บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก

‘บ้านเชียง’ เปิดไทม์ไลน์การค้นพบภาชนะดินเผาครั้งแรก สู่การยกความสำคัญเป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีบ้านเชียง ยูเนสโกเห็นคุณค่าประกาศเป็น 'มรดกโลก' ล่าสุดคนไทยในสหรัฐส่งสมบัติบ้านเชียง 13 ชิ้นกลับสู่แผ่นดินแม่

บ้านเชียง เป็นชุมชนตั้งอยู่ที่ตำบลบ้างเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันมีความสำคัญและคุณค่าในฐานะเป็น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง หรือแหล่งเรียนรู้โบราณคดีบ้านเชียง

โบราณวัตถุและหลักฐานทางโบราณคดีประเภทต่าง ๆ ที่พบใน แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ชุมชนบ้านเชียง เป็นประจักษ์พยานยืนยันถึงสังคมและวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีพัฒนาการทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาการและศิลปะอย่างแท้จริง และพัฒนาการเหล่านั้นได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมานับพัน ๆ ปี

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก ภาชนะดินเผาเขียนลาย (credit : กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)

ไทม์ไลน์การเป็นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

  • พ.ศ.2500  พบวัตถุปริศนา

ขณะที่ ‘เด็กชายหีด’ กำลังช่วยพ่อขุดดินในทุ่งเพื่อทำการเกษตร ได้ขุดพบวัตถุปริศนา เห็นแต่เพียงผิวภายนอกคิดว่าเป็น ‘ไข่ใบใหญ่’

แต่พ่อพบว่าเป็นไหที่มีซากเด็กตายอยู่ภายใน จึงนำความไปบอกกำนัน ชาวบ้านคนอื่นๆ เริ่มบอกว่าขุดเจอเศษภาชนะลักษณะนี้เหมือนกัน 

กำนันจึงเชิญ อ.พรมมี ศรีสุนาครัว ครูใหญ่โรงเรียนบ้านเชียง มาช่วยดู และให้รวบรวมภาชนะมากมายที่ชาวบ้านขุดพบ นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้

  • พ.ศ.2503 กรมศิลปากร หาหลักฐาน

ขณะที่นายเจริญ พลเดชา เจ้าหน้าทีกรมศิลปากร ขุดพบหลักฐานภาชนะที่สกลนคร แต่มีน้อยมาก นักโบราณคดีในทีมแจ้งว่าโรงเรียนบ้านเชียงที่จังหวัดอุดรธานีได้รวบรวมภาชนะโบราณที่ขุดเจอไว้มากมาย จึงพากันไปสังเกตภาชนะโบราณเหล่านั้น

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก สตีเฟ่น บี.ยัง นำคณะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง, 27 ส.ค.2565

  • พ.ศ.2509 สตีเฟน บี. ยัง 

นักศึกษาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บุตรชายเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นายสตีเฟน บี. ยัง (Stephen B. Young) เดินทางไปขอศึกษามนุษยวิทยาในชุมชนบ้านเชียง และได้พบเศษกระเบื้องเขียนสี จึงขอให้ศาสตราจารย์พิเศษ ชิน อยู่ดี ภัณฑารักษ์ กรมศิลปากร ช่วยตรวจสอบ

ศ.พิเศษชิน ระบุว่า จากการวิเคราะห์หลักฐาน ภาชนะดินเผาเหล่านี้เป็นของเก่าแก่มีอายุเกินกว่าพันปี

  • พ.ศ.2510 เริ่มขุดค้น 

นายวิทยา อินทกัย และนายพจน์ เกื้อกูล สองนักโบราณคดีผู้ควบคุมการขุดค้น นำทีมขุดค้นอย่างระมัดระวัง พบโครงกระดูก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นของผู้ปั้นภาชนะ และการใช้ไหวางบนร่างกายก่อนฝังน่าจะเป็นความเชื่อเรื่องการอุทิศของไปให้ผู้ตาย หากเป็นศพเด็กเล็กก็จะใส่ร่างไว้ในไหแล้วฝังดิน

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

  • วันที่ 20 มีนาคม 2515  วันที่เฝ้ารอ

การขุดค้นได้พบหลักฐานทั่วชุมชน หลังการขุดค้นที่บ้านนายพจน์ มนตรีพิทักษ์ และ ‘วัดโพธิ์ศรีใน’ กำนันก็นัดชาวบ้านมาร่วมกันที่ ‘วัดโพธิ์ศรีใน’ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2515 เพื่อรับเสด็จ ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ และ ‘สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง’ เสด็จพระราชดำเนินบ้านเชียง เพื่อทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสให้ชาวบ้านช่วยกันดูแลบ้านเชียง  และร่วมมือทำวิจัยกับนานาชาติเพื่อให้การขุดค้นถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก โบราณวัตถุ วัฒนธรรมบ้านเชียง สมัยต้น

  • พ.ศ.2517 ความร่วมมือ

กรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ร่วมมือกันขุดค้นอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาร่วมทำการศึกษาครั้งใหญ่ โดยมีนายพิสิฐ เจริญวงศ์ เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายไทย และ ดร.เชสเตอร์ กอร์แมน เป็นผู้อำนวยการร่วมฝ่ายสหรัฐอเมริกา 

