สงกรานต์ 2565 รู้วิธี "รดน้ำดำหัว" ที่ถูกต้องทำอย่างไร ทำวันไหน?

สงกรานต์ 2565 รู้วิธี "รดน้ำดำหัว" ที่ถูกต้องทำอย่างไร ทำวันไหน?

เปิดที่มาประเพณี “รดน้ำดำหัว” ในเทศกาล "สงกรานต์ 2565" แม้คนไทยจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่หลายคนก็อาจจะยังเข้าใจผิด ชวนรู้วิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ถูกต้องมีข้อปฏิบัติอย่างไร?

ช่วงเทศกาล สงกรานต์ 2565 สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ ประเพณี “รดน้ำดำหัว” ผู้อาวุโสที่เราเคารพ แต่อาจจะยังมีบางคนที่ยังไม่รู้ว่าที่มาของประเพณีเป็นอย่างไร เราควรจัดให้มีการ รดน้ำดำหัวกันในวันไหน และที่สำคัญการรดน้ำดำหัวที่ถูกต้องแท้จริงแล้วควรทำอย่างไร

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมให้ความหมายไว้ว่า ประเพณี "รดน้ำดำหัว" ผู้สูงอายุเป็นประเพณีในช่วง เทศกาล วันสงกรานต์ หรือ วันขึ้นปีใหม่ ของไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนาน เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยและปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน

สำหรับ เทศกาลสงกรานต์ มีด้วยกัน 3 วัน คือ ระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันปีใหม่ของไทยที่ลูกหลานจะต้องกลับมาบ้านเพื่อรวมญาติและถือเป็นวันครอบครัว เป็นโอกาสที่ลูกหลานได้แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อบิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และผู้ที่มีพระคุณที่เคารพนับถือ 

 

  • ประเพณีรดน้ำดำหัว คืออะไร?

แรกเริ่มเดิมที "รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่" เป็นพิธีโบราณจากทางภาคเหนือของไทย คำว่า “รดน้ำดำหัว” เป็นคำพูดของชาวเหนือขณะที่จะไปรดน้ำขอขมา-ขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และยังเป็นการชำระสิ่งอัปมงคลไปจากชีวิตด้วย

ในอดีตนั้นการรดน้ำคือ การอาบน้ำจริง ๆ ส่วนการดำหัวก็คือการสระผมให้ผู้ใหญ่นั้นเอง (คำว่า “ดำหัว” เป็นภาษาล้านนาดั้งเดิมหมายถึงการสระผม) โดยจะใช้น้ำส้มป่อยหรือน้ำมะกรูดในการสระผม ต่อมาพิธีดังกล่าวก็แพร่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค

ประเพณีการรดน้ำดำหัว ผู้สูงอายุนี้ เป็นประเพณีที่ทรงคุณค่าสมควรได้รับการสืบทอด จัดขึ้นเพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้กระทำไว้ในอดีต นอกจากนี้ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีคุณค่าสำหรับลูกหลานชาวไทยทุกคน เพราะเป็นวัยที่ผ่านประสบการณ์ในแต่ละช่วงอย่างมากมาย จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านั้นเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้ปฏิบัติตาม

 

  • วิธี "รดน้ำดำหัว" ที่ถูกต้อง

โดยปกติแล้วประเพณี “รดน้ำดำหัว” จะทำกันในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ (15 เม.ย.) เพียงวันเดียวหรือ “วันเถลิงศก” ไม่ใช่ว่าจะเลือกทำวันใดก็ได้ แต่ในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความสะดวกของแต่ละครอบครัว เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ของผู้น้อยและขอขมาลาโทษที่อาจเคยล่วงเกินผู้ใหญ่

อีกทั้งเป็นการขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเพณีที่ลูก หลาน มักทำให้กับผู้อาวุโสในบ้านเพื่อขอพร แต่ปัจจุบันกลับมีความเชื่อผิด ๆ เกิดขึ้นนั่นก็คือ การที่ผู้น้อยให้พรผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดตามหลักประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน