“สงกรานต์” ไม่ได้มีแค่ “ประเทศไทย” เปิดลิสต์ “เทศกาลเล่นน้ำ” ทั่วโลก

“สงกรานต์” ไม่ได้มีแค่ “ประเทศไทย” เปิดลิสต์ “เทศกาลเล่นน้ำ” ทั่วโลก

พาชมเทศกาลเล่นน้ำทั่วโลก ที่ไม่ได้มีแค่ “สงกรานต์” ของประเทศไทย และในเอเชียตะวันเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังมีในยุโรปและสหรัฐอีกด้วย

เทศกาลแห่งสายน้ำ หรือ Water Festival เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ที่เป็นวัฒนธรรมร่วมของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และชาวไตในประเทศจีน ซึ่งจะสาดน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีออกไป เพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ เข้ามาในวันขึ้นปีใหม่

สาเหตุที่ชาวตะวันตกเรียกว่าเป็น Water Festival เนื่องจาก เห็นว่ามีการสาดน้ำใส่ผู้คนและเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ในความเป็นจริงแล้ว เทศกาลเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในเอเชียตะวันเฉียงใต้เท่านั้น แต่อีกหลายประเทศในโลกก็มี Water Festival ด้วยเช่นกัน 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จึงได้รวบรวม 10 เทศกาลเล่นน้ำจากทั่วโลก จะมีที่ใดบ้างไปดูกันเลย

 

1. สงกรานต์ - ประเทศไทย (13 - 15 เม.ย.)

เทศกาล “สงกรานต์” เป็นเทศกาลหยุดยาวของประเทศไทย และเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย โดยจัดในวันที่ 13 - 15 เม.ย. ชาวไทยมักจะใช้ช่วงเวลาวันหยุดยาวนี้เดินทางกลับบ้าน เพื่อขอพรจากจากญาติผู้ใหญ่และบุคคลที่เคารพนับถือ พร้อมกับทำพิธีรดน้ำดำหัว ใช้เวลาร่วมกับครอบครัว ทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคล แต่สิ่งที่โดดเด่นทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักคือ การเล่นน้ำ ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ตามถนนเส้นสำคัญของแต่ละจังหวัด ที่มีการปิดถนนเพื่อให้เล่นน้ำโดยเฉพาะ ตลอดจนพื้นที่จัดงานรื่นเริงต่าง ๆ 

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ปีนี้ยังไม่สามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถจัดงานสงกรานต์จนไปถึงวันไหล เช็คได้ที่นี่

 

2. ติงยาน (Thingyan) - เมียนมา (13 - 16 เม.ย.)

ติงยาน” หรือ ติงจัน (Thingyan) เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของ “เมียนมา” ในช่วงวันที่ 13 - 16 เม.ย. โดยชาวเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธมักจะเข้าวัด ทำบุญ การตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ถือศีลปฏิบัติธรรม ทำความสะอาดวัดหรือศาสนสถานไม่แตกต่างจากไทย ส่วนการสาดน้ำมักจะเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

3. ปีใหม่ลาว - ลาว (14 - 16 เม.ย.)

ปีใหม่” หรือ “สงกรานต์” ของประเทศ “ลาว” จะเริ่มต้นในวันที่ 14 - 16 เม.ย. ซึ่งในช่วงเทศกาลจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ และมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ คล้ายกับไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าวัดทำบุญ การก่อเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา การประกวดนางสังขาร (นางสงกรานต์ของประเทศลาว) และที่ขาดไม่ได้คือการเล่นน้ำและการปะแป้ง

 

4. โจลชนัมทเมย (Chaul Chnam Thmey) - กัมพูชา (14 - 16 เม.ย.)

สำหรับเทศกาลขึ้นปีใหม่ของ “กัมพูชา” หรือที่เรียกว่า “โจลชนัมทเมย” (Chaul Chnam Thmey)  ในปีนี้จะเริ่มวันที่ 14 - 16 เม.ย. โดยส่วนมากชาวกัมพูชามักจะทำในช่วงนี้คือ ทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเต้นรำเฉลิมฉลอง ตลอดจนเล่นการละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงการสาดน้ำ ซึ่งในปีนี้ จะมีการจัดงานอังกอร์ สงกรานต์” (Angkor Songkran) ที่เมืองเสียมเรียบ งานสงกรานต์ที่ใหญ่และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องหยุดจัดงานไป 

 

5. เทศกาลสาดน้ำของชาวไต (Water-Sprinkling Festival) - จีน (13 - 15 เม.ย.)

เทศกาลสาดน้ำของชาวไต” (Water-Sprinkling Festival) เป็นการเฉลิมฉลองเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวไต ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เขตปกครองตนเองเต๋อหงไดและจิงโป ทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยในวันที่ 3 ของเทศกาลชาวไตจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามและออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน

6. โฮลี (Holi) - อินเดีย (18 มี.ค.)

โฮลี” (Holi) เป็นเทศกาลการสาดสีของอินเดีย ที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดูในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยชาวฮินดูออกมาเล่นสาดสีใส่กัน เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สำหรับฝุ่นผงสีที่ใช้สาดกันนั้นจะทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ 

การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้น ผู้คนก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน เมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน อีกทั้งยังเชื่อว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเทศกาลนี้มา และปรับเปลี่ยน จากการสาดสี เป็นสาดน้ำใส่กันแทน นั่นก็คือ สงกรานต์ นั่นเอง
 

7. วาร์ดาวาร์ (Vardavar) - อาร์เมเนีย (24 ก.ค.)

ขยับมาที่ทวีปยุโรป กับเทศกาล “วาร์ดาวาร์” (Vardavar) ของประเทศ “อาร์เมเนียจัดขึ้นหลังจากเทศกาลอีสเตอร์ 14 สัปดาห์ หรือ 98 วัน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 24 ก.ค. โดยผู้คนจะออกมาสาดน้ำใส่กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งบางคนเทน้ำจากบนระเบียงลงมาใส่หัวคนที่ไม่รู้จักอย่างเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรี และงานจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของอาร์เมเนียอีกด้วย 

สำหรับที่มาของงานนี้สันนิษฐานว่า เป็นการแสดงความเคารพ Astghik เทพีแห่งสายน้ำ ความงาม ความรัก และความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็ว่ามาจากประเพณีสมัยโนอาห์ ที่ให้ลูกหลานสาดน้ำใส่กันและปล่อยนกพิราบ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใด เทศกาลนี้ได้สร้างความชุ่มชื่นและคลายร้อนให้แก่ชาวอาร์เมเนียนในฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี

 

8. ชมิกุส-ไดน์กุส (Śmigus-dyngus) - โปแลนด์ (18 เม.ย.)

ชมิกุส- ไดน์กุส” (Śmigus-dyngus) หรือที่เรียกว่า “Wet Monday” เป็นการเฉลิมฉลองของชาวยุโรปกลางและตะวันออก โดยเฉพาะในโปแลนด์ ในวันจันทร์ของเทศกาลอีสเตอร์ ซึ่งตรงกับวันที่ 18 เม.ย. ในปีนี้ โดยผู้คนจะออกมาสาดน้ำและร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน 

ในอดีตมีการละเล่นแผลง ๆ ซึ่งปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว คือ เด็กชายจะบุกเข้าไป สาดน้ำใส่เด็กหญิงถึงในบ้าน พร้อมกับใช้กิ่งต้นหลิวตีเบา ๆ หากเด็กหญิงร้อง ก็จะถูกอุ้มไปยังแหล่งน้ำใกล้เคียง หากเด็กหญิงไม่อยากตกน้ำ ก็จะต้องมอบไข่อีสเตอร์ให้เด็กชาย หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็จะได้เวลาแก้แค้นของเด็กหญิงที่สามารถทำแบบเดียวกันกับเด็กชายได้ 

 

9. วอเตอร์ แอนด์ แฮม เฟสติวัล (Water and Ham festival) - สเปน (24 มิ.ย.)

วันที่ 24 มิ.ย. นี้ ที่จังหวัดเกรเนดา ประเทศสเปน จะมีงาน “Water and Ham festival” หรือในภาษาสเปนเรียกว่า “Fiesta del Agua y del Jamón” ซึ่งเป็นเทศกาลสาดน้ำตอนเที่ยงคืนที่มีชื่อเสียงอย่างมาก โดยจัดบนถนนสายหลักของเมือง Alpujarra ที่แน่นขนัดไปด้วยชาวเมืองพร้อมอาวุธครบมือ ทั้งถังน้ำ ปืนฉีดน้ำ และสายยาง นอกจากนี้ยังมีแฮมขึ้นชื่อของสเปนวางจำหน่ายให้ลองลิ้มรสในงานอีกด้วย

 

10. นิวยอร์กซิตี้วอเตอร์ไฟต์ (New York City Water Fight) - สหรัฐ (9 ก.ค.)

ข้ามฟากมาที่สหรัฐ กับงาน “New York City Water Fight” เป็นงานสาดน้ำที่จัดขึ้นใน เซ็นทรัล ปาร์ค มหานครนิวยอร์ก โดยในปีนี้จัดขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. นอกจากภายในงานจะมีการเล่นน้ำกันอย่างสนุกแล้ว ในปีนี้ยังเพิ่มการแสดงดนตรี และประกวดเครื่องแต่งกายอีกด้วย ซึ่งงานนี้สามารถลงทะเบียนออนไลน์ได้ฟรี และตอนนี้เต็มแล้ว แต่ยังสามารถลงทะเบียนที่หน้างานได้อีก นอกจากนี้ยังมีถังขนาด 5 แกลลอนจำหน่ายในราคา 12 ดอลลาร์ โดยรายได้ทั้งหมดจะนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดงาน

“สงกรานต์” ไม่ได้มีแค่ “ประเทศไทย” เปิดลิสต์ “เทศกาลเล่นน้ำ” ทั่วโลก

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รวบรวม

กราฟิก: วิชัย นาคสุวรรณ