ดร.จอยซ์ ซี ไวท์ นักโบราณคดีผู้สรุปผลการวิจัย ได้ลำดับพัฒนาการของ วัฒนธรรมบ้านเชียง อันเก่าแก่นี้ออกเป็น 3 สมัย จากระดับชั้นดินที่พบและรายละเอียดที่อยู่บนภาชนะ และการฝังศพ

  1. สมัยต้น 5,600-3,000 ปีมาแล้ว ภาชนะตกแต่งเรียบง่ายด้วยลายเชือกทาบ และเส้นขีดคดโค้ง ฝังศพท่านอนหงาย วางภาชนะไว้ที่ขาหรือศีรษะ
  2. สมัยกลาง 3,000-2,300 ปีมาแล้ว ภาชนะเริ่มมีการใช้สีแดงผสมกับลายขีด มีไหล่เป็นเส้นหักมุม  มีการใช้เหล็กทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาว ทุบภาชนะให้แตกวางปกคลุม
  3. สมัยปลาย 2,300-1,800 ปีมาแล้ว ภาชนะมีทั้งแบบฉาบน้ำโคลนสีแดงแล้วขัดมัน การเขียนลวดลายสีแดงบนพื้นสีแดงหรือสีนวลที่เห็นได้ชัดเจน ฝังศพในท่านอนหงายเหยียดยาวแล้ววางภาชนะบนร่างกาย

วัฒนธรรมบ้านเชียง เป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน ใช้การทำการเกษตรกรรม ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ เพื่อยังชีพ กระทั่งหลักฐานที่พบสิ้นสุดลงเมื่อประมาณ 1,800 ปีมาแล้ว คาดว่าอาจอพยพไปยังพื้นที่อื่นๆ

ต่อมาเมื่อประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวไทพวน เข้ามาอยู่อาศัยบนเนินดินแห่งนี้ และก่อตั้งเป็นชุมชนบ้านเชียงถึงปัจจุบัน จึงเรียกสิ่งที่ค้นพบทั้งหมดนี้ว่า วัฒนธรรมบ้านเชียงยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะเป็นพื้นที่ของชุมชนบ้านเชียงในปัจจุบัน

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง

  • พ.ศ.2518 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง  

เกิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง เพื่อให้ทุกคนเข้ามารู้จักกับวัฒนธรรมโบราณที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทยที่หาดูได้ยาก

เปิดบริการทุกวันพุธถึงวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดบริการทุกวันจันทร์และวันอังคาร

  • พ.ศ.2535 มรดกโลก

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เห็นคุณค่าและความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จึงได้ประกาศให้ 'แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง' เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 359 

 

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก พิธีมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จำนวน 13 รายการ (25 เม.ย.2566)

โบราณวัตถุบ้านเชียง ทยอยคืนสู่แผ่นดินไทย

วันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรอง 2  กระทรวงการต่างประเทศ  นายณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ประกอบด้วยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ และนายณัฐพล ณ สงขลา ผู้อำนวยการกองทูตวัฒนธรรม เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ 

ทำ พิธีมอบโบราณวัตถุบ้านเชียง จำนวน 13 รายการ ที่ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาประสงค์ส่งมอบคืนให้กับประเทศไทยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แก่ กรมศิลปากร เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ

โดยมีนายพนมบุตร  จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยนางสาวนิตยา กนกมงคล ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นผู้แทนกรมศิลปากรรับมอบ

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก โบราณวัตถุบ้านเชียง คืนสู่แผ่นดินไทย

การส่งคืนโบราณวัตถุในครั้งนี้เกิดจาก นายมะลิ นงเยาว์ ชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ประสานมายังสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่ามีความประสงค์มอบโบราณวัตถุ กลับคืนสู่ประเทศไทยเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ประกอบไปด้วย

  • ภาชนะดินเผา จำนวน 5 รายการ
  • กำไลสำริด จำนวน 8 รายการ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เป็นผู้แทนรับมอบโบราณวัตถุดังกล่าว ณ วัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้จัดส่งโบราณวัตถุดังกล่าวผ่านถุงเมล์การทูตพิเศษมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566

บ้านเชียง 13 ชิ้นคืนไทย ไทม์ไลน์ค้นพบภาชนะดินเผาอายุพันปีสู่ประกาศมรดกโลก โบราณวัตถุบ้านเชียง 13 รายการ ส่งคืนล่าสุด

ตลอดระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ตั้งแต่พ.ศ.2560 เป็นต้นมา นอกจากสามารถติดตามโบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อปี 2564 จำนวน 2 รายการ ได้แก่

  • ทับหลังจากปราสาทหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
  • ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จังหวัดสระแก้วแล้ว

ยังสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน ส่งผลให้มีผู้ประสงค์มอบโบราณวัตถุที่อยู่ในครอบครองทั้งในต่างประเทศ และภายในประเทศไทย เพื่อเป็นสมบัติของชาติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2560 - 2566) รวมจำนวน 10 ราย มีวัตถุที่ส่งมอบแล้ว จำนวน 631 รายการ

อ้างอิง :  กรมศิลปากร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง