คัมภีร์อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ยูเนสโกรับรอง'มรดกความทรงจำแห่งโลก'

คัมภีร์อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ยูเนสโกรับรอง'มรดกความทรงจำแห่งโลก'

'คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ'เกี่ยวโยงกับพระธาตุพนม และพระบรมสารีริกธาตุอย่างไร เมื่อเร็วๆ นี้'ยูเนสโก' จึงรับรองเป็น'มรดกความทรงจำแห่งโลก'

ถ้าพูดถึง‘คัมภีร์อุรังคธาตุ’ คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ตำนานพระธาตุพนม ในรูปแบบใบลาน และเป็นภาษาโบราณ แม้ไม่คุ้นเคย แต่ส่วนใหญ่รู้จักพระธาตุพนม ซึ่งมีทั้งเรื่องเล่า ตำนานและความเชื่อมากมาย 

ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เสนอขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกของยูเนสโก รอบปี ค.ศ. 2022 – 2023 จำนวน 2 รายการ ได้แก่ หนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง และคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ

และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 การประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองให้คัมภีร์ใบลาน เรื่องอุรังคธาตุ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ส่วนหนังสือสมุดไทย เรื่อง นันโทปนันทสูตรคำหลวง ยังไม่ผ่านการพิจารณา แม้จะแก้ไข 3 ครั้งแล้ว

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ

พิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า เอกสารโบราณคัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ เป็นคัมภีร์เดียวที่เป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาฉบับพื้นถิ่นภาคอีสานที่เขียนด้วยอักษรธรรมอีสาน ภาษาไทย และภาษาบาลี นอกจากมีความไพเราะ ยังแทรกคติธรรม ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี

คัมภีร์ใบลานเรื่องอุรังคธาตุ มีการใช้คำเป็นสำนวนภาษาให้เห็นภาพพจน์ ทำนองเปรียบเทียบ มีจำนวน 7 ผูก มีหลักฐานปรากฏอยู่ในลานหน้าสุดท้าย กล่าวไว้ชัดเจนว่าหนังสือฉบับนี้ อาชญาเจ้าพระอุปราช พร้อมด้วยบุตร ภรรยา ให้สร้างขึ้นไว้เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2405 อีกทั้ง รูปอักษรธรรมอีสานที่ใช้จารเรื่องในคัมภีร์ ก็เป็นอักษรโบราณที่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว สภาพทั่วไปแข็งแรง เส้นอักษรยังเห็นได้ชัดเจน

ความสำคัญคัมภีร์อุรังคธาตุ

คำว่า อุรังคธาตุหมายถึง พระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระอุระ(หน้าอก)ของพระพุทธเจ้าที่มาบรรจุไว้ที่พระธาตุพนม คนอีสานรวมถึงประชาชนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงเลื่อมใสศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนมอย่างสูงสุด 

นิทานอุรังคธาตุ เป็นการบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ด้านพุทธศาสนาในอดีต โดยแทรกปาฏิหาริย์เน้นความขลังเคารพศรัทธา ได้แบ่งสาระสำคัญของทาน อุรังคธาตุเป็น 13 ตอน เแต่ละตอนมีเนื้อหาค่อนข้างยาว

คัมภีร์อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ยูเนสโกรับรอง\'มรดกความทรงจำแห่งโลก\' ศรัทธาประชาชนที่มีต่อพระธาตุพนม 

ตัวละครที่เป็นมนุษย์และเจ้าเมืองจุติแล้วเกิดหลายภพหลายชาติ แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง และตัวละครที่เป็นอมนุษย์ เช่น พระยานาค มีชื่อปรากฏหลายชื่อ สามารถแปลงกายได้ มีอภินิหารดำเนินเรื่องให้สมจริงยิ่งขึ้นตลอดทั้งเรื่อง และยังเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน เช่น พระพุทธบาทเวินปลา พระธาตุภูเพ็ก พระธาตุนารายณ์จงเวง แม่น้ำสำคัญต่าง ๆ ฯลฯ

ความเชื่อ ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องจึงเพิ่มขลัง ความเคารพ ศรัทธา ต่อองค์พระธาตุพนม ศรีศักร วัลลิโภดม สรุปในบทความเมืองสกลนครโบราณในรัฐ “ศรีโคตรบูร” และตำนานอุรังธาตุว่า

