นิทรรศการภาพถ่ายหน้ากากวัชระ เปิดประตูอารามหลวงมองโกเลีย

นิทรรศการภาพถ่ายหน้ากากวัชระ เปิดประตูอารามหลวงมองโกเลีย

มองโกเลีย ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ถ้ามองจากมุมของไทยจะว่าใกล้ก็ไม่ใช่ จะว่าไกลก็ไม่เชิง จะสนิทก็ไม่ลึกซึ้งจะห่างเหินก็พูดไม่ได้ จำเป็นอยู่เองที่ต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนี้ให้มากขึ้นในฐานะมิตรประเทศร่วมภูมิภาค

โชคดีที่เมื่อวันอังคาร (24 ต.ค.) World Pulse ได้ไปร่วมพิธีเปิดงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย People and Their World - “Tsam, the Dance of Gods” โดย เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ (JKboy) นับเป็นโอกาสให้ได้รู้จักมองโกเลียให้มากขึ้น เจตนิพัทธ์ เป็นศิลปินช่างภาพชาวไทยผู้หลงใหลในเรื่องราวของชนเผ่าและวัฒนธรรม ผลงานภาพถ่ายของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลกมาแล้วมากมาย ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศมองโกเลียยังแต่งตั้งให้เจตนิพัทธ์เป็นทูตวัฒนธรรมมองโกเลียอีกด้วย  นิทรรศการภาพถ่ายหน้ากากวัชระ เปิดประตูอารามหลวงมองโกเลีย

(เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ JKboy)

ภาพถ่ายในนิทรรศการ People and Their World - “Tsam, the Dance of Gods” ศิลปินนำผู้ชมเปิดประตูเข้าสู่อารามหลวงโบราณอายุกว่า 300 ปีที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาลึกของประเทศมองโกเลีย เพื่อสัมผัสระบำหน้ากากวัชระ (Tsam) อันศักดิ์สิทธิ์ ภาพถ่ายเผยให้เห็นถึงเรื่องราวของพิธีกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างสรรค์หน้ากากวัชระ การอนุรักษ์หน้ากากและเครื่องทรง ไปจนถึงพิธีกรรมที่สวมใส่ร่ายรำโดยเหล่าลามะระดับสูงในอารามโบราณ เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายต่างๆ 

ความเป็นมาเป็นไปของนิทรรศการภาพถ่าย เจตนิพัทธ์เผยว่า ตนได้ช่วยทางมองโกเลียทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการไปถ่ายภาพตั้งแต่เมื่อสิบปีก่อนตอนที่การท่องเที่ยวมองโกเลียยังไม่ดัง ชาวบ้านยังไม่มีรายได้ หลายคนเข้าไปทำงานในเมืองเสี่ยงที่วัฒนธรรมท้องถิ่นจะสูญหาย เจตนิพัทธ์จึงเข้าไปถ่ายภาพนำมาเผยแพร่สู่โลกภายนอก นักท่องเที่ยวพากันมามองโกเลียทำให้การท่องเที่ยวเติบโต ทางมองโกเลียจึงแต่งตั้งให้เป็นทูตวัฒนธรรม 

สำหรับภาพถ่ายในนิทรรศการ People and Their World - “Tsam, the Dance of Gods” เจตนิพัทธ์ใช้เวลาสองปี จากแรงบันดาลใจที่เป็นคนชอบหน้ากากและวัฒนธรรมพุทธแบบวัชระยานอยู่แล้ว เขาพยายามหาทางเข้าไปถ่ายภาพหน้ากากในวัดแต่ไม่ได้รับอนุญาตเพราะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โชคดีที่ได้เอกอัครราชทูตมองโกเลียเข้ามาช่วยเหลืองานให้งานสำเร็จลุล่วง  นิทรรศการภาพถ่ายหน้ากากวัชระ เปิดประตูอารามหลวงมองโกเลีย

