นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

กรมศิลปากร ร่วมส่งความสุขปีใหม่ 2567 รับนักษัตรปีมะโรง จัดนำชมกรณีพิเศษ 10 โบราณวัตถุ – ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญภายใน ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ สัญลักษณ์พญานาค เกี่ยวเนื่อง ‘ปีมะโรง’

สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร โดย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมส่งความสุขต้อนรับปีใหม่ มีความประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ในตำนาน ทั้งงูหงอน นาค มกร มังกร และเหรา ในความเหมือนและแตกต่าง 

ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ ปีมะโรง ที่มาถึงในพุทธศักราช 2567 ผ่านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

โดยจัดนำชม 'พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร' เป็นกรณีพิเศษภายใต้ชื่อกิจกรรม มะโรงนักษัตรทัวร์ พาชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุชิ้นสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนักษัตร ปีมะโรง  เพื่อประดับเป็นความรู้และทราบเกร็ดประวัติความเป็นมาของโบราณวัตถุที่มีความสวยงามตามกาลเวลา

แบ่งการนำชมออกเป็น 3 เส้นทาง โดยทั้งสามเส้นทางมีตัวอย่าง โบราณวัตถุ - ศิลปวัตถุ ชิ้นสำคัญควรชม ได้แก่

 

1 :: พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ (พระที่นั่งพุทไธสวรรย์)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง พระพุทธสิหิงค์ ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์

สักการะ 10 พระพุทธรูปสำคัญรับพรปีใหม่ในกิจกรรม พุทธบูชานาคสัมพัจฉร์ หรือพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับ พญานาค และเรียนรู้เรื่องราวของนาคต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา

อาทิ พระพุทธสิหิงค์ พระประธานภายใน 'พระที่นั่งพุทไธสวรรย์' ซึ่งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตำนานบันทึกว่ามีพระลักษณะละม้ายองค์ 'พระสัมมาสัมพุทธเจ้า' มากที่สุด

เนื่องจากได้ถอดมาจากรูปแปลงของ 'พญานาค' ที่เคยเห็นพระพุทธองค์ เนรมิตกายให้ช่างปั้นขี้ผี้งดูเป็นแบบอย่าง เพื่อปั้นเป็นต้นแบบสำหรับการหล่อเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์นี้

2 :: หลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร (พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

หลายคนเดินผ่านหลายครั้งคงเคยสงสัย 'ภาพบนบานพระทวารคู่กลาง' ของ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย คือภาพอะไรกันแน่ 

มีคำตอบแล้วว่านี่คือ ภาพจิตรกรรม ‘ปลาไน’ กระโดดข้ามประตูมังกร จนกลายร่างเป็น ‘มังกรห้าเล็บ’

มังกรห้าเล็บ เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ระบุ อำนาจ และ ลำดับชั้นความสำคัญสูงสุด ของประเทศจีน ผู้สวมเสื้อคลุมที่ปักรูปมังกรห้าเล็บได้ มีเพียงจักรพรรดิหรือฮ่องเต้แห่งประเทศจีนเท่านั้น ผู้มีอำนาจและชั้นตำแหน่งต่ำลงมาจะสวมเสื้อคลุมที่ปักรูปมังกร 4 เล็บหรือน้อยกว่า

ภาพจิตรกรรมนี้เป็นภาพเขียนลายกระบวนจีนด้วยเทคนิคสีฝุ่นผสมรัก ตัดเส้นโรยฝุ่นทองตามแบบศิลปะจีน ไทยเรียก ‘ลายกำมะลอ’ เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 

คาดว่าวาดขึ้นโดยฝีมือช่างจีนและช่างไทยในช่วงพระชนม์ชีพของ ‘สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ’ พระองค์ทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

3 :: ธรรมาสน์กลมยอดทอง จากวัดค้างคาว (มุขเด็จ)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง งานศิลปกรรม 'มนุษยนาค'

ธรรมาสน์กลมยอดทองสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีรูปลักษณ์หาชมได้ยากหลังนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงได้มาจาก วัดค้างคาว เมืองนนทบุรี ต่อมาพระราชทานแด่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

องค์ประกอบธรรมาสน์หลังนี้โดดเด่นด้วย บันไดมนุษยนาค หรือบันไดขึ้นธรรมาสน์ที่สลักเสลาเป็นรูป มนุษยนาค งานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู ใช้สำหรับวัดและวัง

ปกติ ‘นาค’ มักมีรูปลักษณ์เป็นงูใหญ่ แต่ ‘มนุษยนาค’ คือนาคที่แสดงฤทธิ์อำนาจนิรมิตตนอยู่ในรูปของเทพบุตร เศียรเป็นมนุษย์สวมเครื่องประดับศีรษะ ส่วนกายท่อนล่างเป็นนาค

 

4 :: นาฬิกาธูปรูปเรือมังกร (พระที่นั่งพรหมเมศธาดา-ล่าง)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

นาฬิกาธูปรูปเรือมังกรประดับมุก (ไม่มีรางจับเวลาและลูกตุ้มบอกเวลา) อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 (200-300 ปี) สันนิษฐานว่า มีกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย

ใช้ประโยชน์สำหรับจุดธูปจับเวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามหายาน ต่อมาแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีน จนพัฒนารูปแบบของตนเอง และส่งต่อสู่เวียดนาม เกาหลี รวมถึงญี่ปุ่น

 

5 :: ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ (ห้องลพบุรี)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมบนหลังมกรที่เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) จากปรางค์กู่สวนแตง บ้านดงยาง ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ 

มกร อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นคำภาษาสันสกฤต ในพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2550 ได้ให้ความหมายว่า เป็นสัตว์ตามจินตนาการของช่างอินเดียโบราณ

ปรางค์กู่สวนแตง เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 มีการใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 (ราว 800-900 ปีมาแล้ว)

บทความเรื่อง Stolen Art Objects Returned to Thailand ของ ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ระบุว่า ทับหลังองค์นี้ถูกขโมยไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2507 หลังจากนั้นไปปรากฏในแคตตาล็อกของ Mr.Avery Brundage และนำไปจัดแสดงที่ De Young Museum ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา 

หลังติดตามทวงคืนเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงได้รับ ‘ทับหลังกู่สวนแตง’ หรือ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์จากกู่สวนแตง คืนกลับสู่มาตุภูมิ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2513 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นี่เอง

 

6 :: นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส (ห้องชวา - ศรีวิชัย)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

ภาพสลักจากบุโรพุทโธเป็นภาพนางสุชาดาพร้อมเหล่านางทาสีถวายข้าวมธุปายาสแด่พระโคตมโพธิสัตว์ใต้ต้นไทร ด้วยเข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาที่นางเคยขอสามีและบุตรชายไว้

เมื่อพระโพธิสัตว์เสวยข้าวนั้นแล้วลอยถาดที่แม่น้ำเนรัญชรา โดยอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า 
“ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ” 

ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่งจึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระอดีตพุทธเจ้าสามพระองค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า และพระกัสสปพุทธเจ้า 

พญานาคราช ซึ่งกำลังหลับอยู่ในนาคพิภพ เมื่อได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงรู้ได้ทันทีว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกหนึ่งพระองค์แล้ว

 

7 :: พระอิศวร (ห้องสุโขทัย)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

พระอิศวรทรง สังวาลนาค จากการกวนเกษียรสมุทร เดิมประดิษฐานที่หอเทวาลัยเกษตรพิมาน โบสถ์พราหมณ์ เมืองเก่าสุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท)

เทวรูปพระอิศวรองค์นี้มีความสูง 3.08 เมตร พระเศียรทรงชฎามกุฏ ประดับปิ่นรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวร 

พระพักตร์รูปไข่ พระเนตรรียาว มีพระเนตรที่สาม สัญลักษณ์แห่งไฟบรรลัยกัลป์และการทำลายล้าง (เพื่อให้เกิดการสร้างขึ้นใหม่) พระนาสิกงุ้ม แย้มพระสรวลเล็กน้อย

พระวรกายอวบอ้วน พระอุระกว้าง ทรงภูษายาว และมีผ้าอีกผืนหนึ่งเหน็บเป็นชายพกห้อยออกมาทางด้านหน้าของสายรัดประคดและทิ้งชายทั้งสองข้าง

ลักษณะการวางนิ้วมือ หรือ มุทราของพระหัตถ์ในลักษณะนี้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าอาจเป็นท่าสำหรับให้ผู้บูชานำดอกไม้มาสอดเพื่อบูชา

บางท่านว่าใช้สำหรับวางสิ่งของซึ่งเป็นส่วนหล่อแยกชิ้น แต่ได้สูญหายไปแล้ว ข้างหนึ่งอาจเป็นตรีศูล อีกข้างอาจเป็นประคำ ตามประติมานวิทยาที่ปรากฎโดยทั่วไปของพระอิศวร

 

