ภาพยนตร์เปิดโลกเชื่อมวัฒนธรรมมองโกเลีย-ไทย

ภาพยนตร์เปิดโลกเชื่อมวัฒนธรรมมองโกเลีย-ไทย

ไทยกับสาธารณรัฐมองโกเลียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันมาตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.2517 แต่เมื่อพูดถึงประเทศนี้ คนไทยหลายคนอาจจดจำภาพที่เห็นผ่านภาพยนตร์จีนซึ่งไม่ได้บ่งบอกความเป็นมองโกเลียที่ชัดเจน

กรุงเทพธุรกิจมีโอกาสพูดคุยกับ ทูมูร์ อามาร์ซานา เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐมองโกเลียประจำประเทศไทยถึงความเป็นตัวตนที่แท้จริง การใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คน และความร่วมมือที่จะมีต่อกันในอนาคต 

Q: อยากให้ท่านสรุปสั้นๆ ถึงความเป็นมองโกเลียยุคใหม่ว่าคืออะไร

A:  เราเป็นประเทศประชาธิปไตย เศรษฐกิจระบบตลาด เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ นี่คือมองโกเลียยุคใหม่ เราเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แท้จริงแล้วเราคือประเทศที่ดีประเทศหนึ่งในเอเชียในการเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน   

แน่นอนว่าในฐานะประเทศ young democracy  มองโกเลียมีหลายเรื่องที่ต้องโฟกัส  เนื่องจากประชากรของเราเป็นคนหนุ่มสาว เราจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับดิจิทัล  Green economy  การพัฒนามนุษย์ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของเราอยู่ในระดับสูง ประชากรรู้หนังสือมากกว่า 99.2% ทุกๆ คนอ่านออกเขียนได้  นี่คือเซคเตอร์ที่เราให้ความสำคัญมาก 

นอกจากนี้เรายังเป็นประเทศเปิด มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสมาชิกยูเอ็นทุกประเทศ เปิดโอกาสทำงานร่วมกันในทุกสาขา อย่างไทยก็เป็นมิตรประเทศที่สำคัญกับเรามาก 

Q: มิติทางเศรษฐกิจของมองโกเลียเป็นอย่างไร 

A: 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเราได้อานิสงส์จากทรัพยากรธรรมชาติ  เริ่มสำรวจและส่งออก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราต้องพัฒนาประเทศบนฐานทรัพยากรของเราเอง บนพื้นฐานนี้ช่วยให้เราพัฒนาด้านอื่นได้ด้วย เช่น การพัฒนามนุษย์ ที่อยู่อาศัย การขนส่ง  มีบริษัทไทยไปลงทุนในมองโกเลียด้วย เป้าหมายเราคือบรรลุเป้าหมายการลงทุนโดยรวม 200 ล้านดอลลาร์ ถ้ามองให้แคบลงเป้าหมายของผมคือการค้าการลงทุนระหว่างกันถึงระดับ  100 ล้านดอลลาร์ภายใน 4 ปี 

ปกติเรานำเข้าสินค้าไทยหลายอย่างกระดาษ น้ำตาล อาหาร  สินค้าเกษตรอื่นๆ เครื่องกล เครื่องมือ บริษัทชื่อดังของไทยอย่างเรดบูลล์ก็เข้าไปในมองโกเลีย มีสินค้าวางขายในมองโกเลียด้วย เห็นได้ว่าเรา (ไทย-มองโกเลีย) มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเยอะมาก

บริษัทไทยอื่นๆ อยู่ในภาคเหมืองแร่ เริ่มมีบริษัทใหม่ๆ เข้าไปลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน เพราะเป็นพลังงานแห่งอนาคต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รากฐานอย่างหนึ่งของเราคือกรีนอีโคโนมี เรามีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีพื้นที่ที่ดีสำหรับการเพาะปลูก มีพลังงานจากแสงอาทิตย์ ในหนึ่งปี 365 วัน เรามีวันแดดจัดถึง 300 กว่าวันนำแสงแดดมาใช้ประโยชน์ได้

ตอนนี้มีบริษัทไทยอย่างน้อย 3 แห่งเข้าไปลงทุนและดำเนินงานด้านพลังงานหมุนเวียน บ้างผลิตแผงโซลาร์เซลล์ บ้างก็เริ่มทำโครงการผลิตไฟฟ้า

