ลงลึกไปในทางปฏิบัติ"เผาหลบดาวเทียม": ปัญหา"ฝุ่นควัน"ในพื้นที่ภาคเหนือ  

ลงลึกไปในทางปฏิบัติ"เผาหลบดาวเทียม": ปัญหา"ฝุ่นควัน"ในพื้นที่ภาคเหนือ  

บัณรส บัวคลี่ คอลัมนิสต์"จุดประกาย"วิเคราะห์ปัญหา"ฝุ่นควันในภาคเหนือ ว่าด้วยเรื่อง"การเผาหลบดาวเทียม" เรื่องนี้มีอยู่จริงและมีมานาน และมาตรการห้ามเผา แต่ทำไม"ชิงเผา"มีที่มาที่ไปที่น่าสนใจ

อย่างที่ทราบกันว่า แต่ละปีภาคเหนือประสบปัญหามลพิษฝุ่นควัน โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาในป่าและภาคเกษตร ผสมกับฝุ่นควันข้ามแดน ซึ่งก็มาจากการเผาที่โล่งเช่นกัน (ขอไม่กล่าวสาเหตุรองในที่นี้)

ทำให้เกิดมลพิษค่าอากาศเกินมาตรฐานทั่วไปหมด มาตรการหลักที่ใช้กันตลอดหลายปี คือการมอบอำนาจพิเศษในสถานการณ์ภัยพิบัติ ตามพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เรียกว่า ผู้ว่าซิงเกิ้ลคอมมานด์ จังหวัดภาคเหนือ ใช้วิธีออกประกาศห้ามเผาเด็ดขาดมาหลายปีแล้ว มีรายละเอียดแตกต่างกันไปของแต่ละจังหวัด

แล้วก็ใช้ดัชนีวัดความสำเร็จในการแก้ปัญหาหลักๆ  อยู่สามสี่ตัว  ดัชนีตัวหลักที่มีอิทธิพลมากสุดต่อปฏิบัติการก็คือ จำนวน hotspots จุดความร้อนจากดาวเทียม เพราะมันออกมารายวัน ถูกจี้ไชเป็นรายวัน

ส่วนรอยไหม้ burned scars นั้นมันช้าไปสองสัปดาห์ กว่าตัวเลขจะออกครบก็หมดฤดูไปแล้ว เจ้านายส่วนกลางเลิกสนใจไปแล้ว

สุดท้ายคือ ค่าอากาศที่คนราชการไม่ค่อยให้น้ำหนักนัก เพราะค่า AQI ( (Air Quality Index-ดัชนีคุณภาพอากาศ ) ของราชการเป็นค่าเฉลี่ย 24 ชม. มันไม่ดุเดือดแดงจัด ดัชนีตัวนี้ไม่กระทบกับการทำงานเท่ากับ hotspot 

ชิงเผา ก่อนประกาศนโยบายห้ามเผา 

อย่างปีนี้ นโยบายชัดเจนจากส่วนกลางว่า ให้แต่ละจังหวัดต้องลด hotspots ลงให้ได้ 20%   จากปีที่แล้ว

ซึ่งก็โชคดีที่ลานีญ่าทำให้จุดความร้อนแต่ละจังหวัดลดลงได้จริง ค่าเฉลี่ยที่จิสด้ารวบรวมจนถึงก่อนสงกรานต์ มี hotspots รวมแล้วแค่ 32% ของที่เคยเกิดเมื่อปีที่แล้ว เพราะฝนตกปีลานีญ่า 
ผู้ว่าราชการจังหวัดคงแอบโห่ร้องในใจ ขอบคุณแม่สาวน้อยลานีญ่ากันหลายคนล่ะ  ผ่านสงกรานต์ฝนมาแล้ว รอดตัวไปอีกปี  

ไม่เหมือนตอนแรกๆ มกราคม-กุมภาพันธ์ช่วงเริ่มฤดูที่แต่ละจังหวัดเกร็งกับ KPI งัดกลยุทธ์ออกมาลด hotspots กันคนละหนุบหนับ เช่น ชะลอการประกาศห้ามเผาแบบที่เคยประกาศ รอจนใกล้วันห้ามเผาเด็ดขาดจริงค่อยประกาศออกมาเป็นทางการ

นัยว่า การออกประกาศก่อนล่วงหน้านานๆ ว่าจะประกาศห้ามเผาเด็ดขาด เป็นยั่วยุให้เกิดการรีบเผาก่อน บางจังหวัดมีแบบแผนเปิดให้ชาวบ้าน“ชิงเผา” ล่วงหน้าก่อน  

เผาหลบดาวเทียมมีมานานแล้ว

โดยน่าสังเกตว่า การชิงเผาของชาวบ้านบางแห่งได้รับคำชี้แนะให้เผาหลบดาวเทียม ซึ่งโคจรผ่านวันละสองรอบ คือ รอบบ่ายราวๆ บ่ายโมงครึ่งถึงบ่ายสาม และช่วงดึก ตีหนึ่งตีสอง หากจะเผาให้เผาเช้าตรู่จบก่อนเที่ยง หรือหลังบ่ายสามไปเลย 

การเผาหลบดาวเทียมนี่ มันมีจริงๆ และมีมานานแล้ว ควบคู่กับมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด

และนี่เป็นประเด็นที่ต้องมาพิจารณาอย่างจริงจังเสียที มันไม่ใช่แค่เผาหลบหรอกนะ หากแต่ยังทำให้ตัวเลขค่าต่างๆ บิดผันจากความจริงไปไกล...ข้อมูลที่บิดผัน ย่อมทำให้การแก้ปัญหาระยะยาวผิดเพี้ยนไปด้วย 

 

