วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ

วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่"ศรีลังกา" ทั้งปัญหาขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรค ไม่มีเงินซื้อสินค้าจำเป็น และเคยไฟดับทั้งประเทศมาแล้ว ผลมาจากการบริหารประเทศผิดพลาดของตระกูล"ราชปักษา"รวมถึงเงื่อนงำการใช้อำนาจไม่ชอบธรรม

ในขณะที่ศรีลังกากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 สายตาคนทั้งโลกต่างก็จับจ้องไปที่ตระกูลการเมืองที่มีอำนาจของเกาะในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่ปกครองประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา

สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ ทำให้ไม่มีเงินนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่างๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ไฟดับทั้งประเทศเป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน และยังเกิดภาวะการขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค

ความล้มเหลวรัฐบาลศรีลังกา

ทั้งหมดเป็นชนวนให้ความโกรธแค้นของประชาชนปะทุขึ้น เพราะไม่พอใจการแก้ปัญหาที่ล้มเหลวของรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การบริหารของแกนนำนักการเมืองจากตระกูลราชปักษาลาออก

ผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้ปะทะกับตำรวจและทหารยาวนานหลายชั่วโมงที่นอกบ้านพักประธานาธิบดีในกรุงโคลัมโบ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 การประท้วงเริ่มด้วยความสงบและกลายเป็นความรุนแรง 

ผู้เข้าร่วมประท้วงกล่าวว่า ความรุนแรงเริ่มเกิดขึ้น หลังจากที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตา ฉีดน้ำสลายม็อบ และทุบตีประชาชน ด้านผู้ประท้วงตอบโต้ตำรวจด้วยการปาหินใส่ผู้ประท้วง แต่ถูกกล่าวหาว่าจุดไฟเผายานพาหนะของตำรวจและทหารหลายคัน

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ (ประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา ผู้ปกครองประเทศศรีลังกาคนปัจจุบัน)

 

สถานการณ์ความรุนแรงส่งผลให้ประธานาธิบดีต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการจับกุมและคุมขังผู้ประท้วง มีการประกาศเคอร์ฟิวและพยายามสกัดกั้นการประท้วงด้วยการปิดกั้นการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก วอตส์แอปป์ และทวิตเตอร์

ผลจากการประท้วงทำให้รัฐมนตรี 26 คนประกาศลาออกยกคณะ ยกเว้น มหินทา ราชปักษา นายกรัฐมนตรี กับน้องชายของเขาหรือประธานาธิบดีโกตาพญา 

และล่าสุดกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน ก็ปฏิเสธคำเชิญของประธานาธิบดีที่เรียกร้องให้มาร่วมตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ นอกจากนี้ส.ส.ซีกรัฐบาลมากกว่า 40 คนก็ประกาศลาออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ

(มหินทา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา พี่ชายประธานาธิบดีโกตาพญา ราชปักษา)

ตระกูลราชปักษาผู้ทรงอิทธิพล

ราชปักษา เป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองของศรีลังกามาหลายทศวรรษ มีช่วงเวลาสั้นๆ ที่แพ้เลือกตั้ง จนต้องเป็นฝ่ายค้านก่อนที่จะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง หลังจากโกตาพญาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปี 2562 

ดอน อัลวิน ราชปักษาผู้พ่อ เคยเป็นทั้ง ส.ส. และรัฐมนตรี มหินทา ผู้พี่เคยเป็นประธานาธิบดีถึง 2 สมัยและเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มีน้องชายโกตาพญาเป็นประธานาธิบดี

สมาชิกจากครอบครัวราชปักษา 5 คนได้เข้าร่วมคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการลาออก

คนแรกคือ มหินทาเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดีโกตาพญาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชามาลซึ่งเป็นพี่ชายนายกรัฐมนตรี ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและชลประทาน

เบซิล ซึ่งเป็นน้องชายของประธานาธิบดีได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่จะโดนพี่ชายปลดออก เซ่นพิษการเมือง นามาลซึ่งเป็นบุตรชายของนายกรัฐมนตรี ก็ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกีฬาและกิจการเยาวชน

มีการประเมินว่า งบประมาณของประเทศราว 75 เปอร์เซ็นต์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีจากตระกูลราชปักษา

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ

(เบซิล ราชปักษา น้องชายประธานาธิบดีโกตาพญา ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นโดนพี่ชายปลดออก)

