ยาฆ่าแมลงและสารเคมีได้ แต่เพอร์มาคัลเชอร์ เน้นเรื่องการทำงานร่วมกับธรรมชาติ ใช้วิธีนกกินแมลง หรือแมลงกินมด ข้อเสียคือทำงานช้า "

เช็งกี้กับฟาร์มเล็กๆ เพอร์มาคัลเชอร์ ทั้งออกแบบพื้นที่และลงมือทำ

#ยกตัวอย่างการออกแบบเพอร์มาคัลเชอร์สักนิด ?

"สิ่งที่เราเรียนรู้มา ทำให้เราเห็นว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่ทฤษฎีทำได้จริง และไม่ยาก อย่างบ้านบนต้นไม้ที่ฟาร์มในออสเตรเลีย ด้านล่างเป็นสวนวงกลม มีหญ้าขึ้นเต็ม เขาเอากล่องกระดาษมาปู แล้วตามด้วยขี้เลื่อย ขี้ม้าและใบไม้ ตอนแรกคิดว่า เขาคงปลูกพืชเมืองหนาว แต่กลับพบว่า มีพืชหลากหลายอยู่ร่วมกัน บางช่วงสภาพอากาศร้อนชื้นและหนาวคล้ายเมืองไทยเขาสามารถปลูก ข่า ใบมะกรูด ขิง ดาหลา ฯลฯ ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องอากาศและภูมิประเทศในการทำเกษตรเลย เขาอธิบายว่า ทำไมปลูกดาหลา มะกรูดไว้ตรงนี้

กระบวนการคิดเพอร์มาคัลเชอร์ วิเคราะห์แสงแดด ลม น้ำ สอนให้เราสังเกต และการจัดวางอย่างเกษตรผสมผสาน เราก็รู้แค่เอาทุกอย่างมาปลูกรวมกัน แต่หลักเพอร์มาคัลเชอร์มากกว่านั้น "

"""""""""""""""""""""""

ภาพ : เฟซบุ๊ก ฟาร์มเช็งเชื่อ Chengcheu Permaculture Farm