'กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ' นักเขียนกับภาพจำของประเทศ

'กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ'   นักเขียนกับภาพจำของประเทศ

งาน Thai Silk International Fashion Week ที่จัดขึ้น ณ พารากอนฮอลล์เมื่อวันก่อนถือเป็นงานที่เชื่อมต่อมิตรประเทศกับคนไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในแต่ละวันสถานทูตที่มีกำหนดนำดีไซเนอร์ของตนมาโชว์เสื้อผ้าจะจัดบูธแนะนำประเทศอยู่ด้านนอกเวทีแฟชั่นด้วย

ส่วนใหญ่ก็มีโบรชัวร์แนะนำการท่องเที่ยวมาวาง มีบอร์ดแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว มีอาหารการกิน สุราพื้นบ้านหรือเครื่องดื่มมาให้ทดลองชิมกันบ้าง หรือนำงานศิลปหัตถกรรมจำพวกผ้าพื้นเมืองมาโชว์เพื่อให้เข้ากับธีมงานแฟชั่นผ้าไหม  แต่บูธของสถานเอกอัครราชทูตโคลอมเบียประจำประเทศไทยมาแปลก! เพราะนอกจากทุกสิ่งที่กล่าวมาบูธนี้ยังมีหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งวางโชว์อยู่ด้วย หนังสือชื่อ One Hundred Years of Solitude หรือ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ในฉบับแปลไทย เขียนโดย กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนชาวโคลอมเบีย

เมื่อเอ่ยชื่อ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” คนไทยจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นนักอ่านหรือไม่ใช่นักอ่านย่อมรู้จัก หลายคนเคยอ่านเล่มนี้แล้ว หลายคนซื้อมา “กองดอง” ยังไม่ได้อ่าน และอีกมากมายที่อ่านแล้วแต่อ่านไม่จบก็วางไปด้วยเหตุผลของแต่ละคน แต่ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ที่ถูกกล่าวขานตรงกันคือเป็นแม่แบบของงานเขียนแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ ที่ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อธิบายคำๆ นี้ไว้ในหนังสือชื่อ "สัจนิยมมหัศจรรย์ในงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ, โทนี มอร์ริสัน และวรรณกรรมไทย" ไว้ว่า หัวใจสำคัญของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์นั้น คือการที่โลกสองประเภท คือโลกแห่งความเป็นจริง และโลกแห่งความมหัศจรรย์ ดำรงอยู่คู่กันและดำเนินไปภายใต้ตรรกะชุดเดียวกัน จนในท้ายที่สุดเราไม่สามารถจำแนกได้ว่าอะไรคือ “ความเป็นจริง” และอะไรคือ “ความมหัศจรรย์”

ในเวทีโลก One Hundred Years of Solitude คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1982 ขายได้กว่า 50 ล้านเล่มทั่วโลก ผลงานภาษาสเปนเล่มนี้ได้รับการแปล 46 ภาษา นำไปสอนในชั้นเรียนวรรณกรรมทั่วโลก อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวว่า นี่คือหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดตลอดกาลของตน เช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่บอกในปี 2014 หลังการเสียชีวิตของมาร์เกซว่า One Hundred Years of Solitude คือหนังสือเล่มโปรด 

สิ่งที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าในสายตาผู้เขียนคือ ถ้า  BTS, แบล็กพิงค์, ฮยอนบิน, เบยองจุน, เกิร์ลเจเนอเรชัน และไอดอลเคป็อบมากมายคือภาพจำของเกาหลีใต้ แล้วทำไมนักเขียนอย่างกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ถึงได้เป็นภาพจำของโคลอมเบีย แล้วนักเขียนไทยจะเป็นภาพจำของประเทศไทยได้บ้างหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการถกกันแล้วในงาน  Book & Beer 2022 เทศกาลหนังสือและกิจกรรมจาก 50 สำนักพิมพ์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 หัวข้อ “นักเขียนไทยกับตลาดอินเตอร์ : ใครว่าการแปลไม่สำคัญ” วีรพร นิติประภา นักเขียนดับเบิลซีไรต์ เจ้าของผลงาน “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2558 และ“พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ”ได้รับรางวัลซีไรต์ ปี 2561 ร่วมสนทนากับ  ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ผู้แปลหนังสือทั้งสองเล่มเป็นภาษาอังกฤษ สรุปความได้ว่า การที่หนังสือเล่มหนึ่งๆ จะออกสู่ตลาดโลกจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วมีคนรีวิว เรียกได้ว่าต้องมีทีมงานทำประชาสัมพันธ์ผลักดันหนังสือออกไป เกาหลีใต้มีหน่วยงานทำหน้าที่ด้านนี้โดยเฉพาะ ผลงานด้านภาพยนตร์และดนตรีของไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลกแล้วแต่งานวรรณกรรมที่ควรเป็นเสาหลักยังด้อยอยู่ 

วีรพร ซึ่งเขียนงานแนวสัจนิยมมหัศจรรย์เหมือนกันกล่าวว่า หากเธอเป็นนายกรัฐมนตรีจะนำวรรณกรรมมาสร้างเป็นภาพยนตร์ “มันพลอยทำให้หนังสือขายได้ไปด้วย" นั่นคือมุมมองของนักเขียนที่เห็นว่ารัฐบาลไทยยังทำไม่มากพอกับการส่งเสริมวรรณกรรม  ผู้เขียนในฐานะนักอ่านที่มองว่า การได้มีนักเขียนเป็นภาพจำของประเทศอย่างที่โคลอมเบียมีกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นั้นช่างเท่ไม่หยอก เพราะการอ่านไม่ว่าจะผ่านหนังสือแบบดั้งเดิมหรือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตัวอักษรจะเข้าไปสร้างจินตนาการออกมาเป็นรูปภาพ เคลื่อนไหวตราตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่าน 

แล้วเราจะเป็นแบบนั้นได้รัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง เบื้องต้นที่คิดออกและอยากเสนอแนะจากใจนักอ่านคือ 1. ต้องทำให้หนังสือเข้าถึงง่าย ไม่ว่าจะด้วยการทำให้หนังสือราคาถูกหรือคนไทยมีค่าแรงเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ค่าแรงต้องสามารถซื้อหาหนังสืออ่านได้แบบไม่เดือดร้อน 2. ประชาชนคนไทยต้องมีสมดุลชีวิตและงาน มีเวลาว่างมานั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือได้ ไม่ต้องใช้เวลาปั่นโอทีให้พอเลี้ยงชีพ 3. ส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ ในระดับโรงเรียนให้สื่อสารได้จริง พ่อแม่ไม่ต้องเสียเงินแพงๆ ให้ลูกเรียนพิเศษข้างนอก 4. มีหน่วยงานส่งเสริมการแปลวรรณกรรมไทยผลักดันสู่ตลาดโลกจริงๆ จังๆ 

เมื่อการอ่านเป็นต้นทางของการเขียน วัฒนธรรมการอ่านที่งอกงามจะทำให้ไทยมีนักเขียนและวรรณกรรมเป็นภาพจำของประเทศได้ในวันหนึ่ง ต่อยอดพลังทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ เหมือนที่โคลอมเบียมีกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เป็นหน้าเป็นตา! ประจักษ์ชัดในการรับรู้ของชาวต่างชาติ