มหินทา บิ๊กบอสตระกูลราชปักษา

มหินทา ราชปักษา วัย 76 ปี เป็นบิ๊กบอสของตระกูลและนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ เขาเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2547 ก่อนที่จะชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและครองอำนาจยาวตั้งแต่ปี 2548 - 2558 

เขาหวนคืนสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 3 ปีก่อนโดยการแต่งตั้งของโกตาพญาผู้เป็นน้อง

มหินทา เป็นที่รักใคร่ของชาวสิงหล ซึ่งนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นผู้นำในการปราบปรามกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในเดือนพฤษภาคม 2552 อันเป็นการยุติสงครามกลางเมืองที่ยาวนานหลายทศวรรษ

ประธานาธิบดีมหินทาในขณะนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาคมนานาชาติอย่างหนัก ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากมีพลเรือนเสียชีวิตในปฏิบัติการครั้งนั้นถึง 40,000 คน ตามรายงานขององค์การสหประชาชาติ โดยทั้งหมดถูกต้อนเข้าไปในพื้นที่ที่เรียกว่า เขตห้ามยิงก่อนที่จะถูกทิ้งระเบิดโดยกองทัพศรีลังกา

มหินทากับการสังหารหมู่

มหินทาปฏิเสธตัวเลขดังกล่าว และปฏิเสธที่จะเข้ารับการสอบสวนจากองค์กรระหว่างประเทศเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการสังหารหมู่ การสอบสวนภายในประเทศหลายครั้งก็คว้าน้ำเหลว ไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนหรือดำเนินคดีอาชญากรรมสงคราม

ในปี 2563 มหินทากลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง เมื่อพรรคศรีลังกาโปดูจาน่า เปรามูน่าของเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายได้ที่นั่งในสภา 145 ที่นั่ง จากทั้งหมด 225 ที่นั่ง ตัวเขาได้คะแนนโหวตถึง 500,000 คะแนน ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้ง

ในช่วงที่เขาปกครองประเทศ เขาพาศรีลังกาไปใกล้ชิดจีนมากขึ้น ประเทศมีการกู้ยืมเงินเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

ซึ่งหลายโครงการกลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการสร้างและบำรุงรักษา แต่ไม่ค่อยมีประโยชน์และนำไปสู่การคอรัปชั่น

นักวิจารณ์มองว่า มหินทาไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการแบ่งแยกกับชาวทมิฬ หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ชุมชนชาวทมิฬถูกห้ามจัดงานรำลึกถึงการเสียชีวิตจากสงคราม และยังคงเป็นคนชายขอบเป็นส่วนใหญ่

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ (เบซิล ราชปักษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังล่าสุดถูกปลด เพราะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้)

โกตาพญา:นักสังหาร

ศรีลังกาถูกปกครองโดยประธานาธิบดีที่มีอำนาจล้นฟ้าในฝ่ายบริหารมาตั้งแต่ปี 2521 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2558 ทำให้รัฐสภาและนายกรัฐมนตรีมีความเข้มแข็งขึ้น และให้อำนาจกับคณะกรรมการอิสระในการดูแลเรื่องการแต่งตั้งตุลาการ ตำรวจ การบริการสาธารณะและจัดเลือกตั้ง

โกตาพญา ราชปักษา วัย 72 ปี ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2562 หลังจากที่นำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้นำเพียงคนเดียวที่สามารถปกป้องประเทศได้

หลังจากกลุ่มไอเอสก่อเหตุระเบิดที่โบสถ์คริสต์และโรงแรมหรูหลายแห่งในระหว่างที่ประชาชนกำลังร่วมประกอบพิธีทางศาสนา เนื่องในเทศกาลอีสเตอร์เมื่อเดือนเมษายน 2562 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 269 ราย และนับตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง โกตาพญาบอกว่า เขาต้องทำงานภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว

โกตาพญา เป็นตัวตายตัวแทนของมหินทา สมัยที่เขาเป็นผู้นำประเทศ โดยน้องชายดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่คุมกองทัพและตำรวจ โกตาพญาปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังทีมสังหารที่ลักพาตัวและอุ้มหายฝ่ายตรงข้ามหลาย 10 คนในรถตู้สีขาว

ครอบครัวของเขาตั้งฉายาให้โกตาพญาว่า “เดอะ เทอร์มิเนเตอร์” หรือนักสังหาร ความหัวร้อนของเขา ทำให้ศัตรูเกรงกลัว

ตอนนี้โกตาพญากำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และตกเป็นเป้าหมายหลักของความโกรธแค้นของประชาชนร่วมกับมหินทา พี่ชาย

ผู้ประท้วงถือป้ายว่า“Go Gota Go”หรือ “ออกไปซะ โกตา” นอกบ้านพักของเขาเมื่อวันที่ 31 มีนาคมพร้อมกับประณามครอบครัวราชปักษาว่าบริหารประเทศผิดพลาด

เบซิล ได้ฉายามิสเตอร์10%

เบซิล ราชปักษา วัย 70 ​​​​ปี เป็นนักวางยุทธศาสตร์ทางการเมืองและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดูแลเรื่องเศรษฐกิจภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีมหินทา ก่อนที่จะถูกปลด เพราะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้

เบซิลได้ฉายา“มิสเตอร์10%” ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี โดยอ้างถึงข้อกล่าวหาเรื่องการรับค่าคอมมิชชั่นจากคู่สัญญาที่ทำกับรัฐบาล

แต่รัฐบาลชุดต่อๆ มาก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า เขายักยอกเงินหลวงหลายล้านดอลลาร์ และทุกคดีที่เขาถูกฟ้องถูกถอนหมดหลังจากโกตาพญาขึ้นเป็นประธานาธิบดี

ชามาล :เดอะบอดี้การ์ด

ชามาล ราชปักษา วัย 79 ปี เป็นผู้อาวุโสที่สุดในตระกูลนี้ เขาเคยเป็นประธานรัฐสภาสมัยที่มหินทาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และยังเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและการบินด้วยในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ชามาลรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและชลประทานและเป็นคนสำคัญอันดับสองรองจากโกตาพญาในกระทรวงกลาโหม

ชามาลเคยเป็นตำรวจและเคยทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มกันส่วนตัวให้กับสิริมาโว บันดาราไนยเก นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก

วิกฤติเลวร้ายที่สุดใน“ศรีลังกา”เมื่อตระกูล“ราชปักษา”บริหารประเทศ (นามาล ราชปักษา ลูกชายนายกรัฐมนตรีมหินทา เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาและกิจการเยาวชน ล่าสุดยื่นใบลาออก)

นามาล:ทายาทราชปักษา

นามาล ราชปักษา นักกฎหมายวัย 35 ปี เป็นลูกชายคนโตของนายกรัฐมนตรีมหินทาและเป็นทายาทของตระกูล ที่พ่อเตรียมจะให้เดินตามรอยก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในอนาคต

เขาเข้าสู่การเมืองด้วยการเป็นส.ส.ครั้งแรกในปี 2553 ด้วยวัยเพียง 24 ปี เขาเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีปัจจุบันของพ่อ ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาและกิจการเยาวชน และเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีที่ยื่นใบลาออกล่าสุด

ในช่วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของพ่อ และน้าชายปิดกั้นการใช้โซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา นามาลใช้ทวิตเตอร์แนะนำให้คนใช้วีพีเอ็นหรือเครือข่ายส่วนตัวเสมือน เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นที่ถูกปิดกั้นเฉพาะพื้นที่ได้ ในขณะเดียวกันเขาก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการแบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียด้วย

“ผมจะไม่มีวันให้อภัยการบล็อกการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย วีพีเอ็นหรือเครือข่ายที่ผมใช้อยู่ ตอนนี้ทำให้การแบนดังกล่าวไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ผมขอให้ทางการคิดแบบก้าวหน้ามากกว่านี้ และทบทวนการตัดสินใจนี้เสียใหม่” เขาทวีต

ในช่วงทศวรรษที่พ่อของเขาอยู่ในอำนาจในฐานะประธานาธิบดี นามาลทรงอิทธิพลมาก แม้ว่าเขาจะไม่มีตำแหน่งใดๆ ก็ตาม รัฐบาลชุดก่อนที่เป็นคู่แข่งกล่าวหาว่า เขาฟอกเงินและทุจริตอื่นๆ ซึ่งเขาปฏิเสธ

..........................

ที่มา เอเอฟพี และ https://www.news18.com