8 :: พระแท่น (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

พระแท่นไม้จำหลักลายปิดทอง สันนิษฐานเป็นของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ลักษณะเป็นตั่งไม้ฐานสิงห์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีพนัก ส่วนฐานตั่งทั้ง 4 ด้านตกแต่งลักษณะคล้ายขาสิงห์ จำหลักลาย ‘ค้างคาว’ สัญลักษณ์มงคลจีน แทนคำว่า ‘ฮก’ มีความหมายถึงอายุยืนยาว

กาบเท้าสิงห์จำหลักรูปช่อพรรณพฤกษา ขาตั่งรองรับด้วยรูปจำหลักสิงโตหมอบเชิดหน้าขึ้น บางตัวแสดงการคาบลูกแก้วอยู่ในปาก

บริเวณกึ่งกลางท้องสิงห์ด้านหน้าตั่งจำหลักรูป ‘มังกรคู่’ หันหน้าเข้าหากัน คั่นด้วยดาบ มีอักษรจีนคำว่า ‘หวัง’ หมายถึงกษัตริย์ 

ด้านข้างจำหลักลายพรรณพฤกษารูปดอกไม้และ ส้มมือ (หมายถึง ‘ฮก’ สื่อถึงวาสนา หรือยศถาบรรดาศักดิ์)  มีสัญลักษณ์มงคลแทรกรวมอยู่ด้วย อาทิ รูปหนังสือ หรือคัมภีร์ 2 เล่ม ร้อยด้วยริบบิ้น และ รูปน้ำเต้าประดับด้วยริบบิ้น 

ถัดขึ้นมาส่วนท้องไม้ แบ่งออกเป็นสามช่อง สลักเป็นลายพรรณพฤกษารูปดอกไม้ชนิดต่าง ๆ อาทิ ดอกโบตั๋น ดอกบ๊วย และดอกเบญจมาศ ดอกไม้ทั้งสามชนิดเป็นสัญลักษณ์มงคลในศิลปะจีน มีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความมีโชคลาภและความมีอายุยืนยาว อีกทั้งจำหลักรูปนกแทรกอยู่ตามกิ่งไม้ 

ด้านข้างพระแท่นบริเวณท้องสิงห์ จำหลักลายพรรณพฤกษา มีรูปดอกไม้ต่าง ๆ เช่น ดอกพุดตาน ดอกบัว ถัดขึ้นมาเป็นลายหงส์คู่ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา

 

9 :: พระเก้าอี้พับ  (ห้องธนบุรี - รัตนโกสินทร์)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

พระเก้าอี้พับ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน เจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้ทอดถวายแทนในกรณีที่ไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับถวาย รวมถึงใช้ในการเสด็จงานพระราชสงครามด้วย

ไม้พนักเก้าอี้จำหลักรูป มังกร และสิงโต ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 (200 ปีมาแล้ว) วัสดุไม้ลงรักปิดทองและงานหนังสัตว์ กลางพนักมีนวมหนังสำหรับรับพระปฤษฎางค์เมื่อเอนพระองค์ลงพิง

 

10 :: อรหันต์ปราบมังกร (ศาลเจ้าพ่อหอแก้ว)

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

เซียงหลงหลอฮั่น หรือ อรหันต์ปราบมังกร เป็นหนึ่งใน 18 อรหันต์ของจีน ท่านมีนามว่า พระมหากัศยปะ ซึ่งบางคนเชื่อว่า ‘พระอรหันต์จี้กง’ ก็คือร่างหนึ่งของอรหันต์ปราบมังกร 

เดิมที มีเพียง 16 อรหันต์เท่านั้นที่กล่าวถึงในพระสูตรจากอินเดีย ต่อมามีการเพิ่มพระอรหันต์เข้าไปอีก 2 รูป ช่วงปลายราชวงศ์ถังต่อกับสมัย 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักรของจีน คือ 'อรหันต์ปราบมังกร' กับ อรหันต์ปราบเสือ

ประติมากรรมหินแกะสลัก อรหันต์ปราบมังกร ปั้นเป็นรูปพระอรหันต์จีนกำลังเหยียบมังกร ตั้งอยู่ที่เขามอของ 'ศาลเจ้าพ่อหอแก้ว' ด้านข้างของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

นำชม 10 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สัมพันธ์ปีมะโรง

บรรยากาศ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

การนำชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในกิจกรรม มะโรงนักษัตรทัวร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2566 วันละ 1 รอบ เปิดรับลงทะเบียนเวลา 17.00 น. ณ บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา 18.00 น. โดยภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์