เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง

เดินทางไปทำความเข้าใจกับอดีตเพื่อรู้จักรักษ์ให้เป็น ตามไปฟังคาถารักษามรดกของชาติจาก สด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมศาสนา ตามไปดูการค้นพบเทวรูปและพานทองคำมรดกล้ำค่าในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายดูแลรักษาศิลปวัฒนธรรม

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปร่วมสังเกตการณ์ในการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์ ดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมเขตภาคใต้ตอนบน ที่ กรมศิลปากร จัดขึ้น ณ โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

โดยมีผู้เข้ารับการอบรม อันประกอบไปด้วย อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) พระสังฆาธิการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประธานสภาวัฒนธรรมและอำเภอ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมกว่าสองร้อยคน

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา  สถานที่จัดแสดงและเก็บรักษาโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบในเมืองโบราณไชยา
 

ในงานนี้กล่าวได้ว่าเป็นการชุมนุมของกูรูผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาที่ต่างมาให้ความรู้ในเรื่องของกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ประชาชนควรรู้ ลักษณะและการเสื่อมสภาพของโบราณสถานในเขตภาคใต้ แนวทางในการดูแลรักษาเบื้องต้น ไปจนถึงบทบาทและหน้าที่ของประชาชนในการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้อย่างสนุกสนานและน่าสนใจ

3 คาถารักษามรดก

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง เมื่อพบโบราณวัตถุมีค่า พึงระลึกถึงคาถารักษามรดก 3 ข้อ (พานทองคำที่ขุดพบที่วัดโพธาราม ภาพถ่ายโดย : ธนิสร พรหมพฤกษ์ ไวยาวัจกร วัดโพธาราม) 
 

ในภาคส่งท้ายของการบรรยายทางวิชาการ สด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมศาสนาและอดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบคาถา 3 ข้อที่ทุกคนพึงระลึกไว้เสมอ นั่นก็คือ

  • วัฒนธรรมเป็นของสังคม โดยสังคม และเพื่อสังคมมนุษย์
  • วัฒนธรรม คือ อนาคตที่ดีงามของลูกหลาน
  • พระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “การรักษาวัฒนธรรม คือ การรักษาชาติ”

หากปฏิบัติได้ดังนี้จะช่วยรักษามรดกของชาติให้คงอยู่ได้สืบไป 

อาสาพาไปพบเทวรูปศิลา

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง ประติมากรรมรูปพระนารายณ์ และฐาน ที่พบในหมู่บ้านศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี
 

จบภาควิชาการแล้ว เราเดินทางต่อไปยังภาคสนามโดยมุ่งหน้าไปยังอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อชมเทวรูปศิลาที่ สมหมาย จิตตรง ชาวบ้านตำบลศรีวิชัยพบโดยบังเอิญ ขณะใช้รถแบคโฮขุดเดินในร่องสวนปาล์ม  พบชิ้นส่วนลำตัวและฐานของเทวรูปรวม 2ชิ้น

สมาชิก อส.มศ. (อาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม) ในหมู่บ้านและกำนัน เมื่อทราบข่าวจึงได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เนื่องจากเคยพบวัตถุโบราณในหมู่บ้านหลายชิ้น ประกอบกับเทวรูปที่พบในครั้งนี้มีลักษณะคล้ายกับ เทวรูปที่พบในโบราณสถานเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสมัยศรีวิชัยที่อยู่ในเขตหมู่บ้านนั่นเอง

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร สมหมาย จิตตรง ผู้พบประติมากรรมและกำนันผู้ช่วยเก็บรักษาโบราณวัตถุ

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอธิบายถึงโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ให้เข้าใจว่า

“สันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมรูปพระนารายณ์  รูปแบบศิลปะที่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เรียกว่า เทวรูปรุ่นเก่า อายุประมาณ 1,200 - 1,300 ปีมาแล้ว สังเกตได้จากการนุ่งผ้าโธตีแบบโบราณ ถ้าเห็นเต็มองค์จะไม่สวมเสื้อ สวมหมวกแขกหรือหมวกทรงกระบอก”

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง พระนารายณ์ (จำลอง) ศิลปะศรีวิชัย  ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา
สวมหมวกทรงพระบอกทรงสูง นุ่งผ้ายาวมีจีบชายพับทางด้านหน้า คาดกุฏิสูตรพาดเฉียงผูกเป็นปมทางด้านขวา พระวรกายเรียบง่ายไม่มีเครื่องประดับตกแต่งอาจประดับด้วยอาภรณ์จริง อิทธิพลศิลปะอินเดีย สกุลช่างปัลลวะอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่โบราณสถานเขาศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

 

สำหรับโบราณวัตุทั้ง 2 ชิ้นนี้ ทางกรมศิลปากรจะมีการทำหลักฐานการรับมอบ นำเข้าคณะกรรมการเพื่อประเมินราคา โดยมีสินน้ำใจให้ผู้มอบจำนวน 1 ใน 3 ของราคาประเมิน

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และสมาชิกอาสาสมัครท้องถิ่นในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรม (อส.มศ.) หมู่บ้านศรีวิชัย
เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง โบราณสถานเขาศรีวิชัย ที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านศรีวิชัย

“ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่น้ำใจของคนที่มอบ นับเป็นประโยชน์ต่อราชการและประโยชน์ของประเทศชาติ” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวกับผู้ค้นพบ กำนัน และ สมาชิกอส.มศ. ด้วยความชื่นชม

ในขณะที่ สมาชิกอส.มศ. เองก็กล่าวว่ามีความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของหมู่บ้านอย่างเต็มกำลัง

 

พานทองคำมรดกล้ำค่าที่วัดโพธาราม

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง พานทองคำแท้ อายุ 200 ปีที่พบโดยบังเอิญที่ วัดโพธาราม กว้าง 8.4 ซม. สูง 5.2 ซม. ฐานสูง 1.7 ซม. ฐานกว้าง 5.3 ซม. น้ำหนัก 52.89 กรัม
 

การค้นพบพานทองคำแท้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในการบูรณาการความรู้ความเข้าใจในการรักและหวงแหนมรดกของชาติระหว่างกรมศิลปากร ศาสนสถาน และประชาชนได้เป็นอย่างดี

งานภาคสนามการอบรมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายอนุรักษ์ พาเราไปชม พานทองคำแท้ อายุ 200 ปี พบโดยบังเอิญที่ วัดโพธาราม ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขณะรถแบ็คโฮกำลังขุดดินเพื่อปรับพื้นที่ก่อสร้างมณฑปสำหรับประดิษฐานพระสองพี่น้องพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวตำบลพุมเรียง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

วรัญญู ชูศรี กรรมการวัด เล่าว่าตอนที่รถแบ็คโฮตักดินขึ้นก็มาพบวัตถุชิ้นหนึ่งที่แตกต่างจากเศษกระเบื้องแตกหักที่พบด้วยกัน จึงนำไปล้างทำความสะอาดพบว่าเป็นพานทองคำ จึงนำไปให้เจ้าอาวาสเนื่องจากท่านกำชับไว้ว่าหากพบวัตถุโบราณขอให้นำมาเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานเรียนรู้ศึกษา จากนั้นจึงได้แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง ประกาศจากวัดโพธารามเพื่อความเข้าใจตรงกัน

การนำ พานทองคำแท้ ออกมาให้ชมในครั้งนี้ ต้องมีคณะกรรมการได้แก่ เจ้าอาวาส คณะกรรมการวัด และ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร อยู่เป็นประจักษ์พยานพร้อมหน้า เพราะทันทีที่มีข่าวแพร่ออกไปทำให้ผู้คนหลั่งไหลมาที่วัดเพื่อขอชมพานทองคำ บ้างก็เสนอเงินรับซื้อ จนทางวัดต้องขึ้นป้ายแสดงรูปพานทองที่พบพร้อมทำความเข้าใจว่าบัดนี้ได้ฝากให้ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา เก็บรักษาเอาไว้แล้ว

สำหรับพานทองที่ค้นพบมีความกว้าง 8.4 ซม. สูง 5.2 ซม. ฐานสูง 1.7 ซม. ฐานกว้าง 5.3 ซม. เมื่อนำไปให้ร้านทองตรวจสอบพบว่าเป็นทองคำแท้มีน้ำหนัก 52.89 กรัม 