“การทำโปรเจคนี้ทำให้ผมไปมองโกเลียบ่อยมาก ได้เพื่อนชาวมองโกเลียมากขึ้นจนกระทั่งเขาให้ม้าผมเลย ตอนนี้ผมมีม้าอยู่ที่มองโกเลียแล้ว” ศิลปินพูดถึงความประทับใจระหว่างสร้างสรรค์ผลงาน และจากความทุ่มเททำงานก่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างมองโกเลียและไทย ขณะนี้เจตนิพัทธ์กำลังทำโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ นำศิลปินมองโกเลียมาศึกษาเรื่องโขนแล้วนำศิลปินโขนไทยไปดูการทำหน้ากากของมองโกเลียที่เป็นผลงานทั้งด้านศิลปะและศาสนา ส่วนโปรเจคถัดไปที่เจตนิพัทธ์จะทำร่วมกับมองโกเลียคือการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า อาจจะเป็นการจัดนิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับมองโกเลียทั้งหมดและนำงานศิลปะจากมองโกเลียเข้ามาเพิ่มเติม

นิทรรศการภาพถ่าย People and Their World - “Tsam, the Dance of Gods” ยังคงจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 5 ธ.ค.2566 ที่ RCB Galleria 3 ชั้น 2 ริเวอร์ซิตี้ กรุงเทพฯ เชื่อแน่ว่าใครได้ชมจะต้องอยากไปสัมผัสมองโกเลียด้วยตนเอง ทูมูร์ อามาร์ซานา (H.E. Mr. Tumur Amarsanaa) เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย เล่าเพิ่มเติมว่า มองโกเลียเป็นประเทศแลนด์ล็อกกว้างใหญ่และสวยงามในเอเชียตะวันออก ให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าประทับใจไม่รู้ลืมด้วยธรรมชาติสวยงามและรุ่มรวยมรดกทางวัฒนธรรม ช่วงไม่กี่ปีมานี้นักท่องเที่ยวนิยมไปมองโกเลียเพื่อชื่นชมความหลากหลาย เช่น ทุ่งหญ้าสุดลูกหูลูกตา ทะเลทรายโกบี ทะเลสาบบริสุทธิ์ เทือกเขาอัลไต วัฒนธรรมชนเผ่า สัตว์ป่า การท่องเที่ยวผจญภัย และแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ นิทรรศการภาพถ่ายหน้ากากวัชระ เปิดประตูอารามหลวงมองโกเลีย (ทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย)

จากความมุ่งมั่นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มองโกเลียเป็นจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นไม่เหมือนใครสำหรับคนที่ต้องการเชื่อมโยงธรรมชาติกับวัฒนธรรม รัฐบาลประกาศให้ปี 2566-2568 เป็น “ปีแห่งการท่องเที่ยวมองโกเลีย” เพื่อประชาสัมพันธ์มองโกเลียในต่างประเทศ กระตุ้นกิจกรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน

“ในฐานะเอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรไทย ผมให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวระหว่างกัน เรามีแผนทำโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อแสดงให้เห็นถึงมรดกและวัฒนธรรมอันรุ่มรวยระหว่างสองประเทศ เช่น นิทรรศการศิลปะ ดนตรีและการแสดง การทำอาหารส่งเสริมความเข้าใจและความซาบซึ้งในวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ”

ทูตกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดร่วมกันเพื่อให้คนไทยรู้จักการท่องเที่ยวมองโกเลียมากขึ้น เช่นเดียวกับการทำให้คนมองโกเลียรู้จักการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะมีทั้งการจัดเทศกาลท่องเที่ยว การตลาดออนไลน์ บริษัทท่องเที่ยวเป็นพันธมิตรกันเพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเปิดเที่ยวบินตรงไทย-มองโกเลียตลอดทั้งปี ซึ่งการปรับปรุงการเดินทางทางอากาศจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากเพราะนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบายได้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้มองโกเลียแอร์ไลน์ “MIAT” มีเที่ยวบินตลอดช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.ไปจนถึง มี.ค.

ยิ่งไปกว่านั้นต้องส่งเสริมให้บริษัททัวร์ไทยและมองโกเลียเป็นพันธมิตรกันสร้างแพ็กเกจท่องเที่ยวอันโดดเด่นดึงส่วนที่ดีที่สุดของทั้งสองประเทศมาโชว์

“การปฏิบัติตามแผนการเหล่านี้ทั้งมองโกเลียและไทยจะสามารถสร้างเสริมความเข้าใจวัฒนธรรม ขยายการท่องเที่ยว และสร้างการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนให้มีความหมายได้มากยิ่งขึ้น สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ขนบธรรมเนียมประเพณีและประสบการณ์ได้” ทูตมองโกเลียกล่าวโดยสรุป

(ภาพจากเพจ River City Bangkok)