อยาก "ลาออก" แต่ไม่รู้คิดถูกไหม? เช็ก 3 เหตุผลให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจ

อยาก "ลาออก" แต่ไม่รู้คิดถูกไหม? เช็ก 3 เหตุผลให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจ

การ "ลาออก" ครั้งใหญ่ หรือ The Great Resignation ที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วอาจลามมาถึงปีนี้ด้วย เพราะวิกฤติโควิดทำให้ลูกจ้างค้นพบวิธีทำงานรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ตัวเองมากขึ้น แต่ก่อนจะลาออกต้องใช้เหตุผลพิจารณาให้ถี่ถ้วน

ปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ถูกพูดถึงอย่างมากปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าจะลากยาวมาถึงปีนี้ด้วย เมื่อวิกฤติโควิดเข้ามาปรับพฤติกรรมคนทำงานแทบทุกองค์กร ทำให้พนักงานค้นพบรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดว่าต้องทำงานในออฟฟิศเสมอไป

ลูกจ้างหลายคนจึงเลือกที่จะไม่ทนกับองค์กรที่ไม่ปรับวัฒนธรรมองค์กรตามสถานการณ์ยุคโควิด นี่เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น

อย่างไรก็ตาม พนักงานหรือลูกจ้างควรไตร่ตรองให้ดีก่อนจะ “ลาออก” เพราะอย่าลืมว่าในอีกทางหนึ่ง โควิดก็ทำให้การหางานใหม่ในสมัยนี้ยากขึ้น เพราะหลายบริษัทมีนโยบายลดจำนวนพนักงาน หรือไม่ต้องการรับพนักงานเพิ่ม เพื่อรัดเข็มขัดด้านรายจ่ายขององค์กรเช่นกัน

หากคุณยังมีงานประจำอยู่แล้ว การจะตัดสินใจเปลี่ยนงานในช่วงนี้ จึงต้องใช้เหตุผลมาคิดพิจารณาให้ดี ไม่ใช่อยากลาออกเพราะใช้อารมณ์เหนือเหตุผล กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวน เช็ก 3 เหตุผลหลักๆ ก่อนตัดสินใจลาออกมาให้คุณพิจารณาเพิ่มเติม

 

1. ย้อนดูปรากฏการณ์ The Great Resignation

ก่อนจะไปเช็กเหตุผลประกอบการตัดสินใจในการ "ลาออก" ชวนย้อนกลับไปดูปรากฏการณ์ The Great Resignation อีกครั้ง โดยมีข้อมูลจาก รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในสหรัฐและหลายประเทศแถบยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่หลายประเทศเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด 

ข้อมูลเชิงสถิติต่างๆ ชี้ว่าพนักงานตามองค์กรต่างๆ ของสหรัฐได้ลาออกจากงานกันเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของ Gallup พบว่าร้อยละ 48 ของคนทำงานในสหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการหางานใหม่

ขณะที่ในอังกฤษและไอร์แลนด์พบว่า ร้อยละ 38 วางแผนที่จะลาออกภายในระยะเวลาอันใกล้เช่นกัน และคาดว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในไทยด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้พนักงานอยากจะย้ายงานใหม่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ก็คือ

ข้อแรก : มาจากการค้นพบการทำงานแบบใหม่ที่มาพร้อมวิกฤติโควิด  นั่นคือ การทำงานจากที่บ้านหรือจากที่อื่นๆ (Work from home / Work from anywhere) โควิดทำให้พบว่าโลกของการทำงานนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป

มีงานศึกษาหนึ่งพบว่า พนักงานจำนวน 1 ใน 3 จะลาออกเลย ถ้าถูกบังคับให้เข้าทำงานที่ออฟฟิศตลอดเวลา หรือไม่สามารถ Work from home ได้

ข้อสอง : ช่วงวิกฤติโควิด บริษัทใดที่ไม่ดูแลเรื่องสุขภาพ ความเป็นอยู่ หรือช่วยเหลือพนักงานที่ประสบปัญหา แถมยังทำให้พนักงานต้องมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อ พนักงานก็จะมองหาโอกาสที่จะย้ายไปอยู่กับบริษัทที่ดูแลเอาใส่ใจพนักงานแทน

