ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง

ตอนอยู่ในตำแหน่ง ทำไมถึงไม่ทำ? เหตุใดถึงลงสมัครอิสระ? กลัวแพ้ไหม? ชวนฟังคำตอบที่อยู่ภายในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ท่ามกลางความท้าทายภายนอกของการเป็นหนึ่งในผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ ในรอบ 9 ปี และน่าจะเป็นครั้งที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุด

สกลธี ภัททิยกุล” คือใคร? คงไม่ต้องอธิบายให้มาก เขาน่าจะเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ ในสมัยติดกัน

แม้นิยามเป็นผู้สมัครอิสระ แต่นักการเมืองหนุ่มวัย 44 ปี เชื่อมโยงกับการเมืองในหลายรูปแบบ เริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะ ส.ส.กรุงเทพฯ เขต 4 (เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่) เมื่อปี 2550 ก่อนจะสอบตกเมื่อการเลือกตั้งปี 2554 สวมรองเท้าผ้าใบเป็นแนวร่วมสำคัญในการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและอดีตกรรมการบริหารพรรคประชารัฐ ก่อนจะลาออกเพื่อเป็นรองผู้ว่าฯ เมื่อ พ.ศ. 2561

“ทุกช่วงที่ผ่านมามีความหมายสำหรับผม อย่างตอนที่เป็น ส.ส.สมัยแรก สมัยเดียวก็เป็นทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ตอนที่เป็น กปปส. ก็ขับเคลื่อนการเมืองนอกสภาฯ ยาวนานกว่า200 วัน พอได้โอกาสมาทำงานเป็นรองผู้ว่าฯ ผมสนุกที่ได้ทำงานตรงนี้และรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมาก ถ้าถามว่าอะไรเป็นไฮไลท์ที่สำคัญที่สุด คงเลือกอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกช่วงก็สร้างให้ผมเป็นตัวเองในทุกวันนี้”

24 มีนาคม 2565 วันเดียวกับที่อดีตผู้บังคับบัญชา พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ คือวันที่สกลธีเปิดตัว 6 นโยบาย ภายใต้แคมเปญ “กทม.More ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้” และจากนั้นก็คงเดาได้ไม่ยากถึงภารกิจแน่นตารางงาน ทั้งการลงพื้นที่หาเสียง ขึ้นเวทีดีเบต ลำดับเปิดตัวรายละเอียดนโยบายและทีมงาน รวมถึงวางกลยุทธ์แก้เพิ่มคะแนนนิยมในแต่ละช่วงเวลา

เย็นวันสุดสัปดาห์จึงพอมีเวลาสนทนากับ “จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ” เพื่อทบทวนเสียงที่อยู่ในใจที่ทำให้เขามายืนในจุดนี้ในฐานะผู้สมัคร

  • ตอนนี้ทุกอย่างเรียบร้อยเพื่อเตรียมสู่วันเลือกตั้ง 22 พ.ค. คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง?

ผมคิดว่าผมพร้อมแล้วนะ ตอนแรกก็ยอมรับว่ากังวลบ้าง เพราะการลงสมัครผู้ว่าฯ ไม่ได้ง่ายเลย เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ คนจะชนะต้องได้รับความไว้วางใจเยอะพอสมควร ผมเคยคิดนะว่ามันถึงเวลาของเราหรือยัง แต่สองสัปดาห์ก่อนจะเปิดตัว ผมคิดว่าตัวเองพร้อมแล้ว จะชนะหรือแพ้เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้หรอก แต่ผมคิดว่าตัวเองพร้อม ผมทำมันได้

  • กลัวที่จะแพ้ไหม เพราะจากผลสำรวจในหลายสำนัก มีผู้นำที่ค่อนข้างชัดเจน?

ไม่กลัว และถ้าผลเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ แต่ผมมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนอดีต ที่ผ่านมาจะมีตัวเต็ง 2-3 คน โอกาสที่จะแพ้-ชนะเป็น 50-50 หรืออาจเฉลี่ยเป็น 40-30-30 ของผู้สมัครอันดับ 1-3 แต่ครั้งนี้มีผู้สมัครและถูกให้น้ำหนักเยอะกว่าในอดีต คือมีถึง 7-8 คน ซึ่งโอกาสแพ้มันมากกว่าชนะอยู่แล้ว ที่คิดคือจะทำให้ดีที่สุด ที่เหลืออยู่ที่คนกรุงเทพจะมอง

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง สกลธี ภัททิยกุล กับที่ทำการช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพ ย่านถ.รัชดาภิเษก

  • ทำงานในตำแหน่งรองผู้ว่าฯ มาเกือบ 4 ปี รู้สึกตั้งแต่ตอนไหนว่าอยากมาเป็นผู้ว่าฯ เอง ?