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง กิตติ ชินเจริญธรรม นักโบราณคดี และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา

กิตติ ชินเจริญธรรม นักโบราณคดี และหัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอำเภอไชยา กล่าวว่า

“วัดโพธารามมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานได้จากหลักฐานที่นักโบราณคดีขุดพบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาสมัยอยุธยาที่ใช้เป็นส่วนประกอบอาคาร

ต่อมามีการบูรณะมาหลายช่วง ในสมัยรัชกาลที่ 3 เห็นได้จากการตกแต่งหน้าบันอุโบสถด้วยกระเบื้องถ้วยชามขนาดใหญ่ประกอบเข้ากับลายปูนปั้นรูปดอกไม้และใบไม้ รูปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3

ต่อมาเมื่อคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองภาคใต้ ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดโพธาราม พระราชทานเงินให้บูรณะซ่อมแซม โรงเรียนประจำอำเภอเมืองไชยาแห่งแรกก็ตั้งอยู่ที่วัดโพธาราม เป็นโรงเรียนที่ท่านพุทธทาสเข้าเรียนชั้นประถม อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ รุ่นที่ 5 ท่านเคยบวชเรียนอยู่ที่นี่เช่นกัน นับว่าเป็นวัดสำคัญที่มีประวัติมายาวนาน” 

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง ลวดลายกลีบบัวซ้อนเทคนิคการดุนนูนแบบกรุงศรีอยุธยาตอนต้น (ภาพถ่ายโดย : ธนิสร พรหมพฤกษ์  ไวยาวัจกร วัดโพธาราม)

นักโบราณคดี กล่าวถึงประวัติและความสำคัญของวัดโพธารามให้เข้าใจ ก่อนเล่าถึงการถอดรหัสความสำคัญของโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบเมื่อไม่นานมานี้ว่า

“เป็นพานทองคำที่มีลักษณะเทียบเคียงได้กับพานชิ้นหนึ่งที่พบในกรุวัดราชบูรณะ อยุธยา กล่าวคือ มีกรรมวิธีการผลิตด้วยการดุนเป็นลายกลีบบัวซ้อนกัน การประกบชิ้นส่วนพานและส่วนล่างใช้เทคนิคเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น หรือ ประมาณ 200 ปีมาแล้ว 

พิจารณาจากรูปแบบศิลปะ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นของคนทั่วไป อาจจะเป็นของคนชั้นสูงหรือราชวงศ์  ในภาคใต้มีประเพณีนิยมในการนำสิ่งของมีค่ามาถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อสืบอายุพระศาสนา”

หลังจากการพบพานทองชิ้นนี้ ทางสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช จึงเข้ามาสำรวจพื้นที่และดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อค้นหาหลักฐานสนับสนุนว่าวัดโพธารามมีอายุเก่าแก่ไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือไม่

เปิด 3 คาถารักษา ‘มรดก’ ให้อยู่ยั้งยืนยง เศษกระเบื้องกาบบัวดินเผาที่ใช้ในการมุงหลังคาอายุนับย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนต้น

“หลักฐานตัวอย่างที่พบในหลุมขุดค้นเราพบเศษกระเบื้องกาบบัวดินเผาที่ใช้ในการมุงหลังคาเป็นกระเบื้องสมัยอยุธยา เศษเครื่องถ้วยจีนที่นิยมนำมาตกแต่งอาคารในสมัยรัชกาลที่ 3 การขุดค้นครั้งนี้ถ้าเราเจอหลักฐานที่สนับสนุนเพียงพอได้ว่าอำเภอพุมเรียงอาจเป็นหัวเมืองหนึ่งในสมัยอยุธยา” โดยทางนักโบราณคดีจะต้องดำเนินการศึกษาค้นคว้าอีกต่อไป

เพราะวัฒนธรรมเป็นของทุกคนมาร่วมกันท่องคาถาความ “รักษ์” มรดกให้เข้าใจ เพื่อส่งต่อมรดกล้ำค่าให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อด้านวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงภาคเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ อีกด้วย