"พุทธทำนายเป็นสิ่งที่จะต้องมีประจำอยู่ในทุกๆตำนานคือ การที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ยังท้องถิ่นใดถิ่นหนึ่งในสุวรรณภูมิ แล้วทรงทำนายการเกิดของบริเวณที่จะเป็นศาสนสถานวัดวาอารามหรือบ้านเมือง ตลอดจนการกำหนดพระมหากษัตริย์หรือบุคคลที่จะทะนุบำรุงพระศาสนา

ในตำนานอุรังคธาตุ พระพุทธองค์เสด็จมาโปรดดินแดนในลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ในท้องที่ต่างๆ เช่นที่ หนองคาย สกลนคร และนครพนม ทรงกำหนดภูกำพร้าในเขตอำเภอธาตุพนมเป็นสถานที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ...

ส่วนอีกประการพุทธทำนายก็เป็นนิยายปรัมปราเกี่ยวกับประวัติการเกิดของภูมิประเทศอันได้แก่ แม่น้ำ ที่ราบ และภูเขา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชนที่อยู่อาศัย

ตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงการเกิดของแม่น้ำสำคัญๆตามลำแม่น้ำโขงว่าเป็นการกระทำของพวกนาค ซึ่งแต่เดิมมีที่อยู่อาศัยในหนองแสเขตยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีน...."

คัมภีร์อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ยูเนสโกรับรอง\'มรดกความทรงจำแห่งโลก\'

ต้นฉบับดั้งเดิมอุรังคธาตุ

  • ต้นฉบับเดิมของอุรังคธาตุเขียนไว้บนใบลาน ต่อมามีการคัดลอกถ่ายถอดเป็นอักษรไทย
  • ปัจจุบันมีหลายสำนวนได้แก่ อุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) อุรังคธาตุเทสนา อุรังคนิทาน (พิสดาร) ซึ่งฉบับหลังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ 11 ครั้ง
  • นอกจากนี้ยังมีนิทานอุรังคธาตุ อักษรลาวที่มีการพิมพ์เผยแพร่ เนื่องในโอกาสพิธีฌาปณกิจศพของพระสังฆราชลาว และมีการพิมพ์เผยแพร่กันอย่างแพร่หลายในโอกาสต่าง ๆ ของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
  • ในประเทศไทย เอกสารใบลานตำนานอุรังคธาตุ ต้นฉบับที่มีอายุเเละความเก่าเเก่มากที่สุดในประเทศไทยเท่าที่พบในปัจจุบัน คือ เอกสารใบลานตำนานอุรังคธาตุ ฉบับวัดมหาชัยอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
  • เอกสารใบลานอุรังคธาตุมีการกล่าวเชื่อมโยงถึงตำนานผาแดงนางไอ่ที่เก่าเเก่ที่สุดในประเทศไทยเท่าที่จะสืบหาได้ในปัจจุบันเป็นผลงานของชาวสุวรรณภูมิ ที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ เเล้วจารหรือเเต่งขึ้น
  • อุรังคธาตุนิทานต้นฉบับที่เก่าเเก่รองลงมาที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงที่ดูแลหัวเมืองมณฑลอุดร ได้นำมามอบให้หอสมุดแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2464 บันทึกด้วยอักษรธรรมอีสาน 
  • บางส่วนของอุรังคธาตุนิทานฉบับกรมศิลปากร(พ.ศ. 2483) มีการเพิ่มเติมหรือลดทอนบางส่วนของนิทานอุรังคธาตุ เช่น ตำนานเมืองสกลนคร ตำนานเมืองร้อยเอ็ด ตำนานเรื่องพระธาตุบัวบกบัวบาน ซึ่งต่างก็ได้เค้าเรื่องมาจากอุรังคธาตุนิทาน โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของจังหวัดสกลนคร

............

อ้างอิง : หอสมุดแห่งชาติ ,วิกีพีเดีย และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ (https://ich-thailand.org/)

คัมภีร์อุรังคธาตุ(ตำนานพระธาตุพนม) ยูเนสโกรับรอง\'มรดกความทรงจำแห่งโลก\' ยูเนสโก รับรองให้คัมภีร์ใบลานอุรังคธาตุ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก