“บ้านเรียนละครมรดกใหม่" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

“บ้านเรียนละครมรดกใหม่" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

บ้านเรียนละครมรดกใหม่" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ โดยอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า มองเห็นถึงศักยภาพในตัวนักเรียนและอยากแนะนำเด็ก ๆ ให้ทุกคนได้รู้จัก เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงผลงานในต่างประเทศและเติบโตสู่ระดับโลก

กระทรวงการต่างประเทศนำโดยนางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ และธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ พาคณะทูตานุทูตเยือน "ศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่" จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. เพื่อเยี่ยมชมหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการละครที่บูรณาการกับวิถีชีวิต และสอดคล้องกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ของกระทรวงศึกษาธิการ 

รวมถึงชมการแสดงและผลงานของเหล่านักเรียนมากความสามารถ เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศอยากส่งเสริมและสนับสนุนเด็ก ๆ ที่มีพรสวรรค์ ให้มีโอกาสแสดงผลงานในไทยและต่างประเทศ

อธิบดีกรมสารนิเทศ เผยถึงความเป็นมาที่ทำให้กระทรวงการต่างประเทศต้องการสนับสนุนเด็ก ๆ ว่า "รู้สึกประทับใจมาก เมื่อครั้งที่พบเด็ก ๆ เมื่อปี 2565 และทราบว่าทุกคนแสดงดนตรีเปิดหมวกในไทย เพื่อรวบรวมเงินซื้อตั๋วเดินทางไปต่างประเทศ"

เด็ก ๆ เดินทางไปหลายประเทศในยุโรป และได้พบกับอธิบดีในสวีเดน ซึ่งขณะนั้นนางกาญจนาเป็นเอกอัครราชทูตประจำสวีเดน จากนั้นสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสวีเดนพาเดินทางไปยังสถานที่น่าสนใจ คอยอำนวยความสะดวกเมื่อทุกคนจัดการแสดง และเด็ก ๆ ยังเป็นที่รักของกลุ่มชาวไทยในสวีเดน นอกจากนี้ คุณยายเอวา ศิลปินแห่งชาติสวีเดน เปิดบ้านพักให้แก่เด็ก ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย 

“ฉันคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้ เป็นเรื่องมหัศจรรย์ของศิลปินเยาวชนไทย ดังนั้น จึงอยากแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เหล่านี้ให้กับทุกคน ฉันเห็นถึงศักยภาพในตัวนักเรียนและอยากแนะนำเด็ก ๆ ให้ทุกคนได้รู้จัก จึงเชิญเอกอัครราชทูตหลายประเทศมาร่วมงาน เพื่อเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงผลงานในต่างประเทศ และเติบโตสู่ระดับโลก” อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าว “บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (ขวา)

"บ้านเรียนละครมรดกใหม่" ก่อตั้งในปี 2548 โดย "ครูช่าง" ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 35 คน แต่ละคนได้เรียนตั้งแต่การรำ, โขน, ดนตรีไทย, ดนตรีสากล อาทิ แจ๊ส, บลูส์, แรปส์, ฮิปฮอป ไปจนถึงการละครไทยและละครร่วมสมัย ซึ่งศูนย์การเรียนรู้จัดสถานศึกษาภายใต้แนวคิดอาศรม เพื่อให้เหล่าศิลปินรุ่นเยาว์ตระหนักถึงวัฒนธรรมไทยและศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการฝึกดนตรีและการละคร

“บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ “บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ “บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการก่อตั้งบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ครูช่าง เผยว่า การศึกษาในระบบยังไม่ตอบโจทย์มากนัก ยังไม่สามารถช่วยให้เด็กมีสัมมาทิฐิ หรือมีความเห็นชอบในชีวิต เช่น ทำให้เด็กคิดว่าต้องทำงานที่มีเงินเดือนสูงเท่านั้น ซึ่งครูช่างมองว่า การอยู่ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย

ครูช่างเรียนรู้จากคนอีสานเกี่ยวกับการตกปลา จึงตกตะกอนความคิดได้ว่า หลักสูตรในระบบยังไม่ครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้ชีวิตจริง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้ และเสริมว่า บ้านเรียนละครมีหลักสูตรกำหนดให้มีวันพึ่งตนเอง เป็นวันที่ทุกคนจะไม่ใช้เงินซื้อของ แต่ละคนจะเก็บผักที่ปลูกและตกปลามาทำอาหาร นอกจากนี้ การเรียนดนตรีและการละครของที่นี่มักส่งเสริมให้เด็ก ๆ หมั่นฝึกซ้อมอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

“บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

ครูช่าง ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ (กลาง)

ทั้งนี้ เด็ก ๆ หลายคนมาจากหลายจังหวัดในประเทศไทย ครูผู้สอนส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ของบ้านเรียนละครมรกดกใหม่ หากวิชาใดที่สถาบันไม่สามารถสอนได้ จะเชิญครูจากที่อื่นมาสอน รวมถึงส่งเด็กไปเรียนเฉพาะทาง ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านมานั้น สถาบันเป็นผู้หาโอกาสให้เด็ก ๆ ไปแสดงฝีมือ หากไม่มีผู้สนับสนุน สถาบันและเด็ก ๆ จะหางบด้วยตนเอง เช่น การแสดงเปิดหมวก

"สิ่งที่บ้านเรียนละครมรดกใหม่ต้องการ คือ พื้นที่ให้เด็ก ๆ ในสถาบันได้แสดงความสามารถและโชว์ผลงานต่าง ๆ สู่สายตาชาวไทยและชาวโลก หากผู้ใดหรือหน่วยงานใดสนใจเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้บ้านเรียนละครมรดกใหม่ สามารถเข้าชมได้เลย" ครูช่าง กล่าว

สำหรับการแสดงของเด็ก ๆ ประกอบไปด้วย โชว์ฝึกสอนการรำและโขน, การแสดงดนตรีไทย, การแสดงดนตรีสากลประยุกต์ร่วมกับเครื่องดนตรีไทย (มินิคอนเสิร์ตไทย-แจ๊ส) โดยนำเสนอเรื่องราวความประทับใจของเด็ก ๆ ครั้งการเดินทางไปต่างประเทศ ผ่านบทเพลงไทยและสากล แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านดนตรี รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษที่แข็งแรง 

“บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ “บ้านเรียนละครมรดกใหม่\" ปั้นเด็กไทย สู่ความเป็นเลิศ

ส่วนการแสดงสุดท้ายเป็นละครเวทีเรื่องสังข์ทอง โชว์นี้เด็ก ๆ ได้แสดงฝีมือในช่วงทัวร์ต่างประเทศ ซึ่งเนื้อหาละครไม่ใช่สังข์ทองเวอร์ชันละครเช้าเสาร์-อาทิตย์ธรรมดา แต่สอดแทรกข้อคิดกระตุ้นให้ผู้ชมหาเป้าหมายของชีวิตให้เจอ ไม่ว่าความฝันของคุณจะไกลเกินเอื้อม หรือสามารถทำสำเร็จได้ในไม่กี่วัน เพียงแค่มีฝันและตั้งใจทำมันให้ดีที่สุด และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร จงภูมิใจที่อย่างน้อยชีวิตได้เดินไปข้างหน้าอีกขั้น

การแสดงละครเวที ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถทางการละครและการเล่นดนตรีประกอบละคร ที่สำคัญคือ ละครเรื่องนี้เด็ก ๆ สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งช่วยให้ชาวต่าวชาติเข้าถึงนิทานพื้นบ้านของคนไทยมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจเชื่อว่า ภาษาจะเป็นตัวเปิดทางให้เด็ก ๆ ได้นำเสนอวัฒนธรรมและศิลปะไทยสู่สายตาชาวโลกได้ หากผู้ใดสนใจเข้าเยี่ยมชมสามารถติดต่อได้ทางเพจเฟซบุ๊ก "คณะละครมรดกใหม่ สำนักศิลปะการละครเพื่อการพัฒนา"