เอาเป็นว่า ชาวเหนือทั้งปวงรู้กันว่าตัวเลขสถิติ hotspots ไม่ใช่จำนวนไฟที่เกิดขึ้นจริงๆ – มันน้อยกว่าที่เกิดจริงแน่นอน ... 
แต่ว่าน้อยกว่าความจริงกันสักเท่าไหร่ล่ะ ? 
ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีการเผาหลบ แต่ราชการก็ยังใช้สถิติ hotspots  บัญชาการปฏิบัติการและประเมินผลงาน จังหวัดไหน hotspots ขึ้นน้อย ก็รอดตัวไป  

นั่นเพราะยังไม่มีระบบอ้างอิงอื่นที่ดีกว่านี้ และการเผาหลบก็เป็นเครื่องมือของราชการ (บางพวก) ด้วยนั่นเอง กลัว hotspot ขึ้นก็หลิ่วตาบอกชาวบ้านเผาหลบซะ ง่ายๆ แค่นั้น

วิกฤตฝุ่นควันไฟในภาคเหนือ

มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด เกิดจากแนวคิดที่ว่ามีการลอบเผาไฟป่าขึ้น และประชาชนสามารถหยุดการเผาใดๆ ก็ตามทุกชนิดในระหว่างฤดูฝุ่นควัน

รวมถึงการเผาภาคเกษตรในไร่นา ซึ่งที่จริงแล้วมาตรการใช้กำปั้นใหญ่ทุบลงไป สั่งๆ ให้ประชาชนหยุดกิจกรรมการเผามันเป็นไปไม่ได้ !

อย่างน้อยก็มีไร่เกษตรบนพื้นที่สูงที่จำเป็นต้องใช้ไฟในการเตรียมพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในป่าตามแนวคิดชิงเผา เพื่อลดเชื้อเพลิงสะสม  

ในหลายปีมานี้สองแนวความคิดนี้ปะทะกันมาโดยตลอด แต่ความคิดห้ามเผาเด็ดขาดก็ยังเป็นความคิดหลักในการบัญชาการเหตุการณ์อยู่เสมอมา 
มันก็เลยเกิดตัวเลขสถิติตลกๆ ขึ้นมา  สถิติ hotspot กับ สถิติรอยไหม้ burned scars ของบางพื้นที่ออกมาแปลกประหลาดไม่สอดคล้องกัน  

บางจังหวัดมี hotspots น้อยมาก แค่ไม่กี่พันจุด แต่รอยไหม้จากดาวเทียม burned scars กลับออกมามากมายเป็นล้านไร่ สวนทางกัน… ปีก่อนๆ มี...ปีนี้ก็มี 

นี่คือหนึ่งในปัญหาความซับซ้อนย้อนแย้งของวิกฤตฝุ่นควันไฟในพื้นที่ภาคเหนือ ที่แก้ได้ยากเย็น

สาเหตุก็คือ ตัวเลขสถิติไม่ได้สะท้อนปัญหาจริง และ KPI ราชการก็ไม่ได้สะท้อนความสำเร็จล้มเหลวจริง ! 

นโยบายห้ามเผาเด็ดขาด

ลึกลงไปในแนวคิด ห้าม hotspot โดยเด็ดขาดมันมีที่มา ก็คือ ภาคราชการมีสายตามองว่าไฟในช่วงที่เกิดวิกฤตมลพิษอากาศของภาคเหนือเป็นไฟป่า ที่ลักลอบจุด ...

ในเมื่อมันเป็นไฟป่า หรือไฟที่ลักลอบ ย่อมผิดกฎหมายและต้องห้ามไม่ให้มี จึงเกิดนโยบายห้ามเผาเด็ดขาดขึ้นมา  

ยุคแรกคือราวปี 2560-61 ห้ามเผา 60 วัน ต่อมาก็ขยายๆ ไปเป็นสามเดือนสี่เดือนแล้วแต่ละจังหวัดคิดสร้างขึ้น

แนวคิดแบบนี้ เป็นที่มาของสถิติการเผาหลบดาวเทียมในภาคเกษตร เพราะเมื่อถึงเวลาต้องจัดการลมฟ้าอากาศและรอบเพาะปลูก มันรอไม่ได้

แนวทางแก้ปัญหาที่แท้จริงต้องเปลี่ยนไปให้ถึงรากเหง้าระบบความคิดของการนิยามไฟทุกกองว่าเป็น “ไฟป่า” ต้องห้ามไม่ให้เกิด มาเป็น “การจัดการไฟ” จำแนกไฟจำเป็นมาก ไฟจำเป็นน้อย ไฟไม่จำเป็น ไฟต้องห้าม

และบริหารให้ไฟที่ที่เป็นสามารถเผาได้ แต่อยู่ในความควบคุมแบบต่างประเทศ ที่ดูค่าอากาศ/การยกตัวระบายลมประกอบการอนุญาต ส่วนไฟต้องห้าม ไฟลักลอบ ไฟไม่จำเป็นก็ยกระดับควบคุมให้เข้มงวดขึ้น

กำหนดโซนพื้นที่ควบคุมและยกระดับปฎิบัติปกป้องเป็นพื้นที่ไป ซึ่งมันคงดีกว่าการหว่านแหห้าม และหว่านแหปกป้องไม่ให้เกิดการเผาสักกองเดียว ที่เป็นไปไม่ได้ 

นับจากปี 2550 ที่เริ่มมีการนำปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันเข้า ครม. สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นี่ก็ผ่าน 15 ปีมาแล้ว ที่ปัญหายังเกิดซ้ำซากทุกปี

ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุดเสียที การเผาหลบดาวเทียม และ KPI ราชการที่ยึดแต่ hotspots เป็นสำคัญ ก็ควรเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่ควรต้องถูกปรับเปลี่ยน.