 

2. หลังวิกฤติฟื้นตัว หลายองค์กรมองหามืออาชีพ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการลาออกจากงานมากขึ้น นั่นคือ ภาวะการเกิดแรง PUSH และแรง PULL ขึ้นพร้อมกัน โดย ธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเฟรเซอร์ส พรอพเพอร์ตี้ฯ อธิบายว่า 

แรง PUSH และแรง PULL คือ ภาวะที่ลูกจ้างคนหนึ่งมีศักยภาพในการทำงาน ผลงานโดดเด่น มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการ ซึ่งมักมีบริษัทชั้นนำของต่างประเทศมาชวนไปทำงานเสมอ นี่คือแรง PULL ที่เกิดขึ้น

ขณะที่ลูกจ้างคนดังกล่าวทำงานอยู่กับองค์กรเก่าแก่ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบอนุรักษ์นิยม เจ้านายไม่ถนัดเทคโนโลยี ประหยัด เจ้าระเบียบ บางครั้งเกิดความขัดแย้งกับเจ้านาย นี่คือแรง PUSH ที่เกิดขึ้น

เมื่อแรง PULL กับ PUSH เกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อไหร่ ต่อให้ทำงานมานานแค่ไหน ลูกจ้างคนนี้ก็พร้อมจะลาออกเสมอ

จึงไม่แปลกที่ในไทยมักจะมีกรณีที่ว่าคนเก่งๆ ในบริษัทมัก "ลาออก" จากบริษัทที่ไม่ยอมปรับตัวตามสถานการณ์โลก

3. อยาก "ลาออก" ต้องคิดด้วยเหตุผลให้รอบคอบ

แม้ว่ากรณีข้างต้นจะดูสมเหตุสมผลกับการ "ลาออก" ของลูกจ้างที่มีศักยภาพ แต่ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ลูกจ้างเองควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจยื่นใบลาออกจริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ยึดมั่นว่าตนเองมีความสามารถ ทำงานเก่ง แล้วจะหางานใหม่ได้ง่ายๆ 

อยาก \"ลาออก\" แต่ไม่รู้คิดถูกไหม? เช็ก 3 เหตุผลให้ชัวร์ก่อนตัดสินใจ

มีข้อมูลจากเพจ "TaxBugnoms" แนะนำเหตุผลหลักๆ ที่ลูกจ้างควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการลาออก ดังนี้

  • เหตุผลด้านสุขภาพ : 

หากงานที่ทำอยู่มีผลต่อสุขภาพร่างกายหรือสุขภาพจิตใจ ควรนำเหตุผลนี้มาเป็นปัจจัยพิจารณา อาจจะยังไม่ต้องลาออกทันทีตอนนี้ แต่ให้ดูว่าในระยะยาวจะส่งผลเสียมากกว่านี้ใช่หรือไม่? หากใช่ก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะลาออก

อย่าเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นในทำนองว่า ในเมื่อคนอื่นยังทนได้ เราก็ต้องทนได้เหมือนกัน เพราะแต่ละคนนั้นมีความอดทนไม่เท่ากัน

  • เหตุผลด้านเป้าหมายการทำงาน : 

ให้ถามตัวเองว่าเราอยากได้อะไรจากการทำงาน แล้วเราได้รับมันจากสิ่งที่เราทำอยู่ไหม และอย่าไปมองหาทางที่ดีที่สุดตลอดเวลา เพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่าทางไหนจะดีที่สุด และเราก็เลือกได้เพียงทางเดียวเท่านั้น ดังนั้นต้องตั้งสติและอย่าวู่วาม

  • เหตุผลด้านการเงิน : 

ให้ถามตัวเองว่า ผลตอบแทนจากงานในปัจจุบันตอบโจทย์ไหม หากมองในระยะยาวเงินที่เราจะต้องกินต้องใช้ มีการวางแผนและจัดการอย่างไร ถ้าตัดสินใจลาออกตอนนี้ แล้วเงินสำรองที่มีพอไหม? หากยังติดขัดเรื่องการเงินก็ยังไม่ควรลาออก

-------------------------------------

อ้างอิง : เพจ TaxBugnoms