สัก 2-3 ปีที่เป็นรองฯ รู้สึกว่างานแบบนี้เราชอบ ถูกจริต ในอดีตตอนเป็น ส.ส. ทำงานในสภา ประสานช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ มีบางกรณีที่จนหมดสมัยแล้วแต่เรื่องไม่จบ แต่พอเป็นรองผู้ว่าฯ เรื่องเดียวกันสั่งการ 2 สัปดาห์จบเลย สำหรับผมงานด้านท้องถิ่นเสน่ห์คือทำแล้วเห็นผลเร็ว ตรงจุด ได้ลงพื้นที่ไปดูปัญหาซึ่งเป็นสไตล์การทำงานของผมอยู่แล้ว

ผมเป็นคนกรุงเทพฯตั้งแต่เกิด เรียนหนังสือ ใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้ ทำข้อมูล เก็บประสบการณ์ มองปัญหาในพื้นที่มาตลอด คิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งเราจะขอเสนอตัวเป็นทางเลือก อยากจะเป็นผู้ว่าฯ แต่ก็ไม่คิดว่าโอกาสจะมาถึงเร็วกว่าที่คิด แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็ลุยเลย

  • การเคยเป็นรองผู้ว่าฯ มาก่อน เป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อน เพราะจะมีคำถามอยู่เสมอว่า ตอนมีอำนาจอยู่ ทำไมไม่ทำ?

อย่างแรกต้องพูดกันตรงๆว่า การเป็นผู้ว่าฯ กับรองผู้ว่าฯ ไม่เหมือนกัน ชื่อก็บอกแล้วว่าคือ “รอง” งานคือทำสิ่งที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย และสำหรับสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ผมมองว่าทำได้ดีในระดับหนึ่ง

ตอนผมเป็นรองฯ ผมมีผลงานที่จับต้องได้ เช่น 1.การจับปรับมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนทางเท้า ซึ่งเป็นปัญหาของคนเดินเท้าในกรุงเทพฯมานาน มี พ.ร.บ. ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 แต่ไม่มีคนเอาจริง ผมทำและปรับได้รวม 46 ล้านบาท 2.เรื่องเก็บซากรถเก่าที่กีดขวางการจราจร ผมเก็บไปได้กว่า 1,200 คัน และใช้พื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ทำประโยชน์เป็นที่จัดเก็บ ติดกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย

3. เรื่องการจราจรและขนส่ง ผมผลักดันเรือโดยสารไฟฟ้า 2 เส้น คือ เส้นคลองผดุงกรุงเกษมและคลองแสนแสบ และก่อนจะลาออก ได้ผลักดันแผนที่จะไปคลองอื่นๆ เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ซึ่งจะเชื่อมต่อระบบล้อ-ราง-เรือ อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ส่วนรถไฟฟ้า ก่อนออกจากตำแหน่งผมร่วมผลักดันใน 2 สาย คือสายสีเทา-สายสีน้ำเงิน ซึ่งถ้ากลับไปได้ก็พร้อมจะหยิบเข้ามาและเดินต่อ

4. เรื่องสถานีดับเพลิง ผมผลักดันการตั้งสถานีดับเพลิงหนองจอก ซึ่งจำเป็นในพื้นที่กรุงเทพฯตะวันออก และเพิ่มหน่วยดับเพลิงทางน้ำ 5. จัดระเบียบผู้ค้าที่ถนนข้าวสาร บางบำพู และยังมีเรื่องพัฒนาสังคมที่ก่อนออกมาคือได้ของบประมาณเพื่อจ้างคนพิการราว 300 คน พร้อมสานต่อและทำโรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการเพื่อให้คนพิการเอามาเรียนรู้และมีทักษะประกอบอาชีพได้

ถึงเช่นนั้น มันก็มีอีกหลายด้านที่ผมเห็น แต่ไม่ได้ทำ ไม่มีโอกาส ซึ่งถ้าถามผมว่าการเป็นรองฯ คือจุดแข็งหรือจุดอ่อน ผมมองว่าเป็นจุดแข็งนะ เพราะผมมีประสบการณ์มาก่อนบ้าง อย่างน้อยเมื่อได้โอกาสเราก็จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ส่วนที่คนบอกว่า “คยอยู่แล้วทำไม่ไม่ทำ” ผมก็ต้องตอบว่า “เพราะมันทำไม่ได้” ผมไม่มีอำนาจเต็ม วันนี้ผมมาขอโอกาสเพื่อมีอำนาจที่จะทำในสิ่งนั้น และสิ่งที่ผมเสนอไปในนโยบาย เป็นสิ่งที่ผมทำได้จริงแน่ๆ ใน 4 ปีนี้

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง แนวทางการเก็บซากรถเก่าที่กีดขวางการจราจรของกรุงเทพมหานคร (กทม.)

  • แคมเปญการหาเสียง “ทำกรุงเทพให้ดีกว่านี้ได้” คอนเซปต์หลักคืออะไร ?

เราเชื่อว่า กรุงเทพฯของเรา ไม่ว่าจะมีผู้ว่าฯ กี่สมัย ทุกคนล้วนทำสิ่งที่ดีให้กับคนกรุงเทพฯ แต่พอมาถึงช่วงเวลาหนึ่งมันอาจมีเทคโนโลยีหรือการบริหารจัดการในรูปแบบใหม่ที่ดีกว่านี้ได้ และผมก็จะสานต่อในส่วนนั้น โดยยึด 6 นโยบายในแต่ละด้านที่นำเสนอไป

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง เส้นทางเดินเรือโดยสาร(โครงการทดลองเดินเรือในคลองภาษีเจริญ) 

  • คุณบอกในเวทีประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครว่า กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยปัญหาจุกจิก มองไปทางไหนก็เจอกับปัญหา แถมงบประมาณที่ได้ส่วนใหญ่คือเงินเดือน และรายจ่ายผูกพัน ดังนั้นผู้บริหารต้องโฟกัสให้ดี ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ คุณจะโฟกัสกับเรื่องอะไร?

การจัดเก็บภาษีที่ได้ยิ่งน้อยลงจากโควิด-19 งบประมาณของ กทม.ก็น้อยไปอีก ผมจะโฟกัสในส่วนที่มีผลกับประชาชนที่สุด เช่น การกระจายงบลงไปในเขต เพราะเขตเป็นหน่วยงานที่เจอกับประชาชนมากที่สุด งบประมาณของกรุงเทพฯ มักลงไปทำกับโครงการใหญ่ แต่กับสำนักเขต งบประมาณเหลือให้น้อยมาก ยกตัวอย่างผมเคยลงพื้นที่แถวมีนบุรี ถนนใหญ่ในภาพรวมดีมาก ทั้งเส้นมี 6 เลน แต่ถนนย่อยยังเป็นลูกรัง ซึ่งบอกว่าเราละเลยในส่วนที่เชื่อมโยงกับความเป็นอยู่จริงๆ

ผมจะแบ่งสัดส่วนจากโครงการใหญ่เพื่อมาดูแลโครงการย่อยบ้าง เข้าไปวันแรกผมจะเอางบมาดู และโฟกัสไปที่ส่วนที่จำเป็นสำหรับประชาชนก่อน ส่วนโครงการใหญ่ก็จะเดินคู่ขนานกันไป เน้นที่จำเป็น ไม่จำเป็นต้องกองภายในปีเดียว เช่น พื้นที่ตรงไหนน้ำท่วมซ้ำซากถ้าต้องทำ Water Bank ทำอุโมงถ้าจำเป็นก็ต้องทำ แต่ก็ต้องไม่ลืมกันงบสำหรับการลอกท่อ ทำในส่วนย่อยๆ เช่น การซ่อมบำรุง และพัฒนารายพื้นที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ผมยังมองเรื่องการหางบประมาณเพิ่ม ผมคิดว่ากทม.สามารถหารายได้มาช่วยโดยที่ไม่ต้องรองบส่วนกลางอย่างเดียว เช่น พื้นที่ไหนว่างเปล่า เราสามารถเอามาใช้ประโยชน์ หรือการจัดการขยะ สามารถให้เอกชนมาร่วมได้ไหมเพื่อให้สามารถจัดการความสะอาดและสร้างมูลค่าจากขยะได้พร้อมๆกัน ผมจะมองหาวิธีการเหล่านั้น และดูว่ามีทางเลือกไหนบ้างที่จะออกจากธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่เป็นรองผู้ว่าฯ กรุงเทพ ช่วง 10 เมษายน 2561 – 7 มีนาคม 2565

  • คุณถือว่าเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้มีบทบาททางการเมืองสังคมหลายท่าน ทั้งคุณพ่อ (พล.อ.วินัย ภัททิยกุล) กับอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล สมัยที่คุณยังรับราชการ กับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีทั้งจากพรรคประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐ คุณเรียนรู้อะไรจากกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง?

ผมถือว่าโชคดีนะที่ได้ใกล้ชิดกับคนเหล่านี้ ผมเรียนรู้จากหลายท่าน สำหรับคุณพ่อ ท่านเป็นไอดอลทุกเรื่อง เป็นคนสุขุม ประนีประนอม ผมเรียนรู้สิ่งนี้จากคุณพ่อ ส่วนคุณลุงสุเทพ ท่านเป็นคนสอนผมทุกเรื่องตั้งแต่เข้ามาทำการเมือง ทั้งการปราศรัย การพูดในสภา เป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตั้งแต่วันที่เราเริ่มต้น หรืออย่างอาจารย์จรัญ ผมได้แนวดำรงชีวิตจากท่าน ท่านเป็นคนมีบุคลิกสมรรถะ เรียบง่าย

ส่วนพี่ตั้น-พี่อีฟ (ณัฏฐพล-ทยา ทีปสุวรรณ) เขาเป็นพี่ผมและคบกันมานาน และคนที่คบกันมาขนาดนี้ ก็ต้องบอกว่าเรามีความชอบ มีความคิดอะไรเหมือนกัน ในวันที่เราพูดถึงการลงสมัครผู้ว่าฯ ในตอนแรกเรามองว่าคุณทยามีความเหมาะสม แต่เนื่องจากเจอเหตุทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวของ กปปส. แล้วเรามองว่าถ้าจะทำการเมืองในกรุงเทพฯ การเข้าร่วมสมัครในตำแหน่งนี้มีความสำคัญมาก ผมที่สนใจงานกทม.อยู่แล้ว จึงตัดสินใจและได้รับแรงหนุนจากพี่ๆ เหล่านี้

ถ้าถามถึงผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดมากที่สุด สำหรับผมคือคุณพ่อ เพราะแม้ท่านไมได้อยู่ในวงการการเมือง แต่รู้จักคนเยอะมากและเป็นคนที่ลึกซึ้ง ท่านไม่ได้คิดอะไรแค่ด้านเดียว พ่อจะคอยสอนตลอดผมตลอด เช่น เวลาผมสัมภาษณ์ แล้วสิ่งไหนท่านมองว่าไม่ดี อาจจะถูกตีความเป็นอีกแบบ เขาก็จะบอกเรา

  • สิ่งหนึ่งที่ผู้คนพูดถึงคุณ คือการเป็นสมาชิกกลุ่ม กปปส.มาก่อน มองเรื่องนี้อย่างไร คิดว่าเป็นผลบวกหรือลบต่อการลงสมัคร?

มีทั้งบวกและลบ เพราะแน่ว่ามีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ผมไม่ปฏิเสธตัวตนและสิ่งที่ผมทำ ถ้าถามว่าในวันนี้ผมเสียใจไหมที่เคยเป็นกปปส. ถ้าย้อนกลับไปได้ผมก็ทำเหมือนเดิม แต่คงไม่ดุเดือดแบบวันนั้น

ในตอนนั้นสถานการณ์มันตึงเครียด และเราก็อาจไม่ได้คิดถึงผลกระทำบางอย่าง ซึ่งผลจากวันนั้นบางคนเจอคดีความ ซึ่งก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำไป แต่ถามว่าอุดมการณ์ผมเหมือนเดิมไหม เหมือนเดิมแน่นอน

ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนชอบได้ แค่อยากจะบอกว่าการที่จะตัดสินผมเพราะอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งมันก็ไม่ค่อยแฟร์เท่าไร ผมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าตัวเองทำงาน และ 4 ปีที่เป็นรองผู้ว่าฯ ทำให้ทุกคนโดยที่ไม่ดูว่าเป็นใคร ไม่เคยถามว่าคุณชอบใคร ผมอยากให้การเลือกในครั้งนี้คนใช้สิทธิ์เลือกคนที่ไปทำงานแทนเขา คนที่ทำงานให้คนกรุงเทพฯ ไม่ได้มองว่าคุณมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน สำหรับผมถ้าผมได้เป็น ผมจะทำให้คนกรุงเทพฯได้ประโยชน์ผมทำเต็มที่ แต่ถ้าที่จะมีคนเลือกที่ไม่ชอบเรา พูดอะไรมาก็บอกเป็นนกหวีด เป็นสลิ่ม เขามองเราแบบนี้ ผมก็คงไปเปลี่ยนความคิดเขาไม่ได้

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง สกลธี ภัททิยกุล กับอดีตแกนนำ กปปส.เมื่อครั้งชุมนุมช่วงปี 2556-2557

  • ถ้าคุณไมได้สมัครเอง คุณจะเลือกใคร ช่วยบอกข้อดีของผู้สมัครท่านอื่นที่คุณคิดหน่อยได้ไหม?

(ยิ้ม) ผมขอพูดถึงพี่ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) ข้อดีคือพี่เขามีความใหม่ในสนามเลือกตั้ง มีคนช่วยคิด ช่วยทำนโยบายเยอะ ซึ่งในความใหม่นี้ทำให้คนอยากลอง ส่วนพี่เอ้ สุชัชวีร์ (สุวรรณสวัสดิ์) ข้อดีของเขาคือมีพลัง มีความสามารถ มีแนวคิดแปลกใหม่ ถ้าผมไม่ลงเองก็น่าจะเลือกคนใดคนหนึ่งใน 2 คนนี้ ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระซึ่งผลสำรวจก่อนหน้ารายงานว่ามีความนิยมสูงที่สุดในบรรดาผู้สมัคร

  • แล้วข้อดีของคุณล่ะ?

ผมมีพลัง ชอบทำงานในหน้างานมากกว่านั่งที่ออฟฟิศอยู่แล้ว ผมเหมือนผู้บริหารในองค์กร ได้ฝึกงานและเรียนรู้มาแล้ว แต่อยากทำอะไรมากกว่าที่เคยทำได้ จึงขอสมัครเป็นประธานบริษัท เพื่อเป็นเบอร์หนึ่งในองค์กร

  • คุณตั้งเป้าหมายกับชีวิตต่อจากนี้อย่างไร?

ผมขอโฟกัสในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ให้เต็มที่ และผมคิดว่าสำหรับคนกรุงเทพฯ อะไรก็เกิดขึ้นได้ สำหรับผมเชื่อว่าทุกคนอยากจะอยู่ในจุดสูงสุดของเรา ถ้าจะทำงานกทม. ผมก็อยากจะเป็นเบอร์หนึ่ง เพื่อดูว่าศักยภาพเรา สิ่งที่เราสั่งสมมาเราจะทำให้สุดทางได้อย่างไร หรือถ้าเป็นรัฐมนตรี ผมก็อยากเป็นรัฐมนตรีว่าการที่จะสามารถบริหารจัดการได้เอง เพื่อเอาไอเดีย เอาความสามารถของเรามาใช้ได้เต็มที่ 

ฟังเสียงในใจ “สกลธี ภัททิยกุล” ตัดสินผมที่ผลงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง

ถามเร็ว-ตอบเร็วแบบ “สกลธี ภัทยกุล”

Q: ถ้าคุณเป็น Youtuber หรือจัดรายการ Podcast จะจัดรายการเรื่องอะไร ?

A: นโยบายของสกลธี ใช้คำว่า “ที” เป็นกิมมิก “ทำทันที” “มาฟังที”

Q: มีกลุ่ม Facebook ไหนที่คุณเข้าร่วมบ้าง?

A: แฟชั่นครับ จริงๆ ผมชอบแต่งตัวนะ ดูเหมือนเรียบๆ แต่รองเท้าต้องขาวเท่านั้น (หัวเราะ)

Q : เพลงที่คุณฟังล่าสุด?

คนที่ยังไม่รู้ว่าใคร - No One Else กับ Lavender – แพทริคอนันดา ผมฟังเพลงไทยนะ เพลงทั่วไปนี่แหละ

Q:วันอาทิตย์ก่อนเที่ยงคุณมักจะทำอะไร?

A:  อยู่บ้าน จัดบ้าน อ่านหนังสือ ไม่ก็ไปเดินห้างหาอะไรกินอร่อยๆ

Q: หลักปรัชญาที่ยึดถือทั้งตัวคุณเองและสอนลูก?

A: กตัญญู ใครที่ช่วยเหลือเราจะกตัญญู 

Q: คุณใช้เวลาหาความรู้ทางไหน?

A: อินเทอร์เน็ต ทั้งอ่าน ดู มีอะไรก็จะ Google หาทันที

Q: คุณมักคุยอะไรในกลุ่มไลน์ของเพื่อนที่โตมาด้วยกัน?

A: ตีกอล์ฟ ของกิน ดารา (หัวเราะ) เรื่องทั่วๆไปครับ ผมชอบตีกอล์ฟนะ ได้เดิน อยู่กับธรรมชาติ และได้ใช้เวลากับเพื่อนอย่างเต็มที่