Q: เมื่อเดือน พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ของไทยมีโอกาสต้อนรับทูตมองโกเลียเป็นครั้งแรกหลังจากมีความสัมพันธ์ทางการทูตมานาน 47 ปี การพบกันครั้งนี้มีความหมายอย่างไร

A: เราอยากขยายความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุน ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว วัฒนธรรม แต่ต้องเป็นไปในหลายๆ เซคเตอร์ ด้านการศึกษาเราส่งนักเรียนแลกเปลี่ยนมาหลายคนแล้ว แต่ตอนนี้เราต้องมองที่การค้า ถ้าเราขยายการค้า คนก็แลกเปลี่ยนกันได้หลากหลายขึ้น การค้าเป็นเซคเตอร์ที่สำคัญมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมต้องไปที่กระทรวงพาณิชย์ เราหารือกันเรื่องการตั้งสภาธุรกิจทวิภาคี bilateral mechanism ประชุมกันทุก 1 หรือ 2 ปี หาความเป็นไปได้ขยายการค้า เศรษฐกิจระหว่างกัน รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปในทุกประเทศ เช่น ภาษี กระบวนการทางเอกสาร ระบบราชการล่าช้า กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศของทั้งไทยและมองโกเลียจะได้ประชุมกันทุกปีว่าทำอะไรไปแล้ว และจะทำอะไรต่อไป จะช่วยสนับสนุนภาคเอกชนอย่างไรได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ผมคุยที่กระทรวงพาณิชย์ 

Q: โอกาสของธุรกิจไทยในมองโกเลียมีมากน้อยแค่ไหน 

A: นอกเหนือจากด้านพลังงานหมุนเวียนแล้วก็มีอีกหลายสาขานะครับ เช่น เกษตร เรามีปศุสัตว์ (วัว แกะ แพะ) มากกว่า 70 ล้านตัวที่สามารถใช้ประโยชน์ ขณะที่มีประชากรเพียง 3.5 ล้านคนเท่านั้น เรามีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน คุณมีเทคโนโลยี มีโนว์ฮาว มีวิศวกรรมที่ดี เราสามารถผสานสิ่งเหล่านี้ได้ คุณมามองโกเลียใช้ทรัพยากรของเรา ผลิตสินค้าแล้วส่งออกไปประเทศที่ 3 ก็วิน-วินกันทั้งสองฝ่าย 

Q: สังเกตว่างาน THAIFAX เป็นอีกงานหนึ่งที่ท่านสนใจมาก 

A: ผมพยายามไปร่วมงานทำนองนี้ ตั้งแต่ปีหน้าผมจะนำบริษัทและสินค้ามองโกเลียมาร่วมงาน THAIFAX เพราะนี่เป็นงานระดับภูมิภาคใหญ่สุดของเอเชีย ผู้คนมาพบปะหารือธุรกิจกัน นับเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ครับ

Q: อยากให้เล่าถึงความคืบหน้าของความเป็นเมืองพี่น้องระหว่างกรุงเทพฯ กับอูลานบาตอร์ 

A: จริงๆ แล้วเราทำได้หลายอย่าง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่งช่วงสองปีที่ผ่านมาเพราะโควิด ผมเพิ่งคุยกับผู้ว่าฯ กทม. เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนว่าจะทำอะไรกันในปีหน้า ผมพยายามเชิญท่านผู้ว่าฯ ไปมองโกเลียและนำคนจากอูลานบาตอร์มากรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการขนส่งในเขตเมือง เพราะคุณมีบีทีเอส มีเอ็มอาร์ที ตอนนี้คุณมีสายสีแดง สายสีชมพู มีเส้นทางใหม่ๆ มีสายสีทองไปไอคอนสยาม มีโมโนเรล  มีทั้งบริษัทไทยและเยอรมนี    คุณมีประสบการณ์มาก 

ในมองโกเลียประชากรครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในเมือง ตอนนี้เรามีปัญหาการจราจรและการขนส่งเหมือนๆ กัน ผมอยากนำคนจากสำนักงานนายกเทศมนตรีมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการปฏิบัติจากคุณ นี่คือไอเดียที่ผมอยากทำปีหน้า 

Q: แต่การจราจรในกรุงเทพฯ ติดขัดมากทำไมทางมองโกเลียจึงสนใจ 

A: นี่คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงอยากนำคนมาดู มาดูว่าปัญหาคืออะไร อะไรที่เราต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคต อะไรที่เราต้องรู้ ต้องคิด ต้องไม่ให้คนมาอยู่รวมกันในเมืองเดียวมากเกินไป เราต้องดูหลายๆ ประเทศ เพราะทุกประเทศล้วนผ่านปัญหาแบบนี้กันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณะ การขนส่ง การสร้างสวนสาธารณะ เราควรแบ่งปันและคุยกับคนอื่นๆ ว่าเขาทำอะไรมา แก้ปัญหาอย่างไร อย่าคิดว่ากรุงเทพฯ มีปัญหาเลยครับ ถ้าคุณมีปัญหา เราก็สามารถมาเรียนรู้จากคุณ 

  Q: ในด้านวัฒนธรรมเหตุใดมองโกเลียจึงเลือกนำภาพยนตร์มาฉายในเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ปีนี้เป็นปีแรก 

A: ปีที่แล้วผมไปร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนได้พบกับทูตหลายประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เราก็เลยตัดสินใจนำภาพยนตร์สั้นมาฉาย แค่ต้องการให้รู้จักวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมภาพยนตร์ต่างประเทศนั้นน่าตื่นตาตื่นใจ เราสามารถแนะนำวัฒนธรรมของเราได้ภายใน 20 นาที 

 ภาพยนตร์เรื่อง Morin Khuur (The Horsehead Fiddle) ที่นำมาฉายในเทศกาล บอกเล่าชีวิตสมัยใหม่ ความเป็นเมือง สิ่งแวดล้อม มิตรภาพระหว่างเพื่อน เครื่องดนตรี หลายประเด็นผสมกันภายในเวลา 18-19 นาที เป็นสารสั้นๆ เราไม่ต้องการแข่งกับหนังไทยหรือหนังอาเซียน ผมอยากใช้เทศกาลนี้เพื่อขยายโปรดัคและเชื้อเชิญประเทศอื่นๆ เข้าไปถ่ายทำภาพยนตร์ในมองโกเลีย ในยุโรปมีเทศกาลภาพยนตร์มากมาย แผนการของผมคือต้องการสนับสนุนไทยจัดเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพฯ ให้เป็นหนึ่งในเทศกาลใหญ่สุดของเอเชียครับ

Q: คุณดูหนังหรือละครไทยบ้างหรือไม่

A: ดูครับ ผมชอบดูที่ดาราคนโปรดแสดง อย่างคุณใหม่ ดาวิกา และญาญา อุรัสยา เราได้เห็นหน้าพวกเธอในทุกๆ ที่ทั่วไทย จริงๆ แล้วนี่คือความงามของภาพยนตร์ ภาพยนตร์ช่วยขยายวัฒนธรรม การค้า ช่วยให้หลายคนมีโอกาสทำงาน เป็น soft diplomacy ที่เราได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ผ่านภาพยนตร์ 

Q: การส่งเสริมความสัมพันธ์มองโกเลีย-ไทยในปีหน้าจะออกมาในรูปใด 

A:  งานแรก ปีหน้าจะจัดงานแนะนำสินค้าเกษตร  งานที่ 2 Machine Expo นำบริษัทมองโกเลียมาไทยเพื่อผลิตสินค้าด้วยกันไปขายในประเทศอื่น งานที่ 3 ด้านการศึกษา เชื่อมโยงสถาบันการศึกษาสองประเทศ แลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ ประเทศคุณเก่งมากในเรื่องสุขภาพ มีมหาวิทยาลัยการแพทย์ชื่อดัง มีคณะนิติศาสตร์ชื่อดัง เราเก่งด้านวิศวกรรมเหมืองแร่ เกษตรกรรม เราเชี่ยวชาญแตกต่างกันควรแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน 

แน่นอนว่าความร่วมมือด้านวัฒนธรรมคือความสำคัญของเรา จะมีการนำภาพยนตร์มองโกเลียมาฉายให้มากขึ้น การท่องเที่ยวก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เมื่อผู้คนได้เดินทางไปมาหาสู่กันก็มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ผมต้องการร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้มากกว่าเดิมให้คนได้มาเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในประเทศไทย นอกเหนือจากชายหาด ทะเล ความผูกพันด้านศาสนาพุทธก็สำคัญระหว่างประเทศของเรา คนมองโกเลียมาเที่ยวไทยก็นิยมไปไหว้พระกันครับ